พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 56 จาก #TULAWInfographic
.
“โทษประหารชีวิต” โทษที่อาจถือได้ว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุดในมุมมองของกฎหมาย สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดในเรื่องการเมืองได้หรือไม่ ในเวทีระหว่างประเทศมองเรื่องโทษนี้อย่างไร #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชุดรองศาสตราจารย์นพนิธิ สุริยะ (ประจำปี 2566) เรื่อง “แนวคิดวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศต่อพม่าหรือเมียนมาที่รัก : ข้อเสนอแนะจากมหาวิทยาลัย”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/48UeA3u
.
โทษประหารชีวิตในมุมมองระหว่างประเทศ
โทษประหารชีวิตในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น อาจถือได้ว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุดและขัดต่อสิทธิในการมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้นในหลายประเทศจึงได้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิต หรือยกเลิกการบังคับใช้ไปแล้ว
.
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดใน International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ซึ่งถือเป็นหลักสากลที่ได้รับการรับรองจากหลากหลายประเทศอีกด้วย โดยในข้อ 6 ของ ICCPR ได้รับรองสิทธิในการมีชีวิตเอาไว้ และกำหนดเงื่อนไขในการใช้โทษประหารชีวิตให้ทำภายในกรอบที่จำกัดเท่านั้น โดยมีเนื้อหาใจความหลักอยู่ 3 ข้อคือ
.
- โทษประหารชีวิตจะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นความผิดร้ายแรงสูงสุด หรือ Most Serious Crime เท่านั้น
- หากจะประหารชีวิต จะต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ การขออภัยโทษอย่างครบถ้วน
- ห้ามใช้โทษประหารแก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามใช้แก่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
.
โดยเนื้อหาใจหลักของกฎหมายข้อนี้คือ หากจำเป็นต้องใช้โทษการประหารชีวิตจริง ๆ ต้องใช้ในกรณีที่เข้มงวดและจำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้น ทั้งนี้แม้จะมีการกำหนดไว้เช่นนี้แต่จุดมุ่งหมายหลักก็คือการยกเลิกโทษประหาร ประเทศจะอ้างว่ากระทำตามกรอบที่กำหนดไว้แล้วเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยกเลิกโทษประหารไม่ได้
.
Most Serious Crime?
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือคำว่า ความผิดร้ายแรงสูงสุดหรือ Most Serious Crime นั้นครอบคลุมไปถึงความผิดประเด็นใดบ้างและใน ICCPR ให้คำจำกัดความไว้ว่าอย่างไร และที่น่าสนใจคือสถานการณ์ในเมียนมาร์ที่มีการสั่งประหารชีวิตคนที่มีความผิดทางการเมืองถือว่าเป็น Most Serious Crime หรือไม่
.
พัฒนาการของการจำกัดความของคำว่า Most Serious Crime นั้นมีการพัฒนามาโดยตลอด จากเดิมที่มีการให้ความหมายอย่างกว้างว่าหมายความถึง ความผิดที่อันตรายต่อชีวิตหรือความผิดที่สร้างอันตรายต่อรัฐต่อสังคมอย่างร้ายแรง มาจนถึงปัจจุบันที่มีความหมายแคบลงอย่างมาก โดยในปัจจุบันได้จำกัดให้มีเพียงแค่ ความผิดที่ทำให้คนตายโดยที่ผู้ทำมีเจตนาฆ่า (murder) เท่านั้นที่ยังคงเป็นความผิดที่นับว่าเป็น Most Serious Crime
.
นอกจากนี้ในความเห็นของเวทีระหว่างหลากหลายประเทศได้สะท้อนให้เห็นว่า 3 ความผิดดังต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็น Most Serious Crime
- ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
- ความผิดที่มีผลทำให้คนตายโดยผู้ทำไม่เจตนา อาทิ ปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนตาย ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้คนตาย
- ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดต่อรัฐ ความผิดเกี่ยวกับการเมือง ความผิดฐานกบฏ
.
ดังนั้นกรณีที่รัฐบาลทหารของเมียนมาร์ได้มีการสั่งประหารนักโทษที่มีความผิดเกี่ยวกับการเมืองจึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องต่อมุมมองของเวทีกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเพราะความผิดเหล่านั้นไม่เข้าข่ายเป็นความผิดที่จะสามารถใช้โทษประหารได้
.
ที่มา: เสวนาปาฐกถานิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชุดรองศาสตราจารย์นพนิธิ สุริยะ (ประจำปี 2566) เรื่อง “แนวคิดวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศต่อพม่าหรือเมียนมาที่รัก : ข้อเสนอแนะจากมหาวิทยาลัย”