พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 59 จาก #TULAWInfographic
.
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหลายช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เรียกร้องให้แก่ในบางประเด็น บางมาตรา ไปจนถึงการเรียกร้องให้มีการใหม่ทั้งฉบับ
.
ประเด็นอะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ไม่ควรได้ไปต่อ และประเด็นใดที่ควรถูกเพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาวิชาการภายใต้ชุด “TU Public Law Forum” หัวข้อ “หลักการหรือบทบัญญัติที่ควรจะมีในรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศไทย”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานเสวนาวิชาการ: https://bit.ly/3T4kWHM
.
7 ประเด็นที่ไม่ควรมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญปี 60 มีประเด็นที่ส่งผลต่อระบบและสถาบันทางการเมืองอยู่มากมาย โดยอาจแบ่งได้เป็น 7 ข้อหลักคือ
.
- โครงสร้างระบบการใช้อำนาจ
รัฐธรรมนูญปี 60 ปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการสร้างระบบการใช้อำนาจสองระบบคู่ขนานกันไป ส่วนแรกคือหลักประชาธิปไตยที่ยึดย้อนกลับไปหาประชาชนผ่านการเลือกตั้ง กับการใช้อำนาจอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เชื่อมกลับไปหาประชาชนเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญที่วางหลักว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยเป็นอย่างมาก
.
- สว.ที่มีอำนาจมากเกินไป
ในปัจจุบันเป็นที่สังเกตได้ว่า สมาชิก สว. ได้เข้ามามีบทบาททางด้านการเมืองพร้อมอำนาจที่มากจนเกินไป แต่ที่มาของสมาชิก สว. นั้นกลับไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะเป็นสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลชุดก่อนหน้า รวมทั้งหน้าที่ของ สว. ที่ผ่านมานั้นก็เห็นอย่างชัดเจนว่า มีประสิทธิภาพไม่มากพอ และกลายเป็นการทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ได้อย่างยากลำบากและมีอำนาจน้อยลงอีกด้วย
.
- องค์กรที่ถูกส่งต่ออำนาจ
องค์กรที่ถูกส่งต่ออำนาจมาจากรัฐธรรมนูญก่อนหน้ายุคก่อน อาทิ กกต. หรือปชช. ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทำหน้าที่เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่ไม่ควรมีอยู่เพียงแต่ไม่ควรเป็นองค์กรระดับรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง โดยอาจมีการรับรองเอาไว้ในระดับ พ.ร.บ. แทน นอกจากนี้ยังต้องกลับมาพิจารณาดูด้วยว่า องค์กรอิสระที่จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญ 40 นั้นมีการดำเนินการตามนั้นหรือไม่
.
- ระบบการเลือกตั้ง
เรื่องของระบบการเลือกตั้งที่กำหนดเอาไว้นั้น ยังคงมีความกระจัดการจายของพรรคการเมืองมากจนเกินไป ซึ่งนำไปสู่คำถามว่า การกำหนดเอาไว้เช่นนั้นทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างยากลำบาก และทำให้รัฐสภาขาดประสิทธิภาพหรือไม่
.
- ศาลรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันมีการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญไปแล้วในหลายกรณี ทั้งยังมีการตีความขยายขอบเขตอำนาจของตัวเองอีกด้วย ทั้งนี้การมีอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญ.ยังมีความจำเป็น เพียงแต่ควรจำกัดหน้าที่ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยจำกัดให้มีหน้าที่เพียงตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเท่านั้น
.
ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญแทบจะต้องตีความทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ควรต้องกำหนดในเรื่องเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องความรู้ ความหลากหลาย ให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
.
- บทการปฏิรูปประเทศ
บทที่ปรากฎครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 60 โดยบทดังกล่าวนี้อาจเป็นตัวกัดกร่อนกระบวนการในทางประชาธิปไตยในการที่ประชาชนจะถกเถียงกัน หรือพูดคุยกันในประเด็นเรื่อง ประเทศควรขับเคลื่อนไปในทิศทางใดก็เป็นได้
.
- ตุลาการภิวัฒน์
บทบาทของศาลในยุคปัจจุบันกลายเป็นว่า ศาลเข้ามีบทบาทในการเข้ามาตรวจสอบประเด็นทางด้านการเมืองเยอะมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการไม่เว้นห่างทางด้านการเมืองนี้ทำให้ความเชื่อมั่นในองค์กรตุลาการมีความลดลงเป็นอย่างมากอีกด้วย
.
- หน้าที่ของรัฐ
ควรยกเลิกการกำหนดหน้าที่ของรัฐและทำให้กลับมาเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะการรับรองให้มีหน้าที่ของรัฐนั้นมีผลแตกต่างจากการรับรองให้เป็นสิทธิของประชาชนอย่างชัดเจน ในเชิงทฤษฎีสิทธิการรับรองสิทธิจะทำให้เกิดฐานะ “ผู้ทรงสิทธิ” ซึ่งถ้าเกิดการละเมิดขึ้นมา ผู้ทรงสิทธิสามารถดำเนินการเรียกร้องได้ทันที แต่ในการรับรองหน้าที่ของรัฐไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่าให้ใครเป็นผู้ทรงสิทธินั้น
.
4 ประเด็นที่ควรมีในรัฐธรรมนูญ
.
- อำนาจการตรวจสอบการประกาศกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยอำนาจดังกล่าวอาจเป็นอำนาจที่ให้แก่รัฐสภาในการพิจารณาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นอีกครั้ง หรืออาจกำหนดให้รัฐสภาเป็นคนมีอำนาจในการประกาศสถานการณ์แทนก็ได้เช่นกัน ไม่ควรให้อำนาจเหล่านั้นเป็นอำนาจเด็ดขาดของฝ่ายความมั่นคงเพียงอย่างเดียว
.
- การสร้างความอ่อนโยนให้รัฐไทย
อาทิ การเปิดรับเรื่องความหลากหลายให้มากขึ้น การมองถึงเรื่องสิทธิต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิมทั้ง สิทธิของคนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำพามาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศ โดยอาจกำหนดเป็นข้อยกเว้นเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงเอาไว้ด้วยเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมา
.
นอกจากนี้การเปิดกว้างของรัฐไทยดังกล่าวจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยการดำเนินงานที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพ การตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง และความเข้าใจในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
.
- สิทธิในการกำหนดความเป็นตนเอง
การรับรองสิทธิดังกล่าว ประกอบกับการสร้างความอ่อนโยนตามข้อ 2 อาจทำให้สามารถยุติปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการรับมือในหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การที่ประเด็น 3 จังหวัดชายแดนถูกนำมาพูดถึงและเป็นประเด็นสำคัญที่ควรใส่ในรัฐธรรมนูญนั้นเนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในข้อที่ 1 อีกด้วย ซึ่งในต่างประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมัน ก็ถือว่าเรื่องประเภทเช่นนี้เป็นประเด็นปัญหาระดับรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
.
- การลบล้างผลพวงที่เกิดจากรัฐประหาร
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการร่างขี้นมานั้นควรจะพูดถึงการจัดการต่อผลกระทบของการทำรัฐประหารในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยประเด็นที่อาจต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษนั่นก็คือ ประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่มีการรัฐประหารนั้น มีคนที่ต้องถูกโทษจำคุกอยู่เป็นจำนวนมากโดยที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง ดังนั้นประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมจึงควรเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงด้วยเช่นกัน
.
ที่มา: เสวนาวิชาการภายใต้ชุด “TU Public Law Forum” จัดโดยศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “หลักการหรือบทบัญญัติที่ควรจะมีในรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศไทย”