พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 40 จาก #TULAWInfographic
ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารนั้นถูกกระจายไปอย่างรวดเร็ว ยากที่จะควบคุม ประกอบกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้การสื่อสารในปัจจุบันไร้พรมแดน ปฏิบัติการข่าวสาร หรือที่รู้จักกันในนาม “IO” เป็นปฏิบัติการที่รัฐต่าง ๆ เริ่มนิยมนำมาใช้มากขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าถึง เปลี่ยนแปลง หรือทำลายข้อมูล หรือระบบข้อมูลเป้าหมาย
ในทางระหว่างประเทศ ปฏิบัติการข่าวสารอาจถูกใช้ในหลากหลายเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งหรือข้อพิพาทในระดับชาติหรือระหว่างประเทศ ปฏิบัติการดังกล่าวอาจจะสร้างความเสียหายในหลายระดับ ตั้งแต่น้อยมากจนไปถึงไม่อาจจะควบคุมได้
ปัญหาของปฏิบัติการข่าวสารในทางระหว่างประเทศมีหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาของสถานะของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข่าวสารซึ่งได้แก่บุคคลที่ทำปฏิบัติการข่าวสาร ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนผู้สนับสนุนในการเผยแพร่ข้อมูลเช่นว่านั้น เรื่อยไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับความรุนแรงและความเสียหายจากปฏิบัติข่าวสาร และที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาของการไม่มีกฎหมายหรือพันธกรณีระหว่างประเทศที่ใช้ในการดำเนินการกับปฏิบัติการข่าวสารได้โดยตรง #TULAW จะพาทุกคนทำความรู้จักเกี่ยวกับ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ปัญหาทางกฎหมายต่าง ๆ และกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่อาจนำมาปรับใช้กับปฏิบัติการดังกล่าวได้
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
งานวิจัยฉบับเต็ม: https://bit.ly/3DMwE1J
บทความวิจัย: https://doi.org/10.4337/cilj.2022.02.05
ปฏิบัติการข่าวสาร
ปฏิบัติการข่าวสารเป็นปฏิบัติการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ได้มาซึ่งการเข้าถึง เปลี่ยนแปลง หรือทำลายข้อมูลหรือระบบข้อมูลของเป้าหมาย โดยอาจจะเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายทางกายภาพหรือไม่ก็ได้
บางครั้งปฏิบัติการข่าวสารอาจอยู่ในลักษณะการปกป้องข้อมูลของตนเอง และในขณะเดียวกันอาจมีการพยายามสร้างอิทธิพลเหนือ ก่อกวน ฉ้อฉล หรือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของศัตรูหรือผู้ที่อาจจะเป็นศัตรู
แต่อย่างไรดี ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี กิจกรรมที่มีลักษณะเป็นปฏิบัติการข่าวสารนั้นได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินการไปสู่โซเชียลมีเดีย และสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ
ปัญหาของปฏิบัติการข่าวสารในทางระหว่างประเทศ
จากการศึกษาพบว่า ปฏิบัติการข่าวสารที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น มีปัญหาทั้งสิ้น 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก ปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติและลักษณะของผู้ทรงสิทธิและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งในปัจจุบันการกระทำของผู้แทนของรัฐถือเป็นการกระทำของรัฐและอาจทำให้รัฐมีความรับผิดจากการดำเนินปฏิบัติการดังกล่าว แต่ในส่วนขององคภาวะอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์นั้น ยังมีปัญหาในการพิจารณาเกี่ยวกับสภาพบุคคลซึ่งอาจทำให้องคภาวะดังกล่าวไม่มีความรับผิดในทางระหว่างประเทศ
ประการที่สอง ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหา เทคนิค และเป้าหมายของปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งในปัจจุบัน มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการดำเนินปฏิบัติการข่าวสารบางครั้งอาจไม่ได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง หรืออาจไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก จึงเกิดปัญหาว่า การกระทำใดบ้างที่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นปฏิบัติการข่าวสาร และควรจะต้องมีความรับผิดมากน้อยเพียงใด
ประการที่สาม ปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดชอบจากการดำเนินปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนว่า ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับปฏิบัติการข่าวสารเป็นการเฉพาะ หากแต่ต้องตีความจากกฎหมายระหว่างประเทศดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งองคภาวะบางกลุ่มอาจไม่ถูกพิจารณาว่าต้องมีความรับผิดชอบในทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายนั้นดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ตัวอย่าง: ปฏิบัติการลดทอนคุณค่าและสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจา
ปฏิบัติการในการลดทอนคุณค่าและสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจาในประเทศเมียนมาซึ่งเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศเมียนมา และผ่าน influencer ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการร้องขอโดยรัฐ เข้าองค์ประกอบของการเป็นปฏิบัติการข่าวสาร เนื่องจากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือทำในนามรัฐ มีการสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจา โดยมีลักษณะเป็นสงครามจิตวิทยาและการลวงทางทหาร และนำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในความเป็นจริงซึ่งเป็นข้อกล่าวหาของแกมเบียในข้อพิพาทภายใต้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
จากการศึกษาพบว่า กฎหมายระหว่างประเทศที่อาจพอปรับใช้กับปฏิบัติการข่าวสารได้นั้นอาจปรับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างของกรณีศึกษาได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
กฎหมายระหว่างประเทศพื้นฐานที่เกี่ยวกับหลักอธิปไตยของรัฐ หลักการห้ามการแทรกแซง หลักกฎหมายว่าด้วยสงคราม หลักการห้ามใช้กำลัง และหลักกฎหมายสื่อสารระหว่างประเทศนั้นแทบจะไม่สามารถปรับใช้ได้กับปฏิบัติการข่าวสารตามกรณีศึกษา เนื่องจากขาดปัจจัยหลายประการ เช่น ลักษณะระหว่างประเทศของปฏิบัติการทั้ง ๆ ที่เกิดผลกระทบในระดับระหว่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอาจจะพอปรับใช้ได้กับกรณีดังกล่าวเนื่องจากเป็นเรื่องการกระทบสิทธิของบุคคล ส่งผลให้มีความยุ่งยากในการใช้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของรัฐในทางระหว่างประเทศ
เมื่อกฎหมายระหว่างประเทศไม่ครอบคลุม จะทำอย่างไร?
งานวิจัยชิ้นนี้จึงเสนอให้มีการทบทวนกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยอาจพิจารณาออกกฎหมายและ/หรือแนวปฏิบัติใหม่เป็นการเฉพาะ หรือการตีความกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้ครอบคลุมปฏิบัติการข่าวสาร
ในส่วนของการออกกฎหมายระหว่างประเทศและ/หรือแนวปฏิบัติใหม่เป็นการเฉพาะนั้น เห็นควรให้มีกฎหมายระหว่างประเทศและ/หรือแนวปฏิบัติฉบับใหม่ซึ่งใช้บังคับกับกรณีของปฏิบัติการข่าวสารโดยเฉพาะ ซึ่งควรมีการกล่าวถึงปฏิบัติการทางไซเบอร์หรือออนไลน์โดยรัฐ โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้ควรจะกำหนดนิยามของปฏิบัติการข่าวสาร กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความรับผิดในทางระหว่างประเทศของรัฐ ผู้ทรงสิทธิและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินปฏิบัติการข่าวสาร เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศแบบดั้งเดิมอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มขององคภาวะอื่นที่ไม่ใช่รัฐ เช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
ในส่วนของการตีความกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมให้ครอบคลุมปฏิบัติการข่าวสารนั้น เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้กับปฏิบัติการข่าวสารเป็นการเฉพาะ เห็นว่า หนทางที่อาจพอเป็นไปได้ คือ การตีความกฎหมายระหว่างประเทศดั้งเดิมให้ครอบคลุมปฏิบัติการข่าวสารในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด แต่ก็จะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาบางส่วนเท่านั้น ปฏิบัติการข่าวสารบางประเภทจะตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ และส่งผลให้รัฐอาจมีความรับผิดในทางระหว่างประเทศได้ แต่ก็จะไม่ครอบคลุมองคภาวะอื่น ๆ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศยังไปไม่ถึง
ที่มา : งานวิจัย เรื่อง “ปฏิบัติการข่าวสารและความรับผิดชอบของรัฐ: กรณีศึกษาข้อกล่าวหาเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มโรฮีนจาในประเทศเมียนมาและปฏิบัติการโน้มน้าวข้อมูลข่าวสารที่มีความเกี่ยวข้องกับทหารในประเทศไทย” โดย อาจารย์ ดร.ธนภัทร ชาตินักรบ