พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 37 จาก #TULAWInfographic
คนไทยกว่า 13 ล้านคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนอาชญากร
และมีการขึ้นทะเบียนอาชญากรใหม่ปีละกว่า 800,000 คน
การขึ้นทะเบียนอาชญากรทำให้ประชาชนต้องพบเจอกับความยากลำบาก ทั้งในการใช้ชีวิตโดยทั่วไป ไปจนถึงการยื่นเรื่องสมัครงาน จนเป็นเหตุให้ต้องวนกลับมากระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง
ปัญหาใหญ่ที่สุดจึงเป็นการทำให้ทุกคนที่กระทำความผิดไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือมากถูกขึ้นทะเบียนเป็นอาชญากรเหมือนกันทั้งหมด
แต่ด้วยการแก้ระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ ทำให้ตอนนี้เหลือคนไทยเพียงแค่ 3 ล้านกว่าคนเท่านั้นที่ยังคงมีชื่ออยู่ในทะเบียนอาชญากร ซึ่งเนื้อหาการแก้ระเบียบใหม่นี้จะเป็นอย่างไร และสร้างผลดีแก่กระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไรบ้าง
งานชิ้นนี้เป็นการดึงประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานแถลงข่าว: https://bit.ly/3r2yZ5w
ปัญหาของระเบียบฉบับเก่า
ระเบียบเก่ากำหนดให้ต้องมีการลงทะเบียนประวัติอาชญากรตั้งแต่ตอนตั้งข้อหา ไม่ว่าจะทำความผิดอะไร และไม่มีการนำชื่อออกแม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือศาลพิพากษาเพียงรอลงอาญา โดยวิธีการนำชื่อออกจากทะเบียนอาชญากรได้มีอยู่ 2 กรณีเท่านั้นคือ พิสูจน์ได้ว่าตำรวจจับผิดคน หรือเสียชีวิตเท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์
นอกจากนี้กระบวนการในการนำชื่อออกจากทะเบียนอาชญากรยังมีกระบวนการที่ซับซ้อน และยากลำบาก ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนที่มีชื่อในทะเบียนเป็นอย่างมากอีกด้วย
เนื้อหาระเบียบฉบับใหม่
ตามระเบียบฉบับใหม่ ชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลจะถูกบันทึกลงใน “ทะเบียนประวัติอาชญากร” ต่อเมื่อศาลพิพากษาตัดสินว่ากระทำความผิดและลงโทษจำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไปเท่านั้น ในตอนตั้งข้อหาจะบันทึกลงใน “ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา” ซึ่งจะไม่มีการเปิดเผย
สำหรับกรณีที่ศาลตัดสินว่าผิด แต่รอลงอาญาหรือลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือเพียงโทษปรับ จะบันทึกใน “ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่อาชญากร” เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำซาก แต่จะไม่มีการเปิดเผยเช่นเดียวกับทะเบียนประวัติผู้ต้องหา
โดยสรุปทะเบียนประวัติตามระเบียบใหม่จึงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา
คือประวัติของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดที่เป็นคดีอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยห้ามมิให้เปิดเผยทะเบียนประวัติผู้ต้องหา ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เพื่อประโยชน์ภายในหน่วยงานเท่านั้น
2. ทะเบียนประวัติอาชญากร
คือประวัติของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญา โดยต้องพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไปโดยไม่รอการลงโทษหรือรอลงอาญา
3. ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร
คือประวัติของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในคดีอาญาโดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ หรือรอการกำหนดโทษ หรือลงโทษกักขัง หรือลงโทษปรับสถานเดียว รวมถึงเป็นผู้กระทำความผิดโดยประมาท โดยไม่ให้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก
การแบ่งประเภทเช่นนี้ทำให้การขึ้นทะเบียนอาชญากรถูกดำเนินการหลังจากศาลพิพากษาเท่านั้น ไม่ใช่ตั้งแต่การตั้งข้อหาเหมือนระเบียบฉบับเก่า และทำให้การกระทำผิดกฎหมายเพียงเล็กน้อยไม่ถูกขึ้นทะเบียนอาชญากรซึ่งสร้างความลำบากให้แก่ประชาชน
การพัฒนาต่อในอนาคต
ในอนาคตอาจมีการพัฒนากระบวนการเพื่อรองรับสำหรับคนที่ศาลพิพากษาให้จำคุกเกิน 1 เดือน และเป็นการกระทำความผิดประเภทไม่ร้ายแรง โดยนำหลักการจากกฎหมายของยุโรป หรือประเทศสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ หากบุคคลดังกล่าวไม่กระทำความผิดซ้ำในระยะเวลา 5 ปี และมีการทำคุณความดีให้แก่สังคม ก็จะมีสิทธิในการขอให้นำชื่อออกจากทะเบียนอาชญากรได้
ที่มา: การแถลงข่าวเรื่อง การเปลี่ยนแปลงระบบทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์, Thaipost