พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 42 จาก #TULAWInfographic
“เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ” เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากคนไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะเนื้อเรื่องที่เข้มข้น ประกอบกับภาพและสีสันภายในภาพยนตร์ที่ทำให้คนดูแทบไม่สามารถละสายตาจากจอได้เลย
แต่นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่สนุกสนาน และเข้มข้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแฝงไว้ด้วยประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจในหลากหลายแง่มุมอีกด้วย ประเด็นทางกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างไร และจะเข้มข้นเท่ากับเนื้อเรื่องของภาพยนตร์หรือไม่ #TULAW สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากกิจกรรม “นิติหนัง อิหยังวะ”มาให้แล้ว อ่านรายละเอียดได้ที่:
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานวิจัยวิชาการ: https://bit.ly/3FOtKKD
กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา
ตามรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดหลักเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เอาไว้ ทำให้มีกฎหมายที่ออกมารองรับเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา และให้การคุ้มครองในหลากหลายมิติ โดยในภาพยนตร์จะมีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกัน 2 ฉบับคือ
– ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
กฎหมายว่าด้วยลักษณะพยานใน ป.วิ.อ ได้กำหนดวิธีการดำเนินการในการรวบรวม จัดเก็บ พยานหลักฐานต่าง ๆ ไปจนถึงเรื่องบทตัดพยานจากกรณีได้พยาน หลักฐานมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้ ถือว่าเป็นกฎหมายหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องยึดถือและปฏิบัติตามในการดำเนินคดีอาญาอย่างเคร่งครัด
– พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพนั่นเอง ซึ่งหลักการในพระราชบัญญัติฉบับนี้สามารถนำมาปรับใช้กับกรณีการสืบสวน สอบสวนได้เช่นกัน
ประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจ
“เมอเด้อเหรอ” ได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายเรื่องทั้ง ประเด็นเรื่องสิทธิผู้ต้องหา มุมมองในด้านอาชญาวิทยา ไปจนถึงเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว แต่ในบทความนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ
1.กรณีผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ
ในภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นถึงฉากในการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งตาม ป.วิ.อ มาตรา 13 กรณีดังกล่าวจะต้องมีล่ามในการแปลภาษาระหว่างการสอบสวนด้วย เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นผู้ต้องหาที่เป็นชาวต่างชาติจึงควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างครบถ้วน
2.พยานหลักฐานที่ได้มาจากการข่มขู่
นอกจากจะไม่มีล่ามในการแปลภาษาแล้ว ฉากสอบสวนในภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงการข่มขู่ของ
เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ได้มาซึ่งรับคำสารภาพอีกด้วย โดย ป.วิ.อ ได้กำหนดเอาไว้ไม่ให้พนักงานสอบสวนกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เช่น ขู่เข็ญ ทรมาน หลอกลวงเพื่อให้ผู้ต้องหาให้การอย่างที่ตนต้องการ
นอกจากนี้ยังมีมาตรา 226 อันเป็นบทตัดพยานหลักฐาน ไม่ให้นำพยานชนิดที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีได้อีกด้วย รวมทั้งถ้าหากศาลมารู้ภายหลังว่าพยานหลักฐานดังกล่าวได้มาโดยการกระทำที่ไม่ชอบ ศาลก็จะไม่รับฟังซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวโดยเด็ดขาด
ดังนั้นพยานหลักฐานที่ได้มาจากการข่มขู่จากในภาพยนตร์ จึงไม่สามารถนำมากล่าวอ้างในกระบวนการยุติธรรมได้นั่นเอง
3.กรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการมุ่งเน้นควบคุมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับกรณีในภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี
โดยมาตรา 5 ได้วางหลักเอาไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำสารภาพ ผู้นั้นกระทำความฐานทรมาน อันถือเป็นความผิดร้ายแรง แต่ทั้งนี้ต้องเกิดความเจ็บปวดหรือทรมาน “อย่างร้ายแรง” เท่านั้น
รวมทั้งยังมีมาตรา 6 วางหลักเอาไว้ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่า หรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ในภาพยนตร์ได้มีการแสดงให้เห็นถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การบังคับ ขู่เข็ญ รวมถึงมีการกล่าวถึงกรณีการใช้ถุงคลุมหัวเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพอีกด้วย ดังนั้นการ
กระทำดังกล่าวจึงอาจเป็นความผิดตามมาตรา 5 หรือมาตรา 6 ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้เช่นกัน
ที่มา: กิจกรรม “นิติหนัง อิหยังวะ”