พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 52 จาก #TULAWInfographic
.
“การร่วมประเวณี” เป็นสาระสำคัญในการใช้ชีวิตคู่หรือไม่?
“การไม่ร่วมประเวณี” ส่งผลกระทบต่อการสมรสในกฎหมายไทยอย่างไร?
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่อความเข้าใจใน “ครอบครัว” แบบดั้งเดิมซึ่งให้ความสำคัญกับ “ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว (sexual relationship)” กฎหมายครอบครัวไทยควรมีบทบาทต่อ “การร่วมประเวณี” ของคู่สมรสอย่างไร?
.
#TULAW สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “88 ปีกฎหมายครอบครัวไทย : พลวัตของแนวคิดใหม่ในความเป็นสถาบันครอบครัว” สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/41NnEV0
.
ครอบครัวและกฎหมาย (ดั้งเดิม)
ตั้งแต่ในอดีต ครอบครัวถูกมองว่าเป็นหน่วยที่ก่อตั้งขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างบุคคลสองคนที่มีเพศต่างกัน ซึ่งอยู่กินด้วยกันและทำให้ความสัมพันธ์นั้นจะบริบูรณ์ได้ด้วยการมีบุตรสืบสายโลหิต
“ครอบครัว” ในอดีตจึงตั้งอยู่บนฐานของการสมรส โดยมีการกำหนดลักษณะของความสัมพันธ์เอาไว้อย่างเคร่งครัด เช่น การกำหนดให้การสมรสมีผลถาวรตลอดชีวิตคู่สมรส (lifelong commitment) หรือการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคู่สมรสแต่ละฝ่าย เช่น ฝ่ายชายมีหน้าที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ฝ่ายหญิงมีหน้าที่ทำงานบ้านและเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
.
ในแง่นี้กฎหมายครอบครัวในอดีตจึงเป็นเครื่องมือของรัฐในการรับรองความสัมพันธ์ดังกล่าว การก่อตั้งครอบครัวจึงถูกมองเป็นเรื่องของ “สถานะ” และ “เอกสิทธิ” ไม่ใช่เรื่อง “เสรีภาพ” ของบุคคลในการก่อตั้งครอบครัว
.
การร่วมประเวณีของคู่สมรส
อันเนื่องมาจากการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและการมีบุตรสืบสายโลหิต “การร่วมประเวณี” จึงมักถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขสำคัญทางกฎหมายของการสมรส โดยอาจจะถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการก่อตั้งการสมรส หน้าที่ของคู่สมรสระหว่างสามีภรรยา หรือเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดของการสมรส เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ The Matrimonial Causes Act 1973 มาตรา 12 กำหนดให้การสมรสจะมีผลบริบูรณ์ (ไม่อาจถูกบอกล้าง) ก็ต่อเมื่อคู่สมรสมีการร่วมประเวณี (consummation) (กฎหมายฉบับนี้ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน)
.
การร่วมประเวณีของคู่สมรสในกฎหมายครอบครัวไทย
การร่วมประเวณีของคู่สมรสมีบทบาทสำคัญในกฎหมายครอบครัวไทยอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่
.
– หน้าที่ของสามีและภริยา
มาตรา 1461 กำหนดให้สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ซึ่งการกินอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยานั้นถูกตีความในทางตำราว่าคู่สมรสต้องอาศัยกินอยู่หลับนอนด้วยกัน ซึ่งหมายความรวมถึงการร่วมประเวณีด้วย (ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือต้นร่างของบทบัญญัติดังกล่าวใช้คำว่า “cohabit” ซึ่งก็มีความหมายสื่อไปในเชิงความสัมพันธ์ทางเพศเช่นเดียวกัน
.
– เงื่อนไขการสมรส
มาตรา 1458 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเงื่อนไขความยินยอมในการสมรส โดยกำหนดว่าการสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันเท่านั้น มิฉะนั้นการสมรสจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ซึ่งมีการตีความว่าความยินยอมนั้นหมายความว่าคู่สมรสต้องมีเจตนาที่จะอยู่กินกันฉันสามีภรรยา (โปรดดูคำพิพากษาฎีกาที่ 1067/2545)
.
– เหตุหย่า
มาตรา 1516 กำหนดเหตุฟ้องหย่าไว้ในอนุมาตรา 10 ว่า หากสามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการร่วมประเวณีของคู่สมรสมีความสำคัญในกฎหมายครอบครัวไทย
.
การที่กฎหมายไทยยังให้ความสำคัญกับ “การร่วมประเวณี” ของคู่สมรส ทำให้เกิดประเด็นคำถามที่น่าสนใจ ทั้งในเชิงการใช้การตีความกฎหมายและในเชิงทฤษฎี
.
ประเด็นคำถามน่าสนใจในแง่การใช้การตีความกฎหมาย
– หากคู่สมรสจดทะเบียนสมรสกันโดยไม่มีเจตนาที่จะร่วมประเวณีกันตั้งแต่แรก เช่น กรณีที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยทั้งสองฝ่ายได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวตั้งแต่แรก หรือกรณีที่ทั้งสองมีความรักต่อกันและต้องการจดทะเบียนสมรสใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ตกลงกันไว้ว่าจะไม่ร่วมประเวณีกันไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ การสมรสในกรณีเหล่านี้จะตกเป็นโมฆะตามกฎหมายเพราะขาดความยินยอมในการเป็นสามีภรรยากันหรือไม่
.
– หากภายหลังสมรสแล้ว คู่สมรสฝ่ายหนึ่งปฏิเสธที่จะร่วมประเวณีกับอีกฝ่ายหนึ่ง (โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร) จะถือว่าเป็นการผิดหน้าที่ในการอยู่กินกันฉันสามีภรรยาตามมาตรา 1461 หรือไม่ จะถือว่าการผิดหน้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด เช่น ผิดทันทีตั้งแต่การปฏิเสธในครั้งแรกเลย หรือ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เช่น จำนวนครั้งหรือความถี่ของการปฏิเสธ
.
ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายกำหนดผลในทางกฎหมายของการไม่ร่วมประเวณีของคู่สมรสไว้อย่างชัดเจนในกรณีเดียวเท่านั้นตามมาตรา 1516 (10) กล่าวคือ กรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งมีสภาพแห่งกายที่ไม่สามารถร่วมประเวณีได้ตลอดกาล เช่นนี้ จึงน่าสงสัยว่าการไม่ร่วมประเวณีของคู่สมรสในกรณีอื่น ๆ จะส่งผลทางกฎหมายอย่างไร จะร้ายแรงถึงขนาดตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ได้หรือไม่ อย่างไร
.
ประเด็นคำถามน่าสนใจในทางทฤษฎี: ความเปลี่ยนแปลงต่อความเข้าใจในครอบครัวในปัจจุบัน
– คำถามสำคัญคือการร่วมประเวณียังควรเป็นสาระสำคัญของการสมรสซึ่งส่งผลทางกฎหมายต่อความสมบูรณ์หรือการคงอยู่ของการสมรสหรือไม่ เพราะในอดีตวัตถุประสงค์ของการสมรสอาจยึดโยงอยู่กับการร่วมประเวณีตามจารีตประเพณีหรือความเชื่อทางศาสนา แต่ในปัจจุบันที่ความเข้าใจในครอบครัวได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความสัมพันธ์ทางครอบครัวมีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น มีการยอมรับว่าการมีบุตรสืบสายโลหิตไม่ใช่สาระสำคัญของการสมรสอีกต่อไป ลำพังจารีตและความเชื่อดั้งเดิมอาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอในกำหนดให้ “การร่วมประเวณี” เป็นสาระสำคัญสำหรับการสมรส
.
กฎหมายครอบครัวในหลาย ๆ ประเทศในปัจจุบัน ก็ไม่ได้กำหนดให้การร่วมประเวณีของคู่สมรสเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป เช่น ประเทศเยอรมันและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังได้มีการความพยายามของนักวิชาการด้านกฎหมายครอบครัวบางส่วนในการทำลายกรอบความคิดดั้งเดิมที่มองครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว โดยอธิบายว่าสาระสำคัญของครอบครัวควรอยู่ที่ความรักความห่วงใยและการดูแลซึ่งกันและกัน (caring relationship) มากกว่าเรื่องในเชิงเพศและความสัมพันธ์เชิงชู้สาว (sexual relationship)
.
จริงอยู่ว่าการร่วมประเวณีอาจเป็นเรื่องสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ในมุมมองของคนส่วนมาก แต่จะถือว่าเป็นสาระสำคัญถึงขนาดที่รัฐและกฎหมายจะต้องเข้าไปแทรกแซงและส่งผลกระทบในทางกฎหมายต่อการก่อตั้งและการคงอยู่ของการสมรสหรือไม่ ในสังคมประชาธิปไตยซึ่งความแตกต่างหลากหลายควรได้รับการคุ้มครอง การสมมติว่า “การร่วมประเวณี” เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับคู่สมรสทุกคู่จึงไม่น่าจะใช่สิ่งที่ถูกต้อง
.
ในโลกปัจจุบันที่ทัศนคติและความเข้าใจในความสัมพันธ์ทางครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คำถามสำคัญคือเรายังควรจะถือ “การร่วมประเวณี” และ “ความสัมพันธ์เชิงชู้สาว” เป็นสารัตถะหรือปัจจัยสำคัญในการบ่งชี้ถึงความเป็น “ครอบครัว” ได้อยู่อีกหรือไม่ หรือควรจะเป็น “ความรักความห่วงใย” และ “การดูแล” ที่สมาชิกในครอบครัวมีและมอบให้กัน ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องท้าทายในด้านกฎหมาย และเป็นที่น่าสนใจว่ากฎหมายครอบครัวไทยจะมีการตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไร
.
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “ 88 ปีกฎหมายครอบครัวไทย : พลวัตของแนวคิดใหม่ในความเป็นสถาบันครอบครัว”