พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 68 จาก #TULAWInfographic
.
เราไม่จำเป็นต้องให้ความร่วมมือแก่กระบวนการยุติธรรมเมื่อเราอยู่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกกำหนดเอาไว้รัฐธรรมนูญของประเทศไทยในเรื่อง “สิทธิที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง”
.
แต่การไม่ให้ความร่วมมือแก่กระบวนการยุติธรรมนั้นหมายความว่า เราสามารถพูดเท็จในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีความผิด ด้วยหรือไม่? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากโครงการนำเสนอวิทยานิพนธ์ ของอาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เรื่อง “ผลทางกฎหมายอาญาสารบัญญัติของสิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง:กฎหมายเปรียบเทียบเยอรมัน-ไทย”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกตัวอย่างประเด็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3w5R3OM
.
สิทธิที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง?
สิทธินี้เกิดมาจากแนวคิดที่ว่า การบังคับให้บุคคลปรักปรําตนเองย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีเพราะเป็นการขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ รวมทั้งการที่กระบวนยุติธรรมทางอาญาบังคับให้พูดความจริงยังอาจทําให้
ผู้ต้องหาหรือจําเลยเปิดเผยพยานหลักฐานโดยไม่สมัครใจ และทําให้ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้นลดน้อยลงจนอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถค้นพบความจริงได้
.
การบังคับให้บุคคลปรักปรําตนเองย่อมไม่นำไปสู่เป้าหมายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ในการค้นหาความจริง จึงทำให้เกิดการพัฒนาจนมาเป็น “สิทธิ” และถูกรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศไทย
.
โดยได้มีการกำหนดหลักการดังกล่าวเอาไว้ใน มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญว่า “ในคดีอาญาจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้” และ ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) ที่กำหนดเอาไว้ว่า “ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้” ซึ่งเป็นการรับรองถึงสิทธิที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอย่างชัดเจน
.
นอกจากนี้การที่กฎหมายของประเทศไทยรับรองสิทธิดังกล่าวยังส่งผลให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับการแจ้งเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137, 267 ไม่ถือว่าเป็นความผิดอีกด้วย แต่หากเป็นกรณีของพยานบุคคลนั้นยังอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาได้
.
ข้อยกเว้นกฎหมายไทย
สำหรับกรณีของพยานบุคคล หากมีการแจ้งข้อความหรือให้การอันเป็นเท็จในการดำเนินคดีอาญานั้นอาจเป็นความผิดตามมาตรา 137, 172, 173, 174, 177 หรือ 267 แล้วแต่กรณี โดยอาจหยิบประเด็นการกลับมาแจ้งความจริงต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 182 หรือ 183 มาใช้เป็นข้อยกเว้นหรือลดโทษได้
.
นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นเรื่องการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา 67 และเรื่องความจำเป็นที่ไม่ได้สัดส่วนตามมาตรา 69 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่สามารถหยิบยกมาใช้เป็นเหตุยกเว้นและลดโทษได้ด้วยเช่นกัน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการหยิบข้อยกเว้นดังกล่าวมาใช้
.
3 ผลกระทบจากการรับรองสิทธิ
การที่สิทธิดังกล่าวครอบคลุมไปถึงความผิดเกี่ยวกับการแจ้งเท็จตามกฎหมายทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมา 3 ข้อคือ
.
- ผลต่อพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย
การรับรองดังกล่าว เปรียบเสมือนการกระตุ้นทางอ้อมให้เกิดการให้การเท็จ และบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ทั้งยังเป็นการสร้างภาระให้แก่รัฐในการต้องสืบหาข้อเท็จจริงด้วยตนเองอีกด้วย
.
- ผลกระทบต่อประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ทำให้การค้นหาความจริงเป็นไปได้ยาก ขาดประสิทธิภาพ และล่าช้า ซึ่งขัดกับหลักการในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนอาจนำไปสู่การลดความเชื่อมั่นของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้
.
- ผลกระทบต่อผู้บริสุทธิ์
เมื่อการให้การเท็จไม่เป็นความผิด ถือว่ารัฐให้การรับรองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการตีความไปยังความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้ความที่มีการกระทบและทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ที่จะทำให้ผู้เสียหายนั้นไม่สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายแก่ผู้ที่ให้ความนั้นได้
.
เปรียบเทียบกฎหมายเยอรมัน
เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายเยอรมันแล้วจะเห็นว่า สิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในกฎหมายเยอรมันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สิทธิคือ “สิทธิในการปฏิเสธการให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาหรือจำเลย” และ “สิทธิในการปฏิเสธการให้ข้อมูลของพยานบุคคล” ซึ่งกฎหมายอาญาเยอรมันนั้นไม่ครอบคลุมไปถึงการแจ้งความอันเป็นเท็จในคดีอาญา ทั้งในกรณีผู้ต้องหา จําเลย หรือพยานบุคคล
.
โดยมีแนวคำพิพากษาที่วางหลักไว้ว่า แม้โดยหลักการกล่าวเท็จในระหว่างการดําเนินคดีอาญาจะไม่ถูกลงโทษ และผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีหน้าที่ที่ต้องให้ความจริงหรือให้ความร่วมมือแก่กระบวนการยุติธรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีสิทธิที่จะกล่าวถ้อยคำเท็จ
.
อย่างไรก็ตามโดยหลักแล้วศาลจะไม่สั่งลงโทษเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยกล่าวเท็จ เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลระหว่างกฎหมายสารบัญญัติและสิทธิที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองเอาไว้
.
แต่หากการให้การอันเป็นเท็จนั้นครบตามองค์ประกอบความผิดอาญา ผู้กระทำก็ยังคงต้องมีความรับผิดในทางอาญาอยู่เช่นเดิม อาทิ ความผิดฐานการใส่ความผู้อื่น หมิ่นประมาท เป็นต้น แตกต่างจากกรณีการกล่าวเท็จของพยานบุคคลที่กฎหมายกำหนดว่าเอาไว้ว่าเป็นความผิดอย่างชัดเจน
.
ข้อยกเว้นกฎหมายเยอรมัน
แม้การกล่าวเท็จของพยานบุคคลจะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็ได้มีการกำหนดเรื่องข้อยกเว้นเอาไว้เช่นกันในเรื่องการกระทำความผิดภายใต้สถานการณ์พิเศษ อาทิ เพื่อขจัดภยันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น โดยหากคุณประโยชน์ที่ทำการปัดป้องนั้นได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำก็สามารถยกเป็นเหตุยกเว้นโทษได้ หรือถ้าพิจารณาแล้วไม่ได้สัดส่วนก็อาจยกเป็นเหตุลดโทษได้เช่นกัน
.
3 ข้อเสนอแนะกฎหมายไทย
จากงานวิจัยมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายไทยอยู่ 3 ข้อคือ
.
- ไม่ควรครอบคลุมถึงการแจ้งเท็จ
สิทธิที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองของจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีอาญาจะต้องไม่เป็นเหตุยกเว้นความผิดเกี่ยวกับการแจ้งเท็จ
.
- นำเรื่องความจำเป็นมาใช้เป็นข้อยกเว้น
เหตุยกเว้นโทษและลดโทษตามมาตรา 67 แห่ง ป.อ. ควรถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดความประนีประนอมกันระหว่างการคุ้มครองสิทธิที่จะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองของจำเลยหรือผู้ต้องหา และการรักษาประสิทธิภาพในการดำเนินคดีอาญา
.
- ควรมีบทยกเว้นเหมือนเช่นกฎหมายเยอรมัน
ควรมีบทยกเว้นโทษหรือเหตุลดโทษสำหรับ “การแจ้งข้อความเท็จในสถานการณ์พิเศษ” ทำนองเดียวกันกฎหมายของเยอรมัน
.
ที่มา: โครงการนำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลทางกฎหมายอาญาสารบัญญัติของสิทธิที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง:กฎหมายเปรียบเทียบเยอรมัน-ไทย โดยอาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ