พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 47 จาก #TULAWInfographic
.
ในยุคที่ไร้พรมแดน ทุกอย่างเชื่อมถึงกันหมด ส่งผลเป็นการเอื้อให้เกิดการค้าขายสินค้ากันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในรัฐต่างกัน ผู้ซื้อและผู้ขายจึงผูกพันกันตาม “สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ” และเพื่อให้สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดใด ๆ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทันสมัยสอดรับกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ทั้งเป็นกฎเกณฑ์ที่สร้างสมดุลในการคุ้มครองผู้ซื้อผู้ขาย
.
รัฐจำนวนมากถึง 97 รัฐได้แสดงเจตนาเข้าผูกพันเป็นรัฐภาคีและรับเอากฎเกณฑ์ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980 (CISG) มาใช้บังคับกับความสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปรากฏให้เห็นทั้งการปรับใช้กฎเกณฑ์ของ CISG โดยตรงหรือการปรับใช้กฎหมายของรัฐที่ได้ตราขึ้นเพื่ออนุวัติการอนุสัญญาฯ
.
ทั้งนี้ ในกรณีของการออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการอนุสัญญาฯ สิ่งสำคัญที่รัฐภาคีต้องคำนึงถึงคือ การกำหนดกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์เกี่ยวด้วยขอบเขตการใช้บังคับ การตีความและการอุดช่องว่างของอนุสัญญาฯ รวมตลอดถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ซื้อผู้ขาย
.
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้พิจารณาที่จะรับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980 (CISG) และอยู่ในกระบวนการจัดเตรียม “ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ….” ขึ้น
.
เมื่อประเทศไทยภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ และอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยย่อมต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะต้องรับเอาบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ มาบัญญัติเป็นกฎหมายไทยว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และผลที่ตามมาคือ ศาลไทยต้องปรับใช้กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศดังกล่าวที่ได้บัญญัติตามหลักการของอนุสัญญาฯ
.
ซึ่งหากพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ในส่วนแรกที่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยขอบเขตการใช้บังคับร่างพระราชบัญญัติฯ การตีความและการอุดช่องว่างของกฎเกณฑ์ในร่างพระราชบัญญัติฯ แล้ว พบว่า มีข้อพิจารณาทางกฎหมายในหลายประเด็นที่นำเสนอแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้จัดทำ ผู้ใช้บังคับและตีความกฎเกณฑ์ตามร่างพระราชบัญญัติฯ
.
ประเด็นเหล่านั้นมีอะไรบ้าง? และร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังต้องแก้ไขปรับปรุงในเรื่องใด #TULAW สรุปงานวิจัยเรื่อง “ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ….: ขอบเขตการบังคับใช้ การตีความและการอุดช่องว่าง” โดย อาจารย์ ดร.พัชยา น้ำเงิน มาให้แล้ว
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานวิจัยวิชาการ: https://cutt.ly/KwOFka9S
.
ทำไมถึงจัดทำกฎหมายใหม่?
“ร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ….” คือร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาแก้ไขเพื่อเตรียมพร้อมประกาศใช้บังคับ หากประเทศไทยภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ และอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับประเทศไทย
.
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์เฉพาะสำหรับความสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่ตกอยู่ในขอบเขตการใช้บังคับของอนุสัญญาฯ และเพื่อเป็นการอนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980 (CISG) โดยผู้จัดทำร่างกฎหมายเลือกวิธีการนำอนุสัญญาฯ มาแปลงรูป (transform) เป็นกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ
.
แต่ทั้งนี้ เมื่อกล่าวเฉพาะถึงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวด้วยขอบเขตการใช้บังคับร่างพระราชบัญญัติฯ การตีความและการอุดช่องว่างพบว่า การกำหนดโครงสร้างและเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ยังคงมีความไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งควรได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงในหลายประเด็น
.
รูปแบบการอนุวัติการที่เหมาะสม
ผู้ทำวิจัยได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอนุวัติการอนุสัญญาฯ เอาไว้ว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ด้วยวิธีการออกกฎหมายปะหน้า ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปเพียง 4-5 มาตรา และนำอนุสัญญาฯ ฉบับจัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษมาผนวกไว้ส่วนท้าย ย่อมเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมในแง่มุมของการบรรจุกฎเกณฑ์ในอนุสัญญาฯ ได้อย่างครบถ้วนมากกว่าการนำอนุสัญญาฯ มาแปลงรูป (transform) เป็นกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
.
นอกจากนี้ ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ประเทศไทยได้เลือกเป็นรูปแบบการจัดทำกฎหมายเพื่ออนุวัติการอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับอื่นมาก่อน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมเช่นกันคือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ โดยใช้รูปแบบของการผนวกคำแปลของกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ โดยยังคงโครงสร้าง ลำดับ และถ้อยคำที่เป็นสาระสำคัญของข้อบทต่าง ๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งแนบอนุสัญญาฯ ฉบับที่จัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษมาผนวกไว้ส่วนท้ายของร่างพระราชบัญญัติฯ ด้วย
.
หรือในกรณีที่ผู้จัดทำร่างกฎหมายเห็นควรให้คงรูปแบบของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ อย่างเช่นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณานั้น ผู้วิจัยมีข้อเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ (ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตการบังคับใช้ การตีความและการอุดช่องว่าง) สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสนอให้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้อนุสัญญาฯ (ร่างพระราชบัญญัติฯ) มีผลใช้บังคับแทนที่กฎหมายภายในอื่น ๆ ของไทยที่ขัดหรือแย้งกับกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ (ร่างพระราชบัญญัติฯ)
.
วันบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติฯ
มาตรา 2 ของร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดเอาไว้ว่า ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เฉพาะแก่การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นภายหลังจากการที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ. 1980 มีผลใช้บังคับแก่ประเทศไทยเป็นต้นไป
.
ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า ข้อความตามที่กำหนดดังกล่าวนี้ ไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ และนำไปสู่ปัญหาช่องโหว่ของการใช้บังคับร่างพระราชบัญญัติฯ 2 กรณีคือ
- เกิดปัญหาว่าสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในวันที่อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับแก่ประเทศไทย จะตกอยู่ในบังคับของร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ หรือไม่ เพราะไม่มีการกำหนดเอาไว้โดยชัดเจนในร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 2 ทั้ง ๆ ที่กรณีดังกล่าวถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในอนุสัญญาฯ
.
- เกิดปัญหาว่าจะสามารถนำกฎเกณฑ์ของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่เกี่ยวกับการก่อให้เกิดสัญญามาปรับใช้เพื่อวินิจฉัยผลทางกฎหมายของการทำคำเสนอ หรือ คำสนองที่ได้ทำขึ้นในหรือภายหลังวันที่อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับแก่ประเทศไทยแล้ว หรือไม่ เพราะในวันที่อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ยังไม่มีสัญญาเกิดขึ้น มีแต่การแสดงเจตนาเพื่อก่อสัญญา ดังนี้ ถ้อยบัญญัติที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 2 ดังกล่าวจึงไม่ได้ให้คำตอบแก่คำถามดังกล่าว
.
อีก 6 มาตราสำคัญ ที่ต้องแก้ไข
– มาตรา 4
ขอบเขตการบังคับใช้อนุสัญญาฯ นั้นมีข้อพิจารณาอันเป็นเงื่อนไขอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ
.
- การพิจารณาว่าสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญานั้น เป็นสัญญาประเภทที่มีสาระสำคัญดังที่อนุสัญญาฯ มุ่งหมายให้ใช้บังคับหรือไม่
.
- การพิจารณาเงื่อนไขความเป็นระหว่างประเทศของสัญญาซื้อขายสินค้าที่มีสาระสำคัญที่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อที่ 1
.
- การพิจารณาว่าเรื่องหรือประเด็นที่พิพาทกันระหว่างคู่สัญญาภายใต้ความผูกพันตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อที่ 1 และ 2 นั้น เป็นเรื่องหรือประเด็นที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้บังคับของอนุสัญญาฯ หรือไม่
.
ซึ่งเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ จำต้องได้รับการพิจารณาแยกออกจากกันเป็นลำดับคือ หากกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขข้อที่ 1 ก็ให้พิจารณาเงื่อนไขความเป็นระหว่างประเทศของสัญญาตามข้อที่ 2 ต่อเมื่อผ่านเงื่อนไขข้อที่ 2 จึงพิจารณาต่อไปที่เงื่อนไขข้อที่ 3 แต่หากกรณีไม่ต้องตามเงื่อนไขข้อที่ 1 ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขข้ออื่น ๆ ต่อไปอีก ซึ่งบทบัญญัติในอนุสัญญาฯ ได้บัญญัติเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อนี้ไว้เป็นกฎเกณฑ์คนละเรื่อง โดยไม่ได้นำแต่ละเรื่องมาบัญญัติปะปนในมาตราเดียวกัน
.
แต่ร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 4 ได้บัญญัติเป็นโครงสร้างที่ต่างออกไปคือ นำเงื่อนไขข้อที่ 2 และ 3 มาบัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน แต่แยกออกเป็นอนุมาตรา (1) และ (2) ซึ่งการแยกเงื่อนไขสองประการดังกล่าวเป็นสองอนุมาตราโดยขาดคำเชื่อมที่เหมาะสมที่จะสื่อความให้เห็นว่าเงื่อนไขดังกล่าวนั้นต้องพิจารณาประกอบกันเป็นลำดับ ย่อมทำให้เกิดความสับสน และความเข้าใจผิดในการบังคับใช้กฎเกณฑ์สองอนุมาตราดังกล่าวได้
.
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลุมเครือในการปรับใช้กฎหมายเพื่อพิจารณาเงื่อนไขทั้งสองดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเสนอให้บัญญัติข้อความในร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 4(2) แยกออกมาเป็นอีกมาตราหนึ่ง
.
นอกจากนี้ยังควรปรับแก้ไขถ้อยบัญญัติในมาตรา 4 วรรคสองเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การพิจารณาสถานประกอบการของคู่สัญญาว่าอยู่ในรัฐต่างกันหรือไม่นั้น สามารถพิจารณาจากข้อความในสัญญา หรืออนุมานได้จากการติดต่อระหว่างคู่สัญญา หรือจากข้อมูลที่คู่สัญญาเปิดเผยในเวลาใดก่อนหรือขณะทำสัญญาเพียงเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าในความเป็นจริงคู่สัญญามีสถานประกอบการตั้งอยู่ในรัฐต่างกันหรือไม่
.
– มาตรา 5
ร่างพระราชบัญญัติ ฯ มาตรา 5 วรรคสอง ยังขาดข้อความอันเป็นสาระสำคัญคือ ข้อความ “…to any person” ตามที่ปรากฎในอนุสัญญาฯ มาตรา 5 กล่าวคือ ร่างพระราชบัญญัติฯ ขาดข้อความ “…ซึ่งเกิดแก่บุคคลใด ๆ” ซึ่งเป็นถ้อยคำสำคัญที่ต้องบัญญัติไว้ เนื่องจากหากตัดถ้อยคำดังกล่าวออกเสีย จะทำให้ขาดความชัดเจนในการตีความขอบเขตการใช้บังคับมาตรา 5 ดังกล่าวที่ว่า ประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิไล่เบี้ยต่อผู้ขายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่ผู้ซื้อได้รับจากการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายต่อชีวิตหรือความเสียหายที่เกิดแก่กายหรือจิตใจให้แก่บุคคลที่สามใด ๆ นั้น เป็นประเด็นที่ถูกกันออกจากขอบเขตการใช้บังคับของร่างพระราชบัญญัติฯ โดยผลของบทบัญญัติมาตรา 5 หรือ ไม่
.
รวมทั้งยังอาจส่งผลให้ศาลไทยตีความมาตรานี้ไปในทิศทางที่ไม่ให้ความสำคัญต่อการพิจารณาถึง “บุคคลที่สามใด ๆ ผู้ได้รับความเสียหาย” และ “ความเสียหายต่อชีวิตหรือความเสียหายที่เกิดแก่กายหรือจิตใจซึ่งเกิดขึ้นแก่เขา” ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขมาตรา 5 โดยการนำถ้อยบัญญัติมาตรา 5 วรรคสอง มาบัญญัติแยกออกเป็นอีกมาตราหนึ่ง และให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำจากเดิมที่บัญญัติว่า “ความเสียหายส่วนบุคคล” เป็น “ความเสียหายที่เกิดแก่กายหรือจิตใจ” รวมถึงให้เพิ่มข้อความที่ขาดหายไปคือ ข้อความ “…ซึ่งเกิดแก่บุคคลใด ๆ” เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ มาตรา 5
.
– มาตรา 6
ผู้วิจัยเห็นว่า ในการบัญญัติรับรองเสรีภาพของคู่สัญญา ควรกำหนดถ้อยคำที่บ่งชี้ให้ชัดเจนว่า คู่สัญญามีเสรีภาพในการตกลงยกเว้นไม่ให้นำร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งฉบับ มาใช้บังคับกับสัญญาซื้อขายสินค้าที่ทำขึ้น เพื่อให้ถูกต้องตามอนุสัญญาฯ มาตรา 6 ที่ได้รับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้ง
.
และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาระบุในสัญญาว่า จะไม่นำอนุสัญญาฯ ทั้งฉบับ หรือ CISG มาปรับใช้กับสัญญาที่ทำขึ้น ศาลไทยจำเป็นต้องตีความเจตนาของคู่สัญญาให้ครอบคลุมไปถึงการตกลงยกเว้นไม่นำร่างพระราชบัญญัติฯ มาใช้บังคับด้วย เพราะร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่ออนุวัติการอนุสัญญาฯ
.
– มาตรา 7
เมื่อเกิดกรณีที่ต้องอุดช่องว่างของบทบัญญัติ ผู้ใช้กฎหมายหรือศาลจะต้องเริ่มด้วยการพิจารณาประเภทของช่องว่างที่เกิดขึ้นเสียก่อนว่าเป็น ช่องว่างภายนอก (external gap) หรือช่องว่างภายใน (internal gap) หากเป็นช่องว่างภายใน ผู้ใช้กฎหมายจะต้องทำการอุดช่องว่างนั้นด้วยการปรับใช้กฎเกณฑ์อันเป็นแหล่งที่มาของกฎหมาย ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นลำดับในมาตรา 7 วรรคสอง
.
หากแต่การบัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคสองว่า ให้อุดช่องว่างโดยอาศัยวิถีทางสุดท้ายคือ การวินิจฉัยไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเมื่อกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลกำหนดให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย นั้น ผู้วิจัยมีความเห็นว่า การกล่าวจำเพาะเจาะจงไปเลยว่า กฎหมายไทยดังกล่าวคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพียงเท่านั้น อาจทำให้เกิดความไม่ครอบคลุมในการบังคับใช้กฎหมายไทยให้ถูกต้องตามกรณีข้อพิพาท เพราะยังมีกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายเฉพาะฉบับอื่น (ทั้งที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับในภายหลัง) ที่สามารถนำมาปรับใช้กับข้อพิพาทในฐานะที่เป็นกฎหมายพิเศษได้
.
ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะว่า จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 7 วรรคสองส่วนท้ายนี้ให้ครอบคลุม ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎเกณฑ์ทางกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
.
– มาตรา 12
การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 12 มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งข้อสงวนตามอนุสัญญาฯ มาตรา 96 โดยที่ หากมีการตั้งข้อสงวนตามมาตราดังกล่าว ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นคือ ส่งผลเป็นการยกเว้นผลบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 11 มาตรา 29 หรือบทบัญญัติในส่วนที่ 2 (การก่อให้เกิดสัญญา) ของอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่อนุญาตให้การทำสัญญาซื้อขาย การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา หรือการเลิกสัญญาโดยความตกลง หรือการทำคำเสนอ-คำสนอง หรือการแสดงออกซึ่งเจตนาอื่นใด ให้สามารถกระทำได้ในรูปแบบใด ๆ นอกเหนือจากการทำเป็นลายลักษณ์อักษร
.
โดยผลดังที่กล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสถานประกอบการในรัฐภาคีที่ได้ตั้งข้อสงวนตามมาตรา 96 ของอนุสัญญาฯ ด้วย ซึ่งในกรณีของประเทศไทยที่ประสงค์ตั้งข้อสงวนตามมาตรา 96 ในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะแต่กับกรณีคู่สัญญาทำสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์บางชนิด เช่น สัตว์พาหนะ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์พาหนะ นั้น
.
หากประสงค์จะให้สัญญาซื้อขายสัตว์พาหนะตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายที่เรียกร้องให้ต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏว่า คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในรัฐภาคีที่มิได้ตั้งข้อสงวนตามอนุสัญญาฯ มาตรา 96 และสัญญาที่พิพาทเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่ ป.พ.พ. กำหนดให้การซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
.
อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่า แม้ประเทศไทยจะได้ตั้งข้อสงวนดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลไทยจะสามารถนำกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับรูปแบบหรือหลักฐานเป็นหนังสือในการทำสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 มาปรับใช้กับสัญญาซื้อขายสัตว์พาหนะได้เสมอไป เพราะกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลอาจกำหนดชี้ให้ใช้กฎหมายของรัฐอื่นใดที่ไม่ได้ตั้งข้อสงวนตามอนุสัญญาฯ มาตรา 96
.
ผู้วิจัยจึงเห็นว่าเนื้อความตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 12 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อความที่ว่า “…มิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนไว้ หรือที่คู่สัญญามีสถานประกอบการในรัฐภาคีซึ่งตั้งข้อสงวน ทั้งนี้ ตามข้อ 96 ของอนุสัญญา…” นั้น
.
คลาดเคลื่อนไปจากกฎเกณฑ์การตั้งข้อสงวนของอนุสัญญาฯ และสื่อความหมายที่ไม่ชัดเจนว่า เงื่อนไขของการที่ “…หรือที่คู่สัญญามีสถานประกอบการในรัฐภาคีซึ่งตั้งข้อสงวน…” ใช้ในกรณีใด อีกทั้งการใช้ถ้อยบัญญัติว่า “คู่สัญญา” อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าต้องเป็นกรณีคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีสถานประกอบการในรัฐภาคีซึ่งตั้งข้อสงวน ซึ่งไม่สอดคล้องกับถ้อยบัญญัติที่ปรากฏในอนุสัญญาฯ มาตรา 96 และมาตรา 12 ผู้วิจัยจึงได้เสนอให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ มาตรา 12 อีกด้วย
.
ข้อสงวนอื่นตามอนุสัญญาฯ
– มาตรา 95
การตั้งข้อสงวนตามอนุสัญญาฯ มาตรา 95 จะนำไปสู่การใช้บังคับกฎหมายภายในของไทยที่ไม่ใช่กฎเกณฑ์ตามที่ได้มีการอนุวัติการอนุสัญญาฯ หากเป็นกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่รัฐภาคีอนุสัญญาฯ และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลกำหนดชี้ให้ใช้บังคับกฎหมายไทย ซึ่งหากเกิดผลเช่นว่า ย่อมขัดแย้ง และไม่สอดคล้องกับเหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายเพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ของประเทศไทย
.
รวมถึงเกิดแนวโน้มที่คู่ค้าซึ่งไม่เชื่อมั่นในกฎหมายภายในของไทย เลือกที่จะต่อรองให้มีการกำหนดเลือกกฎหมายต่างประเทศมาใช้บังคับแทน นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาในการเลือกศาลที่มีเขตอำนาจในการวินิจฉัยคดี ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อประเทศไทยเพราะเป็นการตัดโอกาสที่ศาลไทยจะได้ปรับใช้กฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศที่ประกาศใช้ขึ้นใหม่นี้ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความเห็นว่า ในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ประเทศไทยไม่ควรตั้งข้อสงวนตามอนุสัญญาฯ มาตรา 95
.
ที่มา: ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ….: ขอบเขตการบังคับใช้ การตีความและการอุดช่องว่าง; พัชยา น้ำเงิน (2566)