พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 19 จาก #TULAWInfographic
หลังเลือกตั้งฯ นโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
ไทยกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ทั้งมลภาวะทางอากาศ ป่าไม้ ขยะ และอีกมากมาย อนาคตสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจึงขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ในครั้งนี้
#TULAW จึงเปิดเวทีเสวนา “ นโยบายสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนไปหรือไม่หลังเลือกตั้ง? ” เพื่อรับฟังทิศทางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจาก 6 พรรคการเมือง มาติดตามรูปแบบทิศทางและแนวคิดในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง สรุปย่อไปกับ #TULAWInfographic
และสามารถรับชมเสวนาเต็มได้ที่ https://bit.ly/42JvrCi
พรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมาจากปัญหาพื้นฐาน 2 เรื่อง คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และปัญหาแนวทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนของประเทศที่ผ่านมาที่นึกถึงผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่า ระยะยาว โดยมีนโยบายดังนี้
– ปรับระบบการทำเกษตรใหม่
เพิ่มแรงจูงใจในการทำเกษตรรูปแบบที่ถูกต้องในทุกขั้นตอน เสนอนโยบายในเรื่องการไถกลบและเติมจุลินทรีย์ รวมทั้งในเรื่องการใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกวิธี และถูกเวลา เน้นการทำเกษตรเชิงผสมผสานมากกว่าเกษตรเชิงเดี่ยว เพิ่มผลผลิตให้หลากหลาย ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้
– เพิ่มจุดแข็งทรัพยากรป่าไม้
นำจุดแข็งของทรัพยากรป่าไม้มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น อาหารป่า สีหรือกลิ่นจากต้นไม้หรือดอกไม้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นให้ชุมชนอยู่กับป่าแบบถูกต้องเพื่อให้ไม่เกิดการเผาป่า และเมื่อไม่เกิดไฟป่าเราก็จะได้คาร์บอนเครดิตคืนกลับมาเพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่อยู่ในป่าได้ 20,000 บาทต่อคนต่อครัวเรือน
– จัดตั้งระบบคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นระเบียบ
จัดตั้ง Asia-Pacific Carbon Credit Center เพื่อการวัดคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นำค่า Carbon Net มาเแปลงเป็น Token มีระบบ Blockchain เข้ามาควบคุมและมีการจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชนในการปลูกต้นไม้
รวมทั้งยังควรจัดตั้งศูนย์เพื่อทำการวิจัยและวางกฎเกณฑ์ในเรื่องของคาร์บอนเพื่อให้ประเทศไทย สามารถขึ้นเป็นผู้นำในเวทีโลกได้
พรรคประชาธิปัตย์
นโยบายของพรรคเน้นที่หลัก 3 หลัก ได้แก่ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ สร้างเงินโดยการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีเพื่อต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเพิ่มเม็ดเงินให้แก่ชุมชน สร้างคนผ่านการปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มของเยาวชน ซึ่งสองสิ่งนี้จะนำไปสู่การสร้างชาติต่อไปนั่นเอง
– กฎหมายอากาศสะอาด
จัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเพื่อให้มีบทลงโทษสำหรับโรงงานและรถยนต์ที่ปล่อยของเสีย รถที่ปล่อยควันดำจะไม่สามารถเข้าสู่ภายในเมืองได้ รวมทั้งกำหนดค่าปรับเป็นอัตราก้าวหน้าและยังมีระบบการให้รางวัลในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับ บ้านเมืองอีกด้วย
นอกจากนี้ยังกำหนดเขตอากาศบริสุทธิ์เพื่อควบคุมสภาพอากาศภายในเขตกรุงเทพชั้นใน ลดพื้นที่แออัด ลดควันดำ ย้ายเขตอุตสาหกรรมออกชานเมือง โดยให้แรงจูงใจแก่โรงงานต่าง ๆ เช่น การลดภาษี หรือการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นต้น
– ใช้ AI เข้ามามีส่วนในการจัดการฝุ่นและควันพิษ
ใช้แนวคิดในเรื่องเทคโนโลยี การสร้าง AI ในการตรวจจับควันพิษและฝุ่นควันภายในเมือง รวมทั้งจัดการระบบในการลงโทษ เช่น การคิดค่าปรับ แทนเพื่อลดอัตราการคอร์รัปชันด้วย และให้ทุนและงบประมาณเพื่อต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบการจัดการฝุ่นและควันพิษอีกด้วย
– วางรากฐานให้แก่ชุมชน
สร้าง “โรงเรียนสู้ฝุ่น” ปลูกจิตสำนึกให้แก่ประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของ เยาวชน สร้างการจัดการน้ำในชุมชน เพื่อบริหารจัดการน้ำในการจัดการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ต่อไป
พรรคก้าวไกล
นำเสนอนโยบายทั้งในระยะยาวและระยะสั้น โดยให้ความสำคัญกับฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ภายในเมืองทั้งรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งฝุ่นควันภายนอกเมืองจากการเผาไร่หรือเผาป่าด้วยเช่นกัน
– ทำระบบ GAP เพื่อยืนยันมาตรฐานสินค้า
จัดทำระบบ GAP เพื่อเป็นการรับรองสินค้าเกษตรว่ากระบวนการการผลิตสินค้านั้นไม่ก่อให้เกิดมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสินค้าภายในและสินค้านำเข้าต้องผ่านระบบนี้เพื่อเป็นการยืนยันมาตรฐานสินค้านั้น ก่อนเท่านั้น
ส่งเสริมให้เกษตรกรนำตอข้าวโพดไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น ให้นำตอข้าวโพดไปทำเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น โดยสนับสนุนในด้านเงินทุนเพื่อซื้อหรือเช่าเครื่องจักร รวมทั้งสนับสนุนให้ปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ทดแทนโดยเฉพาะ “ข้าว” เนื่องจากข้าวก็สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์และเอาไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลได้เช่นกัน
– กำจัดมลพิษจากรถยนต์และภาคอุตสาหกรรม
ทำระบบ Green Label ตรวจสอบคุณภาพรถยนต์เพื่อกำจัดมลพิษภายในเมือง โดยกำหนดให้รถยนต์ต้องผ่านการตรวจในเรื่องควันดำในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนรถประจำปีก่อนเพื่อให้ได้รับ Green Label สำหรับติดหน้ารถ ซึ่งหากรถยนต์ใดไม่มีหรือไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวก็จะไม่สาารถเข้ามาวิ่งในเมืองได้
สำหรับภาคอุตสาหกรรม จะมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดให้โรงงานต่าง ๆ เปิดเผยการเคลื่อนย้ายมลพิษและสารเคมีต่อประชาชนให้รับรู้ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือหรือเตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้
– เน้นการจัดการขยะแบบถูกวิธี
จัดทำ พ.ร.บ.จัดการขยะ สร้างระบบควบคุมการจัดการขยะเพื่อรวมศูนย์การกำจัดขยะ จัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการจัดการขยะไม่ให้ศูนย์การจัดการขยะอยู่ใกล้ชุมชน รวมทั้งสร้างมาตรฐานกลางในการกำจัดขยะและให้ศูนย์การจัดการขยะแต่ละแห่งทำการรายงาน มาตรฐานของโรงงานตนเองให้แก่ทางรัฐบาลรับทราบ โดยหากไม่ตรงกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ก็จะมีคำสั่งให้แก้ไขภายในระยะเวลา 2 ปี ถ้าหากไม่สามารถจัดการได้ก็จะมีคำสั่งให้ปิดศูนย์นั้นเป็นต้น
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ และมีการนำ AI มาควบคุมการเคลื่อนที่ของขยะอีกด้วย
พรรคพลังประชารัฐ
พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศสามารถดำเนิน ต่อไปได้ เนื่องจากหากประชาชนไม่มีสุขภาพที่ดี การขับเคลื่อนด้านอื่น ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
– ปรับปรุงโครงสร้างระบบแหล่งน้ำในประเทศ
จัดตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สร้างแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น แหล่งน้ำเพื่อชุมชน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แหล่งน้ำสำรอง เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำใช้ เพิ่มคูน้ำ ระบบชลประทาน ขุดลอกคูคลอง ให้มากขึ้น เพื่อให้เชื่อมถึงกันและทุกคนมีน้ำใช้
– ผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์อย่างเข้มงวด จัดให้มีการตรวจเครื่องยนต์ฟรีในทุกปี พร้อมออกนโยบายสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า รัฐช่วยพยุงราคาให้ประชาชนเข้าถึงได้ 0% นาน 3 ปี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากขึ้น
– ส่งเสริมการคัดแยกขยะ สร้างมาตรการจูงใจ
มุ่งเป้าในการจัดการขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งโรงงานกลั่นขยะให้กลับกลายเป็นน้ำมัน นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการ สร้างแรงงานจูงใจในการคัดแยกขยะโดยสร้างสถานที่รับซื้อขยะที่แยกเพื่อให้ประชาชนมีแนวคิดว่า สามารถเปลี่ยนขยะเป็นเงินได้
พรรคชาติพัฒนากล้า
ทางพรรคมุ่งเน้นไปที่เรื่องพลังงานและระบบขนส่งของประเทศ และมุ่งทำกฎหมายให้เป็นระบบ “ไม้เสียบลูกชิ้น” ซึ่งหมายความถึงการร้อยเรียงกฎหมายหลาย ๆ เรื่องให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ มากกว่าการเขียนกฎหมายใหม่เพื่อเป็นการตัดกฎหมายเก่า รวมทั้งยังมุ่งทำให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดจากภาคประชาชนให้มากขึ้น
– การผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop
ทำโครงการกองทุน Solar Rooftop ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาติด Solar Cell มากขึ้น โดยทำเป็นระบบการรับซื้อไฟฟ้าคืนจากภาคประชาชนด้วยอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดเอกชนได้และเป็นการลดรายจ่ายและสร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนอีกด้วย
– สร้างระบบพันธบัตรป่าไม้
จัดทำระบบพันธบัตรป่าไม้ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น โดยเป็นระบบเหมือนการกู้ล่วงหน้าโดยประชาชนผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน เนื่องจากประชาชนเมื่อปลูกต้นไม้จนโตจะสามารถนำมาแลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้นั่นเอง
– ปรับโครงสร้างระบบขนส่งสาธารณะ
ปรับโครงสร้างขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมมากขึ้น ปรับเส้นทางการเดินรถให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะได้ไม่ว่าจะเดินทางไปจุดไหน
พรรคเพื่อไทย
พรรคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องความผาสุขของประชาชน และอาจรวมถึงความอยู่รอดของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย พรรคเพื่อไทยเจึงดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมาโดยตลอด
– จัดทำกฎหมายเป็นการเฉพาะ
จัดทำประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ โดยอาจต่อยอดออกมาเป็นพระราชบัญญัติต่อไปได้ เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด, พ.ร.บ.น้ำเสีย พร้อมการวางแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้หน่วยราชการทุกภาคส่วนจะต้องทำการบังคับใช้ กฎหมายให้ถูกต้องและเหมาะสม
– ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมต้องได้รับรางวัล ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมต้องได้รับโทษ
ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องแรงจูงใจในเรื่องภาษี เรื่องทุนหรือดอกเบี้ย ต่าง ๆ เข้ามากระตุ้นให้ประชาชนอยากรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดในเรื่องการลงโทษต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน
– นำป่าให้เข้ามาอยู่กับคน
สร้างนโยบายให้มีป่าในเมืองและมีชุมชนในป่า ให้ความสำคัญกับทรัพยากรป่าไม้ไม่จำกัดแค่เรื่องป่าไม้ แต่มุ่งเป้าไปยังเรื่องภูมิทัศน์ของป่าไม้ในทางสังคมโดยมองเรื่องชุมชนต่าง ๆ รวมเข้ากับป่าไม้ด้วย
ที่มา : สัมมนาวิชาการเรื่อง “นโยบายสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนไปหรือไม่หลังเลือกตั้ง?”
รับชมเสวนาวิชาการได้ที่ https://bit.ly/42JvrCi