พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 66 จาก #TULAWInfographic
.
“พลาสติก” คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะราคาถูกและสามารถปรับใช้ได้หลากหลายรูปแบบ แต่พลาสติกใช้เวลาย่อยสลายมากถึง 400-500 ปี และกระบวนการย่อยทำให้เกิด microplastic และ nanoplastic หลุดออกมาในสิ่งแวดล้อมรวมถึงในร่างกายมนุษย์อีกด้วย
.
ดังนั้นกฎหมายจึงควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกด้วยเช่นกัน แต่มาตรการที่ควรจะมีควรเป็นรูปแบบใด #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาเรื่อง “กฎหมายอาญากับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน : ร่วมคิด ร่วมแชร์ ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/4cSFgDV
.
3 มาตรการทางกฎหมายไทย
มาตรการทางกฎหมายที่เข้ามาควบคุมเรื่องขยะพลาสติกในประเทศไทยนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทกฎหมายคือ
.
– กฎหมายปกครอง
กฎหมายปกครองจะมุ่งควบคุมผ่านการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการของเจ้าพนักงานที่จะกำหนดให้เจ้าของธุรกิจคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปร่วมด้วย อาทิ ในกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น
.
– กฎหมายแพ่ง
กฎหมายแพ่งจะเข้ามามีบทบาทเมื่อกระบวนการกำจัดของเสียทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น โดยอาจทำให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายได้เช่นกัน ซึ่งค่าเสียหายอาจเป็น 2-3 เท่าของค่าเสียหายจริงที่เกิดขึ้น
.
– กฎหมายอาญา
เป็นมาตรการสุดท้ายที่จะถูกนำเข้ามาใช้ เพราะกฎหมายอาญาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเข้ามาแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ โดยมีความผิดสำหรับคนที่กำจัดขยะไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่หากเป็นคลองชลประทานอาจมีโทษจำคุกตามมาได้ด้วยเช่นกัน
.
ทั้งนี้เมื่อพิจารณากฎหมายอาญาแล้วจะเห็นได้ว่าโทษที่เกี่ยวกับการจัดเก็บหรือกำจัดของเสียหรือของเสียอันตรายอย่างไม่ถูกต้องนั้น มีอัตราโทษที่น้อยกว่าความผิดที่เกี่ยวกับความผิดที่ทำต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง อย่างเช่น ป่าไม้ แร่ เป็นต้น
.
มาตรการภาษีกับขยะพลาสติก
ในสหภาพยุโรปมีการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับเรื่องพลาสติกเป็นการเฉพาะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนำเงินจำนวนดังกล่าวไปชดเชยค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น และมุ่งควบคุมไปที่ผู้ผลิตมากกว่า โดยมีมาตรการเก็บภาษีเพิ่ม 0.8 ยูโรต่อพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำได้ 1 กิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินมหาศาลสำหรับภาคธุรกิจ
.
ในขณะที่กฎหมายของประเทศไทยนั้นยังไม่มีมาตรการการจัดเก็บภาษีแวดล้อมเป็นการเฉพาะ ในปัจจุบันมีเพียงกฎหมายภาษีสรรพสามิตที่เข้ามามุ่งเน้นการจัดเก็บ ภาษีน้ำมัน ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นหลักเสียมากกว่า ยังไม่มีมาตรการภาษีที่เข้ามาควบคุมในปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างอื่น อาทิ ภาษีคาร์บอน เป็นต้น
.
แต่ในทางกลับกันกฎหมายไทยก็มีสิทธิประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนหรือกลุ่มธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยหากธุรกิจใดซื้อพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้มาดำเนินการในธุรกิจของตน ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ โดยต้องพิจารณาตามเกณฑ์ว่า พลาสติกประเภทไหนที่จะเข้าคำนิยามของคำว่า สามารถย่อยสลายได้ อีกทีหนึ่ง
.
อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการจัดการที่ปลายเหตุมากกว่าการควบคุมการนำเข้าหรือการผลิตพลาสติก และการเก็บภาษีเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ทั้งยังต้องมีการพิจารณามาตรการทางภาษีให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมอีกด้วย
.
การลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก
ปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติกอีกหนึ่งด้านที่สำคัญสำหรับประเทศไทยคือ การลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและกำลังดำเนินการเร่งปราบปรามความผิดเหล่านี้ แต่ในประเทศแถบแอฟริกาและอาเซียนยังคงมีการแอบลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
.
ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่ถูกลักลอบนำเข้าเช่นกัน ซึ่งการควบคุมดูแลและการติดตามขยะดังกล่าวไปจนถึงขั้นตอนการกำจัดยังคงขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมตามมาอีกด้วย
.
ข้อเสนอแนะจากสัมมนา
– กำหนดมาตรการผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
อาจกำหนดมาตรการจูงใจโดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า โดยใช้แรงจูงใจด้านมาตรการทางภาษีที่มีอยู่แล้วในกฎหมายไทย กำหนดเรื่องการซื้อคืน และการลดต้นทุน รวมทั้งมาตรการภาษีสำหรับการปรับเหมือนอย่างเช่นกฎหมายยุโรปด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเริ่มจากเพดานภาษีเพียงเล็กน้อย และค่อย ๆ ขยับปรับขึ้นภายหลังให้สอดคล้องกับสถานการณ์
.
– กำหนดมาตรการจูงใจประชาชน
ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นอาศัยความสมัครใจมากจนเกินไป แต่ยังขาดมาตรการที่จะเข้ามากระตุ้นให้เกิดเข้าร่วมจากภาคประชาชน กฎหมายต้องสร้างมาตรการที่ทำให้ภาคประชาชนรู้สึกว่า ได้รับประโยชน์จากการแยกขยะ อาทิ คนเก็บขวดไปคืนตามจุดแล้วสามารถได้ refund กลับมาเป็นเงิน
อย่างหลายเมืองในยุโรป เป็นต้น
.
– แยกพื้นที่การกำจัดขยะพลาสติก
แยกพื้นที่สำหรับขยะพลาสติกโดยเฉพาะ เหมือนขยะอันตราย ไม่เทกองรวมกับขยะทั่วไป เพื่อให้ไม่เกิดการปนเปื้อน และง่ายต่อการนำไปทำความสะอาดหรือรีไซเคิลต่อไป นอกจากนี้ยังควรมีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อทำให้เกิดการรีไซเคิลหรือคัดแยกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
.
– กำหนดให้การลักลอบนำเข้าเป็นความผิดร้ายแรง
กฎหมายอาญาควรเข้ามามีบทบาทในการห้ามและคุมเข้มการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งต้องควบคุมดูแลไปจนถึงกระบวนการสืบสวนและติดตามการกำจัดขยะต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐด้วยเช่นกัน
.
– กระจายทรัพยากรและงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น
เพราะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นคือองค์รที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการกำจัดขยะเป็นหลัก ดังนั้นทางส่วนกลางต้องทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่มากเพียงพอ โดยมีนโยบายที่มาจากส่วนกลางเป็นหลักในการดำเนินการด้วย
.
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดการได้เพียงแค่กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาประกอบกันไป โดยใช้ความรู้จากสาขาอื่น ๆ เพื่อมากำหนดมาตรการและกรอบในการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในทางกฎหมายต่อไป
.
ที่มา: สัมมนาเรื่อง “กฎหมายอาญากับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน : ร่วมคิด ร่วมแชร์ ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก”