พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 50 จาก #TULAWInfographic
.
มีคำกล่าวที่ว่า ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นถูกคุกคามมากถึง 5 ครั้งในการก่อเหตุเพียงแค่ครั้งเดียว ครั้งที่ 1 คือตอนที่ถูกล่วงละเมิดจริง ครั้งที่ 2 คือตอนบอกเล่าให้แก่คนใกล้ตัวฟัง ครั้งที่ 3 คือตอนเข้าแจ้งความ ครั้งที่ 4 คือตอนสอบสวน และครั้งสุดท้ายคือตอนขึ้นชั้นศาล
.
5 ครั้งคือจำนวนอย่างต่ำเท่านั้นที่ผู้เสียหายจะต้องเผชิญ ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่สื่อต่าง ๆ ประโคมข่าวที่ทำให้การพูดถึงกระจายไปในวงกว้าง และทำให้ผู้เสียหายต้องรู้สึกถึงการคุกคามที่มากขึ้นอีกด้วย ประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจึงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน และยังคงมีปัญหาให้เห็นอยู่เรื่อยมา ซึ่งรวมไปถึงประเด็นทางด้านกฎหมายด้วยเช่นกัน
.
กฎหมายด้านดังกล่าวจะมีเนื้อหาเป็นอย่างไร และปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร #TULAW สรุปเนื้อหาที่น่าสนใจจากเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “มุมมองทางกฎหมายและสังคม เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://fb.watch/oTuViglt_0/
.
โทษทางกฎหมาย?
โทษทางกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
.
1.โทษทางอาญาคือโทษปรับหรือจำคุก ซึ่งถ้าเป็นโทษจำคุกจะส่งผลต่อมาว่า
– ห้ามรับราชการตลอดชีวิต
– ห้ามเป็นพนักงานราชการในระยะเวลา 5 ปีหลังพ้นโทษ
– ห้ามลงรับสมัคร สส. สว. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและห้ามเป็นรมต. ในระยะเวลา 10 ปีหลังพ้นโทษ
– ห้ามลงรับสมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่น ในระยะเวลา 5 ปีหลังพ้นโทษ
– ห้ามมิให้ออกเสียงเลือกตั้งในระหว่างจำคุก
.
- ความรับผิดทางแพ่ง
การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าเยียวยาทางร่างกายจิตใจ หรือการชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดโอกาสในการกลับไปทำงาน
.
- ความรับผิดทางวินัย
ไม่จำกัดเพียงแค่ราชการเท่านั้น แต่ทั้งเอกชน หรือในกรณีที่เป็นนักศึกษาก็อาจต้องรับโทษทางวินัยด้วยเช่นกัน
.
6 ฐานความผิดตามกฎหมาย
คำว่า “ล่วงละเมิดทางเพศ” ไม่ได้หมายความรวมถึงทุกการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับเพศ โดยฐานความผิดทางกฎหมายจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ฐานดังนี้
.
- ฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญ
รังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ หรือการ sexual harassment เช่น การส่งรูปอวัยวะเพศ การโทรไปหา การเดินตาม ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 397 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ
- ฐานคุกคามทางเพศต่อลูกจ้าง
นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง จะเป็นความผิดตามมาตรา 16 และมาตรา 147 ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการกระทำระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น จึงจะเป็นความผิดตามกฎหมายนี้
.
- ฐานพาไป (ผิดต่อตัวผู้เสียหาย)
– กรณีพาไปเพื่อสนองความใคร่ผู้อื่น จะเป็นความผิดเสมอไม่ว่าผู้เสียหายอายุเท่าไหร่ และยินยอมหรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ที่พาไปนั้นรู้อายุผู้เสียหายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 282 และ 283 นอกจากนั้นถ้าทำกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีบทลงโทษที่หนักขึ้น รวมถึงถ้าใช้วิธีบังคับในการพาไป บทลงโทษก็จะหนักขึ้นอีกเช่นกัน
.
– กรณีพาไปเพื่อการอนาจารด้วยตนเอง ถ้าผู้เสียหายไม่ยินยอมถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 284 ถ้าเป็นเด็กต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ จะเป็นความผิดตามมาตรา 283 ทวิ ด้วยเช่นกัน
.
- ฐานพราก (ผิดต่อผู้ปกครอง)
– กรณีพรากเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 โดยหากเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีจะอ้างเรื่องเหตุไม่รู้อายุเพื่อให้พ้นจากความผิดไม่ได้
– กรณีพรากเด็กอายุ 15-18 ปี โดยเด็กไม่ยินยอมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 แต่ถ้าพรากเด็ก 15-18 ปี โดยเด็กยินยอม และเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารจะเป็นความผิดตามมาตรา 319
.
- ฐานกระทำอนาจาร
การกระทำอานาจารหมายถึง กระทำการอันไม่สมควรในทางเพศ แต่ทั้งนี้ต้องมีเจตนาในทางเพศ แต่ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อสนองความใคร่ ทำเพื่อให้อับอาย หรือเพื่อแก้แค้นก็เป็นความผิดฐานนี้ได้เช่นกัน โดยหลักจะต้องมีการสัมผัส แต่ศาลฎีกาเคยตัดสินการแอบถ่ายก็เป็นความผิดฐานนี้ได้เช่นกัน ถ้าทำกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะถือว่าเป็นความผิดเสมอ ถ้าผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 13 ปีอ้างไม่รู้อายุไม่ได้ และถ้าทำกับคนอายุเกิน 15 ปี ต้องฝ่าฝืนความยินยอมเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด
.
- ฐานข่มขืนกระทำชำเรา
ความผิดฐานนี้ต้องมีการใช้อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศ ช่องปาก หรือทวารหนัก ของผู้เสียหายเท่านั้น ถ้ายังไม่ล่วงล้ำจะเป็นเพียงการทำอนาจาร หรือพยายามกระทำชำเรา ถ้าใช้สิ่งอื่นหรืออวัยวะอื่นล่วงล้ำจะเป็นการอนาจารโดยมีเหตุฉกรรจ์ ถ้าทำกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะถือว่าเป็นความผิดเสมอ ถ้าผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 13 ปีอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ และถ้าทำกับคนอายุเกิน 15 ปี ต้องฝ่าฝืนความยินยอมจึงจะเป็นความผิด
.
ความยินยอมตามกฎหมายไทย?
ความยินยอม คือ การที่เรามีสิทธิเลือกในทางอื่นได้ มีสิทธิเลือกที่จะไม่ยอมทำโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายหรือสูญเสียสิทธิเสรีภาพใด ๆ โดยศาลฎีกาเคยตัดสินว่า การที่มีผู้ชายจำนวนมากยืนล้อมอยู่ แล้วผู้หญิงยินยอมให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศนั้น ไม่ใช่กรณีที่ผู้หญิงยินยอมเนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้หญิงอาจจะโดนทำร้ายได้นั่นเอง
.
รูปแบบของการฝ่าฝืนความยินยอมจึงมีด้วยกัน 4 กรณีคือ
– โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ไม่จำเป็นต้องทำร้ายร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น
– โดยใช้กำลังประทุษร้าย การวางยาสลบก็ได้เช่นกัน
– โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่น อยู่ในภาวะมึนเมา
– โดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นบุคคลอื่น
แต่ถ้าผู้เสียหายอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือว่าเป็นความผิดทุกกรณีโดยไม่ต้องพิจารณาถึงเรื่องความยินยอม ทั้งนี้ความยินยอมจะต้องมีอยู่ตลอดการกระทำ ถ้ากรณีที่บอกให้หยุดกลางคันแล้วไม่หยุดก็อาจจะเป็นความผิดฐานข่มขืนได้เช่นกัน
.
นอกจากนี้ผลการศึกษาในทางการแพทย์ในประเทศสวีเดนยังพบว่า 70% ของผู้หญิงที่เจอสถานการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศจะมีลักษณะของการ frozen หรือ tonic immobility ทำให้ไม่สามารถทำการขัดขืนได้ ดังนั้นการพิจารณาถึงเรื่องความยินยอมจึงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และต้องอาศัยความเข้าใจเป็นอย่างมากอีกด้วย
.
4 ปัญหาที่เกิดขึ้น
– ปัญหาความเข้าใจของคนในสังคม
เป็นประเด็นปัญหาเรื่องความเข้าใจทั้งในด้านกฎหมายที่ประชาชนทั่วไปมักไม่ไม่เข้าใจภาษาทางด้านกฎหมาย และภาษาราชการที่มากพอ ยกตัวอย่างเช่น การข่มขืนกับการกระทำอนาจาร มักก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ในทางกฎหมายนั้นเป็นความผิดคนละฐานกันนั่นเอง และรวมถึงความเข้าใจในเรื่องลักษณะของความยินยอม และแนวคิดการตัดสินหรือโทษเหยื่ออีกด้วย
.
– ปัญหาด้านบุคลากร
กฎหมายกำหนดให้การดำเนินการสอบสอนความผิดเกี่ยวกับเพศที่ผู้เสียหายเป็นผู้หญิงนั้นจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนผู้หญิงเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติพนักงานสอบสวนเพศหญิงไม่ได้มีมากพอที่จะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดได้ รวมไปจนถึงประเด็นเรื่องกลุ่ม LGBTQIA+ ด้วยว่าจะต้องใช้พนักงานสอบสวนเพศใดในการดำเนินการ รวมทั้งประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญและดำเนินการในคดีที่เกี่ยวกับเพศโดยเฉพาะอีกด้วย
.
นอกจากนี้เจ้าพนักงานสอบสวนยังขาดความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในกระบวนการการทำงานบางประเด็นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การสอบปากคำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กกฎหมายกำหนดให้ภายในห้องสอบปากคำมีบุคคลที่เด็กไว้วางใจด้วย แต่ในความเป็นจริงพนักงานสอบสวนมักเลือกพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นบุคคลที่เด็กไว้วางใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สบายใจในการบอกเล่าของเด็กได้เช่นกัน
.
– ปัญหาด้านทรัพยากร
ในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนยังคงขาดงบประมาณในการดำเนินการบางด้าน อาทิ การตรวจสอบน้ำเชื้อ การตรวจสอบเนื้อเยื่อ จนทำให้บางครั้งเกิดการสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และโรงพยาบาล นอกจากนี้ด้วยระยะเวลาในการดำเนินการเก็บหลักฐาน ภาระหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวน กับความล่าช้าในการเข้าแจ้งความ ยังทำให้มีระยะเวลาในการสอบสวนไม่เพียงพออีกด้วย
.
– ปัญหาทางกฎหมาย
กฎหมายของประเทศไทยไม่ครอบคลุมในทุก ๆ การกระทำความผิดทางเพศ เช่น การเดินตาม (stalker) ที่ยังไม่มีบทกฎหมายที่กำหนดเอาผิดไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้อัตราโทษยังมีความไม่เหมาะสมต่อการกระทำความผิดอีกด้วย อย่างเช่น ความผิดฐานสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ที่ยังคงเป็นกฎหมายลหุโทษทำให้ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวต่อผู้กระทำความผิดได้มากเท่าที่ควร
.
3 ข้อเสนอแนะในการแก้ไข
– การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านเข้ามาช่วย เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจในบางประเด็น อาทิ การผ่าตัดอวัยวะเพศของกลุ่มเพศหหลากหลายจะนำกฎหมายมาปรับใช้เช่นไร หรือกรณี tonic immobility จะถือว่าเป็นความยินยอมหรือไม่ เป็นต้น
.
แต่สำหรับประเด็นเรื่องฐานความผิดนั้น ประเทศไทยยังคงมุ่งเน้นไปที่การล่วงล้ำมากกว่าประเด็นอื่น ในขณะที่ประเทศอื่นมองว่าเพียงแค่นำมาบริเวณปากช่องคลอดก็สามารถนับเป็นความผิดฐานข่มขืนได้แล้ว ซึ่งกฎหมายไทยจึงควรต้องพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการแก้ไขหรือไม่
.
เรื่องความยินยอมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สมควรได้รับการแก้ไขเช่นกัน โดยอาจยึดแบบจากกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นที่กำหนดว่า หากมีเรื่องอำนาจทับซ้อนที่เข้ามาเกี่ยวข้องให้สันนิษฐานให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกกระทำในทุกกรณี เช่น การใช้อำนาจของอาจารย์ต่อลูกศิษย์ หรือการใช้อำนาจของพ่อแม่ต่อบุตร เป็นต้น
.
นอกจากนี้กฎหมายยังไม่ควรสร้างภาระให้ผู้ถูกกระทำ ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการการสอบสวนของประเทศอังกฤษที่กำหนดให้ฝ่ายชาย หรือฝ่ายที่กระทำต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ โดยต้องพิสูจน์ในมาตรฐานของวิญญูชนเท่านั้นว่า พฤติกรรมดังกล่าวตามมาตรฐานวิญญูชนนั้นเป็นการยินยอมหรือไม่ และจะไม่เกิดการยินยอมโดยปริยายโดยเด็ดขาด
.
– การปรับทัศนคติของสังคม
ประเทศไทยยังคงต้องการการสร้างองค์ความรู้ทั้งแก่ผู้กระทำ ผู้เสียหาย ทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ แต่ยังคงขาดงบประมาณในส่วนดังกล่าว ซึ่งถ้าหากทำให้เรื่องการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศเป็นที่เข้าใจในวงกว้างได้ หรือทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมภายในองค์กรได้ อาจทำให้เกิดบุคลากรเฉพาะด้านที่เข้าใจ และสามารถรับมือกับปัญหาด้านดังกล่าวได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
.
ที่มา: เสวนาทางวิชาการหัวข้อ “มุมมองทางกฎหมายและสังคม เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ”