พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 22 จาก #TULAWInfographic
“พุทธศาสนา” กับ “ประเทศไทย” เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันมาอย่างช้านาน
จนทำให้ “พุทธ” กลายเป็นศาสนาประจำชาติในมุมมองของคนไทยไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กฎหมายเองก็มองอย่างนั้นเช่นเดียวกัน จึงได้มีการตรากฎหมายเพื่อควบคุมคณะสงฆ์ออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่กฎหมายที่ออกมานั้นกลับทำให้ “สงฆ์” กลายเป็นเครื่องมือบางประการของรัฐเสียมากกว่า
แล้วกฎหมายที่มีมากว่า 200 ปีนั้นจะมีเนื้อหาเป็นอย่างไร? ควรมีการแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ “พุทธศาสนา” กับ “รัฐไทย” แยกออกจากกันมากยิ่งขึ้น
#TULAW พาไปดูกฎหมายที่น่าสนใจนี้ผ่านวิทยานิพนธ์เรื่อง “การจัดความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในประเทศไทย : ศึกษากรณีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์” โดย ผศ. ดร.กริช ภูญียามา
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– งานวิจัย :
วิวัฒนาการของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ กฎหมายที่มีมาตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว
กฎหมายปกครองคณะสงฆ์เป็นกฎหมายที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย โดยสามารถแบ่งออกเป็นช่วงระยะเวลาได้ดังนี้
– สมัยรัชกาลที่ 1
กฎพระสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถือเป็นหมุดหมายของการที่รัฐเข้ามาจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายนี้ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นกลไกของรัฐสำหรับควบคุมพระภิกษุสงฆ์ในพุทธจักร
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่ก่อตั้งอำนาจของสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์อีกด้วย โดยกฎพระสงฆ์มีขึ้นเพื่อส่งเสริมความมั่นคงแห่งสถานะ “กษัตริย์โพธิสัตว์” ของพระเจ้าแผ่นดินตามคติการปกครองรัฐแบบอาณาจักรในเวลานั้น
– สมัยรัชกาลที่ 5
ตรา “พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121” เนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการจัดวางตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรให้อยู่ภายใต้แบบแผนเดียวกัน โดยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือสมเด็จพระสังฆราช ทำให้คณะสงฆ์มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับระบบราชการเป็นอย่างมาก
– ภายหลังยุคสมัย 2475
กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ถูกปรับเปลี่ยนให้มีหน้าตาแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น มีการตรา “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484” ซึ่งแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ คณะสังฆมนตรี สังฆสภา และคณะวินัยธร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขแห่งพุทธจักร
นอกจากนั้นยังมีการผลักดันเจตนารมณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือการรวมนิกายสงฆ์ (ธรรมยุตและมหานิกาย) เข้าด้วยกันเพื่อสร้าง “สังฆสามัคคี” โดยเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวจะช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่ประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบใหม่ด้วย
– สมัย 2500 จนถึงปัจจุบัน
ตรา “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505” เป็นกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ โดยมีโครงสร้างของกฎหมายยุคราชาธิปไตยอย่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 เป็นต้นแบบ
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้อำนาจบัญชาการคณะสงฆ์รวมศูนย์อยู่ที่สมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง ทั้งโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 แต่หลักการสำคัญของกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงเหมือนเดิม
กฎหมายปกครองคณะสงฆ์แต่ละฉบับแม้จะมีหน้าตาแตกต่างกันไปตามอุดมการณ์ทางการเมืองในขณะที่มีการตรากฎหมาย แต่เนื้อหาของกฎหมายทุกฉบับมีจุดร่วมกันคือ การมุ่งควบคุมพระสงฆ์ไว้ในอำนาจรัฐ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในรูปแบบคล้ายระบบราชการ
คณะสงฆ์ภายใต้แนวคิดเรื่องการแยกพุทธศาสนาออกจากรัฐไทย
การแยกพุทธศาสนาและรัฐไทยออกจากกัน นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาแก่ประชาชนแล้ว ยังทำให้พุทธศาสนาและคณะสงฆ์ดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างมั่นคงและสมสมัยอีกด้วย การดำเนินการเช่นว่านั้นจำเป็นต้องมีการ “ปฏิรูป” โครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศไทยเสียใหม่ โดยเสนอเป็นขั้นตอนดังนี้
1) ระยะแรก คือ คณะสงฆ์ยังคงเป็น “กิจการของรัฐ”
แต่มี “ระยะห่าง” จากรัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยสถานะ “กิจการของรัฐ” นี้เอง รัฐจึงยังคงมีบทบาทเชิงรุก (Active) ต่อคณะสงฆ์ ทั้งเพื่อให้ประโยชน์ และเพื่อขจัดปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นได้
2) ระยะต่อไป คือ การทำให้คณะสงฆ์เปลี่ยนรูปเป็น “กิจการของเอกชน” โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อย ในช่วงแรกเป็น “กิจการของเอกชน” ที่ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐ คือรัฐยังคงมีบทบาทเชิงรุกต่อคณะสงฆ์ได้ ทั้งเพื่อให้ประโยชน์และเพื่อขจัดปัญหาบางประการ
แต่ข้อแตกต่างคือการดำเนินบทบาทเช่นนั้นของรัฐ จะต้องกระทำต่อคณะสงฆ์ทุกสายการปฏิบัติ (รวมทั้งองค์กรนักบวชในศาสนาอื่น ๆ ) อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเป็น “กิจการของเอกชน” ที่แยกจากรัฐโดยเด็ดขาด เปลี่ยนให้รัฐมีบทบาทเชิงรับ (Passive) ในเรื่องทางศาสนา คือมีเพียงหน้าที่ในการรับรองเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา และคอยควบคุมให้การใช้เสรีภาพดังกล่าวของประชาชนอยู่ในกรอบของกฎหมายเท่านั้น
ที่มา : การจัดความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในประเทศไทย : ศึกษากรณีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์; ผศ. ดร.กริช ภูญียามา. (2563)