พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 53 จาก #TULAWInfographic
.
ประเทศไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 354 เมกะตันต่อปี คิดเป็น 4 ตันต่อคน และจะไปถึง 555 เมกะตันต่อปีในปี ค.ศ. 2030 การจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้จะต้องใช้ต้นไม้มากถึง 200 ต้นต่อคน 1 คน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีต้นไม้มากพอขนาดนั้นในประเทศ
.
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเหลือประเทศไทยได้คือการเลือกใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากลม จากแสงอาทิตย์ นั่นเอง ซึ่งถ้าประเทศไทยสามารถติดตั้งพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์จาก solar rooftop ได้แค่เพียงซัก 3 กิโลวัตต์ จะทำให้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากชั้นบรรยากาศได้มากถึง 1.8 ตันต่อปี ซึ่งถือเป็น 50% ที่ปล่อยออกไปเลยทีเดียว พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก
.
ถ้าหากประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้จะเกิดผลดีอย่างไรตามมา และปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคืออะไร #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม : จากนโยบายสู่ทางปฏิบัติ” อ่านรายละเอียดได้ที่
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานสัมนาวิชาการ: https://bit.ly/3NNCi8M
5 สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
.
- Centralized Generation สู่ Distributed Generation
การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตด้วยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มาเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพียง 15-20 แห่งเท่านั้นสำหรับดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ แต่ในอนาคตอาจมีการกระจายโรงไฟฟ้ามากถึง 2000-3000 แห่ง ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่าง ลม แสงอาทิตย์ เข้ามาสู่ระบบได้มากขึ้น โดยผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและส่งไฟฟ้าออกไปในระยะทางที่ใกล้แหล่งผลิตไฟฟ้า
.
ซึ่งทำให้สายส่งสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียพลังงานระหว่างทาง เนื่องจากไฟฟ้าถูกส่งไปในระยะทางที่สั้นลงจากโรงไฟฟ้าขนาเดเล็ก ทำให้เกิดความเสถียรในระบบด้วย เพราะหากมีแต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หากดับไปจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากกว่ามีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายแห่ง
.
- Real-time Generation สู่ Generation with storage
การเปลี่ยนระบบการผลิตไฟฟ้าจากการผลิตทันทีเพื่อตอบสนองความต้องการสู่การผลิตและกักเก็บ เอาไว้สำหรับใช้งานตามช่วงเวลามากขึ้น เพราะหากเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนจะต้องมีการกักเก็บไฟฟ้าเอาไว้ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผลิต พลังงานได้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศด้วย เช่น ไม่มีแดดหรือลม
.
การสร้างระบบกักเก็บที่ดีจะทำให้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับกรณีฉุกเฉินอย่าง โรงไฟฟ้าฟอสซิล และทำให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรและมั่นคงอีกด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยสามารถใช้วิธี Hydro pump สำหรับการกักเก็บพลังงานได้อย่างง่ายดายเนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่พร้อมอยู่แล้ว
- Simple Energy Planning สู่ Grid Modernization and Generation Flexibility
การเปลี่ยนการวางแผนด้านพลังงาน ในปัจจุบันระบบ Grid หรือสายส่งมักเน้นในเรื่องของการส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปที่ sub-station แล้วกระจายไปยังบ้านเรือนต่าง ๆ แต่ในอนาคตตัวระบบไฟฟ้านั้นจะไม่เพียงแค่ส่งไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีระบบ communication กลับเข้ามาด้วยใน grid
.
ซึ่งจะทำให้เราสามารถทราบได้ว่า โรงงานหรือผู้ใช้ไฟกําลังจะเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรในอนาคตและสามารถนำมาจัดการ grid ให้เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น เพราะมีการส่งข้อมูลจากผู้ใช้ไฟกลับมายัง grid operator นอกจากนี้ยังสามารถทำให้บริหารจัดการ grid ให้มีความทันสมัยและรองรับพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้นอีกด้วย
.
- Supply Side Management สู่ Demand Side Management
การเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า โดยเปลี่ยนการจัดการพลังงานให้จัดการในส่วนของภาคการใช้ไฟฟ้าด้วย เพราะในส่วนของการใช้ไฟนั้นจะต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน เช่น การทำ energy conservation เพราะการประหยัดพลังงานจะกลายเป็นกุญแจสำคัญทำให้เราไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
.
หรือการทำ energy efficiency การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการทำ demand response หาช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงเช่นช่วงหัวค่ำ แล้วจัดการทำมาตรการจูงใจในการลดการใช้ไฟช่วงนั้น เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศมีการทำ demand response กันอย่างเข้มแข็ง แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการพูดถึงมากนัก
.
- Consumer สู่ Prosumer
การเปลี่ยนจากผู้บริโภคไปสู่ผู้ผลิตไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า prosumer โดยการใช้ไฟในอนาคตจะต้องพึ่งพา prosumer ที่เป็นรายบุคคล หรือ prosumer ที่เป็นชุมชนเล็ก ๆ หรือระบบไฟฟ้าแบบ micro grid มากขึ้น แต่ในปัจจุบันแม้จะมีการเอื้อให้ติด solar cell มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เอื้อให้มีการติดแบบเต็มศักยภาพเนื่องจากยังติดข้อกำหนดไม่สามารถทำให้ไฟไหล ย้อนกลับเข้าระบบของการไฟฟ้าได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาในเชิงเทคนิคที่สามารถจัดการได้
.
การเปลี่ยนเป็น prosumer จะต้องมีระบบ net-metering หรือ การหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้กับไฟฟ้าที่ผลิตเอง ซึ่งถือเป็นข้อดีต่อทั้งระบบไฟฟ้าของประเทศโดยรวมด้วย เนื่องจากทำให้ประเทศสามารถลดการซื้อก๊าซ LNG เพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงนั้นลดลงได้ รวมทั้งยังช่วยลดความแออัดของ grid และทำให้ความสูญเสียในสายส่งลดน้อยลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ค่าไฟโดยรวมของประเทศลดลงด้วย
.
ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้
.
– การเปลี่ยนระบบ Energy Market
จากปัจจุบันที่เราใช้ระบบที่ไม่ว่าใครจะผลิตไฟฟ้าก็จะต้องขายให้กับการไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งถือเป็นการปิดโอกาสทำให้ประเทศขาดการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด และตอบโจทย์ต่อทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจะต้องเปลี่ยนให้เกิดการเข้าถึง grid ของการไฟฟ้าโดยอนุญาตให้มี third-party access อย่างเสมอภาค ไม่ให้การไฟฟ้าเป็นคนรับซื้อและเข้าใช้สายส่งอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อด้านการส่งออกสินค้าของประเทศไทยด้วย
.
– การสร้างมาตรการจูงใจ
ในปัจจุบันมีแต่มาตรการสินเชื่อเท่านั้นในการจูงใจผู้คนให้มาสนใจหรือติดตั้ง solar cell ที่บ้านของตนซึ่งอาจสร้างความไม่สะดวกใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าไปทำข้อตกลงด้วย รวมทั้งมาตรการจูงใจยังมักมาจากภาคเอกชนเป็นหลัก ยังไม่เห็นมาตรการจากทางภาครัฐมากนัก
.
ดังนั้นจึงควรมีการสร้างมาตรการอื่น ๆ มาจูงใจ รวมทั้งมาตรการเชิงบังคับด้วย เช่น การบังคับหมู่บ้านจัดสรรให้ขายบ้านพร้อมติดตั้ง solar cell เท่านั้น โดยอาจนำมาตรการภาษ๊มาจับด้วย เช่น ถ้าทำบ้านตามที่กำหนดไว้ได้จะได้รับประโยชน์ทางภาษี ด้วยเป็นต้น
.
– การแก้ข้อกำหนดทางกฎหมายและนโยบาย
พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ได้ แต่การประชุมมักเกิดขึ้นปีละไม่กี่ครั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายให้ทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งยังไม่มีผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งภาคประชาชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงานมากกว่านี้ นอกจากนี้ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้ามีความซับซ้อน โดยหากจะเปิดโรงไฟฟ้าเพียง 1 แห่ง จะต้องขอใบอนุญาตมากถึง 4 ใบ
.
– การคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม (enegy transition)
การเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียน และเลิกใช้พลังงานฟอสซิล เช่น การปลดระวางถ่านหิน (coal phase out) ควรต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมด้านแรงงานและชุมชนด้วย เช่น ถ้าปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ควรต้องหางานใหม่ให้คนงานหรือ reskill คนงานไปทำงานด้านพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
.
ที่มา: สัมมนาทางวิชาการเรื่อง “เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างไรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม : จากนโยบายสู่ทางปฏิบัติ”