พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 39 จาก #TULAWInfographic
ถ้าผู้บริโภครายหนึ่งซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ในราคาที่สูงกว่าที่ผู้อื่นต้องจ่าย
เพราะผู้ประกอบธุรกิจตั้งราคาจากปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภครายนั้น เช่น ฐานะทางการเงิน พฤติกรรมการใช้จ่าย ฯลฯ
ผู้บริโภคที่ต้องชำระราคาที่สูงขึ้นเพียงเพราะเหตุปัจจัยส่วนตัวจะยกเลิกสัญญาเพื่อเรียกเงินคืนจากผู้ประกอบการได้หรือไม่ ?
#TULAW พาทุกคนหาคำตอบผ่าน “การยกเลิกสัญญาผู้บริโภคเพราะเหตุกำหนดราคาแบบรายบุคคล”
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
อ่านวิจัยฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3ZNpzrM
ในรูปแบบ E-Book ได้ที่ : https://bit.ly/46idugB
การกำหนดราคาแบบรายบุคคล
เมื่อผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าหรือบริการขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายได้แล้ว ผู้ประกอบการย่อมต้องทำการตลาดผลิตภัณฑ์นั้นไปยังผู้บริโภค โดยในการกำหนดหรือตั้งราคาจำหน่ายสินค้า ผู้ประกอบการบางรายอาจใช้วิธีกำหนดราคาแบบรายบุคคลซึ่งเป็นการกำหนด
ราคาเพื่อเสนอแก่ผู้บริโภคแต่ละรายให้สอดคล้องกับลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภครายนั้นโดยพิจารณาจากปัจจัยส่วนบุคคล เช่น สถานการณ์ส่วนตัวของลูกค้า ถิ่นที่อยู่ของลูกค้า และพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า ฯลฯ การกำหนดราคาแบบรายบุคคลนี้อาจทำให้ผู้บริโภครายหนึ่งต้องจ่ายค่าสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงกว่าที่ผู้บริโภครายอื่นต้องชำระสำหรับผลิตภัณฑ์อย่างเดียวกัน
การกำหนดราคาแบบรายบุคคลจัดเป็นการเลือกปฏิบัติทางด้านราคาในแง่ที่ผู้บริโภคได้รับการเสนอราคาที่แตกต่างกันไปตามลักษณะส่วนตัวของผู้บริโภคแต่ละราย โดยผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติมักรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมหากตนเองต้องชำระราคาสินค้าหรือบริการในราคาที่สูงกว่าที่ผู้บริโภครายอื่นต้องจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพราะผู้ประกอบการกำหนดราคาแบบรายบุคคลโดยใช้ระบบ AI ประมวลข้อมูลหรือพฤติกรรมส่วนตัวของผู้บริโภคที่จัดเก็บผ่านระบบออนไลน์ กรณีเช่นนี้จึงนำมาสู่ข้อสงสัยว่า ระบบกฎหมายแพ่งจะมีกลไกใดหรือไม่ที่จะเปิดช่องให้ผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติด้านราคาสามารถยกเลิกสัญญาเพื่อเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากผู้ประกอบธุรกิจได้
การยกเลิกสัญญาผู้บริโภคตามกฎหมายต่างประเทศ
หากพิจารณาในมุมมองเชิงกับระบบกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ ผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติด้านราคาอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดซึ่งมักจะเป็นการบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลภายในระยะเวลาที่ระบุในเงื่อนไข นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามหลักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่วางหลักให้สิทธิผู้บริโภคเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลภายในระยะเวลาไตร่ตรอง 14 วัน เมื่อเลิกสัญญาถูกต้องแล้ว สัญญาย่อมเป็นอันระงับ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระมาตามสัญญา
อีกทางเลือกหนึ่ง ผู้บริโภคในประเทศเนเธอร์แลนด์อาจบอกใช้วิธีการล้างโมฆียกรรมโดยพิสูจน์ว่าการกำหนดราคาแบบรายบุคคลโดยผู้ประกอบการเข้าลักษณะของการปฏิบัติทางพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเมื่อผู้บริโภคเลือกบอกล้างสัญญาที่เป็นโมฆียะแล้ว สัญญาย่อมเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผู้ประกอบธุรกิจจำต้องคืนเงินที่ชำระมาให้แก่ผู้บริโภค
ข้อเสนอแนะสำหรับระบบกฎหมายไทย
เมื่อพิจารณาแนวทางการตอบปัญหาจากมุมมองเชิงกฎหมายเปรียบเทียบประกอบกับพิจารณากลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันภายใต้ระบบกฎหมายไทย ผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติด้านราคาเพราะการกำหนดราคาแบบรายบุคคลอาจยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจได้ในสองลักษณะดังนี้
- การบอกเลิกสัญญา
ประการแรก ผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติในด้านราคาอาจบอกเลิกสัญญาโดยสิทธิภายใต้สัญญาที่ทำกับผู้ประกอบธุรกิจ โดยสิทธิเลือกสัญญาในแง่นี้มักจะปรากฏจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจประกาศนโยบายให้สิทธิผู้ซื้อสินค้าสามารถเลือกคืนสินค้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่วันที่ได้รับสินค้าซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย แม้จะไม่ปรากฏเงื่อนไขให้สิทธิผู้บริโภคเลิกสัญญาเช่นว่านั้นได้ ผู้บริโภคยังสามารถใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ภายในกำหนด 7 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แต่กระนั้น ผู้บริโภคต้องพิสูจน์ว่าตนได้ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการผ่านการตลาดแบบตรงและต้องแสดงเจตนาเลิกสัญญาเป็นหนังสือไปยังผู้ประกอบธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นการบอกเลิกสัญญาในกรณีใด ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นก็คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ สัญญาซื้อสินค้าหรือบริการเป็นอันสิ้นสุดลง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องทำให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนที่จะทำสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจำต้องคืนเงินที่ผู้บริโภคชำระสำหรับสินค้าหรือบริการคืนกลับไป
- การบอกล้างโมฆียกรรม
ในเบื้องต้น การกำหนดราคาแบบรายบุคคลไม่ใช่เหตุที่ทำให้สัญญาผู้บริโภคตกเป็นโมฆียะตามกฎหมายไทย อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือบริการออนไลน์นำรูปแบบการกำหนดราคาแบบรายบุคคลมาใช้และส่งผลให้ผู้บริโภคบางรายถูกเลือกปฏิบัติในด้านราคา ผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติรายนั้นอาจโต้แย้งโดยยกเหตุสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินเพื่อให้สัญญาตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 157 ได้ แต่กระนั้น ผู้บริโภคก็มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ตนได้เข้าซื้อสินค้าหรือบริการจากความสำคัญผิด โดยผู้บริโภคอาจกล่าวอ้างได้ว่า
– ผู้ประกอบการมีหน้าที่ตามหลักสุจริตในการให้ข้อมูลก่อนสัญญาเกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการโดยใช้วิธีกำหนดราคาแบบรายบุคคลจากข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคได้ กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ให้ข้อมูลว่ามีการกำหนดราคาสินค้าหรือบริการเพื่อเสนอต่อผู้บริโภคแบบรายบุคคลโดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคหรือไม่ เพียงไร
– การที่ผู้ประกอบการปิดบังหรือไม่เปิดเผยข้อมูลตามหน้าที่ข้างต้นย่อมทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการบอกกล่าวอย่างเพียงพอและแสดงเจตนาออกไปโดยสำคัญผิดในราคาที่ต้องชำระ ความสำคัญผิดที่เกิดจากการไม่ให้ข้อมูลก่อนสัญญานี้ไม่ถือเป็นความสำคัญผิดในการประเมินค่าที่วางอยู่บนพื้นฐานของการมีข้อมูลครบถ้วนประกอบการตัดสินใจอันเข้าลักษณะสำคัญผิดในมูลเหตุชักจูงใจที่ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะได้
ผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติในด้านราคาต้องพิสูจน์อีกว่าการแสดงเจตนาอันเกิดจากความสำคัญผิดนั้นเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ โดยความสำคัญผิดในราคาของสินค้าหรือบริการเป็นความสำคัญผิดในคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการนั้นได้ หากผู้แสดงเจตนาทำสัญญาถือว่าราคาเป็นมูลค่าเงินที่สะท้อนคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ คุณสมบัติดังกล่าวต้องเป็นสาระสำคัญในแง่ที่ว่าหากผู้บริโภคได้ทราบว่ามีผู้บริโภครายอื่นสามารถซื้อสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกันกับผู้ประกอบการรายเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า ตนก็จะไม่เข้าทำสัญญาตามราคาที่เสนอ กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญได้
เมื่อผู้บริโภคที่ถูกเลือกปฏิบัติในด้านราคาใช้สิทธิบอกล้างสัญญาที่ตกเป็นโมฆียะเพราะเหตุสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 157 แล้ว มาตรา 176 วรรคหนึ่งวางหลักว่าให้สัญญามีผลตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น กรณีเช่นนี้ คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องทำให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ในแง่นี้ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องคืนเงินที่ผู้บริโภคชำระค่าสินค้ามาให้แก่ผู้บริโภค
ที่มา : การยกเลิกสัญญาผู้บริโภคเพราะเหตุกำหนดราคาแบบรายบุคคล : ศึกษาเปรียบเทียบระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ ; เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม. (2566)