พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 32 จาก #TULAWInfographic
.
ได้แค่เดือนละ 500 บาท แล้วยังถูกเรียกคืนอีกหรือ? เมื่อรัฐเรียกคืนเบี้ยยังชีพจากผู้สูงอายุเพราะเกิดกรณีที่มีการรับเงินซ้ำซ้อนจากทางรัฐ แต่ยังคงเกิดการถกเถียงเรื่องความคลุมเครือในการตีความกฎหมาย
.
คำถามคือคุณตาคุณยายที่รับเงินไปต้องคืนหรือไม่ ถ้ามีข้อสงสัยในเรื่องของคุณสมบัติ
และการเรียกคืนเป็นไปตามกฎหมายใด สมควรแล้วหรือไม่?
.
#TULAW สรุปประเด็นสำคัญจากเสวนาวิชาการออนไลน์หัวข้อ “การเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” อ่านรายละเอียดได้ที่ :
.
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ : https://bit.ly/44mXQzn
.
สิทธิในการได้รับเงิน
การได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับปีพ.ศ. 2552 ข้อ 6 โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเอาไว้ 4 ข้อดังนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน
(3) มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(4) ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
.
โดยข้อ 1-3 เป็นคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ข้อ 4 เป็นลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย
.
การได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุข้อ 6 นี้เป็นสิทธิตามกฎหมาย ไม่ใช่สิทธิที่จะได้รับทันทีเมื่อมีอายุครบ ต้องมีการไปแสดงความต้องการ คือขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจ่ายเงินต่อไป
.
การสิ้นสุดของสิทธิได้รับเงิน
ระเบียบว่าด้วยการเสียสิทธิกำหนดไว้ในข้อ 14 ว่าจะเสียสิทธิในการรับเงินเบี้ยยังชีพเมื่อขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 เท่านั้น แต่ข้อ 6(4) นั้นเป็นลักษณะต้องห้าม จึงอาจไม่เข้าตามเงื่อนไขที่จะทำให้สิทธิในการรับเบี้ยเลี้ยงชีพสิ้นสุดลง ดังนั้นการที่ผู้สูงอายุได้รับเงินอื่นจากทางภาครัฐจึงไม่เป็นหลักเกณฑ์ของการเสียสิทธิ
.
การพิจารณาเรื่องการเสียสิทธิตามข้อ 14 ต้องตีความโดยเคร่งครัด เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิที่บุคคลหนึ่งได้รับมาแล้ว รวมทั้งจะพิจารณาตัดสิทธิทั้ง ๆ ที่ผู้สูงอายุคนนั้นผ่านตามเกณฑ์และได้รับเงินแล้วก็ไม่ได้เช่นกัน
.
ดังนั้นการจะเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุจึงต้องดูตามองค์ประกอบของกฎหมายก่อนว่าผู้สูงอายุนั้นมีสิทธิหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีสิทธิก็ไม่สามารถเรียกคืนได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีสิทธิต้องดูต่อว่าผู้ที่รับไปนั้นรับโดยสุจริตหรือไม่
.
ปัญหาในการเรียกเงินคืน?
เมื่อพิจารณาถึงสิทธิของผู้สูงอายุแล้ว ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือจะอาศัยหลักการใดในการเรียกเงินคืน โดยแบ่งเป็น 2 หลักคือ
.
– หลักกรรมสิทธิ
ถ้าหากใช้หลักกรรมสิทธิจะทำให้สามารถเรียกคืนเงินได้ทันที โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสุจริตของผู้ที่รับไป เพราะการใช้หลักกรรมสิทธิ มีสิ่งที่ต้องพิจารณาเพียงแค่รัฐมีสิทธิเหนือเงินจำนวนนั้นหรือไม่เท่านั้น
.
– หลักลาภมิควรได้
โดยต้องพิจารณาไปถึงความสุจริตของผู้ที่รับเงินว่า รับรู้หรือไม่ว่าตนเองไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินจำนวนน้ัน ถ้าหากไม่สุจริตก็สามารถเรียกคืนเงินที่ได้รับไปได้เต็มจำนวน ตามมาตรา 51
.
ในปัจจุบันคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับหลักการในการเรียกเงินที่รัฐจ่ายไปคืนนั้นยังคงเป็นปัญหา เพราะว่าคำพิพากษาของศาลยังไม่นิ่งและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าควรปรับใช้หลักการใดกับกรณีนี้
.
ขึ้นศาลไหน?
ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ คดีนี้อยู่ในขอบเขตของศาลใด ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม?
ถ้าหากมองว่าเรื่องนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง เรื่องก็ต้องพิจารณาในศาลปกครอง เพียงแต่ในส่วนกระบวนการการเรียกคืนเงินนั้น พ.ร.บ.ศาลปกครอง ไม่ได้ให้อำนาจศาลปกครองในการพิจารณาไว้
.
กระบวนการการเรียกเงินคืนจึงต้องอาศัยการพิจารณาจากศาลยุติธรรม คดีการเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุจึงต้องผ่านกระบวนการจากทั้ง 2 ศาล ซึ่งทำให้มีระยะเวลายาวนานและเสียทรัพยากรมาก
.
ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ?
การเรียกเงินคืนจากคุณตาคุณยายที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปผิด ควรต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น คดีในประเทศเยอรมัน ที่มีคุณยายได้รับเงินสวัสดิการซึ่งจะได้รับจนเสียชีวิต ปราฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐคำนวณผิด และคุณยายได้นำเงินจำนวนนั้นไปเช่าบ้านพักคนชราตลอดอายุขัย
.
เมื่อเกิดคดีขึ้นในการเรียกเงินคืนจากคุณยาย ศาลปกครองของเยอรมันให้ความเห็นว่าแม้คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคุ้มครองความเชื่อโดยสุจริตของคุณยายต่อการรับคำสั่งทางปกครอง เพราะคุณยายนำเงินไปเช่าบ้านพักและมีผลผูกพันแล้ว
.
การเรียกเงินกลับจะทำให้เกิดความเสียหายแก่คุณยายเป็นอย่างมาก และหน่วยงานไม่ได้รับประโยชน์อะไร เมื่อประโยชน์สาธารณะต่ำกว่าสิทธิเสรีภาพของคุณยาย ศาลปกครองจึงเพิกถอนคำสั่งที่เรียกคืน ทำให้หน่วยงานต้องจ่ายต่อไปในยอดที่ผิด
.
ดังนั้นการเรียกเงินคืนจึงต้องพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้สูงอายุ รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องทรัพยากรที่ต้องเสียไปในการดำเนินคดีในการเรียกเงินคืน ว่าคุ้มค่าหรือไม่ด้วย
.
ข้อเสนอแนะจากงานเสวนา
– แก้ไขกฎหมายให้ชัดเจน
แก้ไขกฎหมายให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เช่น ระเบียบฯ ข้อ 6(4) ที่กำหนดในเรื่องลักษณะต้องห้ามกว้างจนเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความคลุมเครือทั้งในแง่ของการตีความและการบังคับใช้
.
– แก้การพิจารณาให้เกิดในศาลเดียว
ควรกำหนดให้การพิจารณาคดีเรื่องนี้อยู่ในขอบเขตเพียงศาลเดียว เพื่อลดระยะเวลาและการใช้ทรัพยากรของทางภาครัฐลง
.
นอกจากนี้ยังควรมีการเพิ่มมาตรการอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องของเบี้ยยังชีพ เช่น เพิ่มจำนวนโรงพยาบาล หรือสถานดูแลผู้ชราให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในมิติอื่น ๆ อีกด้วย
.
ที่มา : เสวนาวิชาการออนไลน์ หัวข้อ “การเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”