พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 61 จาก #TULAWInfographic
หากเกิดอุบัติเหตุจนเป็นสาเหตุให้บุคคลคนหนึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วพบว่า มีเลือดออกภายในอวัยวะจำนวนมาก แพทย์ก็จะสามารถลงสาเหตุทางการเสียชีวิตว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุได้อย่างไม่ยากเย็น
แต่หากมีการชันสูตรแล้วพบว่า ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัว และโรคนั้นสามารถทำเป็นเหตุให้เกิดความตายได้เช่นกัน แพทย์จะลงสาเหตุของการเสียชีวิตว่าเป็นเพราะเหตุใด เมื่อข้อจำกัดทางการแพทย์ยังทำให้การหาสาเหตุการเสียชีวิตไม่แม่นยำ 100%
แพทย์จะมีขั้นตอนในการพิจารณาอย่างไร? และมีทฤษฎีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาวิชาการหัวข้อ “การตายเกิดจากหลายเหตุการณ์จะระบุสาเหตุการตายอย่างไรให้ถูกต้อง”
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/43b4PvK
การเขียนสาเหตุการเสียชีวิตของแพทย์
ทางด้านการเขียนสาเหตุการเสียชีวิตของแพทย์นั้น แพทย์จะมีแบบฟอร์มเพื่อเขียนสาเหตุการเสียชีวิต โดยแบ่งเป็น 4 บรรทัด ในบรรทัดแรกคือปลายเหตุ อาทิ หัวใจล้มเหลว และบรรทัดสุดท้ายคือสาเหตุของการเสียชีวิต ซึ่งบริษัทประกันจะต้องยึดบรรทัดสุดท้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในการจ่ายเบี้ยประกัน
แต่ถ้าหากการวินิจฉัยนั้นไม่ชัดเจน บริษัทประกันก็มีหน้าที่ที่จะต้องสืบหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง โดยอาจทำการสอบถามแพทย์ถึงประวัติการรักษา การวินิจฉัย เป็นต้น ดังนั้นคำว่า “หัวใจล้มเหลว” ในบรรทัดแรกของฟอร์มจึงไม่ได้หมายความถึง สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคหัวใจ เสมอไปนั่นเอง
ทั้งนี้การลงสาเหตุการเสียชีวิตไม่จำเป็นที่จะต้องทำโดยแพทย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น พยาบาลก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างเช่น ในกรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือในกรณีที่สามารถทราบสาเหตุการเสียชีวิตได้อย่างชัดเจน และเป็นพื้นที่ห่างไกลอาจให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันสามารถลงสาเหตุการเสียชีวิตได้เช่นกัน
การเสียชีวิตด้วยเหตุ 2 แบบ
การเสียชีวิตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบคือ การเสียชีวิตที่เป็นธรรมชาติ และการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ โดยลำดับการพิจารณาถึงสาเหตุการเสียชีวิตนั้นจะต้องพิจารณาเริ่มต้นจากการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติก่อน อาทิ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ แพทย์จะเริ่มต้นพิจารณาก่อนว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หรือไม่
ดังนั้นตามหลักการแพทย์จะยึดการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติเป็นหลักไว้ก่อน ถ้าการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาตินั้นสามารถเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตได้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงปรากฎชัดตั้งแต่แรกหรือหลังจากทำการผ่าตัดชันสูตรเท่านั้น ซึ่งหลักการนี้ก็เป็นที่ยอมรับในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
เสียชีวิตด้วยโรคธรรมชาติ?
โรคธรรมชาติมีหลายระดับในทางการแพทย์ ซึ่งในโรคเหล่านั้นมีโรคที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า เป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่ อย่างเช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ที่แพทย์จะลงว่าสาเหตุการเสียชีวิตเป็นเพราะโรคดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วและสามารถตัดสาเหตุอื่นได้หมดแล้วเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบประสบอุบัติเหตุ เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรด้วยการผ่าร่างกายจนพบว่ามีเลือดออกภายในจำนวนมาก แพทย์ก็จะลงสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุ แต่ถ้าหากผ่าแล้วไม่พบว่ามีอวัยวะข้างในได้รับผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ แพทย์ก็สามารถลงว่าเป็นเพราะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้นั่นเอง
กรณีการเสียชีวิตที่เป็นเหตุต่อเนื่อง
สำหรับการเสียชีวิตที่เป็นเหตุต่อเนื่องกันนั้นตามหลักแพทย์จะต้องพิจารณาว่า เหตุแรกที่เกิดขึ้นสามารถทำให้เกิดเหตุสุดท้ายได้อย่างแท้จริงหรือไม่ อาทิ การเกิดอุบัติเหตุรถชนสามารถทำให้เกิดอาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิตได้หรือไม่ หรือการที่ผู้เสียชีวิตเป็นโรคหัวใจนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะการเป็นโรคหัวใจก็ไม่ได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุเสมอไป ดังนั้นการจะเขียนสาเหตุการเสียชีวิตนั้น แพทย์จำเป็นต้องดูว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ต่อเนื่องกันอย่างชัดเจนไหมด้วย
3 ทฤษฎีทางกฎหมายในการหาสาเหตุการเสียชีวิต
ในมุมกฎหมายเมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น การหาสาเหตุสำหรับการเสียชีวิตนั้นจะถูกพิจารณาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลด้วยเช่นกัน โดยมี 3 ทฤษฎีที่ถูกนำเข้ามาพิจารณาคือ
- ทฤษฎีความเท่าเทียมกันแห่งเหตุ
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าทุกเหตุที่ก่อให้เกิดผลคือความตายนั้นทุกเหตุมีผลทั้งสิ้น อาทิ บุคคลหนึ่งถูกรถชนไปนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาแพทย์ไม่ระวังจนทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตขึ้นมา ตามทฤษฎีนี้ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตนี้จะต้องรับผิดตามกฎหมายทั้งหมด โดยไม่ต้องพิจารณาถึงเหตุหลักหรือเหตุรอง
- ทฤษฎีความใกล้ชิดต่อเหตุ
หากเป็นตัวอย่างเช่นเดียวกันกับก่อนหน้านี้ ทฤษฎีนี้นั้นมุ่งเน้นไปที่เหตุที่ใกล้ชิดต่อผลแห่งความตายมากที่สุด ดังนั้นตามทฤษฎีนี้ก็จะถือเอาการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเหตุแห่งการตาย และส่งผลให้คนที่ต้องรับผิดคือแพทย์ที่ทำการรักษาโดยที่ไม่สนใจเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเลยนั่นเอง
- ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลที่เพียงพอ
สำหรับทฤษฎีนี้ มุ่งเน้นพิจารณาไปที่อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผลขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักนี้เองที่ทำให้เกิดผลสุดท้ายขึ้นแม้ในระหว่างนั้นจะมีเหตุอื่นเข้ามาแทรกซ้อนก็ตาม คนที่จะต้องรับผิดก็คือคนที่ทำให้เกิดสาเหตุหลักนั้นขึ้นมา
กฎหมายและแนวทางการพิจารณาของประเทศไทยนั้นยอมรับหลักทฤษฎีในข้อ 1 และ 3 ในการพิจารณาว่าใครจะต้องรับผิดในทางอาญา โดยหากข้อเท็จจริงไม่ได้มีความซับซ้อนก็จะเลือกพิจารณาตามทฤษฎีที่ 1 และหากมีความซับซ้อนก็จะพิจารณาตามทฤษฎีที่ 3 นั่นเอง แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงผลธรรมดา และเหตุแทรกแซงด้วยเช่นกัน
ที่มา: สัมมนาวิชาการหัวข้อ “การตายเกิดจากหลายเหตุการณ์จะระบุสาเหตุการตายอย่างไรให้ถูกต้อง”