พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 85 จาก #TULAWInfographic
“การคบชู้” คือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของปัจเจกบุคคล มุมมองของสังคม รวมถึงมุมมองของกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสถาบันครอบครัวโดยตรง ดังนั้น กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับเรื่องการฟ้องชู้ไว้เป็นการเฉพาะ
.
แต่บทบัญญัติดังกล่าวกลับกระทบต่อความเท่าเทียมทางเพศของชายและหญิง อีกทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย กฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาอย่างไร? จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศได้อย่างไร? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากเสวนาวิชาการเรื่อง “กฎหมายฟ้องชู้ขัดรัฐธรรมนูญ?”
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถรับชมได้เพิ่มเติมที่: https://bit.ly/3WUgmwL
.
หน้าที่ของคู่สมรส
เมื่อจดทะเบียนกันตามกฎหมาย คู่สมรสจะมีหน้าที่ตามมาตรา 1461 คือ การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ซึ่งเป็นการกำหนดหน้าที่อันนำมาซึ่งสิทธิที่คู่สมรสสามารถมีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีบุคคลอื่นเข้ามาแทรกในความสัมพันธ์นี้ จึงเท่ากับก่อให้เกิดการกระทบต่อสิทธิของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจึงต้องมีการบัญญัติการคุ้มครองที่เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องชู้ขึ้นมา เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่สมรส และเพื่อคุ้มครองสถาบันครอบครัวในประเทศ
.
กฎหมายจัดการชู้
เมื่อมีบุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสามีและภริยากฎหมายกำหนดสิทธิให้แก่คู่สมรสเอาไว้ 2 ข้อคือ
.
– สิทธิฟ้องหย่า
มาตรา 1516 กำหนดไว้ว่า “เมื่อสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามาี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้” โดยเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้โดยทันที อย่างไรก็ตามคำนิยามของคำว่าชู้ หรือการยกย่องผู้อื่นฉันสามีภริยานั้น ยังขาดความชัดเจนอยู่ แม้จะมีแนวคำพิพากษาออกมาหลายฉบับแล้วก็ตาม
.
– สิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทน
มาตรา 1523 กำหนดไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยา และจากหญิงอื่นและชู้ แล้วแต่กรณี” และในวรรคสองกำหนดไว้ว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้” โดยการกำหนดเรื่องค่าทดแทนนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสถานะของคู่สมรส และป้องปรามการล่วงเกินประเวณี
.
อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างกันของเงื่อนไขในการเรียกค่าทดแทนของฝ่ายชายหรือสามีและฝ่ายหญิงหรือภริยาอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ คำนิยามของบทบัญญัติดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนดังเช่นมาตรา 1516 ด้วย
.
เรียกค่าทดแทนต้องหย่าไหม?
คำถามที่สำคัญคือก่อนที่สามีหรือภริยาจะสามารถเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคสองนั้น จำเป็นต้องมีการหย่ากันก่อนตามมาตรา 1523 วรรคแรกหรือไม่ โดยเมื่อเปรียบเทียบจากกฎหมายที่เกี่ยวกับสัญญาหมั้น อาทิ มาตรา 1446 กรณีที่คู่หมั้นโดนล่วงเกินโดยไม่เต็มใจนั้น คู่หมั้นมีอำนาจในการเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่ล่วงเกินนั้นได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น ซึ่งเมื่อมาเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นกรณีคล้ายกับมาตรา 1523 วรรคสองที่ไม่จำเป็นต้องหย่าตามวรรคแรกก่อนเช่นกัน
.
อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีตามมาตรา 1445 กรณีที่มีการไปร่วมประเวณีโดยความสมัครใจ คู่หมั้นอีกฝ่ายจะต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นก่อนเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิในการเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับคู่หมั้นของตน ซึ่งเป็นเหมือนกับกรณีของมาตรา 1516 (1) และ 1523 วรรคแรก ที่ต้องมีคำพิพากษาของศาลก่อนจึงจะสามารถใช้สิทธิในการเรียกค่าทดแทนได้ ซึ่งในกรณีนี้จะสามารถเรียกค่าทดแทนได้จากทั้งสามีหรือภริยาที่ และบุคคลอื่นไปพร้อม ๆ กัน
.
ความไม่เท่าเทียมทางเพศ?
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นคือถ้อยคำในมาตรา 1523 วรรคสอง ที่กำหนดให้สามีสามารถเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว ในขณะที่กำหนดให้ภริยาสามารถเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว เพียงแค่การกำหนดบุคคลที่สามารถเรียกค่าทดแทนได้นั้นก็มีความหมายที่แตกต่างกันแล้ว เนื่องจากสามีสามารถเรียกค่าทดแทนจากบุคคลเพศใดก็ได้ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับภริยาของตน ตามที่กฎหมายกำหนดว่า “ผู้ซึ่ง” แตกต่างจากกรณีภริยาที่เรียกค่าทดแทนได้จาก “หญิงอื่น” เท่านั้น
.
นอกจากนี้การกำหนดให้ภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่เปิดเผยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีของตนนั้น ยังเป็นการสร้างภาระการพิสูจน์ที่มากเกินไปอีกด้วย ในขณะที่ฝ่ายสามีไม่จำเป็นต้องมีภาระการพิสูจน์ดังกล่าวเลยหากจะฟ้องเรียกค่าทดแทน ความแตกต่างของเงื่อนไขนี่เองที่ทำให้เกิดคำถามเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิงขึ้นมาในบทกฎหมายดังกล่าว
.
อย่างไรก็ตามภายหลังได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 13/2567 วินิจฉัยว่า การบัญญัติสิทธิในการเรียกค่าทดแทนของสามีและภริยาไว้แตกต่างกัน เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองมทางกฎหมายระหว่างสามีและภริยาไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้ชายและหญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกัน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ ขัดต่อหลักความเสมอภาค และขัดต่อหลักการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27
.
รวมทั้งในวันเดียวกันนั้นได้มีการจัดทำ “ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …” อันเนื่องมาจากการผ่านของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยในร่างดังกล่าวได้มีการแก้ไขมาตรา 1523 โดยกำหนดว่า “คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้ก็ได้” ซึ่งเป็นการทำให้ข้อกำหนดของทั้งสองเพศเหมือนกัน ทำให้เกิดความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น
.
ที่มา: เสวนาวิชาการเรื่อง “กฎหมายฟ้องชู้ขัดรัฐธรรมนูญ?”