พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 25 จาก #TULAWInfographic
“การกระทำความผิดซ้ำ” กลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทั่วประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในความผิดที่รุนแรง เช่น การฆ่าผู้อื่น และการข่มขืน ที่ควรมีการออกมาตรการทางกฎหมายมาเพื่อมาควบคุมและแก้ไขเรื่องดังกล่าวไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ
ประเทศไทยเองก็รับรู้ถึงปัญหานี้ และได้มีการออก “พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565” เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน
#TULAW สรุปเนื้อหาและจุดน่าสนใจส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้จาก เสวนาวิชาการเรื่อง “กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ทางเลือกใหม่ สร้างสังคมปลอดภัย?”
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– งานเสวนาวิชาการ : https://bit.ly/3qC3cIa
– พ.ร.บ. ฉบับเต็ม : bit.ly/3NpNLM9
พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ?
“พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565″ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันผู้กระทำความผิดที่เป็นความผิดรุนแรงที่กฎหมายกำหนด อย่างการฆ่าคน หรือข่มขืน ไม่ให้กลับมาทำความผิดซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากตามสถิติแล้วมีโอกาสสูงที่ผู้กระทำความผิดเหล่านี้บางคนจะกลับมาทำความผิดอีกครั้งซึ่งเกิดความเสียหายอย่างมาก
กฎหมายไทยได้นำหลักคิดของกฎหมายต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ โดยมีหลักคิดว่า “กฎหมายฉบับนี้จะนำเข้ามาใช้กับคนที่ทำความผิด และโดนจำคุกหรือเข้าเรือนจำแล้ว เพื่อป้องกันการกลับมากระทำความผิดซ้ำเท่านั้น”
3 หลักสำคัญของกฎหมาย
พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ประกอบด้วย 3 หลักที่สำคัญ คือ
1) เพื่อคุ้มครองสังคม และผู้เสียหายจากการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก
2) เพื่อส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
3) คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องคำสั่งอย่างเหมาะสม
โดยดำเนินการผ่าน 3 มาตรการตามกฎหมาย คือ
– มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
เป็นมาตรการเพื่อบำบัดฟื้นฟูนักโทษระหว่างที่ยังอยู่ในเรือนจำ เช่น มาตรการทางการแพทย์ โดยได้รับความยินยอมจากนักโทษ เพื่อลดโอกาสที่ผู้กระทำความผิดจะกลับมาทำความผิดอีกครั้งหลังจากได้รับการปล่อยตัว
– มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
หากศาลเห็นสมควรว่ามีความเสี่ยงที่ผู้กระทำความผิดจะกลับมาก่อเหตุอีกครั้งภายหลังจากการปล่อยตัว ศาลอาจออกมาตรการ เช่น ให้รายงานตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังนักโทษภายหลังจากพ้นโทษได้
– มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
มาตรการนี้เป็นมาตรการสุดท้าย และต้องเป็นกรณีที่ไม่มีมาตรการใดที่จะป้องกันไม่ให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดได้อีกเท่านั้น เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้กระทำความผิดเป็นอย่างมากนั่นเอง
การออกมาตรการต่าง ๆ ศาลต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนด้วย ศาลต้องชั่งน้ำหนักในการออกมาตรการให้ได้สัดส่วนระหว่างการป้องกันสังคมและคุ้มครองหลักสิทธิมนุษยชนของผู้กระทำความผิดคนนั้นด้วย
ปัจจัยที่ “ศาล” ต้องคำนึงถึง
เมื่อมีนักโทษคนใดที่ถูกมองว่าอาจกลับมาทำความผิดซ้ำหลังจากการปล่อยตัว “คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซำ้” ที่ประกอบไปด้วย ผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถเสนอเรื่องให้อัยการ เพื่อให้อัยการลงความเห็น แล้วยื่นต่อศาลเพื่อให้ออกมาตรการในการดูแลนักโทษนั้นได้ โดยศาลต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกัน เช่น พฤติการณ์ สาเหตุ ประวัติการกระทำความผิด ลักษณะนิสัย ฯลฯ
รวมทั้งยังต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม โอกาสในการกระทำความผิดซ้ำ และการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการประกอบกันอีกด้วย
“เหตุอันควรเชื่อ” ตามกฎหมาย
การที่คณะกรรมการจะยื่นเรื่องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการต่าง ๆ กฎหมายกำหนดให้ต้องมี “เหตุอันควรเชื่อ” เสียก่อนว่าจะมีการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง ซึ่ง “เหตุอันควรเชื่อ” ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยเหมือนเช่นกฎหมายอาญา
เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เป็นการป้องกันเหตุในอนาคต ยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เพียงมีน้ำหนักให้ควรเชื่อได้ว่ามีโอกาสที่จะกลับมาทำความผิดอีกครั้ง ศาลก็สามารถออกคำสั่งเพื่อให้มีมาตรการได้
พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้ามาเพิ่มมิติทางกฎหมาย?
การเข้ามาของ พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ทำให้เกิดมิติทางกฎหมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ
– การมุ่งเน้นพิจารณาผู้กระทำความผิดแต่ละคน
ที่ผ่านมากฎหมายของประเทศไทยมักไม่มุ่งเน้นไปจัดการกับผู้กระทำความผิดแบบเหมารวม แต่พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ มุ่งเน้นไปที่การพิจารณาตัวผู้กระทำความผิดแต่ละคนเพื่อให้ไม่สามารถกลับมาทำความผิดซ้ำได้อีก
– เพิ่มบทบาทของศาล
กฎหมายฉบับนี้ให้ศาลเข้ามามีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจชั้นบังคับโทษ และทำให้เป็นไปตามหลักคิดของกฎหมายทางประเทศยุโรปที่มองว่า องค์กรที่มีบทบาทในการแก้ไขการลงโทษควรเป็นศาล
ที่มา : เสวนาวิชาการเรื่อง “กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ : ทางเลือกใหม่ สร้างสังคมปลอดภัย?”