พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 46 จาก #TULAWInfographic
.
สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ The Great War คือสงครามใหญ่ครั้งแรกของโลกที่ทุกคนต่างต้องจดจำ เพราะสงครามครั้งนี้นำมาซึ่งความสูญเสีย ความเปลี่ยนแปลง มากมาย แต่ภายใต้ความเลวร้ายของสงครามครั้งนี้ได้นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญมากมายทั้ง ด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ไปจนถึงระบบกฎหมาย
.
สงครามครั้งนี้ทำให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีในการรบ การปฏิบัติต่อเชลยศึก หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติในยามที่ไม่มีสงครามขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมให้การคุ้มครองพลเรือนและบุคคลอื่นๆ ในช่วงสงครามนั้นเกิดขึ้นได้จริง มีระบบรองรับ อีกทั้งความรุนแรงในครั้งนี้ได้ทำให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้ที่จะพัฒนากลไกในการอยู่ร่วมกัน อันกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบกฎหมายระหว่างประเทศต่อมา
.
วันนี้ #TULAW พาไปดูกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการทำสงคราม ผ่าน สัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ส่องกฎหมาย ฉายหนัง: มองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานสัมมนาวิชาการ https://cutt.ly/KwIQjSPB
.
สงครามคืออะไร?
นอร์แมน แองเจลล์ (Norman Angell) นักเขียนชาวอังกฤษ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1933 เคยได้ให้นิยามความหมายของสงครามเอาไว้ว่า “สงครามคือการส่งคนที่ดีที่สุดของสังคมหนึ่งไปสังหารคนที่ดีที่สุดของอีกสังคมหนึ่ง หรือส่งคนที่ดีที่สุดของสังคมหนึ่งไปให้อีกฝ่ายสังหาร” ซึ่งหลังจากสงครามจบแล้ว ประเทศที่ชนะก็จะไม่เหลืออะไรในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียคนที่มีค่าต่อสังคมนั้น ๆ ไปแล้ว
.
โดยข้อเขียนของเขาในหนังสือ The Great Illusion (1909) นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเตือนค่านิยมของสังคมยุคนั้นที่ยังเคงชื่อว่า สงครามจะนำมาซึ่งเกียรติและความมั่งคั่ง ทั้ง ๆ ท่ีความเป็นจริงการก่อสงครามนั้นสร้างผลกระทบเชิงลบอย่างร้าวลึกต่อสังคมเป็นอย่างมาก
.
สงครามไม่ได้จบแค่ที่พรมแดน ในภาพยนตร์เราจะได้ยินเสียงปืนกลที่ตามด้วยเสียงจักรเย็บผ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าสงครามนั้นกระทบทั้งคนที่ไปรบอยู่ด้านหน้าและประชาชนที่ถูกระดมสรรพกำลังมาเป็นแรงงานของการประหัตประหาร
.
กฎหมายที่เข้ามามีบทบาท
หากพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องกล่าวถึง อนุสัญญาเจนีวาฉบับแรก ในปี 1864 ที่ได้วางกรอบข้อตกลงเกี่ยวกับพฤติกรรมของรัฐในช่วงสงคราม โดยมุ่งเน้นไปที่การคุ้มครองทหารที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยในการสงครามภาคพื้นดิน และให้การรั บรองว่าทหารที่ไม่สามารถทำการรบต่อจะต้องได้รับการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม เและสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้
.
ต่อมายังมีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่สำคัญเกี่ยวกับสงครามขึ้นมาอีก เช่น
– สนธิสัญญาทั่วไปว่าด้วยการยกเลิกสงคราม ค.ศ.1928 (General Treaty for the Renunciation of War) ที่ออกมาเพื่อสร้างกฎกติกาใหม่ของการอยู่ร่วมกันโดยบอกว่า การทำสงครามเป็นสิ่งที่ผิด รัฐภาคีจะต้องร่วมประณามการทำสงคราม และตกลงที่จะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผูกเรื่องศีลธรรมเข้าไว้กับกฎหมาย และทำให้เกิดอิทธิพลต่อความคิดของผู้นำของแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก
.
– กฎการห้ามใช้กำลังระหว่างประเทศ หรือกฎบัตรสหประชาชาติ(UN Charter) กำหนดไม่ให้รัฐคุกคามหรือใช้กำลังต่อกันและกัน ซึ่งพัฒนาต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยวางหลักไว้ใน article 2 (4) ว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐสมาชิกทั้งปวงจักต้องละเว้นการคุกคาม หรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใด ๆ หรือการกระทำในลักษณะการอื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของสหประชาชาติ
.
– กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) คือสนธิสัญญาหลายฉบับรวมถึงจารีตประเพณีที่ควบคุมพฤติกรรม ควบคุมการกระทำต่าง ๆ ในระหว่างที่เกิดสงคราม จุดสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ข้อกฎหมายมีผลบังคับใช้กับคู่สงครามทุกฝั่งโดยไม่จำเป็นว่าใครจะเริ่มสงครามก่อน และหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายมีความชอบธรรมที่จะละเลยข้อปฏิบัติในอนุสัญญานั้น
.
ประเด็นที่น่าสนใจในภาพยนตร์
ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศมากมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยเสวนาหลังชมภาพยนตร์ เช่น
.
- เครื่องหมายคุ้มครอง
ในภาพยนตร์เรื่องนี้สังเกตได้ว่า จะมีหน่วยแพทย์ทหารติดเครื่องหมายกากบาทแดง อยุ่มากมาย ทั้งนี้เนื่องจากอนุสัญญาเจนีวาได้ระบุให้เครื่องหมายกากบาทแดงเป็นเครื่องหมายที่ใช้ในการคุ้มครอง หรือก็คือหน่วยแพทย์ทหารได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงในอนุสัญญาเจนีวาปี 1864 นั่นเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า พวกเขาต้องไม่หยิบอาวุธขึ้นมากระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายตรงข้ามก่อนด้วย
.
- การจัดการร่างผู้เสียชีวิต และความรับผิดชอบต่อครอบครัว
หากทหารเสียชีวิตในสงคราม อนุสัญญาเจนีวาได้กำหนดให้ รัฐต้องจัดการกับร่างผู้เสียชีวิตอย่างสมเกียรติ เช่น การฝังแยก และต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อแจ้งกับครอบครัวของพวกเขาด้วย ซึ่งเป็นฉากที่เราเห็นการเก็บป้ายประจำตัวของทหารในภาพยนตร์นั่นเอง นอกจากนี้กรณีที่ถูกจับเป็นเชลย คู่กรณีก็มีหน้าที่ในการส่งข่าวไปยังอีกฝั่งเพื่อแจ้งต่อครอบครัวของทหารด้วยเช่นกัน
.
- อาวุธต้องห้าม
ประเด็นเรื่องประเภทของอาวุธ ในภาพยนตร์ที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เรื่องการใช้แก๊ส และเครื่องพ่นไฟ ซึ่งความจริงอาวุธประเภทแก๊สนั้นถูกต้องห้ามด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศไปแล้วในขณะนั้น เพราะกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้ พลทหารต้องได้รับความคุ้มครองจากคามเสียหายที่ไม่จำเป็น หรือความทรมานที่ไม่จำเป็น ด้วย
.
ภายหลังจากสงครามได้มีความพยายามที่จะควบคุมการใช้อาวุธพวกนี้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยอาวุธประเภทแก๊สได้มีการกำหนดไว้ในอนุสัญญาเจนีวา ปี 1925 และปืนพ่นไฟได้มีการกำหนดไว้ใน The United Nations Convention on Certain Conventional Weapons (CCW) แต่ไม่ใช่การห้ามโดยสิ้นเชิง เป็นการจำกัดการใช้เสียมากกว่า
.
- การคุ้มครองพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุม
สำหรับเรื่องพลเรือนถึงจะถูกกำหนดอยู่ในกฎหมาย IHL มาตั้งแต่แรก แต่ประเด็นเรื่องนี้กลับไม่ถูกมองเป็นประเด็นหลัก และขาดการให้ความสนใจ จนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ที่เห็นถึงความสำคัญ จึงมีความพยามที่จะร่างอนุสัญญาขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นการคุ้มครองพลเรือนโดยเฉพาะ
.
ซึ่งได้ทำสำเร็จแล้วที่การประชุมใหญ่ กรุงโตเกียว แต่เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ในขณะนั้น และออกมาเป็น อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ปี 1949 ภายหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 แทน และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
.
ที่ผ่านมาได้มีการบังคับใช้กฎหมายหลากหลายฉบับในการป้องกัน หรือปรามปรามการก่อสงครามระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถลดอัตราการก่อสงครามได้มากขึ้น แต่นอกเหนือจากเครื่องมือทางกฎหมายแล้ว ยังมีอีกหลากหลายแนวคิดที่จะช่วยให้หยุดยั้งสงครามได้
.
เช่น การสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้การตัดสินใจเข้าสู่สงครามมีต้นทุนมากขึ้น การทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยซึ่งจะทำให้ผู้นำต้องฟังเสียงประชาชนก่อนตัดสินใจใดๆ การศึกษาที่ทำให้คนเข้าใจถึงประเด็นสันติภาพ สิทธิเสรีภาพ รวมไปถึงพัฒนาวิธีการตีความ และพัฒนากฎเกณฑ์ต่างๆ ให้รับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่อาจจะทำให้สงครามเกิดได้ง่ายขึ้น หรือรุนแรงขึ้นด้วย
.
ที่มา: สัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ส่องกฎหมาย ฉายหนัง: มองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front”, คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ICRC