พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 58 จาก #TULAWInfographic
.
หลักจริยธรรมทางการแพทย์กำหนดห้ามไม่ให้แพทย์ทำการเปิดเผยความลับของผู้ป่วย ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลที่รับรู้มาจากการรักษาถือว่าเป็นความลับอย่างหนึ่งของผู้ป่วยเช่นกัน
.
แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมซึ่งอาจส่งผลต่อผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยได้นั้น แพทย์จะสามารถเปิดเผยข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยคนนั้นได้หรือไม่? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากงานวิจัยวิชาการเรื่อง “การแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย” โดย ผศ. ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ
หลักจริยธรรมทางการแพทย์
การรักษาของแพทย์จะต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประการ คือ
- การทำประโยชน์ต่อผู้ป่วย (beneficence)
- การไม่ทำอันตรายต่อผู้ป่วย (non-maleficence)
- การเคารพความสามารถที่จะกระทำตามความตั้งใจของผู้ป่วย (respect for autonomy)
- การให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ป่วย (justice)
- การรักษาความลับของผู้ป่วย (confidentiality)
- การ ซื่อสัตย์ต่อผู้ป่วย (fidelity)
.
โดยการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วยสัมพันธ์กับหลักจริยธรรมทางการแพทย์ที่สำคัญ 2 ข้อคือ
.
– การรักษาความลับของผู้ป่วย
ในการรักษาแพทย์จำเป็นต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย เพื่อที่แพทย์จะสามารถตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นความลับของผู้ป่วย ดังนั้นแพทย์จึงต้องรักษาความลับของผู้ป่วย
.
หากแพทย์ไม่รักษาความลับของผู้ป่วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการถูกเปิดเผยความลับดังกล่าว และทำให้ความไว้วางใจของผู้ป่วยที่มีต่อแพทย์ลดน้อยลง จนส่งผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยอีกด้วย
.
หลักการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยสะท้อนให้เห็นอยู่ในกฎหมายอาญาที่กำหนดให้การเปิดเผยความลับของผู้ป่วยที่แพทย์ได้มาขณะให้การรักษาโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียหาย อาจก่อให้เกิดความรับผิดทางอาญาได้ตามมาตรา 323 นั่นเอง
.
รวมทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ยังพิจารณาว่า ข้อมูลทางสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (sensitive personal data) ซึ่งได้รับการคุ้มครองมากกว่าข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไปอีกด้วย จากกฎหมายสองฉบับดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า การรักษาความลับของผู้ป่วยนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในมุมมองกฎหมายไทย
.
– การเคารพความสามารถที่จะกระทำตามความตั้งใจของผู้ป่วย
หลักจริยธรรมนี้เป็นการรับรองสิทธิของแต่ละคนที่จะมีความเห็น ตัดสินใจ และกระทำการตามความเชื่อหรือคุณค่าของตนเอง ผู้ที่แสดงความเคารพนี้ได้จะต้องรับรู้ถึงคุณค่าและสิทธิในการตัดสินใจของผู้อื่น และช่วยให้ผู้อื่นสามารถตัดสินใจอย่างอิสระ
.
หลักจริยธรรมนี้เป็นพื้นฐานของกฎเกณฑ์ของหลายประเทศที่กำหนดให้แพทย์พยายามขอความยินยอมจากผู้ป่วยในเรื่องการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วย เพื่อให้การแจ้งเตือนนั้นอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจและความสมัครใจของผู้ป่วย
.
เมื่อแพทย์ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมนี้ นอกจากแพทย์จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางการแพทย์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับการรักษา การเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรม หรือการเปิดเผยข้อมูลทางพันธุกรรมแล้ว แพทย์ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถที่จะกระทำตามความตั้งใจ (autonomy) ของผู้ป่วยด้วย
.
ข้อมูลทางพันธุกรรม
แม้ว่าข้อมูลทางพันธุกรรมจะถือได้ว่าเป็นข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วย แต่ก็มีลักษณะหลายประการที่ทำให้เกิดปัญหาและข้อพิจารณาที่แตกต่างจากข้อมูลทางสุขภาพทั่วไป เพราะข้อมูลทางพันธุกรรมมิได้เป็นเพียงข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยเท่านั้น แต่อาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพของบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยทางสายเลือดด้วยเช่นกัน
.
ผลการทดสอบทางพันธุกรรมจึงมักจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของบุคคลรอบข้างของผู้ป่วยอย่าง
หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องการให้มีการเปิดเผยหรือไม่ หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเข้ารับการทดสอบทางพันธุกรรมของผู้ป่วยหรือไม่ก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวจึงถูกคุ้มครองโดยกฎหมายอย่างเคร่งครัด
.
4 ข้อพิจารณาที่ถูกนำมาใช้
ปัจจัยที่ถูกนำมาพิจารณาในการตัดสินใจสำหรับการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วยมักถูกใช้โดย 4 ข้อพิจารณานี้ ได้แก่
.
- ประโยชน์สาธารณะ
ข้อพิจารณานี้มักถูกนำมาพิจารณาในบริบทของการรักษาที่อาจมีความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดหรือโรคทางจิตเวชของผู้ป่วยเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดต่อบุคคลอื่นหรือสาธารณะ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการฝ่าฝืนหน้าที่ในการรักษาความลับในลักษณะนี้จะมีความคล้ายคลึงกับกรณีของการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย
.
แต่ลักษณะของความผิดปกติทางพันธุกรรมแตกต่างจากโรคทางจิตเวชและโรคระบาด การอ้างถึงประโยชน์สาธารณะเพื่อการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยในลักษณะนี้จึงอาจก่อให้เกิดข้อโต้แย้งหลายประการ ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ความไม่แน่นอนและชัดเจนของความผิดปกติทางพันธุกรรม และความจำเป็นของการแจ้งเตือน
.
- อันตรายจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
ข้อพิจารณานี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าการแจ้งเตือนในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อญาติผู้ป่วยหรือไม่และมากน้อยเพียงใด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
.
– ความรุนแรงของอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
ปัจจัยที่บ่งบอกว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมจะส่งกระทบต่อญาติผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด เพราะอาการของความผิดปกติทางพันธุกรรมมีความหลากหลาย ตั้งแต่อาการที่รุนแรงจนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือเสียชีวิตในเวลาอันสั้น หรืออาการที่ไม่รุนแรงแต่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนไปถึงอาการที่ไม่ปรากฏอย่างชัดเจนจนทำให้ไม่อาจรู้ได้ว่ามีความผิดปกตินั้นเว้นแต่จะเข้ารับการทดสอบทางพันธุกรรม
.
– โอกาสที่ญาติผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบ
ปัจจัยที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่ความผิดปกติทางพันธุกรรมจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ญาติผู้ป่วย โดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่องคือ โอกาสที่ญาติผู้ป่วยจะมียีนที่เชื่อมโยงกับความผิดปกตินั้น ซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของความผิดปกติและความใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย และโอกาสที่อาการของความผิดปกตินั้นจะปรากฏขึ้นในญาติผู้ป่วยซึ่งขึ้นอยู่กับว่าความผิดปกตินั้นเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากยีนเดียวหรือเกิดจากหลายปัจจัย
.
– โอกาสในการหลีกเลี่ยงอาการของความผิดปกติทางพันธุกรรม
ปัจจัยที่บ่งบอกว่า หากญาติผู้ป่วยได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของ
ผู้ป่วยแล้ว ญาติผู้ป่วยจะสามารถรับมือกับความผิดปกตินั้นได้มากน้อยเพียงใด โดยจะต้องพิจารณาว่า
เทคโนโลยีทางการแพทย์ในขณะนั้นช่วยให้ญาติผู้ป่วยสามารถรับมือกับความผิดปกตินั้นได้ในลักษณะใดด้วย
.
- ผลกระทบของการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วย
สำหรับผลกระทบต่อญาติผู้ป่วย การแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยอาจเป็นประโยชน์ต่อญาติผู้ป่วย เพราะช่วยให้ญาติผู้ป่วยสามารถรับมือกับความผิดปกตินั้นได้ล่วงหน้า ทั้งนี้การพิจารณาถึงของประโยชน์ของดังกล่าวขึ้นอยู่ลักษณะของความผิดปกตินั้นว่าญาติผู้ป่วยมีโอกาสในการหลีกเลี่ยงอาการของความผิดปกตินั้นมากน้อยเพียงใด
.
แต่ในทางกลับกันการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยอาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ป่วยได้เช่นกัน หากการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ป่วย เพราะการแจ้งนั้นจะถือว่าเป็นการไม่เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย และยังเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางลบต่อจิตใจของผู้ป่วยหรือต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย
.
- ความใกล้ชิดระหว่างแพทย์และญาติผู้ป่วย
หากญาติผู้ป่วยเป็นคนไข้ของแพทย์ด้วยและมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย แพทย์อาจมีหน้าที่ทางจริยธรรมในการป้องกันไม่ให้ญาติผู้ป่วยได้รับอันตรายจากความผิดปกตินั้น ซึ่งเป็นไปตามพื้นฐานของหลักจริยธรรมทางการแพทย์ที่กำหนดให้แพทย์ต้องทำประโยชน์ต่อคนไข้ของตนเอง
.
แต่ในกรณีที่ญาติผู้ป่วยมิได้เป็นคนไข้ของแพทย์ แพทย์ก็อาจมีหน้าที่ในการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย ด้วยเหตุผล 2 ประการหนึ่ง คือ แพทย์ควรมีหน้าที่ในการทำประโยชน์ต่อญาติผู้ป่วยในบางสถานการณ์ ประการที่สอง คือ แพทย์ควรมีความรับผิดชอบต่อญาติผู้ป่วยในฐานะที่ญาติผู้ป่วยเป็นสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย
.
3 ข้อเสนอแนะจากผู้วิจัย
ผู้วิจัยเห็นว่า กฎเกณฑ์ของประเทศไทยควรอยู่บนพื้นฐานของการให้ความเคารพต่อผู้ป่วยด้วยการให้ความสำคัญกับประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก ผู้ป่วยจึงควรมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจในเรื่องนี้ โดยมีแพทย์คอยให้การสนับสนุนหรือการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจในเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม แต่ก็ควรมีข้อยกเว้นในบางกรณีที่ต้องมีการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย โดยมีข้อเสนอแนะในเรื่องการกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายในประเทศไทย 3 ข้อคือ
- หน้าที่ในการบอกกล่าวผู้ป่วยถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความ
ผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วยโดยฝ่าฝืนต่อความประสงค์ของผู้ป่วย
.
หน้าที่ในการบอกกล่าวนี้จะเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอมเข้ารับการทดสอบทางพันธุกรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ป่วย เพราะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจผลของการตัดสินใจเข้ารับการทดสอบทางพันธุกรรมของตนเอง โดยผู้ป่วยจะรับรู้ถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยหลังจากที่ได้รับผลการทดสอบทางพันธุกรรมแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับหลักการให้ความเคารพต่อผู้ป่วย
.
อย่างไรก็ตามการบอกกล่าวในลักษณะนี้ไม่ควรทำให้ความยินยอมของผู้ป่วยกลายเป็นการให้ความยินยอมต่อการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยโดยปริยาย เพราะการทดสอบทางพันธุกรรมมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วย
.
- หน้าที่ในการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย
หน้าที่นี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับผลการทดสอบทางพันธุกรรมแล้ว และปรากฏว่า ประโยชน์ที่ญาติผู้ป่วยได้รับจากการแจ้งเตือนมีความชัดเจนเพียงพอที่จะมีน้ำหนักหรือมีความสำคัญมากกว่าผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการแจ้งเตือนนั้น โดยกฎหมายอาจกำหนดว่าหน้าที่นี้จะเกิดขึ้นเมื่อเห็นได้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับนั้นอยู่ในระดับที่สูงและชัดเจนเท่านั้นก็ได้
.
รวมทั้งอาจกำหนดเงื่อนไขในการการเกิดหน้าที่ในการแจ้งเตือนได้ด้วยเช่นกัน โดยประกอบไปด้วย 3 เงื่อนไขคือ ความผิดปกติทางพันธุกรรมมีอาการที่รุนแรงมาก, มีมาตรการในการป้องกันหรือบรรเทาอาการของความผิดปกตินั้นล่วงหน้า และ ญาติผู้ป่วยจะมีอาการของความผิดปกตินั้นอย่างแน่นอน
.
- หน้าที่ในการบอกกล่าวผู้ป่วยเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยด้วยตนเอง
หน้าที่ในการบอกกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับผลการทดสอบทางพันธุกรรมแล้ว แต่หน้าที่
ในการแจ้งเตือนตามข้อ 2 ไม่เกิดขึ้น และปรากฏด้วยว่าการแจ้งเตือนเป็นประโยชน์สำหรับญาติผู้ป่วย กฎหมายควรกำหนดให้แพทย์ควรสนับสนุนผู้ป่วยในการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยด้วยการบอกกล่าวหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วย
.
อย่างไรก็ตามแพทย์ควรชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเป็นดุลพินิจของผู้ป่วยไม่ใช่หน้าที่ทางกฎหมายที่ทำให้ผู้ป่วยมีความรับผิดทางกฎหมายเมื่อไม่ปฏิบัติตาม และแพทย์ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยด้วย
.
ผู้วิจัยเห็นว่า ควรกำหนดความรับผิดทางกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางกฎหมายทั้งสามที่ได้เสนอแนะ เพื่อให้ข้อเสนอเหล่านี้มีสภาพบังคับที่ชัดเจน แต่ความรับผิดทางกฎหมายควรอยู่ในรูปแบบของโทษปรับทางปกครองเท่านั้น ไม่ควรใช้การลงโทษตามกฎหมายอาญา
.
ที่มา: การแจ้งเตือนญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วย; ผศ. ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ (2566)