พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 45 จาก #TULAWInfographic
.
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองการดำเนินกระบวนการในการพิจารณาคดีของศาล เพื่อให้ไม่เกิดการขัดขวาง หรือการกระทำใด ๆ ที่ทำให้การพิจารณาคดีไม่สามารถเดินหน้า
ต่อไปได้
.
“ศาลรัฐธรรมนูญ” อีกหนึ่งศาลที่มีความสำคัญต่อระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ส่งผลต่อ
การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อระบบโครงสร้างทางการเมืองของไทย เองก็จำเป็นต้องมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเช่นกัน
.
แต่เพราะเหตุใด ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความแตกต่างจากศาลอื่น และทำเกิดประเด็นปัญหาในการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน #TULAW สรุปวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ มาเม้า
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก: https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:306634
.
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้ปรากฎอยู่ใน “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561” 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 38 และมาตรา 39
.
การกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีอยู่ 2 กรณีด้วยกันคือ การฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดโดยทั่วไปที่ศาลได้กำหนดเอาไว้ และการฝ่าฝีนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ คือกรณีที่ศาลมีคำสั่งออกมาในระหว่างพิจารณาคดีแล้วเกิดการฝ่าฝืนขึ้น
.
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่คำนึงถึงพฤติการณ์แต่ละกรณีที่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้น และให้สั่งลงโทษต่อพฤติการณ์นั้น ๆ เท่าที่จำเป็น ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดี และสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะถูกจำกัดไปเพราะการลงโทษ การลงโทษที่เกิน
ความจำเป็นย่อมเท่ากับเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
ความแตกต่างระหว่าง ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กับ ความผิดฐานดูหมิ่นศาล
ความผิดฐานดูหมิ่นศาลตาม ป.อ.มาตรา 198 เป็น “ความผิดอาญา” การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินคดีอาญาที่ใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลัก เพราะฉะนั้นศาลจึงไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญาก่อนเท่านั้น
.
ในขณะที่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีลักษณะเป็นเครื่องมือของศาลที่ใช้อำนาจได้เอง เพื่อจัดการกับการกระทำละเมิดต่ออำนาจและหน้าที่ของศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา และรักษาความเรียบร้อยของศาล จึงถือเป็นมาตรการทางวิธีสบัญญัติ
ส่วนความผิดฐานดูหมิ่นศาลมีลักษณะเป็นการกำหนดความผิดต่อผู้ดูหมิ่นเกียรติของผู้ทำหน้าที่ตุลาการหรือขัดขวางการใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งจะต้องดำเนินการเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วไป ไม่ใช่มาตรการทางวิธีสบัญญัติที่ศาลจะใช้ได้เอง
.
4 ปัญหาของกฎหมายไทย
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายไทยมีประเด็นปัญหาอยู่ด้วยกัน 4 ข้อคือ
.
- ปัญหา “ข้อกำหนดเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” แบ่งได้เป็น 2 ปัญหาย่อย คือ
.
– ความสุ่มเสี่ยงในการมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดได้
ปัญหาการบัญญัติมอบอำนาจให้ศาลสามารรถออกข้อกำหนดที่ระบุได้ว่าการกระทำใดเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้ศาลสามารถออกข้อกำหนดขึ้นเป็นการทั่วไป และใช้บังคับกับบุคคลที่เข้ามา หรือจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญได้ หากมีผู้ใดฝ่าฝืนก็สามารถถูกลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ทันที
.
จึงเกิดเป็นประเด็นว่า การมอบอำนาจจากกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ แต่มอบอำนาจให้แก่ผู้ใช้บังคับกฎหมายไปออกกติกา หรือออกกฎหมายลูกเพิ่มเติมเองนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วเป็นปกติภายในระบบกฎหมาย
.
แต่วิธีการมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกข้อกำหนดได้นั้นจะเป็นการสุ่มเสี่ยงและต้องระมัดระวังหรือไม่เพราะเป็นการมอบเครื่องมือให้ศาลสามารถออกแบบ หรือสร้างกติกาในนามของศาลเองได้ โดยอาจนำไปสู่การสร้างข้อกำหนดที่เกินกว่ากฎหมาย หรือกำหนดโดยไม่มีอำนาจจากกฎหมายแม่บทได้เช่นกัน
.
– ปัญหาการตรวจสอบข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญออกในเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ในกรณีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หากตัวข้อกำหนดออกมาขัดแย้งกับ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ เช่นไปไกลเกินกว่าเรื่องการคุ้มครองความสงบของการพิจารณาคดี แต่มากเกินไปจนถึงการคุ้มครองการถูก
ดูหมิ่นคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยของศาล ซึ่ง ป.อ. กำหนดไว้แล้วในเรื่องความผิดฐานดูหมิ่นศาล
.
หรือกรณีที่ข้อกำหนดนั้นมีข้อขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เช่น ขัดต่อหลักนิติธรรม หลักความได้สัดส่วน กรณีเช่นนี้นี้น จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายหรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อกำหนดดังกล่าว
ได้หรือไม่ เพียงใด และโดยวิธีการใด ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ยังคลุมเครืออยู่ในปัจจุบัน
.
- ปัญหา “มติลงโทษ” โดยแบ่งได้เป็น 3 ปัญหาย่อย คือ
.
– ปัญหาการมีส่วนได้เสียของตุลาการศาลในการพิจารณาสั่งลงโทษ
เป็นที่แน่นอนว่า ทุกการพิจารณาและการลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอาจจะต้องเจอสถานการณ์ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ถูกละเมิดอำนาจ มานั่งเป็นองค์คณะที่เป็นผู้พิจารณาคดี โดยเป็นผู้ทำการพิจารณาและสั่งลงโทษ
.
ทั้งนี้เป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการแค่ 9 คนเพียงเท่านั้น ไม่เหมือนกับศาลอื่น ๆ ที่มีบุคลากรซึ่งเป็นผู้พิพากษาและตุลาการเยอะ นอกจากนี้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกสร้างมาโดยให้มีองค์คณะพิเศษอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องใช้องค์คณะ 7 คนในการพิจารณาจงไม่อาจใช้วิธีการอื่นได้ จึงเกิดเป็นประเด็นปัญหาว่า จะส่งผลต่อความเป็นธรรมในการตัดสินหรือไม่
.
– ปัญหาสัดส่วนของมติการลงโทษสำหรับการลงโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัญหานี้เกิดขึ้นจากตัวบทกฎหมายของ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่ากรณีจะลงโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ จะต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2ใน3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ไม่ได้อิงตามจำนวนองค์คณะในคดีนั้น ๆ ซึ่งเป็นการพิจารณาการลงโทษโดยใช้แต่ปัจจัยภายนอก
.
การคิดคำนวณตุลาการนอกองค์คณะเข้ามาในการพิจารณาทำให้ความเป็นไปได้ในการลงโทษ
ไม่แน่นอน เพราะจำนวนวนองค์คณะที่แตกต่างกัน ซึ่งสัดส่วนที่แตกต่างกันส่งผลต่อความเป็นไปได้
ในการลงโทษเป็นอย่างมาก
.
– ปัญหาขาดการรับรองหลักการห้ามลงโทษซ้ำซ้อน
ในปัจจุบันถ้าเป็นกรรมเดียวแล้วผิดกฎหมาย 2 กฎหมายคือ “ละเมิดอำนาจศาล” และ “ดูหมิ่นศาล”
ผู้กระทำคงวามผิดก็ต้องรับโทษในทั้งสองข้อกล่าวหานั้น โดยที่ไม่มีการกำหนดให้ลดโทษ หรือลดสัดส่วนหลังจากได้รับโทษจากกฎหมายอีกบทหนึ่งแต่อย่างใด
.
- ปัญหา “การกำหนดบทยกเว้นความผิดที่หลุดไปจากหลักการเรื่องละเมิดอำนาจศาล”
.
พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนมาจาก พ.ร.บ.ศาลปกครอง โดยบัญญัติ
เอาไว้ว่า ผู้ใดวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมาย
หยาบคายเสียดสี ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่สำหรับกฎหมายศาลปกครองบอกไม่ผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการโดยกล่าวแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
.
ปัญหาคือการเขียนตัวบทแบบดังกล่าวทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่คดีได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ก็อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ซึ่งในเชิง
หลักการทางทฤษฎีไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ รวมทั้งกฎหมายศาลปกครองซึ่งเป็นต้นแบบการกระทำดังกล่าวก็อาจไม่เป็นความผิดเช่นเดียวกัน
.
เพราะความผิดฐานละเมิดศาลจุดประสงค์คือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความเป็นธรรมในระหว่างการพิจารณาของศาล และคดียังดำเนินอยู่ แต่ในกรณีที่คดีได้สิ้นสุดไปแล้ว ก็นำเอาหลักการอื่นมาปรับใช้แทน เช่น ความผิดฐานดูหมิ่นศาลตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น
.
- ปัญหา “การตรวจสอบการพิจารณาและออกคำสั่งลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ”
.
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลดียวในระบบกฎหมายที่ไม่มีชั้นศาล ถ้าสั่งลงโทษแล้วไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกา
ไปศาลอื่นได้ เป็นการยุติเด็ดขาดในตัวเอง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นการขัดต่อบทกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องเปิดโอกาสให้มีองค์กรตุลาการที่เหนือกว่าทบทวนก่อนเสมอในการลงโทษทางอาญา
.
ข้อเสนอแนะ
จากงานวิจัยมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด 5 ข้อ คือ
.
- ยกเลิกการมอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการออกข้อกำหนด
ยกเลิกการมอบอำนาจ โดยทำให้อำนาจทั้งหมดมีอยู่ใน พ.ร.ป ไม่ต้องมีการเพิ่มเติมอะไร เพราะฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนปวงชน ควรเป็นคนออกกฎ กติกา ที่คำนึงถึงทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายตุลาการอยู่แล้ว ไม่ควรกำหนดให้ออกกติการเพิ่มได้อีก
.
- กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการตรวจสอบ
ควรกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญออก เนื่องจากข้อกำหนด
ดังกล่าวนั้นมีสภาพเป็นกฎ นับเป็นกติกาที่ออกภายใต้กฎหมายแม่บทระดับพระราชบัญญัติพระราชใช้ประกอบรัฐธรรมนูญ
.
เมื่อมีสภาพเป็นกฎ ก็จะไม่ใช่เป็นการกระทำทางตุลาการ เพราะการออกกฏไม่ใช่การพิจารณา หรือพิพากษาคดี แต่เป็นการกระทำในรูปแบบอื่นๆคือการบังคับใช้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกให้ เลยมีสภาพคล้ายกับกฎกระทรวงประกาศกระทรวง จึงสามารถให้ศษลปกครองทำการตรวจสอบได้
.
- ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมติลงโทษมีด้วยกัน 2 ข้อ คือ
.
3.1 เรื่องสัดส่วนคณิตศาสตร์ในการลงโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ายังประสงค์ให้มีโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องปรับเรื่องสัดส่วนของมติการลงโทษใหม่ 2 ใน 3 ควรจะเป็น “ขององค์คณะ” ไม่ใช่ “ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” เพื่อให้ตุลาการซึ่งอยู่ในการพิจารณาตัดสินคดีความผิดฐานละเมิดได้ได้เอง โดยไม่ต้องนำคนนอกองค์คณะเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยให้เกิดความไม่แน่นอน
.
3.2 เรื่องการรับรองหลักการห้ามลงโทษซ้ำซ้อน
ถ้ายังคงมีโทษ ปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับอยู่ ซึ่งเป็นกรณีที่ทับซ้อนกันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ถ้ายังต้องการให้มีอยู่ ควรแก้ไขให้นำโทษ ปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญลงโทษกับบุคคลนั้นไปแล้ว ไปหักส่วนในกรณีที่ศาลยุติธรรมจะลงโทษการกระทำกรรมเดียวกันนั้น
ที่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือขัดขวางศาลด้วย
.
- แก้ไขกฎหมายเรื่องบทยกเว้น
เมื่อก่อให้เกิดความชัดเจนถูกต้อง และสามารถแยกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลออกจากความผิดฐานดูหมิ่นและขัดขวางศาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ได้แล้ว ขอเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.ป. ศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น โดยแก้ไขให้เหมือน พ.ร.บ.ศาลปกครองมาตรา 64 วรรค 3 ซึ่งเป็นต้นแบบของ พ.ร.ป.
.
- ยกเลิกโทษ ปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวในระบบกฎหมายคำสั่งศาลยุติเด็ดขาดโต้แย้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกโทษปรับ ยกเลิกโทษจำคุก และยกเลิกโทษทั้งจำทั้งปรับ ให้เหลือแต่เพียงโทษตักเตือนและไล่ออกจากบริเวณศาลเท่านั้น
.
เพราะมาตรการปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ กระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ยิ่งถ้าไม่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้โดยศาลสูงกว่า ก็จะทำให้เกิดประเด็นปัญหาตามมาอีกมากมาย ประกอบกับเหตุผลในเชิงสภาพของจำนวนตุลาการที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจะนำมาซึ่งข้อครหาได้ รวมทั้งหากในกรณีที่การกระทำดังกล่าวถึงขั้นเป็นความผิดจริง ก็มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 บัญญัติไว้เป็นความผิดอยู่แล้ว
.
ที่มา: วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายไทย” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ มาเม้า