พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 35 จาก #TULAWInfographic
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” คือถ้อยคำที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยในตอนนี้กลับมีเนื้อหา และที่มา ที่ผิดที่ไปจากหลักประชาธิปไตยอยู่มาก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นวาระสำคัญที่ถูกผลักดันทั้งจากฝั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจากฝั่งประชาชนเอง แต่หน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร? ประเด็นใดที่ควรมุ่งเน้นเป็นพิเศษ?
# TULAW สรุปสาระสำคัญจากอภิปรายสาธารณะเรื่อง “รัฐธรรมนูญใหม่ ควรมีหน้าตาอย่างไร”
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/3E1aA3d
จำนวนคำที่มากเกินไปของรัฐธรรมนูญไทย
รัฐธรรมนูญปี 2540 มีจำนวนคำ 37,800 คำ รัฐธรรมนูญปี 2550 มีคำกว่า 44,700 คำ รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างแรกมีจำนวนกว่า 55,000 คำในตอนแรก ก่อนจะลดลงมาเหลือ 41,000 คำ ในขณะที่รัฐธรรมนูญของประเทศอื่นทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 คำเท่านั้น เพราะใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจและให้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลกัน รัฐธรรมนูญจึงไม่จำเป็นต้องยาว
กฎหมายยิ่งมาก ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้ลดลง และยิ่งทำให้มีประโยคและคำที่ต้องตีความมากขึ้น ปัญหาสำคัญยิ่งกว่าคือยิ่งทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ รัฐธรรมนูญของประเทศไทยนั้นเติมกลไก องค์กรใหม่ๆ และถ้อยคำที่ไม่จำเป็นเพิ่มเข้าไปทุกครั้งที่มีการร่างใหม่ ซึ่งแทนที่จะแก้ปัญหาเลยกลายเป็นยิ่งทำให้ปัญหามีมากขึ้น
3 หน้าที่ของรัฐธรรมนูญ
1.คุ้มครองสิทธิของประชาชน : รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดต้องวางหลักการและกลไกในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนเจ้าของประเทศ ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ต้องจำกัดเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
- ออกแบบองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ : รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยต้องออกแบบสถาบันการเมืองและองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐให้มีความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย คือต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และอยู่บนพื้นฐานของหลักการแบ่งแยกอำนาจให้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน
- ออกแบบการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ : นอกจากการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีประชาธิปไตยโดยตรง และการตัดสินใจทางการเมืองและนโยบายที่สะท้อนฉันทามติของสังคมได้
นอกจากนี้แล้วประเด็นที่สำคัญคือ การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญควรถูกร่างโดยผู้ร่างที่มาจากประชาชน โดยมีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญที่เปรียบเป็นสถาปนิกออกแบบบ้านที่ต้องให้เจ้าของบ้านเป็นผู้ตัดสินใจ การทำประชามติในประเด็นสำคัญจึงต้องทำในระหว่างการร่างด้วย
3 ปัญหาของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
รัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย และมีเจตนาในการสืบทอดอำนาจของผู้ยึดอำนาจ
1.ที่มา : รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ถูกร่างโดย ส.ส.ร. หรือตัวแทนที่มาจากประชาชน แต่ถูกร่างโดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหลังจากการยึดอำนาจ
2.กระบวนการ : ถึงแม้จะมีการทำประชามติก่อนประกาศใช้ในปี 2559 แต่ถ้าเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากลจะเห็นได้ว่า ประชามติในครั้งนั้นเป็นประชามติที่ไม่ได้เสรีและเป็นธรรม เพราะมีการดำเนินคดีหรือจับกุมกับกลุ่มคนที่ออกมารณรงค์ต่อต้าน ทั้งยังมีการใช้คำถามพ่วงในเรื่องอำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของผู้ยึดอำนาจ ให้เลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยใช้ถ้อยคำที่ชี้นำและซ่อนเร้นเจตนาที่แท้จริง
3.เนื้อหา : รัฐธรรมนูญ 2560 มีการวางกลไกสืบทอดอำนาจให้กับผู้ยึดอำนาจ โดยผ่าน ส.ว. ที่ตนเองเป็นผู้เลือกให้มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการเลือกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญโดยผ่าน ส.ว.
3 ประเด็นในรัฐธรรมนูญที่ควรแก้ไข
1.สภาเดี่ยวหรือสภาคู่ : รัฐเดี่ยวหลายประเทศที่มีลักษณะคล้ายกับประเทศไทยมักใช้ระบบสภาเดี่ยว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกวุฒิสภา แต่ทั้งนี้หากจำเป็นต้องมี หรือเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้มี ส.ว. ก็ต้องให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน หากมีอำนาจมากก็ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทั้งนี้โดยอาจใช้รูปแบบสภาเดี่ยวได้คือให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ประชุมร่วมกับ ส.ส. ในที่ประชุมรัฐสภาเป็นหลัก
2.การตรวจสอบองค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการ : หลักการขององค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการคือ เป็นอิสระจากรัฐบาล แต่ต้องอยู่ใต้กฎหมาย แต่ในปัจจุบันองค์กรอิสระและฝ่ายตุลาการกลับไม่ได้อยู่ใต้กฎหมาย และตรวจสอบไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือทำองค์กรอิสระให้อิสระภายใต้หลัก accountable independence คือความเป็นอิสระที่รับผิดชอบตรวจสอบได้
3.วางกลไกป้องกันรัฐประหาร : วางหลักการและกลไกในรัฐธรรมนูญให้การป้องกันการรัฐประหารและการนิรโทษกรรมการรัฐประหารเป็นบทบัญญัติที่ยกเลิกไม่ได้แม้จะมีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้กองทัพทำสัญญาประชาคมกับประชาชนไม่ให้ทำรัฐประหารอีกในอนาคต
ที่มา: อภิปรายสาธารณะเรื่อง“รัฐธรรมนูญใหม่ ควรมีหน้าตาอย่างไร”
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/3E1aA3d