พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 74 จาก #TULAWInfographic
.
“กัญชา” สารเสพติดที่ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงทางสังคมอย่างมากมาย ทั้งกระแสเชิงบวกและเชิงลบ จนล่าสุดได้มีการผลักดันให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม แต่หากเป็นกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์กฎหมายควรจะมีมาตรการในการควบคุมอย่างไร เมื่อสังคมโดยรวมมองว่ากัญชาเป็นสารเสพติดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากงานวิจัยวิชาการเรื่อง “การเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ของผู้ป่วยในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกบทคัดย่อซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/4bXw5Rs
.
กัญชากับประเทศไทย
กัญชาเป็นพืชที่ถูกใช้ในการแพทย์แผนไทยมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยอาจเป็นทั้งตัวยาหลักหรือส่วนประกอบร่วมของตำรับยา กลไกการออกฤทธิ์ของกัญชาถูกนำไปใช้ในการรักษาภาวะหรือโรคหลายประเภท เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทอักเสบ (multiple sclerosis) ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากหรือดื้อต่อยารักษา
.
แต่แม้ว่ากัญชามีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่การเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ของผู้ป่วยนั้นก็ควรอยู่ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมเพื่อให้การใช้กัญชาก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงการรักษาอย่างแท้จริง และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อผู้ป่วยหรือบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็น
2 ปัญหากัญชาในประเทศไทย
ในปัจจุบันกัญชาไม่ถูกพิจารณาว่า เป็นยาเสพติดในมุมมองของกฎหมายยาเสพติด มีเพียงสารสกัดกัญชาที่มีสาร THC ในปริมาณสูงเท่านั้นที่เป็นยาเสพติดตามกฎหมาย และแม้ว่ากฎหมายยาเสพติดในปัจจุบันจะมีมาตรการควบคุมการเข้าถึงยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่มาตรการเหล่านั้นกลับไม่สามารถนำมาใช้กับกัญชาได้ รวมทั้งไม่มีกฎเกณฑ์อื่นที่จะสามารถควบคุมการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์โดยเฉพาะด้วยเช่นกัน
แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมและควบคุมการเข้าถึงกัญชา แต่ประกาศกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้เฉพาะช่อดอกของกัญชาเท่านั้นที่เป็นสมุนไพรควบคุม และมิได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์หรือกำหนดกลไกการควบคุมในเรื่องนี้อย่างชัดเจนเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในปัจจุบันไม่มีกฎเกณฑ์หรือกลไกที่ควบคุมการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลในประเทศไทยนั่นเอง
.
เปรียบเทียบกฎหมายออสเตรเลีย
ประเทศออสเตรเลียต้องการทำให้มาตราการควบคุมกัญชาสำหรับการแพทย์มีลักษณะคล้ายกับมาตรการควบคุมยารักษาโรคชนิดอื่น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ได้สะดวกมากขึ้น
.
การเปลี่ยนแปลงข้างต้นทำให้การเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์จะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานในระดับสหพันธรัฐเท่านั้น ในปัจจุบันหน่วยงานในระดับสหพันธ์รัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญในการควบคุมการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกัญชาสำหรับการแพทย์
.
โดยมีกฎหมายที่เข้ามาควบคุม 2 ฉบับคือ
– Therapeutic Goods Act 1989 (TGA)
กฎหมายฉบับนี้กำหนดกฎเกณฑ์พื้นฐานเกี่ยวกับสินค้าสำหรับการรักษา (therapeutic goods) ที่จำหน่ายหรือส่งออกจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ด้วย โดยกำหนดกฎเกณฑ์และสร้างระบบที่ควบคุมสินค้าสำหรับการรักษา ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของสินค้าสำหรับการรักษา รวมถึงช่วยให้สามารถเข้าถึงสินค้าสำหรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
.
มาตรการที่สำคัญคือการลงทะเบียนหรือการขึ้นบัญชีเป็นสินค้าสำหรับการรักษาใน Australian Register for Therapeutic Goods (ARTG) โดยสินค้าที่ลงทะเบียนหรือขึ้นบัญชีแล้วจะถูกจำหน่ายในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามได้มีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับสินค้าส าหรับการรักษาบางประเภทที่ไม่ต้องลงทะเบียนหรือขึ้นบัญชีด้วย ซึ่งกัญชาสำหรับการแพทย์เป็นหนึ่งในสินค้าตามข้อยกเว้นนี้ เพราะผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับการแพทย์ส่วนใหญ่ในประเทศออสเตรเลียยังไม่ถูกลงทะเบียนหรือขึ้นบัญชีใน ARTG นั่นเอง
.
– Narcotic Drugs Act 1967
กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้การปลูกต้นกัญชา การเก็บเกี่ยวกัญชา และการผลิตกัญชาเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม
.
นอกจากกฎหมาย 2 ฉบับข้างต้นยังมีกฎเกณฑ์ส่วนอื่นที่มีบทบาทในการควบคุมการดำเนินการกับกัญชาสำหรับการแพทย์ด้วยคือ
.
– Australian Poisons Standard (Poisons Standard)
เอกสารทางกฎหมายที่แบ่งยาและสารพิษชนิดต่าง ๆ ออกเป็นตาราง โดยยาหรือสารพิษที่อยู่ในแต่ละตารางตกอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมทางกฎหมายที่มีความเคร่งครัดแตกต่างกัน ซึ่งกัญชาสำหรับการแพทย์ปรากฏอยู่ใน Schedule 3, 4 และ 8 ซึ่งเป็นตารางที่กำหนดให้เป็น ยาที่ต้องจ่ายโดยเภสัชกร ยาที่ต้องมีใบสั่งยา และยาที่ถูกควบคุม ตามลำดับ
.
– Therapeutic GoodsOrder No.93 (Standard for Medicinal Cannabis)
กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับการแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นยังไม่ได้ถูกลงทะเบียนหรือขึ้นบัญชีไว้ใน ARTG กฎเกณฑ์ส่วนนี้มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับการแพทย์ที่จำหน่าย ผลิต หรือนำเข้ามาในประเทศออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
.
กัญชา 3 ประเภทในออสเตรเลีย
ในปัจจุบัน กัญชาสำหรับการแพทย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
.
- กัญชาสำหรับการแพทย์ที่ลงทะเบียนใน ARTG
ในปัจจุบันมีเพียง 2 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น ได้แก่ Savitex และ Epidyolex ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เหมือนยารักษาโรคทั่วไป และแพทย์สามารถสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานใด
.
- กัญชาสำหรับการแพทย์ที่ถูกควบคุมตาม Poisons Standard
กัญชาสำหรับการแพทย์ในส่วนนี้คือกัญชาที่ยังไม่ลงทะเบียนหรือขึ้นบัญชีใน ARTG ซึ่งถือเป็นส่วนใหญ่ของกัญชาในประเทศออสเตรเลีย เพราะมีกัญชาสำหรับการแพทย์บางผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่ลงทะเบียนใน ARTG จึงทำให้ถูกพิจารณาว่าเป็นสินค้าสำหรับการรักษาที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ
.
การเข้าถึงกัญชาประเภทนี้จะต้องดำเนินการผ่านช่องทางที่ TGA กำหนดไว้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบได้แก่
.
– ระบบ Special Access Scheme (SAS)
ระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพยื่นความประสงค์เพื่อขอเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนใน ARTG โดยสามารถยื่นเหตุผลของการเข้าถึงได้ 2 กรณีคือการสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยอย่างหนัก และการสั่งจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในการรักษาของตนเอง
.
– ระบบ Authorized Prescriber Scheme (AP)
ระบบการอนุมัติโดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายที่มีอำนาจ และสามารถสั่งจ่ายกัญชาสำหรับการแพทย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนใน ARTG ได้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ผู้สั่งจ่ายที่มีอำนาจไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตทุกครั้งที่มีการสั่งจ่าย แต่ต้องรายงานการสั่งจ่ายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก ๆ หกเดือน
.
- กัญชาสำหรับการแพทย์ประเภทอื่น
เป็นกัญชาสำหรับการแพทย์ที่ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใน ARTG และไม่ถูกพิจารณาเป็นยาที่ถูก ควบคุม ได้แก่ กัญชาสำหรับการแพทย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเสบียงทางการแพทย์บนเรือหรืออากาศยานที่มาเทียบท่าที่ออสเตรเลียและผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีสารสกัด CBD เป็นองค์ประกอบไม่ต่ำกว่า 98%
.
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า การสั่งจ่ายตามระบบ SAS และระบบ AP มีไว้สำหรับสินค้าสำหรับการแพทย์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือขึ้นบัญชีใน ARTG ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนใน ARTG ด้วยตนเอง
.
4 ข้อเสนอแนะ
ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรแก้ไขและเพิ่มเติมกฎเกณฑ์ในหลายส่วนโดยมีการนำกฎหมายออสเตรเลียมาปรับใช้ด้วยกันคือ
.
– กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
เพื่อให้การดำเนินการกับกัญชาสำหรับการแพทย์อยู่ภายใต้การควบคุมของประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศออสเตรเลียที่ยังคงพิจารณาว่า กัญชาเป็นยาเสพติดและควบคุมการเข้าถึงกัญชาของผู้ป่วย แม้ว่าการเข้าถึงนั้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาก็ตาม
.
ทั้งนี้แม้ว่ากัญชาจะถูกพิจารณาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แต่กัญชาก็สามารถถูกนำไปใช้เพื่อการรักษาได้ตามกฎหมายไทยในปัจจุบัน เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้หากครอบครองไม่เกินปริมาณที่จำเป็นสำหรับการใช้รักษาโรคเฉพาะตัวและมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองจากแพทย์ผู้ให้การรักษา
.
– ออกกฎเกณฑ์ในการควบคุมเพิ่มเติม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขควรประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่สามารถเสพเพื่อการรักษาโรคภายใต้การควบคุมแพทย์ผู้ให้การรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้โดยไม่มีความรับผิดทางอาญา
.
รวมทั้งออกกฎเกณฑ์ที่กำหนดข้อจำกัดของการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น ปริมาณกัญชาที่ผู้ป่วยสามารถครอบครองเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้กัญชาสำหรับการแพทย์ ฯลฯ เพื่อควบคุมการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ให้อยู่ภายในขอบเขตที่เหมาะสมสำหรับการรักษาทางการแพทย์อย่างแท้จริง
.
– ออกแนวทางควบคุมการจ่ายยา
โดยอาจนำแนวทางการควบคุมของประเทศออสเตรเลียที่กำหนดให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายกัญชาสำหรับการแพทย์ให้กับผู้ป่วยมาใช้ ซึ่งถือว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่ไม่มีมาตรการที่ควบคุมการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์อย่างชัดเจนและไม่มีกลไกที่ควบคุมการจำหน่ายกัญชาอย่างเป็นรูปธรรม
.
การกำหนดให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะนอกจากแพทย์จะมีความรู้และแนวทางปฏิบัติในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาแล้ว ยังมีความรับผิดชอบทางจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย แพทย์จึงควรมีบทบาทในการควบคุมการเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ของผู้ป่วย
.
นอกจากนี้ยังควรนำระบบอนุญาตให้แพทย์สั่งจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ยังไม่ลงทะเบียนใน ARTG ให้ผู้ป่วยของประเทศออสเตรเลียมาใช้ เพราะระบบการอนุญาตในลักษณะดังกล่าวทำให้การควบคุมกัญชาสำหรับการแพทย์มีความยืดหยุ่น
.
ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงกัญชาของผู้ป่วย และเป็นการควบคุมการเข้าถึงกัญชาเหล่านั้น โดยผ่านขั้นตอนการอนุมัติหรืออนุญาตโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการสั่งจ่ายโดยแพทย์ซึ่งมีความรู้ในการใช้กัญชาเพื่อการรักษาและมีความรับผิดชอบทางจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาสำหรับการแพทย์ที่มีคุณภาพและใช้กัญชาได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
.
– ควบคุมการปลูกกัญชาด้วยตนเอง
หากประเทศไทยต้องการจำกัดให้การเข้าถึงกัญชาเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น กฎหมายไทยไม่ควรอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาเพื่อการรักษาด้วยตนเอง เพราะการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาเองอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมไม่ให้กัญชาถูกนำไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากทางการแพทย์เท่านั้น
.
ดังนั้นประเทศไทยจึงอาจนำแนวทางการควบคุมของประเทศออสเตรเลียที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาเท่านั้น ควบคู่กับการไม่อนุญาตให้มีการปลูกกัญชาด้วยตนเองมาปรับใช้
.
ที่มา: ตามพงศ์ ชอบอิสระ, ‘การเข้าถึงกัญชาสําหรับการแพทย์ของผู้ป่วยในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา’ (2567) 53(1)วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์