พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 42 จาก #TULAWInfographic
“อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้ ต้องมีปัจจัยแวดล้อมที่สร้างพวกเขาขึ้นมา” กล่าวคือ เมื่อเด็กตัดสินใจก่ออาชญากรรม สิ่งที่พวกเขากำลังคิดอยู่ในหัวคืออะไร ทำไมเด็กบางคนจึงกล้าที่จะกระทำความผิดในระดับเดียวกับผู้ใหญ่ และกฎหมายมีมาตรการในการรับมือเด็กกลุ่มนี้อย่างไร
การเป็นเด็กจะทำให้พวกเขาไม่ต้องรับผิดต่ออาชญากรรมหรือไม่? กระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กเป็นอย่างไร? #TULAW สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการเรื่อง “ร่วมคิด ร่วมแชร์ ร่วมแก้ปัญหาก่อนจะได้มาซึ่ง ‘อาชญากรเด็ก’ ” มาให้แล้ว
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/3Qa4LX4
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางอางอาญาของเด็กมีหลักๆอยู่ 2 ฉบับคือ
- ประมวลกฎหมายอาญา
- พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553
โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีการวางหลักเกณฑ์ในการจัดการกับเด็กที่กระทำผิด รวมถึงการลงโทษที่เหมาะสมแก่เด็กในแต่ละช่วงอายุ รวมทั้งมีมาตรการพิเศษแทนการลงโทษทางอาญาเพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กเอาไว้ด้วย
ทั้งนี้ ศาลจะใช้มาตรการพิเศษตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯได้ต่อเมื่อเด็กที่กระทำความผิดจำต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางศาลเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่จำเป็นต้องลงโทษจำคุกแก่เด็ก ศาลสามารถปรับลดได้ตามความเหมาะสม และสามารถใช้ดุลยพินิจเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นส่งไปศูนย์ฝึกอบรม หรือเปลี่ยนจากโทษปรับเป็นคุมประพฤติแทนก็ได้
ทำไมเด็กจึงกระทำความผิด?
สาเหตุการกระทำความผิดของเด็กอาจสามารถอธิบายได้ตามทฤษฎีใน 3 ด้านดังนี้
- ทฤษฎีทางเลือก ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีย่อย คือ
– ทฤษฎีการเลือกกระทำความผิดแบบที่มีเหตุมีผล
แม้เด็กจะมีหลักการการคิดตามเหตุและผลที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่เด็กก็มีเหตุผลในแบบของตัวเอง มีการคิด และประเมินความเสี่ยงในเรื่องของผลที่จะได้รับในการเลือกกระทำความผิดเหมือนกับผู้ใหญ่เช่นกัน
– ทฤษฎีกิจวัตรประจำวัน หรือทฤษฎีโอกาส
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าทุกอย่างสามารถก่อให้เกิดโอกาสในการก่ออาชญากรรมได้หมด แม้ว่าจะเป็นแค่กิจกรรมในชีวิตประจำวันก็ตาม อย่างเช่น การไปโรงเรียน ก็สามารถเกิดโอกาสในการก่ออาชญากรรมได้เช่นกัน ดังนั้น บางครั้งการก่ออาชญากรรมอาจไม่ได้เกิดจากการที่เด็กคนนั้นเป็นคนไม่ดีตั้งแต่แรก แต่อาจเป็นการเลือกที่จะกระทำความผิดเพราะสบโอกาส
- ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีย่อย คือ
– ทฤษฎีจิตวิทยาพฤติกรรม
ซึ่งเป็นเรื่องของการอบรมสั่งสอนของครอบครัวหรือคนรอบข้างว่า มีการวางเงื่อนไขเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กอย่างไรบ้าง และเด็กแสดงการโต้ตอบออกมาอย่างไร ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้พฤติกรรม
– ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม หรือทฤษฎีพฤติกรรมเลียนแบบ
เด็กทุกคนมีการสังเกต จดจำ และกระทำตาม ซึ่งเด็กมีแนวโน้มที่จะทำตามต้นแบบของเขา ไม่ใช่ว่าเลียนแบบใครก็ได้ แต่เด็กจะเลือกทำตามต้นแบบที่เขาคิดว่าดีเท่านั้น ครอบครัวจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งที่เด็กมักเลือกจะเลียนแบบเพราะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิด
.
– ทฤษฎีการโยนความผิด
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าเป็นการปฏิเสธความผิดของตนเอง โดยอาจโยนความผิดให้เหยื่อ โทษสภาพสังคมแวดล้อม ไปจนถึงการหาเหตุผลต่าง ๆ เพื่อมาสนับสนุนว่าการกระทำของพวกเขาคือการกระทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
- ทฤษฎีทางด้านสังคมวิทยา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎีย่อย คือ
– ทฤษฎีการคบค้าสมาคบที่แตกต่าง
เหมือนสุภาษิตไทยว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” ซึ่งกรณีเด็กคือมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากมีพฤติกรรมการติดเพื่อนและอยากเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม ทำให้เริ่มมีการยอมรับค่านิยมที่ทั้งดีและไม่ดีจนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิด
– ทฤษฎีการควบคุมสังคม
ทฤษฎีนี้เชื่อว่า เด็กถูกผูกพัน และผูกมัดกับสังคมที่พวกเขาอยู่ และทำตามบรรทัดฐานที่สังคมนั้น ๆ ยอมรับ ถ้าเราสามารถทำให้เด็กผูกมัดอยู่กับสังคมที่ดี เด็กก็จะไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน หรือการก่ออาชญากรรมขึ้นมาได้
นอกจากนี้ การกระทำความผิดของเด็กยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่น
– สื่อต่าง ๆ
สื่อเองก็มีผลเช่นกัน แต่ในหลาย ๆ วิจัยจากต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า สื่อไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการทำให้เด็กก่ออาชญากรรม แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เด็กเข้าใจว่า การใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องปกติ หรือกลายเป็นค่านิยมผิด ๆ สื่อจึงอาจจะเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงได้ ดังนั้นจึงต้องมีผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่คอยดูแล และให้คำอบรมสั่งสอนเด็ก
– สภาพครอบครัว
ไม่ใช่ว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ดีจะไม่ก่ออาชญากรรมเสมอไป แต่สภาพครอบครัวที่แตกแยกอาจเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้น และส่งเสริมให้เด็กก่ออาชญากรรมได้ เพราะเด็กขาดคนคอยดูแล ส่งเสริม และชี้แนะ และถึงแม้จะเป็นครอบครัวสมบูรณ์ แต่ถ้าขาดความใกล้ชิดกันก็อาจทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมการต่อต้านอีกรูปแบบหนึ่งจนเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมได้เช่นกัน
– ปัญหาทางด้านจิตเวช
ปัญหานี้อาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเป็นหลัก เช่น การทุบตี ดุด่า หรือตามใจมากจนเกินไป จนทำให้เด็กเกิดอาการทางจิตใจและอารมณ์ได้ เช่น ภาวะดื้อต่อต้าน พฤติกรรมเกเร หรือพฤติกรรมซึมเศร้าที่เป็นไปตามวัย และอาจรุนแรงขึ้นได้ ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
สรุป คือ สาเหตุที่ทำให้เด็กกระทำความผิดทางอาญาและอาจถึงระดับที่เรียกว่าเป็นอาชญากรเด็กนั้นมีได้หลายปัจจัย และอาจมีปัจจัยที่ทับซ้อนกันอยู่จนไม่อาจแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
ดังนั้น กระบวนการทางกฎหมายจึงต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสมแก่เด็กแต่ละเพศ วัย และสถานการณ์ เพื่อให้การดำเนินการแก่เด็กที่กระทำความผิดทางอาญากรณีทั่วไปกับเด็กที่มีหัวใจอาชญากรเกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับการคุ้มครองประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างแท้จริง
เด็กอ้างเหตุวิกลจริตตามประมวลกฎหมายอาญาได้ไหม?
มาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายอาญาวางหลักเอาไว้ว่า หากผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ซึ่งเป็นบทที่สามารถปรับใช้กับกรณีของผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กได้ด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าหากการที่เด็กก่ออาชญากรรมนั้นไม่ได้เกิดมาจากโรคจิตเวช แต่เป็นปัญหาที่เกิดมาจากพฤติกรรมของเด็กเองก็อาจไม่เข้าตามความหมายของมาตรานี้ และถ้าหากยกเรื่องโรคจิตเวชมาเป็นข้อต่อสู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าขณะที่เด็กกระทำความผิด “เด็กคนนั้นไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้” โดยต้องผ่านกระบวนการการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญเสียก่อนเท่านั้น
แนวทางการป้องกันอาชญากรเด็ก
เพราะอาชญากรเด็กไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาได้เอง แต่เป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมที่บิดเบี้ยวไปจนเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมขึ้น ดังนั้น การจะป้องกันไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งผู้ใช้อำนาจปกครอง ครู โรงเรียน ไปจนถึงสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งในการเสวนานี้ได้มีการพูดถึงแนวทางที่สำคัญ 3 เรื่องคือ
– สร้างความเข้าใจที่ดีให้กับเด็ก และบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก ไปจนถึงระดับของสื่อต่าง ๆ ที่ต้องสื่อสารเรื่องต่าง ๆ ออกมาให้เข้าใจ และเหมาะสมแก่ช่วงวัยของเด็ก รวมทั้งต้องมีกระบวนการที่คัดกรองเนื้อหาของสื่อที่เหมาะสมกับเด็กอย่างจริงจังด้วย
– สร้างศูนย์ให้คำปรึกษาแก่เด็ก รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการรับมือกับเด็กทั้งในสถานการณ์ปกติ และในกรณีที่เด็กที่ได้กระทำความผิดหรือก่ออาชญากรรมแล้ว
– กระบวนการยุติธรรมต้องสร้างความสมดุลระหว่างการให้ความยุติธรรมแก่เด็กและการคุ้มครองความสงบเรียบร้อยในสังคม โดยกระบวนการยุติธรรมควรถูกออกแบบเพื่อป้องกันทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ และกระบวนการยุติธรรมต้องมอบโอกาสให้แก่เด็กที่กระทำความผิดและสำนึกผิดอย่างเหมาะสมด้วย
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “ร่วมคิด ร่วมแชร์ ร่วมแก้ปัญหาก่อนจะได้มาซึ่ง ‘อาชญากรเด็ก’ ”