พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 27 จาก #TULAWInfographic
205,817 คน คือตัวเลขของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ซึ่งคิดเป็น 76% ของผู้ต้องขังทั่วประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดของระบบกฎหมายไหทยอาจมีปัญหาในบางประการ
วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จึงมีการประกาศใช้ “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” กฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อมาป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดเป็นการเฉพาะออกมา
แต่เนื้อหาของกฎหมายจะเป็นอย่างไร จะมีมาตรการในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง
แล้วการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่
#TULAW สรุปเสวนาวิชาการเรื่อง “ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่?” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงเนื้อหาและมาตรการของประมวลกฎหมายยาเสพติดได้มากยิ่งขึ้น
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
– งานเสวนาวิชาการ : https://bit.ly/3PnyYmp
5 แนวคิดในประมวลกฎหมายยาเสพติด
ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มี 5 แนวคิดสำคัญที่สะท้อนอยู่ในกฎหมาย คือ
1. การจัดโครงสร้างกลไกในการจัดการปัญหายาเสพติดให้มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น จากที่กระจัดกระจายตามกฎหมายแต่ละฉบับ และขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
2. การจัดทำนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดในการนำไปใช้ทางการแพทย์และเศรษฐกิจอย่างมีความเหมาะสมและสมดุล
3. การมองปัญหาผู้เสพในมิติของปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่เพียงเรื่องอาชญากรรม ซึ่งรวมไปถึงการให้โอกาส ให้ความช่วยเหลือ และให้การบำบัดรักษาแก่ผู้เสพยาเสพติด
4. การลงโทษผู้กระทำความผิดให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับการกระทำผิด
5. การมุ่งเน้นทำลายเครือข่ายยาเสพติด มากกว่าการดำเนินคดีแก่ผู้เสพยารายย่อย
สะท้อนผ่าน 3 ส่วนหลักของกฎหมาย
ประมวลกฎหมายยาเสพติดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
– ส่วนที่ 1 การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด
สาระสำคัญคือ เรื่องเกี่ยวกับนโยบายและแผนในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขยาเสพติด มีการให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองในการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อทดลองหรือทดสอบเกี่ยวกับการปลูกพืชที่เป็นยาเสพติดเพื่อการศึกษาวิจัย และลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดต่าง ๆ
รวมทั้งยังมีการกำหนดทิศทางใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ริบทรัพย์สิน และการทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด มีการขยายอำนาจการดำเนินการต่อทรัพย์สินตามแนวทางการ “ริบทรัพย์สินตามมูลค่า (value-based confiscation)” โดยการคำนวณรายได้หรือมูลค่าจากการค้ายาเสพติดของผู้ต้องหา และให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินอื่นทดแทนทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดได้ด้วย
– ส่วนที่ 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด
โดยมีสาระสำคัญคือ การแก้ไขปัญหาผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดในมิติทางสาธารณสุขและสุขภาพ ให้โอกาสในการกลับตัว โดยผู้เสพหรือครอบครองยาเสพติดในจำนวนเล็กน้อยสามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี
รวมทั้งปรับระบบการบำบัดรักษามาเป็นระบบสมัครใจและระบบบำบัดตามคำสั่งศาล และมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมที่ติดตามดูแล ให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้ารับการบำบัดเพื่อให้ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกด้วย
– ส่วนที่ 3 บทกำหนดโทษ
สาระสำคัญคือ การปรับนโยบายทางอาญาด้วยการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด รวมทั้งการยกเลิกบทสันนิษฐานการมีไว้ในครอบครองตามกฎหมายเดิม ทำให้ในการครอบครองยาเสพติดนั้นต้องมีพฤติการณ์ร้ายแรงประกอบด้วยเท่านั้นจึงจะสามารถมองว่าเป็นความผิดตามกฎหมายได้ และเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษให้เหมาะสมแก่ผู้กระทำความผิดแต่ละราย
โดยการลงโทษผู้กระทำความผิดศาลต้องคำนึงถึงการสงเคราะห์เลิกยาเสพติดโดยการบำบัดยิ่งกว่าการลงโทษ ศาลสามารถสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะประวัติเพื่อประกอบการพิจารณาคดีหรือประกอบดุลพินิจในการลงโทษได้
ประโยชน์ของการมีประมวลกฎหมายยาเสพติด
การจัดประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่นี้ทำให้เกิดประโยชน์แก่ระบบสังคมและกฎหมาย 3 เรื่องด้วยกัน คือ
– กฎหมายเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
การจัดทำประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่เป็นการวางโครงสร้างกฎหมายยาเสพติดที่เคยกระจัดกระจายอยู่ในหลายกฎหมายเข้ามาไว้ด้วยกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการบูรณาการในการจัดการปัญหายาเสพติด
– โทษและความผิดที่ได้สัดส่วน
การกำหนดให้ศาลมีดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือมาตรการอื่นแทนการลงโทษ ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำของตนเอง รวมทั้งมีมาตรการในการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดมากขึ้นอีกด้วย เช่น การริบทรัพย์แบบทดแทนและตามมูลค่า เป็นต้น
– การแก้ปัญหาด้วยการบำบัด
กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นที่การบำบัดมากกว่าการลงโทษ โดยจะเห็นได้จากการที่กำหนดให้มีระบบการบำบัดฟื้นฟูและให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดหรือครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ ในการสมัครใจเข้าบำบัดแทนการถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งจะทำให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจะได้รับการช่วยเหลือในการกลับเข้าสู่สังคม และเป็นการลดโอกาสในการกลับมากระทำความผิดซ้ำ
โดยเมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับแล้ว น่าจะมีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าสนใจต่อไปคือการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้นี้ต่างหาก ว่าจะเพียงพอหรือไม่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไรบ้าง
ที่มา : เสวนาวิชาการหัวข้อ “ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่?”, กรมราชทัณฑ์
ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 27 : “ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ : ประชาชนได้อะไร คดียาเสพติดจะลดลงหรือไม่?”
p.phaksa