พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 67 จาก #TULAWInfographic
.
ปัญหาขยะและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คือปัญหาที่ถูกพูดถึงอย่างมากในยุคปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการออกมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อมาแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่รู้หรือไม่ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็สามารถมีบทบาทในการเข้ามาแก้ไขปัญหาขยะได้เช่นกัน
.
กลไกในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องขยะคืออะไร? มีความน่าสนใจอย่างไร #TULAW สรุปประเด็นจากสัมมนาเรื่อง “กฎหมายอาญากับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน : ร่วมคิด ร่วมแชร์ ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/4cSFgDV
การบริโภคอย่างยั่งยืน
The UN 2030 Agenda for Sustainable Development ข้อที่ 12 ได้มีการกล่าวถึงการให้ความสำคัญต่อ “การบริโภคอย่างยั่งยืน” และการออกแบบผลิตภัณฑ์เอาไว้ โดยกำหนดว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
.
หลักการดังกล่าวได้ถูกกำหนดเอาไว้ใน The UN Guidline for Consumer Protection ด้วยเช่นกัน โดยมีการเพิ่มเติมถึงหน้าที่ของรัฐว่า รัฐมีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ การบริโภคอย่างยั่งยืนเอาไว้ ดังนั้นหลายประเทศทั่วโลกจึงได้นำหลักการการบริโภคอย่างยั่งยืนไปกำหนดไว้ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศกันมากขึ้นตาม Guidline ฉบับนี้ อีกทั้งเป็นเพราะว่าหลายประเทศเห็นว่า กลไกในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะสามารถเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องขยะภายในประเทศได้นั่นเอง
.
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ว่ายังไม่มีการกล่าวถึงรับหลักการ “การบริโภคอย่างยั่งยืน” เอาไว้อย่างชัดเจน
.
4 กลไกสำคัญช่วยลดขยะ
.
- การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค
กลไกข้อนี้ถูกมองว่า เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการจะนำมาแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ เพราะการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมจากทางฝั่งผู้บริโภคตามมาด้วย นอกจากนี้กลไกในข้อนี้ยังไม่เป็นการสร้างภาระที่มากจนเกินไปอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสทื่กำหนดให้ฉลากสินค้าต้องบอกวิธีในการคัดแยกขยะนั้นอย่างถูกวิธีเอาไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถคัดแยกขยะได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง เป็นต้น
.
- การออกแบบผลิตภัณฑ์
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องออกแบบสินค้าที่ปลอดภัยและคงทน ซึ่งการกำหนดเช่นนี้เองที่จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ เพราะหากผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่คงทนก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องไปซื้อสิ่งนั้นใหม่ และทำให้เกิดปริมาณขยะที่มากขึ้นจากการผลิตหรือจากการที่ผู้บริโภคต้องทิ้งสินค้าเก่าที่ไม่สามารถใช้ได้แล้วนั่นเอง ทั้งยังอาจสามารถกำหนดในเรื่องของ Eco Design ได้อีกด้วย
.
- การให้ข้อมูลสินค้าแก่ผู้บริโภค
ในระยะหลังเมื่อมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายธุรกิจมักนำเสนอตัวเองด้วยด้วย concept ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า การสนับสนุนสินค้าดังกล่าวจะเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมได้ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งอาจมีกล่าวกล่าวเกินจริง หรือบิดเบือน. บ่อยครั้งพบว่ากระบวนการการจำหน่ายในปัจจุบันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการทำผลิตสินค้าที่อ้างว่าเป็น eco-friendly มากกว่าจะคิดถึงสิ่งแวดล้อมจริง ๆ หรือที่ถูกเรียกว่าการฟอกเขียวนั่นเอง ซึ่งกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้ามากำกับดูแลและควบคุมการกระทำดังกล่าว โดยมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม
.
- การลงโทษผู้ประกอบธุรกิจ
อีกกลไกหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การลงโทษที่ทำการหลอกลวง อาทิ การหลอกลวงเรื่อง การฟอกเขียว อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นเอง โดยผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงโทษผู้ประกอบการในทางแพ่งหรืออาญาก็ได้ อาทิ ความผิดในเรื่องการโฆษณาเกินจริงหรือการทำฉลากปลอม เป็นต้น
.
4 ข้อเสนอแนะกฎหมายไทย
– กำหนดเรื่อง “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย
UN guidline ได้มีการรับรองสิทธิในการบริโภคอย่างยั่งยืนเอาไว้ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนว่า การบริโภคอย่างยั่งยืนเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดการให้มี เป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจที่ต้องทำตาม และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน
– ปรับกฎหมายโดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค
ปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ภาคประชาชน โดยอาจทำให้เกิดการให้ข้อมูลสินค้า และวิธีการคัดแยกสินค้าในฉลากเหมือนอย่างที่ประเทศฝรั่งเศสทำก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพียงแค่บนฉลากมีวิธีการแยกขยะที่ถูกต้องก็สามารถช่วยสร้างความตระหนัก และทำให้การจัดการขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้แล้ว
.
– ผลักดันกฎหมายเรื่องสินค้าชำรุดบกพร่อง
กฎหมายดังกล่าวหรือ Lemon Law สามาถนำมาใช้แก้ไขปัญหาขยะได้เช่นกัน เพราะ Lemon Law จะกำหนดเอาไว้ว่า ถ้าหากมีความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ทำการซ่อมแซมในส่วนนั้น หรือให้สามารถเรียกรับเงินคืนในส่วนที่เสียหายนั้นได้แทน
.
รวมทั้งยังมีกลไกลในการสันนิษฐานว่า สินค้าหนึ่งชิ้นจะสามารถใช้ได้ยาวนานเพียงใด อีกด้วย ดังนั้นกฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมแนวคิดในการซ่อมแซมสินค้าแทนการซื้อสินค้าใหม่ทดแทน ซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งยังทำให้เกิดอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ อาชีพคนซ่อมสินค้าต่าง ๆ แบบเฉพาะทางอีกด้วย
.
– กำหนดมาตรการจูงใจผู้ประกอบธุรกิจ
ในหลายประเทศเริ่มมีการกำหนดหน้าที่ในการแจ้งวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ว่า ประกอบด้วยวัสดุอะไรบ้าง สามารถนำไปรีไซเคิลได้หรือไม่ หรือมีวัสดุใดที่ควรระวังหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากผู้ประกอบธุรกิจแจ้งตามหน้าที่ดังกล่าวก็จะได้รับการลดหย่อนทางด้านภาษีซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของพวกเขาได้
.
ถ้าหากประเทศไทยสามารถผลักดันให้เกิดการแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่ผุ้บริโภคได้ ก็จะช่วยทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุน และมีส่วนช่วยในรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ในทางกลับกันผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ได้รับการลดหย่อนทางด้านภาษีตามมาด้วยเช่นกัน ทั้งยังเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมากขึ้นอีกด้วย
.
ที่มา: สัมมนาเรื่อง “กฎหมายอาญากับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน : ร่วมคิด ร่วมแชร์ ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก”