พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 31 จาก #TULAWInfographic
มีผู้ต้องหาถึง 50,000 คนที่โดนจำคุกก่อนที่ศาลจะตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งคิดเป็น 20% จากจำนวนนักโทษทั้งหมดทั่วประเทศ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้วางหลักเอาไว้ให้เกิดการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีความผิด
เมื่อกฎหมายกับแนวปฏิบัติสวนทางกัน ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงถึงการปรับแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
#TULAW เปิดเวทีเสวนาเพื่อให้ตัวแทนจากแต่ละพรรคเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ในเวทีสัญญาประชาคมนโยบายพรรคการเมือง เรื่อง “การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เป็นสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์”
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/Thammasatlaw/videos/236048362244635
หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์?
รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองได้วางหลักไว้ว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”
เป็นบทบัญญัติให้เกิดการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกจับกุมมานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาล เพื่อเป็นการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองเช่นนั้น เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาผู้ถูกจับกุมมักถูกปฏิบัติเสมือนเป็นคนผิดแล้วตั้งแต่แรก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบอาญาไทย
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตีความกฎหมาย หรือการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 29 รัฐธรรมนูญนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ข้อ ดังนี้
1) ถูกทำให้เป็นอาชญากรตั้งแต่โดนตั้งข้อหา
เมื่อมีการตั้งข้อหาโดยตำรวจ จะเกิดกระบวนการการพิมพ์ลายนิ้วมือ และมีการลงทะเบียนอาชญากร ทำให้ข้อมูลของผู้ต้องหาเข้าไปอยู่ในระบบทะเบียนอาชญากร และไม่มีการถอนชื่อออกให้แม้ศาลจะยกฟ้อง หรือไม่สั่งฟ้องก็ตาม ทำให้ในปัจจุบันมีคนไทยที่มีชื่อในทะเบียนอาชญากรมากกว่า 12 ล้านคน
ศูนย์นิติศาสตร์จึงได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่างระเบียบการพิมพ์ลายนิ้วมือฉบับมือใหม่แล้ว โดยชื่อจะถูกบันทึกลงทะเบียนประวัติอาชญากรต่อเมื่อศาลพิพากษาจำคุกจริงตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไปเท่านั้น และมีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
2) การขอประกันตัวชั่วคราวเป็นไปได้ยาก
หากกฎหมายยึดหลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จริงตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายควรจะกำหนดให้ “การขัง” เป็นเรื่องชั่วคราวมากกว่ากำหนดให้ “การปล่อยตัว” เป็นเรื่องชั่วคราว เนื่องจากการกำหนดให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้กฎหมายดูมุ่งเน้นไปที่การขังมากกว่าการปล่อยตัว
นอกจากนี้การปล่อยตัวชั่วคราวยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมาตรา 108/1 ของ ป.วิ.อ นั้นมีการวางเงื่อนไขที่มากจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการหลบหนีเพียงอย่างเดียว ทั้งในบางกรณียังมีการตีความเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดของศาลอีกด้วย
3) ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกนำไปขังรวมกับนักโทษที่ศาลพิพากษาแล้ว
การปฏิบัติเสมือนว่าผู้ที่ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ที่กระทำผิด ทำให้เกิดการนำไปคุมขังรวมกับนักโทษที่ศาลทำการพิพากษาแล้ว ซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกและใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษ จนบางครั้งทำให้เกิดประสบการณ์หรือรอยแผลทางจิตใจแก่ผู้บริสุทธิ์ได้
รวมทั้งการนำไปคุมขังยังทำให้การต่อสู้คดีเป็นไปได้อย่างยากลำบากอีกด้วย ทั้งในเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐาน หรือการติดต่อทนายความเพื่อสู้คดี
แนวทางการแก้ไข
– แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ทำการบัญญัติหลักสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดเอาไว้ใน ป.วิ.อ. ให้ชัดเจน และสอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพถูกรับรอง
– แก้เรื่องข้อยกเว้นในกฎหมายให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทำการแก้ไขมาตรา 108/1 ของ ป.วิ.อ. ที่เป็นข้อยกเว้นที่ศาลจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องต่าง ๆ เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของศาล
ดังนั้นแนวทางการแก้ไขในอนาคตคือการทำให้ ป.วิ.อ. หรือกระบวนการทางอาญาของประเทศไทย สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 โดยดำเนินการแก้ไขโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อให้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เป็นหลักที่ใช้ได้จริงในกฎหมายประเทศไทย
ที่มา : เวทีสัญญาประชาคมนโยบายพรรคการเมือง เรื่อง “การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เป็นสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์”