พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 65 จาก #TULAWInfographic
.
“เงิน” คือทรัพย์สินที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเงินสามารถก่อให้เกิดผลตอบแทนหรือผลประโยชน์แก่เจ้าของเงินได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้ต้องคืนเงินในทางกฎหมาย จึงมีประเด็นน่าสนใจว่า จะมีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไปในเงินนั้นหรือไม่ และถ้าหากคิดจะคิดตามหลักการใด
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากงานวิจัยวิชาการเรื่อง “การคิดดอกเบี้ยในการคืนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” โดยอาจารย์จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://so05.tci-thaijo.org/index.php/tulawjournal/article/view/261740/176878
.
การคิดดอกเบี้ย 2 รูปแบบ
- การคิดดอกเบี้ยในกรณีที่ไม่มีการผิดนัดในการคืนเงิน
เป็นการคิดดอกเบี้ยโดยมีฐานความคิดมาจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากเงิน ซึ่งเมื่อมีเหตุต้องคืนเงิน จึงควรพิจารณาถึงประเด็นเรื่องดอกเบี้ยอันเป็นผลตอบแทนของเงินที่ต้องคืนนั้นด้วย
.
- การคิดดอกเบี้ยในกรณีที่มีการผิดนัดในการคืนเงิน
เป็นการคิดดอกเบี้ยโดยมีฐานความคิดมาจากการไม่ชำระหนี้เงินจนเป็นเหตุให้ลูกหนี้ตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด ซึ่งหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินตามกำหนดก็อาจนำเงินนั้นไปทำประโยชน์ได้ ดังนั้นการผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินจึงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย กฎหมายจึงกำหนดให้มีดอกเบี้ยผิดนัดเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่เจ้าหนี้ในหนี้เงินดังกล่าวด้วย
.
2 อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย
อัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ข้อคือ
.
– อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7
อัตราดอกเบี้ยที่บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่มีการกล่าวถึงดอกเบี้ยในสัญญา หรือในบทบัญญัติของกฎหมายแต่ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้อย่างชัดเจน เช่น ในสัญญากู้ยืมเงิน ที่ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย หรือในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ย เช่น ผลของการเลิกสัญญาตามมาตรา 391 ที่กำหนดให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และหากต้องคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยเข้าไปด้วยนับแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้
.
โดยแต่เดิมอัตราดอกเบี้ยตามมาตรานี้คือ 7.5% ต่อปี แต่ในปัจจุบันมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็น 3% ต่อปี เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งยังให้มีการพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยในทุก ๆ 3 ปีอีกด้วย
.
– อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 224
อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่บัญญัติไว้สำหรับกรณีที่ลูกหนี้ในหนี้เงินตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ
.
- กรณีลูกหนี้ที่ตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 204
ทั้งในกรณีที่หนี้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินที่สามารถนับหรือคำนวณได้ ซึ่งลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนด และกรณีหนี้ที่ไม่มีกำหนดตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งเจ้าหนี้ได้เตือนลูกหนี้แล้วแต่ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้
.
- กรณีลูกหนี้ในมูลหนี้ละเมิด
กฎหมายกำหนดให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิดตามมาตรา 206 ดังนั้นผู้กระทำละเมิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามความเสียหาย ซึ่งหากอยู่ในรูปของ
หนี้เงินก็ต้องบวกด้วยดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิดนั้นด้วยนั่นเอง
.
โดยแต่เดิมกฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 224 คือ 7.5% ต่อปี แต่ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขให้คิดในอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี ดอกเบี้ยตามมาตรา 224 จึงเท่ากับ 5% ต่อปี
.
การคืนเงินตามกฎหมาย
– การคืนเงินที่เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 391
มาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้ผลของการเลิกสัญญาคือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยในกรณีที่ทรัพย์สินที่ต้องคืนนั้นเป็นเงิน การคืนเงินนั้นจะต้องมีการบวกดอกเบี้ยเพิ่มตามเข้าไปด้วย
.
การคืนเงินโดยคิดดอกเบี้ยจะต้องมีเงื่อนไขคือ
- ต้องเป็นการเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมาย
- การคืนเงินนั้นต้องเป็นการคืนเงินในลักษณะเพื่อให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม
.
หากไม่มีการตกลงเป็นอย่างอื่นในสัญญา อัตราดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือ 3% ต่อปี
.
อย่างไรก็ตามการคืนเงินดังกล่าวสามารถเกิดการผิดนัดได้เช่นกัน ซึ่งถ้าหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นก็จะมีการคิดดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นตามมาตรา 224 ด้วย ดังนั้นในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่คืนเงินให้กลับสู่ฐานะเดิมจะมีดอกเบี้ย 2 ประเภทเข้ามาเกี่ยวข้องคือ ดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ตามมาตรา 7 ที่คิดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่รับเงิน และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 5% ต่อปี ตามมาตรา 224 ที่คิดตั้งแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัด
.
– การคืนเงินที่เป็นผลมาจากเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 412
กฎหมายเรื่องลาภมิควรได้กำหนดเรื่องการคืนเงินในลักษณะลาภมิควรได้ไว้ว่า บุคคลที่ได้รับลาภมิควรได้เป็นเงินจำนวนเท่าใด ในเวลาเรียกคืนย่อมต้องคืนเต็มจำนวน แต่หากที่รับเงินนั้นรับไว้โดยสุจริตก็มีหน้าที่คืนเพียงเท่าที่เหลืออยู่ในขณะเรียกคืน
.
แต่การเรียกเงินคืนตามเรื่องลาภมิควรได้ กฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยเอาไว้ ซึ่งต่างจากการคืนเงินตามมาตรา 391 ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามยังอาจสามารถเรียกดอกเบี้ยในลักษณะดอกเบี้ยผิดนัดได้ โดยเสียดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปี ตามมาตรา 224 นับแต่เวลาที่มีการทวงถามหรือเวลาที่ผิดนัดนั่นเอง
.
ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย
ในงานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ให้ปรับเพิ่มเรื่องดอกเบี้ยในกรณีการคืนเงินที่เป็นผลจากเรื่องลาภมิควรได้ ผู้วิจัยเห็นว่า ควรให้คืนเงินพร้อมกับดอกเบี้ยของเงินนั้นด้วย โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ย้อนหลังไปนับแต่เวลาที่ผู้รับลาภมิควรได้เป็นผู้ทุจริตเอาไว้ด้วย เพราะผู้ที่รับลาภมิควรได้ไปโดยทุจริตนั้น รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิในเงินนั้น และเมื่อใช้เงินในการหาประโยชน์ต่อไป ผลประโยชน์จากเงินจำนวนเงินดังกล่าวก็ควรตกไปยังผู้ที่มีสิทธิในการได้รับคืนนั้น
.
โดยอาจปรับเพิ่มมาตรา 412 วรรคสอง โดยมีใจความว่า “ถ้าบุคคลที่ได้รับลาภมิควรได้ทราบถึงเหตุอันเป็นลาภมิควรได้เมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตนับแต่เวลานั้น และให้คิดดอกเบี้ยรวมเข้ากับเงินที่ต้องคืนนับแต่เวลาที่ตกอยู่ในฐานะทุจริตนั้นด้วย”
.
ที่มา: จุณวิทย์ ชลิดาพงศ์, ‘การคิดดอกเบี้ยในการคืนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์’ (2565)
วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์