พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 62 จาก #TULAWInfographic
.
“ตอนผมลั่นไกครั้งแรกไม่มีใครตาย แต่ทุกคนที่อยู่รอบตัวผมปลื้มในตัวผมมาก ดังนั้นการลั่นไกครั้งที่สองของผมจึงต้องมีคนตายเพราะผมไม่อยากให้คนที่ปลื้มผมต้องผิดหวัง” คำกล่าวจากไดอารี่ของเด็กที่ก่ออาชญากรรมจนต้องถูกนำตัวเข้าสู่บ้านกาญจนาภิเษก
.
คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นตอนในการกระทำความผิดของเด็กคนหนึ่งว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็กคนหนึ่งส่งผลต่อจิตใจในการกระทำความผิดเป็นอย่างมาก
.
แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวมีผลต่อการกระทำความผิดด้วยแล้ว เมื่อเกิดการกระทำผิดขึ้นมาใครจะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบบ้าง? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาวิชาการเรื่อง “อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้ : ใครต้องรับผิดชอบ?”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/437A4Yo
.
ความรุนแรงสร้างอาชญากร
ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากเด็กในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจำนวน 1,573 คน แสดงให้เห็นว่ามีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การถูกทุบตี เตะ ต่อย มากถึง 1,057 คน กลุ่มเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงอย่างมาก อาทิ ถูกบีบคอ ใช้ของร้อนจี้ หรือทำให้สำลักน้ำมากถึง 127 คน และกลุ่มเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วยอาวุธ เช่น มีด ปืน มากถึง 534 คน
.
นอกจากนี้ในกลุ่มตัวอย่างยังมีประวัติการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศในกลุ่มความรุนแรงอย่างมาก เช่น ถูกกดดัน ข่มขู่ คุกคาม ให้มีเพศสัมพันธ์จำนวน 19 คน ทั้งยังมีเด็กจำนวนมากถึง 72 คนระบุว่าเคยมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยได้รับเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นตอบแทนอีกด้วย
.
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเด็กกลุ่มนี้ยังมีประวัติการถูกกระทำความรุนแรงทางอารมณ์อีกด้วย โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเด็กส่วนใหญ่มากถึง 1,346 คน ต้องเผชิญกับการตวาด ตะคอก หรือด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย และรองลงมาคือการถูกพูดดูถูกเหยียดหยาม หรือถูกพูดจาด้อยค่า (ข้อมูลผลสำรวจโดย คุณอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการกลุ่มงานด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ))
.
ซึ่งหลักฐานทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่า การถูกทำร้ายทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางด้านระบบประสาทและสมอง ทั้งการคิดวิเคราะห์ การให้เหตุผลถึงการทำสิ่งต่าง ๆ ทำให้เจริญเติบโตหรือพัฒนาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น จนอาจเป็นเหตุให้เด็กก่ออาชญากรรมได้อีกด้วย
.
ใครต้องรับผิดชอบ?
ตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น เด็กจะต้องรับผิดต่ออาชญากรรมที่ตนเองก่อก็ต่อเมื่อเด็กคนนั้นมีอายุเกินกว่า 12 ปี โดยจะมีมาตรการเฉพาะสำหรับการลงโทษเด็กที่กระทำความผิดนั้น และอาจมีบุคคลอื่นที่ต้องรับผิดในการก่ออาชญากรรมนั้นคือ
.
– บิดามารดา
ตามหลักการแล้วไม่มีความรับผิดในทางอาญาแม้บุตรของตนจะกระทำความผิด เว้นแต่เป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนโดยตรง แต่อาจต้องมีความรับผิดในทางแพ่งในเรื่องการเยียวยา หรือการชดเชยค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ตามกฎหมายในบางประเทศก็มีการกำหนดให้บิดามารดามีความรับผิดเมื่อบุตรทำความผิดอยู่ด้วยเช่นกัน อาทิ ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น
.
– ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น ครู บุคลากรในสถานศึกษา
ไม่มีความรับผิดทางอาญา เว้นแต่จะเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำโดยตรงเช่นกัน แต่อาจมีความรับผิดทางแพ่งเนื่องจากการประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ และอาจมีความรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับวิชาชีพอันเนื่องจากการละเลยการปฏิบัติตามข้อกำหนดวิชาชีพได้เช่นกัน
.
– บุคคลอื่น ๆ เช่น ญาติ เพื่อน
ไม่มีทั้งความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา เว้นแต่จะเป็นกรณีการกระทำความผิดอาญาด้วยตนเอง เช่น ใช้ หรือยุยงให้กระทำโดยตรง
.
ทั้งนี้ผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคคลอื่น ๆ นั้นควรมีบทบาทในการป้องกันเหตุ ตักเตือน อบรมสั่งสอน แนะนำ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นปัจจัยในการส่งเสริมการกระทำความผิดของเด็กอีกด้วย
.
บทลงโทษบิดามารดาหรือผู้ใช้อำนาจปกครอง
ประเทศไทยได้มีการบัญญัติเรื่องสิทในการพัฒนาตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ใน ป.พ.พ. และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยกำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้ใช้อำนาจปกครองในการให้การศึกษา ลงโทษตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ทั้งจะต้องมีการอบรม สั่งสอน ที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกระทรวง และต้องไม่ปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบด้วย
.
บุคคลที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายนี้จึงเปรียบเสมือนคนที่ต้องคอยควบคุมและดูแลไม่ให้เด็กที่อยู่ในความปกครองไปก่อหรือกระทำความผิดทางอาญา อันเป็นการขัดต่อสิทธิในการได้รับการพัฒนาของเด็กนั้นด้วย จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า การงดเว้นไม่ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงอาจเป็นเหตุในการก่อให้เด็กกระทำความผิดหรือไม่ และผู้ใช้อำนาจปกครองนั้นสมควรได้รับโทษด้วยหรือไม่
.
อย่างไรก็ตามการกำหนดบทลงโทษบิดามารดาหรือผู้ใช้อำนาจปกครองนั้น ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมของเด็กลดลง ทั้งยังทำให้เกิดประเด็นการถกเถียงในสังคมอีกด้วย ดังเช่นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสที่มีการถกเถียงถึงเรื่องการสนับสนุนจากทางภาครัฐที่ไม่เพียงพอจนนำไปสู่การขาดการอบรมและสั่งสอนของบิดามารดา
.
ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรเด็กจึงต้องอาศัยหลากหลายปัจจัยทั้ง ด้านตัวของเด็กเอง ด้านครอบครัว ด้านสังคม ด้านภาครัฐ ไปจนถึงด้านของกฎหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
.
ที่มา: สัมมนาวิชาการเรื่อง “อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้ : ใครต้องรับผิดชอบ?”