พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 55 จาก #TULAWInfographic
ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการเกษตรถูกนำมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง รวมทั้งในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มน้ำหนักของเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และลดต้นทุนในการผลิตลง
หนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาใช้คือการนำสารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ผสมในอาหารสัตว์หรือน้ำที่ให้สัตว์ดื่มโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็น “สารเร่งเนื้อแดง” หรือสารที่ช่วยเร่งให้สัตว์เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าในสภาวะปกติ และทำให้สัตว์นั้นมีสัดส่วนของเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้นและสัดส่วนของไขมันลดน้อยลง ซึ่งถูกนับว่าเป็นวิธีที่อันตรายในสายตาของหลายประเทศ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
ทำไมประเทศไทยถึงมองว่า “สารเร่งเนื้อแดง” เป็นสิ่งที่อันตรายในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่คิดเช่นนั้น ประเทศไทยมีมาตรการห้ามเรื่องดังกล่าวหรือไม่ และมีช่องโหว่อย่างไร #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากงานวิจัยวิชาการเรื่อง “ความสอดคล้องของมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงของประเทศไทยภายใต้พันธกรณีขององค์การการค้าโลก” โดย รศ. ดร.จารุประภา รักพงษ์
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานวิจัยวิชาการ: https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:176637
สารเร่งเนื้อแดง?
“สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์” ที่ใช้ในงานวิจัยฉบับนี้หมายถึง สารสังเคราะห์ทางเคมีที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่าเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งประกอบด้วยสารเคมีในกลุ่มย่อยต่าง ๆ อาทิ สารในกลุ่มแรคโตปามีน ซัลบูทามอล และไซมาเทอรอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มแรคโตปามีนซึ่งเป็นสารเคมีที่นิยมใช้ผสมในอาหารสัตว์ และน้ำดื่มที่ให้แก่สัตว์ประเภทโคและสุกรเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต
แม้ว่าสารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์จะมีประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มเนื้อแดงในสัตว์และใช้เป็นยารักษาโรคทั้งในคนและสัตว์ แต่สารดังกล่าวก็มีลักษณะที่เป็นโทษด้วยเช่นกัน เพราะสารดังกล่าวสามารถออกฤทธิ์ต่อการทำงานของหัวใจของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับสารนั้นโดยตรง
ดังนั้นหากสารดังกล่าวตกค้างอยู่ในร่างกายของคนในระดับซึ่งเกินปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลข้างเคียงด้านลบต่อสุขภาพของผู้ที่ได้รับสาร เนื่องจากสารดังกล่าวมีฤทธิ์เพิ่มแรงการบีบตัวและความเร็วในการนำไฟฟ้าของหัวใจทำให้อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อหัวใจและนำไปสู่การเต้นหัวใจผิดจังหวะได้
การกีดกันสารเร่งเนื้อแดง?
การยอมรับว่า สารดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยนั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ปัจจุบันการกำหนดปริมาณสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ที่แต่ละประเทศอนุญาตให้ตกค้างในสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้นั้นมีปริมาณที่แตกต่างกันไปสำหรับสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation หรือ WTO) แต่ละประเทศ
รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ อาจกำหนดนโยบายทางสุขภาพได้ว่า จะไม่อนุญาตให้มีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ในกลุ่มสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเลย ซึ่งหนึ่งในสมาชิก WTO ที่มีการกำหนดนโยบายเช่นนี้ก็มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันสมาชิก WTO บางประเทศก็อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศได้เช่นกัน โดยได้พิจารณาแล้วว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลของสมาชิก WTO ในกลุ่มนี้มักกำหนดเงื่อนไขในการใช้สารดังกล่าวให้เกษตรกรและผู้ประกอบการภายในประเทศปฏิบัติตามเพิ่มเติม
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสารประเภทดังกล่าวมักตกค้างอยู่ภายในเครื่องในของสุกรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนไทยมักนิยมรับประทานเป็นอย่างมาก แตกต่างจากคนต่างประเทศที่ไม่นิยม ทำให้ประเทศไทยเล็งเห็นความเสี่ยงและจึงออกมาเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกรขึ้นมานั่นเอง
2 กลุ่มกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของประเทศไทย ไทยมีนโยบายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ใน การผลิตอาหารภายในประเทศ และห้ามนำเข้าอาหารที่มีสารดังกล่าวตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์อย่าง เข้มงวด โดยไทยถือว่าสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์เป็นสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และห้ามตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภท
ประเทศไทย มีข้อกำหนดห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์มา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวของไทยมักได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก WTO หลาย ประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ ที่ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตเป็นอาหารอยู่เสมอ โดยแบ่งได้เป็น 2 ระดับคือ
- กฎหมายที่ใช้ในระดับของกระบวนการผลิต
ประเด็นในระดับกระบวนการผลิตและ วิธีการผลิตนั้น เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้มีความปลอดภัย และมีคุณภาพตามที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายในกลุ่มนี้ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 3 กลุ่มย่อย คือ
– กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์
อาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า ผู้ผลิตอาหารสัตว์มักนิยมนำสารเร่งเนื้อแดงพวกเบต้าอะโกนิสต์มาเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมักนิยมนำสารดังกล่าวมาตักผสมกับอาหารสัตว์ในรางอาหาร
อย่างไรก็ดีประเทศไทยได้ออกฎหมายเพื่อห้ามการดำเนินการเช่นดังกล่าวเอาไว้ โดยกฎหมายหลักที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ได้แก่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งออกภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาหารสัตว์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558
โดยในข้อ 2 และข้อ 3 ของประกาศดังกล่าวเป็นการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ผสมปนเปื้อนในอาหารสัตว์อย่างเด็ดขาด และครอบคลุมทั้งการลักลอบนำสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ผสมในอาหารสัตว์ หรือในกรณีที่เกิดการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในอาหารสัตว์โดยที่เกษตรกรอาจไม่ได้ตั้งใจ อาทิ การนำไปผสมในลักษณะเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคสัตว์ หรือเป็นการนำสารดังกล่าวที่มีอยู่ในยารักษาโรคในคนหรือสัตว์มาผสมเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ด้วยเช่นกัน
– กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการฆ่าสัตว์
กฎหมายสำคัญซึ่งใช้ในการควบคุมสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ที่อาจตกค้างในระหว่างกระบวนการการฆ่าสัตว์ ได้แก่ ประกาศกรมปศุสัตว์เรื่อง การกำหนดโรคหรือลักษณะของสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหาร และพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559
โดยข้อ 4 ของประกาศกรมปศุสัตว์ ฯ ฉบับดังกล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่มีสารตกค้างหรือที่ต้องสงสัยว่ามีสารตกค้างในกลุ่มสารเบต้าอะโกนิสต์ ถือเป็นลักษณะของสัตว์หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้บริโภคเป็นอาหาร ซึ่งเป็นลักษณะการห้ามอย่างเด็ดขาด โดยห้ามพบการตกค้างของสารอย่างสิ้นเชิง
ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 กฎหมายไทยได้พยายามป้องกันความเสี่ยงที่สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์จะรั่วไหลเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารภายในประเทศ โดยดำเนินการผ่านการใช้ดุลยพินิจของพนักงานตรวจโรคสัตว์
พนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบสุขภาพ ลักษณะ และรูปพรรณของสัตว์ก่อนที่กระบวนการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาบริโภคเป็นอาหารจะเริ่มขึ้น และต้องกระทำการตรวจสอบ ณ โรงฆ่าสัตว์ หรือสถานที่อื่น ๆ ที่กฎหมายอนุโลมให้ตามเหมาะสม ซึ่งรวมถึงกรณีที่มีเหตุต้องสงสัยว่าสัตว์ที่จะนำมาชำแหละนั้นมีสารปนเปื้อนอยู่ด้วยเช่นกัน
– กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์
กฎหมายที่ช่วยควบคุมการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงระหว่างกระบวนการผลิตเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศกรมปศุสัตว์เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อน ไขการรับรองฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปลอดสารเร่งเนื้อแดงหรือสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) พ.ศ. 2562 ที่มีการกำหนดระบบการรับรองฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงหรือสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เอาไว้
โดยกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการเลี้ยงสัตว์ เพื่อทำให้แน่ใจว่าวิธีการผลิตตลอดจนผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับมาตรฐานและ ผ่านการรับรองภายใต้ประกาศดังกล่าวนั้นจะปราศจากการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ ยา และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้การเลี้ยงสัตว์ ภายในฟาร์มที่เข้าร่วม และมีการสุ่มเก็บปัสสาวะสุกรขุนในฟาร์มเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์หา การปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์เป็นระยะ ๆ ด้วย
- กฎหมายที่ใช้ในระดับของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย
สำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่จำหน่ายภายในประเทศไทยมีกฎหมายฉบับที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ที่ระบุห้ามผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม อาหารที่ผิดมาตรฐาน หรืออาหารอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเอาไว้ ซึ่งเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีสารเร่งเนื้อแดงนั้นเข้าข่ายในนิยามของอาหารที่ไม่บริสุทธิ์อาหารผิดมาตรฐานที่รัฐมนตรีฯ กำหนดไว้ว่าห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายตามกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมี ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 269 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ พ.ศ. 2546 ที่ในข้อ 1 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับได้ระบุให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐาน โดยต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลายหรือเมแทบโบไลท์ (metabolite) ของสารดังกล่าวด้วย
โดยจะต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ดังกล่าวตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการ ซึ่งตามแนวปฏิบัติสำหรับการตรวจเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะเน้นการสุ่มตรวจหาสารเบต้าอะโกนิสต์ประเภทแรคโตปามีน ซัลบูทามอล เคลนบูเทอรอล และอัลบูเทอรอลเป็นสำคัญ
ปัญหาของประเทศไทย
ประเทศไทยมีนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงที่สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์จะปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารภายในประเทศอย่างเข้มงวด ซึ่งในปัจจุบันได้กำหนดกฎเกณฑ์ห้ามนำเข้าอาหารซึ่งรวมถึงเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ทุกประเภทรวมทั้งกำหนดให้การใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์เพื่อผสมในอาหารสัตว์ รวมทั้งในการใช้ผลิตอาหารในทุกลักษณะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย
แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่เน้นการควบคุมการรั่วไหลของสารซึ่งมีที่มาจากยารักษาโรคในคนเข้าสู่การใช้ในปศุสัตว์ จึงทำให้เกิดการลักลอบนำสารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์บางประเภท อาทิ สารซัลบูทามอล ซึ่งนิยมใช้ในยารักษาโรคในคนมาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์ได้
ซึ่งช่องว่างดังกล่าวนี้และข้อมูลการรายงานของกรมปศุสัตว์ที่ยังมีการตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ในสัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหารอยู่เสมอนั้นเองที่อาจทำให้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากประเทศคู่ค้าได้ว่า มาตรการของประเทศไทยเป็นการกระทำอย่างเลือกปฏิบัติและเข้มงวดเกินความจำเป็น และสุ่มเสี่ยงที่จะผิดพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้กรอบความตกลงของ WTO
4 ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย
เพื่อเป็นการลดโอกาสที่ประเทศไทยจะถูกดำเนินการฟ้องร้องว่ากระทำผิดพันธกรณีของ WTO ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินการด้วยกัน 4 ข้อคือ
- ออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้สารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ในการรักษาโรคในคนไม่ให้รั่วไหลเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร
สำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ควรออกข้อกำหนดให้มีการลงทะเบียนผู้ใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ทุกประเภท และกำหนดให้ผู้จำหน่ายยามีหน้าที่เก็บรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับยา บันทึกปริมาณการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์สำหรับใช้รักษาโรคในคน และกำหนดปริมาณการจำหน่ายยาดังกล่าวให้เป็นไปอย่างเหมาะสมสำหรับการใช้
นอกจากนั้นควรมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมการรั่วไหลของ ยารักษาโรคในคนไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการเร่งเนื้อแดงในสัตว์อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยอาจกำหนดให้การจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารเคมีจำพวกเบต้าอะโกนิสต์จำเป็นต้องใช้ ใบรับรองแพทย์ หรือกำหนดให้การจำหน่ายยาต้องดำเนินการโดยสถานพยาบาลเท่านั้น
- เก็บข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับผู้บริโภคกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการใช้สารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ และข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
รัฐบาลไทยควรจัดเตรียมข้อมูลการสำรวจตลาดการบริโภคเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย สถิติของผู้ป่วยในสภาวการณ์ด้านสุขภาพในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น งบประมาณด้านสาธารณสุขที่รัฐบาลไทยได้ใช้ไปเพื่อขจัดความเสี่ยงการได้รับสารเร่งเนื้อแดงในห่วงโซ่อุปทาน การผลิตอาหารให้แก่ประเทศคู่ค้า คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท และองค์กรอุทธรณ์ให้ทราบ
และนำไปปรับใช้ในบริบทของการกำหนดหลักฐานการสนับสนุนข้อโต้แย้งตามแก่ภาวะวิสัยในการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กรอบข้อกฎหมายของ WTO ต่อไป รวมทั้งเรื่องผลกระทบในทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาวมาพิจารณาประกอบเพื่อยืนยันว่ามาตรการของไทยเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยเช่นกัน
- วางแนวทางการพิจารณาความสอดคล้องของสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิต ภายในประเทศอย่างเข้มงวดในระดับเดียวกัน
ในปัจจุบันการปรับใช้กฎหมายของไทยบางส่วนอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของพนักงานปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องแต่ละรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสุ่มตรวจว่า ควรดำเนินการสุ่มตรวจความสอดคล้องของสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศในแต่ละชุดและแต่ละแหล่งที่มาความเสี่ยงอย่างไร และควรมีการดำเนินการอย่างบ่อยครั้งมากน้อยเพียงใด
การดำเนินงานลักษณะดังกล่าวอาจทำให้มีความเหลื่อมล้ำในการปรับใช้ดุลยพินิจของพนักงานในแต่ละท้องที่และในแต่ละปีได้ ดังนั้นเพื่อให้แนวทางการปรับใช้กฎหมายอยู่ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันจึงควรมีการกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่พึงปฏิบัติในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในประเด็นการพิจารณาสุ่มตรวจให้มีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นแบบแผนเช่นเดียวกัน
- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ตกค้างอย่างถูกต้องแก่ผู้บริโภค
รัฐบาลไทยควรเร่งประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ตกค้างให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศอย่างถูกต้องและโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยกลุ่มที่มีสภาวะความเสี่ยงจากการได้รับสารเบต้าอะโกนิสต์เข้าสู่ร่างกายได้ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ
นอกจากนี้หากข้อสรุปและหลักฐานต่าง ๆ ได้บ่งชี้ว่า สินค้าที่มีและที่ไม่มีสารเร่งเนื้อแดงจำพวกเบต้าอะโกนิสต์ปนเปื้อนเป็นสินค้าที่ไม่เหมือนกันจากมุมมองของผู้บริโภคชาวไทย รัฐบาลไทยก็จะสามารถปฏิบัติระหว่างสินค้าทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันได้ โดยที่ไม่ถูกตัดสินว่ามีการเลือกปฏิบัติจากเวทีระหว่างประเทศนั่นเอง
ที่มา: ความสอดคล้องของมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงของประเทศไทยภายใต้พันธกรณีขององค์การการค้าโลก; รศ. ดร.จารุประภา รักพงษ์ (2563)