“เกษตรพันธสัญญา” เป็นระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่กำลังได้รับความนิยม เพราะเป็นการรับประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร และรับประกันคุณภาพกับปริมาณผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ แต่การที่เกษตรกรรายเล็กต้องมาทำสัญญากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้ภาครัฐต้องมีระบบหรือมาตรการมารองรับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำสัญญา จึงเป็นที่มาของ “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560”
กฎหมายดังกล่าวมีรายละเอียดในการดูแลการทำสัญญาอย่างไรบ้าง และมีเนื้อหาหรือมาตรการที่ครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ แล้วหรือไม่
#TULAW พาไปดูข้ออภิปรายบางประเด็นที่น่าสนใจในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กลไกที่ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรผันผวน?”
“ระบบเกษตรพันธสัญญา” คืออะไร?
พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 กำหนดนิยามคำว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ไว้ในมาตรา 4 ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ
- เป็นระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร
- เกิดขึ้นจากสัญญาประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกรตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกร หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่กฎหมายรองรับ
- มีเงื่อนไขในการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้
- ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าวหรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
- ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต
จากหลักการข้างต้นจะเห็นได้ว่า สัญญาตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญามีลักษณะเป็นลูกผสมจากลักษณะของหลาย ๆ สัญญา ไม่ได้เป็นสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญารับซื้อโดยตรง
ดังนั้น ในการตีความว่าสัญญาใดเป็นสัญญาตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา จึงต้องพิจารณาองค์รวมของสัญญาทั้งหมดว่าเข้าลักษณะดังกล่าวหรือไม่
ข้อดีของการมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
การมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ถือเป็นการยกระดับแก่ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นอย่างมาก โดยมีข้อดีมากมาย ดังนี้
1) ทำให้ระบบมีความเป็นธรรมและชัดเจน
การมีกฎหมายทำให้ระบบมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ในการทำสัญญา รวมทั้งยังทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถสื่อสารแก่สังคมได้ว่าตนได้สร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้เอาเปรียบหรือสร้างภาระให้แก่เกษตรกรมากเกินความจำเป็นอีกด้วย
2) ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความเป็นระบบแบบแผน
โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ตามที่ตกลงกันในสัญญากับเกษตรกร และเกษตรกรจะมีความเอาใส่ใจในผลผลิตมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจถูกเรียกเก็บค่าปรับจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้
3) ทำให้เกิดระบบกฎหมายที่นำมาปรับใช้เป็นการเฉพาะ
โดย พ.ร.บ. ได้มีกลไกที่เข้ามากำหนดรายละเอียดของสัญญาและลักษณะต้องห้ามของข้อความในสัญญา รวมทั้งมีกลไกในส่วนของการไกล่เกลี่ยอันเป็นการระงับข้อพิพาทอีกด้วย ซึ่งกระบวนการมีความรวดเร็วและช่วยรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรได้ดีกว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาความแพ่งที่มีขั้นตอนมากและต้องจ้างทนายความเพื่อต่อสู้คดี
จากข้อดีทั้งหมดข้างต้นจึงส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตัดสินใจเข้าสู่ระบบกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเกิดปัญหาการเอาเปรียบอยู่บ้างเช่นกัน เนื่องมาจากการที่อำนาจในการต่อรองทั้งสองฝั่งไม่เท่าเทียมกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจมักมีอิทธิพลในตลาดมากกว่า รวมทั้งการทำสัญญาในลักษณะนี้รัฐยังไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนนั่นเอง
โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปัญหาที่เกิดขึ้นของระบบเกษตรพันธสัญญา ดังต่อไปนี้
1) การตีความสัญญาหรือการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ควรตีความหรือบังคับใช้ให้เป็นคุณแก่เกษตรกร และลดอำนาจหรืออิทธิพลของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มีในตลาด
2) ในเรื่องตัวอย่างของสัญญาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ ควรทำให้สัญญาตัวอย่างมีบทบาทที่ชัดเจนในการเอื้อเฟื้อประโยชน์ให้แก่เกษตรกร
3) ในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ควรให้มีการคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของทรัพยากรทางธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรด้วย
4) เรื่องระบบฐานข้อมูลที่จะเก็บข้อมูลสัญญาของเกษตรกร หน่วยงานควรจัดทำระบบฐานข้อมูลให้เร็วและเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อให้เกษตรกรรับรู้ถึงปัญหาของการทำสัญญาและแนวทางในการแก้ไข รวมทั้งควรให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสัญญาของเกษตรกร เช่น จำนวนของผู้มาจดแจ้ง จำนวนของสัญญาเกษตรพันธสัญญาที่เกิดขึ้น เป็นต้น
5) ควรมีระเบียบหรือนโยบายที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มของเกษตรกร เช่น เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันสามารถเสนอร่างสัญญาแล้วให้กระทรวงช่วยตรวจทานดูได้ เพื่อนำร่างสัญญานั้นเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจลงนาม หรือเพื่อใช้ในการเทียบเคียงกับสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจจะเสนอให้เกษตรกรลงนาม
การมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ทำให้ระบบเกษตรกรของไทยดำเนินไปได้ดีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีบางเรื่องที่ต้องแก้ไขเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อไปว่าจะดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างไรเพื่อให้ระบบดังกล่าวสามารถใช้ได้และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา : เสวนาวิชาการเรื่อง “เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กลไกที่ทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรผันผวน?”
อ่านสรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเต็มได้ที่ https://bit.ly/3UbdVUO
รับชมเสวนาวิชาการได้ที่ https://bit.ly/3LbzXBM