พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 63 จาก #TULAWInfographic
.
รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่การกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นการทรมานและการบังคับให้สูญหายนั้นกลับถูกก่อขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียเอง ประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้และได้ออกมาเป็นกฎหมายฉบับใหม่
.
แต่มาตรการที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ และกฎหมายดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทรมานจิตใจของนักโทษประหารชีวิตอย่างไร #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “คนเปราะบางเพราะมีปัญหาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สิน กรณีศึกษาคนถูกอุ้มหายและถูกซ้อมทรมาณรวมถึงคนถูกขังโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3TIQmnE
.
ประเทศไทยกับความผิดทรมานและอุ้มหาย
เมื่อปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ออก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. พ.ศ.2565 แม้ชื่อความผิดเกี่ยวกับการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาจฟังดูรุนแรงแต่กลับมีโทษความผิดจำคุกเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น
.
การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเปรียบเสมือนเป็นยอดภูเขาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในมุมมองของนานาชาติไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดที่จะถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงเท่ากับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายอีกแล้วแม้แต่การฆ่าคน
.
จากความรุนแรงนี้เองทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกพยายามจะเลี่ยงการจำกัดความของคำว่า ทรมาน เช่นคู่มือของ CIA ที่อนุญาตให้ CIA สามารถบังคับให้บุคคลอดนอนได้ 180 วัน โดยที่ไม่นับเป็นการทรมาน เป็นต้น ใขณะที่ศาลประเทศอังกฤษได้ตัดสินไว้ว่า การบังคับให้อดนอนเป็นเวลา 2 วันยังไม่ถือเป็นการทรมาน และเป็นเพียงแค่การกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีของเป็นมนุษย์เท่านั้น
.
อย่างไรก็ตามในการจะพิจารณาว่าความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำที่โหดร้าย ทรมาน หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในแต่ละคดีนั้น รายละเอียดจะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกาย เพศ หรืออายุของผู้ถูกกระทำในคดีนั้น ๆ ด้วย
.
สำหรับประเทศไทยในมุมมองของเวทีระดับโลกนั้นถือว่ามีความก้าวหน้ามากแล้วในการที่บัญญัติเรื่องการกระทำที่โหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีให้เป็นความผิดอาญาร่วมด้วยในมาตรา 6 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ประเทศไทยจึงถึงว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการขยายขอบเขตคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
.
โทษประหารชีวิตกับการทรมานจิตใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือ คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตนั้นต้องไปรอทุกวันโดยไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกประหารชีวิตเป็นระยะเวลากว่า 5-7 ปี โดยคดีล่าสุดในปี 2018 ผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตต้องรอนานมากถึง 7 ปี ด้วยกัน ซึ่งการที่ผู้ต้องโทษประหารชีวิตต้องรอเป็นระยะเวลาที่ยาวนานอาจถึอว่าเป็นการทรมานทางด้านจิตใจได้ด้วยเช่นกัน
.
ในทางสิทธิมนุษยชนมองว่า การปล่อยให้รอโทษประหารเป็นระยะเวลาอย่างยาวนานนั้นเปรียบเสมือนเป็นการลงโทษซ้ำสองอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการกระทำที่โหดร้ายทารุณ และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งศาลของประเทศอังกฤษเคยตัดสินว่า หากมีการให้รอโทษประหารยาวนานมากเกินกว่า 5 ปี จะถือว่ารัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องลดโทษให้เหลือเพียงแค่จำคุกตลอดชีวิตโดยทันทีเท่านั้น โดยในปัจจุบันได้ลดเหลือระยะเวลาเพียงแค่เกินกว่า 3 ปี แล้ว
.
ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ต่อไปของประเทศไทยหลังที่มีกฎหมายฉบับดังกล่าวออกมาว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับนักโทษที่ต้องรอโทษประหารชีวิตเป็นระยะเวลายาวนานซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่โหดร้ายนี้อย่างไร
.
5 มาตรฐานการเยียวยาที่เหมาะสม
มาตรการส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเกี่ยวกับควาผมิดดังกล่าวมักเป็นการให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าไม่ตอบโจทย์และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
.
โดยมาตรการการเยียวยาที่เหมาะสมในเรื่องของการกระทำทรมานหรือกระทำโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับในทางนานาชาตินั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อคือ
.
- การปล่อยตัวหรือเปิดเผยชะตากรรม
หลักการที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้กลับคืนสู่สถานะเดิม ถ้าจับให้ปล่อยตัว ถ้าทรมานให้หยุด ถ้าหากเสียชีวิตแล้วให้เปิดเผยที่อยู่ของร่าง เพราะการกระทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นละเมิดสิทธิของผู้เสียหายแล้วยังเป็นการกระทำละเมิดต่อครอบครัวของผู้เสียหายอีกด้วย
.
- การดูแลเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ
ทั้งในทางการแพทย์ กฎหมาย สังคม และทั้งผู้เสียหายและครอบครัวของเขา เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เช่นเดิม
.
- กระบวนการช่วยเหลือของรัฐ
ในการให้ได้มาซึ่งข้อมูล ชะตากรรม หรือการจัดการเรื่องหลังความตายอย่างเหมาะสม โดยไม่มีการปกปิด รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาอย่างโปร่ง และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดให้มีการขอขมา หรือการจัดให้มีการรำลึกถึง
.
- การชดใช้ค่าเสียหาย
ให้ถือว่าเป็นมาตรการที่น้อยที่สุดที่รัฐจะสามารถนำมาปรับใช้ได้ เพราะหากให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จ่ายแล้วจบ จะทำให้สิทธิมนุษยชนไม่ถูกคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
.
- การรับประกันโดยภาครัฐ
อีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน รัฐจะต้องให้การรับรองได้ว่าจะไม่เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นอีกหรือเกิดการกระทำที่ซ้ำเดิมหลาย ๆ ครั้ง โดยการวางมาตรการและบทลงโทษต่าง ๆ อย่างจริงจังและเหมาะสม
.
นอกจากมาตรการทั้ง 5 ข้อนี้ ยังจะต้องอาศัยการปฏิบัติที่จริงจังและมีประสิทธิภาพจากทางภาครัฐ และการผลักดันในเรื่องดังกล่าวทั้งจากทางฝั่งรัฐบาลและภาคประชาชนอีกด้วย ในการทำให้เรื่องดังกล่าวหมดไปจากสังคมไทย
.
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “คนเปราะบางเพราะมีปัญหาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สิน กรณีศึกษาคนถูกอุ้มหายและถูกซ้อมทรมาณรวมถึงคนถูกขังโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด”