พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 77 จาก #TULAWInfographic
.
474,721 เรื่องคือคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของอาชญากรรมออนไลน์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
อาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยคุ้นชินมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “Call Center” แม้จะมีมานาน แต่ทำไมถึงยังรับมือไม่ได้สักที กฎหมายเพียงพอแล้วหรือไม่ #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ทันเกมส์ฉ้อโกงในโลก Cyber Crime : แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3XIoouv
.
5 ปัจจัยเอื้อให้เกิด call center
ปัจจัยที่ทำให้ call center ยังคงไม่หมดไปอาจเกิดมาจาก 4 ข้อ คือ
.
- ปัญหาด้านกฎหมายและเขตอำนาจศาล
สำหรับกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับปัญหา call center นั้น ยังขาดการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยในปัจจุบันการจะดำเนินการแก่กลุ่ม call center ที่กระทำความผิดนอกประเทศไทยนั้น ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีแรงบังคับให้ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมาย รวมไปถึงไม่สามารถบังคับให้มีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่กระทำความผิดระหว่างประเทศได้
.
- ไม่สามารถตรวจสอบและป้องกันคนร้ายก่อนการเกิดเหตุได้
ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการป้องกันการโทรเข้าของแก๊ง call center ในช่องทางต่างๆ เหมือนในบางประเทศ ส่งผลให้คนร้ายสามารถเข้าถึงเหยื่อได้ในหลากหลายรูปแบบ
.
- เทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
คนร้ายอาศัยช่องทางใหม่ ๆ ในการกระทำความผิด และพัฒนารูปแบบในการกระทำความผิดใหม่ๆ อยุ่เสมอ ทำให้ยากต่อการติดตามคนร้ายในระดับของหัวหน้าแก๊ง call center เพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้คนร้ายปิดร่องรอยของแก๊งอาชญากรรมได้ดีมากขึ้น
.
- ปัญหาการเปิดซิมม้า
การเปิดซิมในประเทศไทยไม่มีข้อบังคับในการลงทะเบียน โดยกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน จึงทำให้ยากต่อการติดตามและอายัดซิมหรือเบอร์ดังกล่าว
.
- ปัญหาการเปิดบัญชีม้า
การเปิดบัญชีภายในประเทศไทยไม่มีการจำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีการจำกัดจำนวนบัญชีต่อคนเหมือนต่างประเทศ ทำให้คนหนึ่งคนสามารถมีบัญชีได้หลายบัญชี และสามารถเปิดได้อย่างง่ายดายผ่านมือถือ อีกทั้งมาตรการในการพิสูจน์ตัวตนของธนาคารผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังไม่มีความรัดกุมเพียงพอ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการอาจตกเป็นเหยื่อของแก๊ง call center ได้ง่ายขึ้น
.
5 กฎหมายปราบ call center
กฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหา call center ทั้ง 5 ฉบับคือ
.
– ประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดพื้นฐานที่นำมาปรับใช้กับกรณีนี้ คือ ความผิดฐานฉ้อโกง เพราะเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินของผู้อื่น และหากเป็นการหลอกโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น หรือการหลอกโดยอาศัยความเปราะบางของเหยื่อ อาทิ เด็กหรือผู้สูงอายุ ผู้กระทำความผิดก็อาจต้องรับโทษเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
.
การทำความผิดในรูปแบบ call center นั้นสามารถเป็นได้ทั้งความผิดฐานฉ้อโกงธรรมดาแลความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แต่หากเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อกระทำความผิดก็จะมีความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือความผิดฐานเป็นอั้งยี่ได้
.
– พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556
กฎหมายนี้จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อการกระทำความผิดดังกล่าว มีลักษณะเป็นการทำข้ามชาติ และมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมเท่านั้น นอกจากนี้ การส่งตัวผู้ร้ายเพื่อให้มารับผิดในประเทศไทยและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดนั้น ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
.
– พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
กฎหมายนี้ใช้กับการกระทำความผิดได้ในบางลักษณะ เช่น การเข้าถึงมือถือของเหยื่อโดยไม่ได้รับความยินยอม การทำให้มือถือของเหยื่อไม่สามารถใช้งานได้ในขณะหนึ่ง และการนำเข้าข้อมูลคอมที่บิดเบือน การสร้าง account ปลอมเป็นหน่วยงานราชการรัฐ เพื่อหลอกเอาเงินจากประชาชน เป็นต้น
– พ.ร.ก.กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
กฎหมายนี้มุ่งเป้าไปที่การจัดการบัญชีม้าเป็นการเฉพาะ โดยมองว่าหากไม่มีบัญชีม้าในสังคมก็จะทำให้ปัญหาเรื่อง call center หมดไป ดังนั้น หากดำเนินการกับผู้เปิดบัญชีม้า หรือผู้ที่ชักชวนให้มีการเปิดบัญชีม้าได้ ก็จะถือว่าเป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
.
– พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
กฎหมายฉบับนี้มุ่งไปที่การปราบปรามการนำเงินที่ได้จากการหลอกลวงโดย call center ไปทำการฟอกเงิน เพื่อให้กลายเป็นเงินที่สามารถใช้หมุนเวียนในระบบได้อย่างปกติ รวมถึงป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรได้ด้วย
.
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอที่จะรับมือกับการกระทำความผิดในรูปแบบของ call center ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถจัดการกับอาชญากรรมประเภทนี้ได้อย่างแท้จริง
.
2 แนวทางการปรับกฎหมายในอนาคต
ผู้เข้าร่วมงานเสวนาได้มีการเสนอแนวทางในการใช้กฎหมายเพื่อเป็นมาตรการจัดการ call center เพิ่มเติม 2 ข้อคือ
.
– บังคับใช้กฎหมาย PDPA อย่างเคร่งครัด
ในปัจจุบันความน่าเชื่อถือ คือ กุญแจสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งทำให้การกระทำความผิดในรูปแบบแก๊ง call center ประสบความสำเร็จ ดังนั้น กฎหมายจึงจำเป็นต้องเข้ามาควบคุมอย่างจริงจังและเด็ดขาด โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
.
– เพิ่มโทษปรับโดยคำนวณจากจำนวนเงินที่ call center ได้รับประโยชน์จากการฉ้อโกง
ในอนาคตอาจมีการออกแบบกฎหมายที่สามารถใช้โทษปรับ ซึ่งคำนวนจากสัดส่วนผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดได้รับ เพราะความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมในลักษณะนี้มักเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้น การบังคับโทษปรับที่คิดสัดส่วนด้วยวิธีดังกล่าวจึงน่าจะเหมาะสมในการเยียวยาความเสียหายและยับยั้งการกระทำความผิดได้ดีกว่าการมุ่งลงโทษด้วยวิธีการจำคุกเพียงอย่างเดียว
.
ที่มา: เสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ทันเกมส์ฉ้อโกงในโลก Cyber Crime : แก๊งคอลเซ็นเตอร์”