พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 34 จาก #TULAWInfographic
ถ้าทำละเมิดให้เกิดความเสียหาย 10 ล้าน ผู้ทำละเมิดก็ต้องชดใช้ทั้ง 10 ล้าน
แต่ถ้าการชดใช้นั้นทำให้ผู้ทำละเมิดต้องล้มละลาย หรือไม่มีเงินมากพอในการดำรงชีวิต
กฎหมายจะยังบังคับให้ผู้ทำละเมิดต้องชดใช้ทั้ง 10 ล้านอยู่หรือไม่ ?
#TULAW พาทุกคนหาคำตอบผ่าน “การลดค่าเสียหายเพื่อละเมิดโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม อ่านวิจัยฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/43SCt84
หลักทั่วไปในการกำหนดค่าเสียหาย
กฎหมายลักษณะละเมิดมีวัตถุประสงค์ในการเยียวยาผู้เสียหายผ่านการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด โดยมีหลักการพื้นฐานของการกำหนดค่าสินไหมทดแทนมีว่า ผู้กระทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเต็มเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลักการของกฎหมายลักษณะละเมิดดังกล่าวอาจมีข้อยกเว้น กล่าวคือ ค่าสินไหมทดแทนอาจถูกปรับลดลงได้ในกรณีที่ผู้เสียหายมีส่วนต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งกฎหมายไทยเองมีบทบัญญัติรองรับข้อยกเว้นดังกล่าว
การปรับลดค่าเสียหายตามกฎหมายต่างประเทศ
หากพิจารณาในมุมมองเชิงกฎหมายเปรียบเทียบ ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์และเกาหลีใต้ เปิดช่องให้ศาลสามารถพิจารณาปรับลดค่าเสียหายได้ เมื่อคำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดต่อสถานะทางการเงินของผู้กระทำละเมิด หรือความได้สัดส่วนระหว่างความร้ายแรงของความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งทางฝั่งผู้เสียหายและฝั่งผู้ที่ทำละเมิด
ในขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและฝรั่งเศสไม่ได้บัญญัติเปิดช่องไว้อย่างชัดเจนในการปรับลดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงสองเรื่องดังกล่าว หากแต่กำหนดให้สามารถปรับลดได้ในกรณีที่ผู้เสียหายมีส่วนต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น
สำหรับกฎหมายของไทยได้มีการเปิดช่องให้จำเลยสามารถยกข้อต่อสู้เพื่อให้ศาลพิจารณาปรับลดค่าเสียหายลงได้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายมีส่วนต้องรับผิดชอบ เหมือนกฎหมายของประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส แต่ไม่ได้บัญญัติให้ศาลสามารถปรับลดค่าเสียหายโดยคำนึงถึงสถานะทางการเงินและสัดส่วนความผิดของผู้กระทำละเมิดไว้อย่างชัดเจน
ข้อเสนอแนะในการปรับลดค่าเสียหายเพื่อละเมิด
แม้กฎหมายไทยไม่มีการบัญญัติให้ศาลพิจารณาถึงเรื่องของสถานะทางการเงินและความได้สัดส่วนของการกระทำผิด แต่ภายใต้หลักสุจริตทั่วไปซึ่งเป็นหลักการที่แทรกซึมอยู่ในระบบกฎหมายแพ่งของไทย ศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการปรับลดค่าเสียหายที่ผู้กระทำละเมิดต้องชดใช้ลงโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ
- ผู้กระทำละเมิดเป็นบุคคลธรรมดา
ควรจำกัดให้เรื่องการปรับลดค่าเสียหายเฉพาะการทำละเมิดโดยบุคคลธรรมดาเท่านั้น เพราะนิติบุคคลโดยสภาพย่อมมีศักยภาพที่จะชดใช้ค่าเสียหายได้ รวมทั้งนิติบุคคลยังมีช่องทางอื่น ๆ ที่จะสามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ อาทิ การทำประกันภัยเพื่อความรับผิด
- การกระทำละเมิดมิได้เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ในแง่องค์ประกอบภายในจิตใจอันได้แก่ความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ การปรับลดค่าเสียหายจะกระทำมิได้หากเป็นการกระทำละเมิดโดยจงใจ ในส่วนของความประมาทเลินเล่อ การปรับลดค่าเสียหายไม่อาจทำได้หากเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กล่าวอีกนัย หากเป็นเพียงความประมาทเลินเล่อธรรมดาก็อาจพิจารณาให้มีการปรับลดค่าเสียหายลงได้
- มิใช่ความเสียหายที่เกิดต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย
การปรับลดค่าเสียหายไม่ควรทำได้หากเป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้เสียหาย ทั้งนี้ เป็นการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายด้วย
อีกทั้งเพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการกระทำละเมิดต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคลอื่นมากขึ้น หรือทำให้ขาดการใส่ใจหรือความระมัดระวังต่อความปลอดภัยของผู้อื่นด้วยเช่นกัน
- การกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจะก่อให้เกิดภาระทางการเงินแก่ผู้กระทำละเมิดอย่างมาก หรือระดับความร้ายแรงของความผิดไม่ได้สัดส่วนอย่างมากกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องที่ต้องพิจารณาคือ
– การกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจะก่อให้เกิดภาระทางการเงินแก่ผู้กระทำละเมิดอย่างมาก
หากผู้กระทำละเมิดเป็นบุคคลที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อย และการกำหนดให้ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จะทำให้บุคคลนั้นต้องประสบปัญหาทางการเงินหรือไปจนถึงขั้นล้มละลาย ศาลก็ควรพิจารณาค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ให้เหมาะสมแก่บุคคลนั้น
– ระดับความร้ายแรงของความผิดไม่ได้สัดส่วนอย่างมากกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ศาลต้องพิจารณาระดับความร้ายแรงของความผิดของผู้กระทำละเมิดกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงว่าได้สัดส่วนกันหรือไม่
ยกตัวอย่าง เด็กอายุ 10 ขวบจุดพลุเล่นช่วงเทศกาลโดยไม่ระมัดระวัง และเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ตึกแถวกว่า 5 คูหา มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท ศาลก็อาจพิจารณาปรับลดค่าเสียหายลงได้
เมื่อครบทั้ง 4 เงื่อนไขข้างต้นศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการปรับลดค่าเสียหายลงได้ตามสมควร แต่ไม่ควรลดค่าเสียหายเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความเสียหายจริง เว้นแต่จะมีพฤติการณ์ที่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย
นอกจากนี้ศาลยังควรพิจารณาพฤติการณ์อื่น ๆ ประกอบด้วยเพื่อให้การกำหนดค่าเสียหายเกิดความเป็นธรรมมากที่สุด อาทิ พิจารณาถึงช่องทางการเยียวยาอื่น หรือบุคคลอื่นที่ร่วมรับผิดอย่างในกรณีนายจ้างลูกจ้าง ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ควรมีการนำเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อนี้มาบัญญัติให้เกิดความชัดเจนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ศาลมีดุลพินิจในการปรับลดค่าเสียหายลงในกรณีอื่นนอกจากกรณีที่ผู้เสียหายมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ
ที่มา : การลดค่าเสียหายเพื่อละเมิดโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ; เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม. (2559)