SMART CAR ศูนย์กลางข้อมูลแห่งอนาคตที่กฎหมายต้องควบคุม
พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 42 จาก #TULAWInfographic
รถยนต์ไร้คนขับ(Smart car) กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการขนส่งแห่งอนาคต และเป็นยานพาหนะที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการติดต่อผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาทำให้ข้อมูลของผู้ใช้ เช่น เส้นทางการเดินทาง ความบันเทิงระหว่างการเดินทาง ถูกบันทึกอยู่ตลอดเวลา
.
และเมื่อเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับได้ขยายตัวไปทั่วโลก ทำให้แนวความคิดทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับรถยนต์จะต้องถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงประเด็นในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน
.
กฎหมายจะมีการรับมือเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและ Smart car อย่างไรบ้าง และมีประเด็นใดที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ #TULAW สรุปสาระสำคัญจากงานวิจัย “ข้อมูลส่วนบุคคลตาม ‘แนวปฏิบัติ 1/2020 ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในบริบทของยานพาหนะที่เชื่อมต่อ และการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชัน’ ของคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป” ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ มาให้แล้ว
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานวิจัยวิชาการ: https://bit.ly/49bN1Db
.
3 ประเด็นท้าทายของรถยนต์ไร้คนขับ
ในยุคที่ข้อมูลเปรียบเสมือนสิ่งล้ำค่า Smart Car กลายเป็นแหล่งรวมข้อมูลที่ทุกคนอยากเข้าถึง จึงเกิดเป็นประเด็นท้าทายขึ้นใน 3 เรื่องดังนี้
.
– ประเด็นท้าทายในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
ความท้าทายที่สำคัญคือ การจัดการสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล และไม่ทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เพราะคนที่จะได้รับข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้เช่น ข้อมูลตำแหน่ง ข้อมูลความบันเทิงระหว่างการเดินทาง รวมไปถึงข้อมูลในการบำรุงรักษานั้นคือ ผู้ผลิตรถยนต์
.
ถ้าหากผู้ผลิตรถยนต์ไม่ยอมให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้เลย อาจจะทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้าได้ เช่น เป็นการบังคับให้เจ้าของรถยนต์ต้องนำรถส่งมอบให้ทางผู้ผลิตเป็นคนบำรุงรักษาเท่านั้นโดยคิดราคาที่แพงมากขึ้น แต่ถ้าหากเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ก็อาจมีผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้รถยนต์นั้น ๆ ตามมาเช่นกัน
.
– ประเด็นท้าทายในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย
การให้สิทธิแก่บุคคลที่สามในการเข้าถึงข้อมูลของรถยนต์ได้ อาจทำให้เกิดผลร้ายต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้รถยนต์ได้ ทั้ง การทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการดึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม แถมการเชื่อมต่อภายในรถยนต์ไร้คนขับนั้นมีด้วยกันหลายจุด ทำให้แฮ็กเกอร์มีโอกาสมากขึ้นในการที่จะเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ อีกด้วย
.
นอกจากนี้รถยนต์แบบไร้คนขับบางชนิดยังจำเป็นจะต้องเชื่อมต่อการสื่อสารแบบยานพาหนะ (V2V) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็น เช่น ข้อมูลอุบัติเหตุ ข้อมูลเส้นทาง ระหว่างกัน ทำให้มีความเสี่ยงอย่างมากที่แฮกเกอร์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด โดยแฮ็กจากรถยนต์เพียงคันเดียว
.
– ประเด็นท้าทายในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
รถยนต์ไร้คนขับถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยานพาหนะที่เชื่อมต่อ” (Connected car/vehicle) เพราะมีการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลของลูกค้าถูกถ่ายโอนไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์อยู่เสมอ ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การดูแลและกำกับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
.
จึงเป็นความท้าทายต่อไปของผู้ผลิตในการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปว่า จะใช้มาตรการหรือระบบอย่างไรในการเก็บรวบรวม จัดเก็บ ใช้ และแบ่งปันข้อมูลโดยคำนึงถึงประเด็นทางด้านกฎหมาย พร้อมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของตนเองต่อไปพร้อมกัน
.
แนวปฏิบัติ 1/2020 ว่าด้วยการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในบริบทของยานพาหนะที่เชื่อมต่อ และแอปพลิเคชันที่เก่ียวข้องกับการเคลื่อนที่
จากความท้าทายที่เกิดขึ้น สหภาพยุโรปจึงเตรียมการที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าวนี้ โดยจัดเตรียมกฎหมาย 2 ฉบับคือ “Data Act (พระราชบัญญัติข้อมูล)” และ “แนวปฏิบัติ 1/2020 ว่าด้วยการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในบริบทของยานพาหนะที่เชื่อมต่อ และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่”
.
แนวปฏิบัติ 1/2020 คือกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการข้อมูลของรถยนต์ไร้คนขับ โดยเนื้อหาถูกแบ่งออกเป็น 9 ประเด็นหลัก คือ
.
1. ประเด็นความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูล
2. ประเด็นเรื่องประเภทของข้อมูล
3. ประเด็นเรื่องวัตถุประสงค์
4. ประเด็นเรื่องข้อมูลที่จะต้องแจ้งให้ทราบ
5. ประเด็นเรื่องสิทธิของเจ้าของข้อมูล
6. ประเด็นเรื่องความปลอดภัย และการรักษาความลับ
7. ประเด็นเรื่องการส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปยังบุคคลที่สาม
8. ประเด็นเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลออกไปนอกสหภาพยุโรป
9. ประเด็นเรื่องการใช้เทคโนโลยี Wi-Fi ในรถยนต์
.
แนวปฏิบัติ 1/2020 ถือว่าเป็นคู่มือที่สำคัญในการจำแนกบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่อยู่ในวงจรการให้บริการรถยนต์ไร้คนขับ เพราะเป็นการกำหนดกฎหมายแบบเฉพาะเรื่องทำให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่าการใช้กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติอื่น ๆ มาบังคับใช้
.
กฎหมายของประเทศไทย
ประเทศไทยไม่ได้มีการตรากฎหมายเป็นการเฉพาะสำหรับกรณีรถยนต์ไร้คนขับ แต่มีกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้คือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนด หลักเกณฑ์ กลไกล และมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลเอาไว้ ทั้งการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผย รวมถึงกำหนดสิทธิ และหน้าที่เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
.
ทั้งนี้ต้องพิจารณานิยามของข้อมูลส่วนบุคคลตามความหมายของ พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วย โดย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ สามารถใช้บังคับกับข้อมูลใด ๆ ที่สามารถเชื่อมโยง และระบุถึงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูลได้ ดังนั้นข้อมูลท่ีได้จากรถยนต์จึงอาจเข้าความหมายตามนิยามที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดได้เช่นกัน
.
แต่กรณีของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลถนน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของบุคคลอาจไม่เข้าตามความหมาย ข้อมูลส่วนบุคคล ตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ
ข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
.
1. ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่
2. ข้อมูลส่วนบุคคลเชิงอ่อนไหว เช่น ข้อมูลเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง โดยข้อมูลไบโอเมตริก (Biometric data) อาทิ ข้อมูลตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ประวัติการเดินทาง ถือว่าเป็นข้อมูลที่อาจเข้าข่ายเป็นข้อมูลเชิงอ่อนไหวได้เช่นกัน
.
เมื่อพิจารณาว่าข้อมูลจาก Smart Car เป็นไปตามนิยามของกฎหมายฉบับนี้แล้ว ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้จึงถูกควบคุมตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วยเช่นกัน โดยประกอบไปด้วย 6 ประเด็นคือ
.
1. ประเด็นการเก็บรวบรวมข้อมูล
2. ประเด็นการใช้หรือเปิดเผยข้อมูล
3. ประเด็นการโอนข้อมูลไปต่างประเทศ
4. ประเด็นการให้บริการโดยผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
5. ประเด็นการเก็บและรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
6. ประเด็นเรื่องสิทธิของเจ้าของข้อมูล
.
ทั้งนี้ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำมาบังคับใช้เฉพาะในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นกรณีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อติดตามพฤติกรรมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยเท่านั้น
.
2 ข้อเสนอแนะในการรับมือ
ข้อเสนอแนะในการรับมือกับประเด็นความท้าทายในอนาคต แบ่งออกเป็น 2 ข้อใหญ่คือ
.
– ทำการแปลงข้อมูลเป็นคะแนน
ในสหภาพยุโรปได้มีข้อเสนอแนะในการแปลงข้อมูลดิบให้เป็นคะแนนเพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลดิบโดยตรงจากบุคคลที่สาม เนื่องจากมองว่า ผู้ควบคุมข้อมูล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลที่เป็นบุคคลที่สามไม่ควรเข้าถึงข้อมูลดิบได้โดยตรง หรือหากมีข้อมูลดิบอยู่ในความครอบครองก็ควรมีระยะเวลาที่จำกัดเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับการนำไปใช้งานเท่านั้น
.
การจัดทำเป็นรูปแบบคะแนน ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ข้อมูลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดิบ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใช้งานได้ อันเป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ รวมทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการได้ข้อมูลที่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งานได้มากที่สุดอีกด้วย
.
– ทำกฎหมายให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับบริบท
ทำการนิยามข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกเก็บรวบรวมโดย smart car ให้ชัดเจนว่าถูกคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ เพื่อให้เกิดการพิจารณา และการวางแนวทางที่ชัดเจนในแต่ละกรณี
.
นอกจากนี้ยังต้องทำกฎหมายให้เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน โดยวางหลักเกณฑ์ที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดในเรื่องของข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม
.
ที่มา: ข้อมูลส่วนบุคคลตาม “แนวปฏิบัติ 1/2020 ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลในบริบทของยานพาหนะที่เชื่อมต่อ และการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชัน” ของคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป; ภูมินทร์ บุตรอินทร์. (2566)