พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 86 จาก #TULAWInfographic
.
เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ตลาดสัตว์เลี้ยงในเขตจตุจักรของกรุงเทพมหานครเมื่อมิถุนายน 2567 ซึ่งส่งผลให้สัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย อาทิ สุนัข แมว กระต่าย ล้มตายไปกว่า 5,000 ชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการจัดสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในสถานจําหน่ายสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
.
กฎหมายไทยวางหลักเกณฑ์กำกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรบ้าง? #TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากบทความวิชาการเรื่อง “กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในสถานจําหน่ายสัตว์เลี้ยง” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติม: https://bit.ly/TULAW-E-Newsletter18_TH
.
แนวคิดว่าด้วยสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์
สวัสดิภาพของสัตว์คืออะไร? หากพิจารณาจากเอกสารหลายฉบับ อาทิ The Terrestrial Animal Health Code ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทําโดย The World Organisation for Animal Health (WOAH) คําว่า “สวัสดิภาพสัตว์” หมายถึง สภาวะทางด้านร่างกายและจิตใจของสัตว์ซึ่งเกี่ยวพันกับสภาวะแวดลอมที่สัตว์ดํารงชีวิตอยู่และตาย หรือในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ “สวัสดิภาพสัตว์” หมายถึง สภาวะทางร่างกาย จิตใจ และการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ในขณะที่สัตว์เผชิญกับสภาพแวดล้อมจากการกระทําของมนุษย์หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า สวัสดิภาพสัตว์ หมายถึง สภาวะทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจของสัตว์ตั้งแต่เกิดจนตาย
.
โดยทั่วไป ตัวบ่งชี้สวัสดิภาพที่ดีของสัตว์มักยึดโยงกับหลักการซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลที่เรียกว่า “หลักสวัสดิภาพที่ดี 5 ประการ (Five Freedoms)” ซึ่งประกอบไปด้วย
.
- ปราศจากความหิวและความกระหาย
- ปราศจากความไม่สะดวกสบาย
- ปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัยไข้เจ็บ
- มีอิสระในการแสดงออกด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติ
- ปราศจากความกลัวและความวิตกกังวล
.
หลักสวัสดิภาพที่ดี 5 ประการข้างต้นนี้ถูกนํามาเป็นตัวชี้วัดการจัดสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ภายใต้กฎหมายไทยด้วยเช่นกัน อาทิ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561
.
กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในสถานจำหน่ายสัตว์เลี้ยง
ในปัจจุบัน ประเทศไทยควบคุมกำกับการเลี้ยงสัตว์เพื่อจําหน่ายในสถานจําหนายสัตว์เลี้ยง อย่างเช่น pet shops หรือ pet stores ผ่าน “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานจําหนายสัตว์เลี้ยง พ.ศ. 2563” (ประกาศฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายลําดับรองที่ออกโดยอาศัยอํานาจ “พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557” โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
.
– กรณีทั่วไป
ในระหว่างการค้าขายสัตว์เลี้ยงตามปกติ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องเลี้ยงหรือดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหารและน้ําอย่างเพียงพอ โดยหลักการนี้เป็นการบัญญัติให้สอดคล้องกับนิยาม “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” ซึ่งปรากฏในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ด้วย
.
อย่างไรก็ตาม หลักการที่กล่าวมามีลักษณะเป็นนามธรรมสูงและขาดความชัดเจนตามสมควร ประกาศฯ จึงกําหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์เอาไว้ 5 ด้านด้วยกัน คือ การจัดการด้านอาหารและน้ํา, การจัดการด้านที่พักอาศัยและสิ่งแวดล้อม, การจัดการด้านสุขภาพอนามัย, การจัดการด้านการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และการจัดการด้านสภาวะจิตใจ
.
นอกจากนี้ ประกาศฯยังกําหนดหน้าที่อื่น ๆ ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในกรณีทั่วไปเอาไว้ด้วย อาทิ เจ้าของสัตวเลี้ยงต้องไม่จําหน่ายสัตว์เลี้ยงที่พิการและสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคติดต่อเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า หรือเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องให้คําแนะนําและข้อมูลที่จําเป็นแก่ผู้รับมอบสัตว์เลี้ยงเพื่อให้จัดสวัสดิภาพสัตว์ได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
.
– กรณีฉุกเฉิน
ประกาศฯยังได้กําหนดวิธีปฏิบัติในกรณีมีเหตุฉุกเฉินอย่างร้ายแรง เช่น กรณีเพลิงไหม้ เอาไว้ โดยกำหนดให้เจ้าของสัตว์มีมาตรการรองรับเหตุฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่จํา
หน่ายสัตว์เลี้ยงอย่างร้ายแรง โดยแบ่งเป็น 2 ข้อคือ
.
- จัดเตรียมอุปกรณ์หรือสถานที่เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ อุปกรณ์ควบคุมสัตว์ อุปกรณ์ดับเพลิงที่ปลอดภัยต่อสัตว์ และสถานที่รองรับการอพยพสัตว์ และ
- จัดทําแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน ได้แก่ แผนปฏิบัติการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น แผนการอพยพสัตว์ และหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินสําหรับติดต่อหน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
.
หากเจ้าของสัตว์ฝ่าฝืนหน้าที่ตามข้อกําหนดของประกาศฯ เช่น ไม่จัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ปลอดภัยต่อสัตว์ หรือไม่จัดแผนการอพยพสัตว์ในเหตุเพลิงไหม้ อาจต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท แต่ในปัจจุบันโทษปรับดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565
.
ข้อเสนอแนะ
ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในภาพรวม 2 ข้อ คือ
.
– พัฒนาตัวบ่งชี้สวัสดิภาพที่ดีของสัตว์
กฎหมายคุ้มครองสัตว์ของไทยยอมรับหลักการคุ้มครองสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ 5 ประการ โดยหลักการดังกล่าวได้รับการพัฒนามาจากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมที่จัดทําในประเทศอังกฤษซึ่งผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปีแล้ว ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าควรมีการศึกษาและพัฒนาหลักการเพิ่มเติมเพื่อนํามาใช้เป็นตัวบ่งชี้สวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบันต่อไป
.
– พัฒนาระบบการบังคับใช้กฎหมาย
แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ควบคุมและกำกับการจัดการสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์อย่างชัดเจน แต่หากเจ้าของสัตว์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและขาดการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ก็จะมีต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าในอนาคตกฎหมายกำหนดมาตรการที่กระตุ้นให้เจ้าของสัตว์ปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้ง มีมาตรการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้บังคับกฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
.
ที่มา: บทความวิชาการเรื่อง “กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในสถานจําหน่ายสัตว์เลี้ยง”