พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 49 จาก #TULAWInfographic
.
ทำผิดรุนแรงแต่กลับได้รับโทษน้อยกว่าที่ควร เมื่อผู้กระทำความผิดที่ยังคงมีภัยต่อสังคมได้รับการปล่อยตัวที่เร็วจนเกินไปจนเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง
.
กฎหมายจึงการสร้าง “ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม” ขึ้นมา เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาดังกล่าว แต่มาตรการกฎหมายที่รองรับเรื่องดังกล่าวควรมีเนื้อหาเป็นอย่างไร กฎหมายตัวอย่างจากต่างประเทศเป็นอย่างไร
.
#TULAW สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากสัมมนาโครงการวิจัย เรื่อง “ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม” นำเสนองานวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/4a8FENg
.
ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัย?
วัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญาคือการฟื้นฟูแก้ไขและนำผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคม แต่ปรากฏว่าอาชญากรร้ายแรงบางรายที่ยังคงมีลักษณะที่เป็นภัยต่อสังคมอยู่และยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข กลับได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนถึงกำหนดโทษตามคำพิพากษาด้วยเหตุผลหลากหลายประการ อาทิ เหตุผลเรื่องความแออัดในเรือนจำ เป็นต้น
.
บางประเทศได้เล็งเห็นถึงความอันตรายในการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคมที่เร็วเกินไป จึงทำให้เกิดเป็นหลักความคิดเรื่อง “ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม” ซึ่งเป็นการกำหนดระยะเวลาลงโทษที่จำเลยต้องรับโทษอย่างแน่นอน โดยไม่อาจได้รับประโยชน์จากมาตรการทางกฎหมายที่เป็นผลดี เช่น การลดวันต้องโทษ การพักการลงโทษ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้สังคมเกิดความปลอดภัยจากอาชญากรที่สร้างความรุนแรงและเป็นภัยสังคม เช่น ฆาตกรรม ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น
.
สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการกำหนด “วิธีการเพื่อความปลอดภัย” เอาไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเอาไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการกำหนด “ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม” เอาไว้เหมือนประเทศที่เป็นต้นแบบของกฎหมายอย่างเช่น ฝรั่งเศส
.
ต้นแบบกฎหมายฝรั่งเศส
ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสได้กำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมไว้ดังนี้
.
– ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมกรณีบังคับ
ในกรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เฉพาะฐานความผิดที่กฎหมายกำหนด เช่น ฆ่าผู้อื่น ข่มขืนกระทำชำเรา ศาลจะต้องกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยคือ ครึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตามคำพิพากษา หรือ 18 ปี ในกรณีจำเลยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
.
นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลเล็งเห็นถึงความอันตรายของผู้กระทำความผิด ศาลที่พิพากษาสามารถขยายระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยไปได้ 2 ใน 3 ของโทษจำคุกตามคำพิพากษา หรือ 22 ปี กรณีจำเลยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ทั้งนี้ศาลที่พิพากษาสามารถลดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยได้เช่นกัน
.
– ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมตามดุลพินิจศาล
คดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ศาลมีดุลยพินิจกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยหรือไม่ก็ได้ โดยศาลมีอำนาจกำหนดไม่เกิน 2 ใน 3 ของโทษจำคุกตามคำพิพากษา หรือไม่เกิน 22 ปี ในกรณีจำเลยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต
.
– ข้อยกเว้นที่ไม่มีระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม
- กรณีเด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดจะไม่มีระยะเวลาเพื่อความปลอดภัย
- กรณีนักโทษที่มีภาระเลี้ยงดูผู้ใต้การปกครองหรือนักโทษที่ตั้งครรภ์และมีระยะเวลาจำคุกไม่เกิน 4 ปี
- กรณีเหตุผลแห่งสุขภาพของนักโทษ
.
– การย่นหรือขยายระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม
ศาลที่พิจารณาพิพากษามีอำนาจในการย่นและขยายระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งยังมีการกำหนด “ศาลปรับใช้โทษ” ที่มีอำนาจในการยกเลิกหรือย่นระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมได้ แต่ไม่สามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวได้ แต่ทั้งนี้การอภัยโทษเฉพาะรายของประธานาธิบดีเป็นเหตุในการยกเลิกหรือย่นระยะเวลาได้เช่นกัน
.
นอกจากนี้เมื่อพ้นระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมแล้ว นักโทษมีสิทธิร้องขอพักการลงโทษ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติ และระยะเวลาที่นักโทษต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้องไม่เกิน 15 ปีในกรณีนักโทษทั่วไป หรือไม่เกิน 20 ปีในกรณีนักโทษที่กระทำความผิดซ้ำ
.
– สำหรับความผิดร้ายแรง 4 กรณี อย่าง
- ฆาตกรรมที่กระทำพร้อมกับการข่มขืนกระทำชำเรา กระทำโดยทรมาน หรือทารุณโหดร้ายต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
- ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ที่กระทำโดยองค์กรอาชญากรรม
- ลอบสังหารเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่
- ก่อการร้าย
.
กฎหมายได้กำหนดให้มีระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมกรณีบังคับ 30 ปี หรือ หากศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ศาลจะกำหนดให้มีระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยตลอดชีวิตก็ได้ ซึ่งทำให้เกิดประเด็นถกเถียงขึ้นมากมายในประเทศฝรั่งเศส
.
โดยตุลาการรัฐธรรมนูญ และศาลสิทธิมนุษยชนฝรั่งเศสได้วินิจฉัยว่า กฎหมายฝรั่งเศสที่กำหนดให้ศาลอาจยกเลิกระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยตลอดชีวิตได้เมื่อจำคุกมาแล้ว 30 ปี เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้มีการย่นย่อโทษลงได้ จึงไม่เป็นการขัดแย้งต่อสิทธิมนุษยชน และเป็นการกระทำที่ได้สัดส่วนแล้ว
.
ข้อเสนอแนะเรื่อง “ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม” ที่เหมาะสมแก่ประเทศไทย
.
- นำระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมมากำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งแก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมาย โดยผู้วิจัยมีความเห็นว่า ควรแก้และเพิ่มเนื้อหาในประมวลมากกว่าการออกกฎหมายใหม่อีกฉบับหนึ่ง
.
- กำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมในความผิดต่อไปนี้
2.1) ความผิดที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้กำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม 18 ปี โดยเมื่อศาลให้เหตุผลพิเศษอาจขยายเป็น 22 ปี หรือตลอดชีวิตได้
.
2.2) ความผิดเกี่ยวกับเพศที่ใช้ความรุนแรงตามประมวลกฎหมายอาญา ให้ศาลกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมเป็นระยะเวลากึ่งหนึ่งของโทษจำคุกที่กำหนดในคำพิพากษา
.
2.3) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ในความผิดอื่น ศาลมีดุลยพินิจที่จะกำหนดระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมให้กับผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ได้ หากกำหนดให้ศาลกำหนดได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่กำหนดในคำพิพากษา
.
- ให้ศาลที่พิจารณาพิพากษามีอำนาจย่นหรือขยายระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมได้โดยคำนึงถึงเหตุภาววิสัยและเหตุอัตวิสัยประกอบการพิจารณา
.
- ให้ศาลในเขตท้องที่ที่นักโทษถูกจำคุกมีอำนาจยกเลิกหรือย่นระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม โดยเฉพาะกรณีที่นักโทษถูกกำหนดระยะเพื่อความปลอดภัยของสังคมตลอดชีวิต ศาลจะยกเลิกหรือย่นระยะเวลาได้ก็ต่อเมื่อนักโทษจำคุกจริงมาแล้ว 30 ปี
.
- แก้ไขพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 52(5), (7) และ (8) โดยให้การลดวันต้องโทษ การพักโทษ และการอนุญาตให้ออกนอกเรือนจำ จะทำได้ก็ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา
.
- พัฒนากระบวนการการฟื้นฟูภายในเรือนจำให้มีประสิทธิภาพ เพราะระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคมจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากกระบวนการการฟื้นฟูภายในเรือนจำขาดประสิทธิภาพในการที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดสำนึกในการกระทำ และกลับตัวกลับใจ
.
ที่มา: สัมมนาโครงการวิจัย เรื่อง “ระยะเวลาเพื่อความปลอดภัยของสังคม”