พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 73 จาก #TULAWInfographic
.
“ของร้ายที่จำเป็นในระบบกฎหมาย” นิยามของคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครอง ที่แม้จะมีปัญหาแต่ในหลายหน่วยงานก็ยังเลือกที่จะให้มีการจัดตั้งขึ้นมาอยู่เช่นเดิม ทั้ง ๆ ที่การตั้งคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองควรเป็น “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่ “เรื่องหลัก” ที่ต้องจัดให้มีตลอด
.
ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไรบ้าง? มีเรื่องไหนที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาวิจัย เรื่อง “คณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองตามระบบกฎหมายไทย” นำเสนองานวิจัย
โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกบทคัดย่อซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/44XBlSI
.
2 ปัญหาใหญ่คณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครอง
.
– มีจำนวนคณะกรรมการมากเกินไป
คณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองกลายเป็นวัฒนธรรมของผู้ร่างกฎหมายที่จะมีการกำหนดเอาไว้ก่อน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องหน้าที่ที่ไม่จำเป็นต้องใช้คณะกรรมการในการทำ โดยในบางครั้งหน้าที่ที่กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการนั้นก็มีกระทรวง ทบวง กรม ที่คอยจัดการหรือให้ความช่วยเหลือได้อยู่แล้วนั่นเอง
.
การที่คณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองมีจำนวนเฟ้อ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรค 3 ขึ้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองในระบบกฎหมายเท่าที่จำเป็น เพราะเป็นระบบที่ทำให้เสียเวลากว่าจะเกิดการประชุมกันได้ในแต่ละครั้ง รวมทั้งยังมีการตั้งอนุกรรมการเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เกิดการเสียงบประมาณที่มากขึ้นอีกด้วย
.
นอกจากนี้สิ่งที่ทุกคนไม่ได้คำนึงถึงคือเรื่อง ความเสี่ยงในระบบคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครอง เพราะคณะกรรมการต้องมีองค์ประกอบที่ต้องทำให้ถูกต้องเสมอ ซึ่งหากทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนเพิกถอนโดยศาลปกครองได้ และทำให้ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดอีกด้วย
.
– กฎหมายมีประเด็นที่ต้องให้ตีความมากเกินไป
คณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองมีกฎหมายกลางที่ควบคุมคือ พ.ร.บ.วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีการกำหนดในเรื่องต่าง ๆ ไว้ในภาพรวมเท่านั้น หากอยากกำหนดเฉพาะเจาะจงในเรื่องใดให้กำหนดไว้แยกต่างหากในกฎหมายนั้น ๆ แต่ประเด็นหลักที่กำหนดในกฎหมายกลางนั้นก็ยังมีเรื่องที่ต้องให้ตีความอยู่ด้วยเช่นกัน
.
หลักเกณฑ์ที่ควรมีคณะกรรมการ
สำหรับหลักเกณฑ์ที่กฤษฎีกาจะสนับสนุนให้มีคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองนั้นแบ่งได้เป็น 3 ด้านคือ
.
- หน่วยงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- ต้องเป็นองค์กรที่มีความอิสระและไม่ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองหรือองค์กรใด
- คณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์คดีทางปกครองบางเรื่อง
.
ซึ่งกฤษฎีกาจะพิจารณาว่า มีความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นเท่านั้น หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป อาทิ การดูนโยบาย การทำความเห็น การทำข้อเสนอแนะ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา
.
ประเทศต้นแบบกฎหมายของประเทศไทยอย่าง เยอรมัน ฝรั่งเศส ก็เริ่มมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการลดจำนวนของคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองลงด้วยเช่นกัน
.
6 เรื่องที่มีการแก้ไข
พ.ร.บ. วิปกครอง ได้มีการแก้ไขให้ชัดเจนใน 6 ประเด็นต่อไปนี้คือ
.
- กรรมการต้องมีตำแหน่งเดียว
กำหนดให้คนหนึ่งคนสามารถเป็นได้แค่ 1 ตำแหน่งในคณะกรรมการใดกรรมการหนึ่งเท่านั้น หากเป็นกรรมการและถูกเชิญให้มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาก็ไม่สามารถดำเนินการได้
.
- ลงมติได้แต่องค์ประชุมต้องครบ
มีการแก้กฎหมายทำให้แม้คณะกรรมการองค์ประกอบไม่ครบแต่มีเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดก็สามารถดำเนินหน้าที่ต่อไปได้ เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีที่กรรมการคนใดคนหนึ่งเกิดเหตุจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ทำให้คณะกรรมการไม่สามารถทำงานต่อไปได้
.
- นัดประชุมได้แม้ประธานไม่นัด
มีการแก้ไขให้หลักการในการนัดประชุมมีความชัดจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดประเด็นให้กรรมการจำนวนครึ่งหนึ่งสามารถเข้าชื่อกันแจ้งเลขาให้นัดประชุมได้ในกรณีที่ประธานไม่ยอมนัดประชุมอีกด้วย
.
- ประธานต้องออกเสียงชี้ขาด
กำหนดให้ประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาดในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ในกฎหมายอย่างชัดเจน เพราะในทางปฏิบัติก่อนหน้ามักเกิดการที่คะแนนเสียงเท่ากันแล้วประธานไม่ยอมชี้ขาดแต่กลับเลื่อนวันลงมติออกไปแทน แต่หากเป็นกรณีการลงมติแบบเป้นความลับ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน 2 รอบ และเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้ถือว่าเรื่องนั้นเป็นอันตกไป
.
- มติการประชุมมีผลทันที
โดยหลักแล้วมติที่ประชุมถือว่ามีผลทางกฎหมายทันที โดยไม่ต้องรอการรับรองรายงานการประชุม ซึ่งแม้จะเป็นหลักการที่มีการรับทราบเป็นการทั่วไปอยู่แล้ว แต่ก็มีการนำหลักการดังกล่าวมาเขียนเอาไว้ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
.
- ปรับโครงสร้างให้ชัดเจน
สิ่งสำคัญที่มีการดำเนินการแก้ไขไปได้แก่ การปรับโครงสร้างคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ คณะกรรมการที่มีอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครอง และคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท แยกต่างหากออกมาเพื่อไม่ให้มีการทับซ้อนกัน รวมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดองค์กร การพิจารณาที่ต้องมีหลักประกันเป็นพิเศษ การเปิดเผยต่อสาธารณชน แก่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
.
2 สิ่งสำคัญที่ควรมี
สิ่งสำคัญที่ควรมีในเรื่องคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครอง 2 ข้อคือ
.
– สิทธิของประชาชน
หลักสำคัญที่ควรจัดให้มีในเรื่องคณะกรรมการในหน่วยงานปกครองคือ สิทธิของประชาชนในการเข้าสังเกตการณ์ประชุม ยิ่งในโลกสมัยใหม่ที่ประชาชนมักสนใจในเรื่องประเด็นต่าง ๆ มากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นทางสังคมต่าง ๆ
.
โดยในต่างประเทศ อาทิ กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีเช่นกัน โดยมีชื่อเรียกว่า “Government in the Sunshine Act” ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักประชาธิปไตย และเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในระดับท้องถิ่นด้วย ซึ่งกฎหมายประเทศไทยยังขาดเรื่องดังกล่าวอยู่นั่นเอง
.
– การรวมความเห็นของกฤษฎีกา
ที่ผ่านมาได้มีการให้ความเห็นจากกฤษฎีกาในเรื่องคณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองออกมา หลากหลายฉบับ ซึ่งควรมีการรวบรวมความเห็นเหล่านั้นมากำหนดออกมาเป็นกฎหมายเพื่อให้หลักการดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
.
ที่มา: สัมมนาวิจัย เรื่อง “คณะกรรมการในหน่วยงานทางปกครองตามระบบกฎหมายไทย”