พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 75 จาก #TULAWInfographic
.
มีคำกล่าวที่ว่า “ความไม่รู้กฎหมายไม่สามารถยกเป็นข้อแก้ตัว แต่ความไม่รู้ข้อเท็จจริงสามารถยกเป็นข้อแก้ตัวได้” แล้วเรื่อง “สำคัญผิดในกฎหมาย” ล่ะ สามารถยกขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่ เมื่อคำว่า “สำคัญผิดในกฎหมาย” ไม่ใช่กรณีไม่รู้กฎหมายและไม่รู้ข้อเท็จจริง
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากงานวิจัยวิชาการเรื่อง “ปัญหาในทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสำคัญผิดในกฎหมายอาญาไทย :กรณีการสำคัญผิดในเหตุที่บุคคลมีอำนาจกระทำ” โดย อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกบทคัดย่อซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/4bYys6S
.
3 ปัญหาที่เกิดขึ้น
สำหรับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการสำคัญผิดในข้อกฎหมายในประเทศไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 เรื่องคือ
.
– ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
คำอธิบายทางทฤษฎีกฎหมายอาญามักอธิบายว่า “ความไม่รู้กฎหมาย” และ “การสำคัญผิดในข้อกฎหมาย” เป็นความหมายเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ความหมายที่แท้จริงของการสำคัญผิดในข้อกฎหมายนั้นอาจเป็นกรณีที่ผู้กระทำไม่รู้ถึงการมีอยู่ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นฐานความผิดอาญาเลย หรืออาจเป็นกรณีที่รู้ถึงการมีอยู่ของฐานความผิดแต่เข้าใจผิดไปว่ามีบทกฎหมายให้อำนาจในการกระทำก็ได้
.
ดังนั้น “ความไม่รู้กฎหมาย” ตามป.อ. มาตรา 64 จึงมีความหมายแต่เฉพาะกรณีการไม่ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของฐานความผิดอาญาเท่านั้น ไม่ใช่ไม่รู้กฎหมายอื่นนอกเหนือไปจากที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดซึ่งแตกต่างจากความหมายของ “การสำคัญผิดในข้อกฎหมาย” ที่มีความหมายกว้างกว่านั่นเอง
.
เมื่อความหมายของ “ความไม่รู้กฎหมาย” และ “ การสำคัญผิดในข้อกฎหมาย” มีความแตกต่างกัน หลักการห้ามอ้างความไม่รู้กฎหมายขึ้นแก้ตัวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 นั้นจึงใช้บังคับกับเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำไม่รู้ว่าการกระทำของตนเองนั้นมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดอาญาแต่เพียงเท่านั้น ทไม่ใช่หลักการที่จะนำมาปรับใช้เพื่อห้ามมิให้ยกการสำคัญผิดถึงการมีอยู่ของสิ่งที่กฎหมายอนุญาตหรือให้อำนาจกระทำตามกฎหมายขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้ให้หลุดพ้นความรับผิดชอบทางอาญาแต่อย่างใด
.
– ขาดบทบัญญัติสำหรับการสำคัญผิดในข้อกฎหมาย
ปัญหาที่ตามมาคือ หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำรู้ถึงการมีอยู่ของฐานความผิดอาญาที่ตนกระทำลง แต่สำคัญผิดในข้อกฎหมายว่าตนมีอำนาจกระทำตามกฎหมายแล้ว กรณีดังกล่าวนั้นจะไม่มีบทกฎหมายรองรับเพื่อให้จำเลยสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในทางอาญาเพื่อยกเว้นโทษหรือบรรเทาโทษได้เลย
.
รวมทั้งบทบัญญัติการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่บุคคลมีอำนาจกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 62 นั้น ก็ไม่อาจนำมาปรับใช้ได้ เพราะกรณีปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แต่เป็นการสำคัญผิดในข้อกฎหมายอย่างแท้จริงนั่นเอง
.
– ขาดเหตุยกเว้นโทษเรื่องการสำคัญผิดในขอบเขตของอำนาจกระทำ
การใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกินขอบเขตแห่งความพอสมควรแก่เหตุหรือขอบเขตแห่งความจำเป็นก็เป็นการสำคัญผิดในข้อกฎหมายรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะผู้กระทำเข้าใจว่าการกระทำของตนนั้นอยู่ในอำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจเป็นการเกินเลยไปกว่าขอบเขตที่กฎหมายจำกัดเอาไว้จึงเป็นกรณีที่ความเข้าใจในข้อกฎหมายของผู้กระทำไม่ตรงกับความเป็นจริง
.
โดยเป็นปัญหาในมาตรา 69 แห่งป.อ. ที่ได้บัญญัติถึงผลทางกฎหมายของการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันเอาไว้ ซึ่งโดยหลักแล้วบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำแต่อย่างใดหากแต่เป็นเพียงเหตุลดโทษ เว้นแต่จะเป็นกรณีเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน เฉพาะที่เกิดขึ้นจาก 3 กรณี คือความตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัวที่ให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะไม่ลงโทษผู้กระทำได้
.
แนวทางการแก้ไขปัญหา
ผู้วิจัยมีความเห็นว่ามีแนวทางในการแก้ไขปัญหา 4 ข้อคือ
.
– สร้างบทบัญญัติทั่วไปสำหรับการสำคัญผิดในข้อกฎหมาย
ต้องมีการกำหนดบทบัญญัติทั่วไปให้ครอบคลุมทั้งสองกรณี โดยใช้ถ้อยคำว่า “การสำคัญผิดในข้อกฎหมาย” ซึ่งจะครอบคลุมทั้งกรณีของ “ความไม่รู้ถึงการมีอยู่ของฐานความผิดอาญา” และ “การสำคัญผิดข้อกฎหมายที่บุคคลมีอำนาจกระทำ” โดยไม่จำเป็นต้องบัญญัติแยกเป็นเอกเทศออกจากกันหากแต่อาศัยการตีความตามคำบรรยายทางทฤษฎีก็เป็นการเพียงพอ
.
โดยผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าให้ดำเนินการแก้ไขมาตรา 64 แห่งป.อ. ให้บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลได้กระทำความผิดโดยสำคัญผิดในข้อกฎหมาย ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ เว้นแต่ถ้าการสำคัญผิดเช่นว่านั้น ผู้กระทำสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ ผู้กระทำยังคงต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น แต่ศาลมีดุลพินิจที่จะลดโทษให้เพียงใดก็ได้”
.
– กำหนดให้การสำคัญผิดในเหตุที่บุคคลมีอำนาจกระทำเป็นเหตุยกเว้นโทษ
สิ่งที่กฎหมายพึงกระทำคือการหยุดยั้งไม่ให้การกระทำโดยสำคัญผิดนั้นดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วยการรับรองสิทธิของผู้ที่ต้องรับภัยจากการสำคัญผิดและบุคคลที่สามในการตอบโต้ผู้กระทำโดยสำคัญผิด จึงควรกำหนดให้การสำคัญผิดในเหตุที่บุคคลมีอำนาจกระทำเป็นเหตุยกเว้นโทษ
.
เนื่องจากสิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติพึงกระทำเพื่อให้การรับรองสิทธิของผู้ที่ต้องรับภัยจากการสำคัญผิดนั้นคือ การกำหนดให้ผลทางกฎหมายอันเกิดจากการสำคัญผิดในเหตุที่บุคคลมีอำนาจกระทำเป็นเพียง “เหตุที่กฎหมายให้อภัย” เพื่อให้ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวนั้นยังคงเป็น “การกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย” อยู่นั่นเอง
.
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผลทางกฎหมายก็จะมีความสอดคล้องกับแนวคิดและทฤษฎีความรับผิดและข้อต่อสู้ในทางอาญาทุกประการ รวมทั้งผู้ที่ต้องรับภัยจากการสำคัญผิดและบุคคลที่สามก็จะได้รับความชอบธรรมตามกฎหมาย และส่งผลให้การกำหนดภาระการพิสูจน์ในกระบวนพิจารณาคดีอาญาเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลอีกด้วย
.
– กำหนดให้เรื่องการสำคัญผิดในขอบเขตของอำนาจกระทำเป็นเหตุยกเว้นโทษ
ผู้วิจัยเห็นว่า เมื่อแก่นแท้ของการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันนั้น เป็นการสำคัญผิดในข้อกฎหมายที่บุคคลมีอำนาจกระทำรูปแบบหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น โดยหลักแล้วหากการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันนั้นได้เกิดขึ้นอย่างสุจริตและสมเหตุสมผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดก็ควรได้รับการยกเว้นการลงโทษทั้งสิ้น
.
เนื่องจากในความเป็นจริงเมื่อบุคคลประสบกับภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายอันใกล้จะถึงอันเป็นช่วงเวลาขับขันต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลแล้ว จะเป็นการยากที่ผู้กระทำจะคิดไตร่ตรองให้ดีในการเลือกวิถีทางสุดท้ายที่มีความร้ายแรงน้อยที่สุดเพื่อให้การกระทำของตนเองครบเงื่อนไขของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
.
– กำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับการสำคัญผิดที่เกิดขึ้นจากการขาดความระมัดระวัง
กฎหมายยังต้องกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับการสำคัญผิดในเหตุที่บุคคลมีอำนาจกระทำ
ที่เกิดขึ้นจากการขาดความระมัดระวังซึ่งยังคงต้องให้ผู้กระทำรับผิดสำหรับความผิดโดยเจตนา แต่ยังคงสามารถบรรเทาโทษให้ได้ เพราะการกระทำความผิดโดยสำคัญผิดนั้นผู้กระทำย่อมมีเจตนาร้ายในการกระทำที่น้อยกว่าการกระทำความผิดทั่วไป ซึ่งการลดโทษจะสามารถลดน้อยได้เพียงใดนั้นอาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
.
ผู้วิจัยเห็นว่า กฎหมายควรบัญญัติให้ศาลลดโทษเท่าใดก็ได้โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ของเหตุที่ทำให้ผู้กระทำขาดความระมัดระวังประกอบกับคุณสมบัติลักษณะเฉพาะตัวทางอัตวิสัยของผู้กระทำควบคู่ไปด้วย
.
เมื่อกำหนดให้เป็นเช่นนี้แล้วก็จะสามารถลงโทษผู้กระทำโดยสำคัญผิดที่ขาดความระมัดระวังได้อย่างสอดคล้องกับตรรกะการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาอีกด้วย เนื่องจากไม่ได้เป็นการอธิบายว่าผู้กระทำมีองค์ประกอบภายในประเภทเจตนาและประมาทในเวลาเดียวกันนั่นเอง
.
ที่มา: ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ, ‘ปัญหาในทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสําคัญผิดในกฎหมายอาญาไทย :กรณีการสําคัญผิดในเหตุที่บุคคลมีอํานาจกระทํา’ (2567) 53(1) วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 59