พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 36 จาก #TULAWInfographic
700,000 ล้านบาท คือจำนวนงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
แต่สังคมไทยกลับยังเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมาก แม้ภาพรวมสถิติระดับโลกจะดูดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาดูตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่ายังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่
เรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือการทำประเทศไทยให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ แต่ข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยคืออะไร? แล้วควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การเป็น “รัฐสวัสดิการ” ได้?
#TULAW รวมประเด็นจากเสวนาวิชาการ “โอกาสและความท้าทายทางกฎหมายและนโยบายในการผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการ” ไว้ให้แล้ว งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานเสวนา: https://bit.ly/45xnouf
รัฐสวัสดิการ?
หมายถึง ประเทศที่รัฐบาลมีนโยบายทางสังคมที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดยรัฐจัดโครงการหรือบริการทางสังคมให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นการสร้างระบบความมั่นคงทางสังคม(Social Security) ให้กับคนในรัฐนั้น ๆ
อาจกล่าวได้ว่ารัฐได้ทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของคนในสังคมตั้งแต่เกิดจนตายเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการวางหลักประกันไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ตามรูปแบบและวิธีการในการจัดสวัสดิการสังคมโดยรัฐก็อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านงบประมาณที่มีแหล่งรายได้หลักจากภาษีอากร การบริหารจัดการ และกลไกทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกแบบสร้างขึ้น ที่ต้องคำนึงถึงภูมิหลังทางสังคมของประเทศนั้น ๆ ด้วย
ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ?
สำหรับประเทศไทยอาจมีคำถามว่าประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการหรือยัง ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวบทกฎหมายก็ต้องถือว่าประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการเพราะมีการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสวัสดิการหลายอย่างไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ด้านสวัสดิการสังคมในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น เด็ก เยาวชน คนชรา ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การรับรองสิทธิด้านการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามก็มีความหวังของคนจำนวนมากที่อยากให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบหรือเต็มรูปมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ปัญหาของประเทศไทย
สถานการณ์ของประเทศไทยตอนนี้ เริ่มมีการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้มากขึ้นแล้ว โดยมีการขับเคลื่อนจากหลายฝ่ายทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มีการจัดตั้งองค์กรสวัสดิการชุมชนขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่เพื่อดำเนินการเรื่องสวัสดิการของประชาชนโดยเฉพาะ แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างเช่นกันโดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
ด้านกฎหมาย
– เนื้อหาไม่สอดคล้องหรือมีการยอมรับในระหว่างประเทศ
กฎหมายของไทยยังมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องหรือมีการยอมรับกฎกติกาในทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างครบถ้วนทุกเรื่อง เช่น กฎหมายแรงงาน กฎหมายสวัสดิการ ไปจนถึงกฎหมายอาญา ไม่เปิดโอกาสให้มีการนัดหยุดงานเพื่อประท้วงหรือเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งเป็นการจำกัดอิสระเสรีในการรวมตัว และขัดต่ออนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และยังทำให้ไม่เกิดการผลักดัน หรือรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนอีกด้วย
– การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ
แม้สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนจะถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.อื่นมากมาย แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีกฎหมายลำดับรอง หรือระเบียบออกมารองรับเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งปัญหามักเกิดในการบังคับใช้ และในเนื้อหาของกฎหมายลำดับรองและระเบียบนี่เอง
ด้านประชาชน
– ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจ
คนไทยขาดความรู้ และความเข้าใจในสิทธิของตนเองอย่างมาก รวมทั้งยังขาดทักษะในการใช้เทคโนโลยีทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการใช้สิทธิได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
– ประชาชนเน้นการรับเงินมากกว่าเอาไปต่อยอด
ภาครัฐมีโครงการให้ “เงินพัฒนา” เพื่อให้ประชาชนสามารถมาขอรับเงินเพื่อนำไปต่อยอดในโครงการต่าง ๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่มักสนใจแต่ “เงินสงเคราะห์” ที่เป็นเพียงแค่การรับเงินเท่านั้นสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะกระบวนการในการได้รับ “เงินพัฒนา” นั้นยาก และชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถอธิบายให้คณะกรรมการเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการขอรับเงินได้
ด้านภาครัฐ
– โครงการพัฒนาใช้งบเยอะ แต่ไม่ต่อเนื่อง
โครงการรัฐที่พัฒนาในแต่ละพื้นที่นั้น เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารก็เปลี่ยนโครงการตามไปด้วย ทำให้โครงการไม่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แถมแต่ละโครงการยังใช้งบประมาณในการดำเนินการจำนวนมากอีกด้วย เมื่อไม่เกิดการพัฒนาต่อก็ทำให้งบประมาณเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
– ข้อมูลส่วนกลางไม่เชื่อมโยงถึงกัน
หน่วยงานราชการไม่มีข้อมูลส่วนกลางที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้การใช้สิทธิของประชาชนจำเป็นต้องให้ประชาชนเป็นคนไปดำเนินการที่แต่ละหน่วยงานเองเท่านั้น สร้างความลำบาก และภาระให้แก่ประชาชน และบางครั้งยังทำให้เกิดการซ้อนทับกันของการใช้สิทธิ อย่างเช่น กรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
– จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคนที่เข้ามาขอรับสิทธิแล้ว จะเห็นได้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการบริการ แถมในบางกรณียังต้องมีการพิสูจน์การใช้สิทธิของประชาชนอีกด้วย ยิ่งทำให้กระบวนการล่าช้ามากขึ้นไปอีก
ข้อแนะนำเพื่อทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ
– ทำการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิให้มากขึ้น
ภาครัฐต้องทำการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิที่ประชาชนมีให้มากขึ้น รวมทั้งทำงานเชิงรุกในการดำเนินการเรื่องสิทธิให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่
– นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยในการตรวจจับการฉวยโอกาส เช่น เรื่องการสวมรอยรับเงิน ได้อีกด้วย
– แก้ไขกฎหมายเดิม สร้างกฎหมายใหม่
ต้องร่างกฎหมายเดิมที่ยังคงค้างดำเนินการ และแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนให้เสร็จเรียบร้อย รวมทั้งสร้างกลไกทางกฎหมายใหม่ ๆ อย่างเช่น ระบบภาษีทางการศึกษา เป็นต้น