พบกับความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่ 89 จาก #TULAWInfographic
.
ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีคดีผู้บริโภคมากกว่า 126,000 คดี ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น
ซึ่งมีหลากหลายคดี อาทิ ด้านสินค้าบริการ หรือด้านขนส่ง พาหนะ บางคดีก็เป็นคดีที่เป็นข่าวใหญ่โตเพราะเป็นการรวมตัวกันฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่การฟ้องคดีผู้บริโภคก็ยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายอยู่เช่นกัน แถมบางครั้งผู้ประกอบการยังเป็นฝ่ายฟ้องผู้บริโภคอีกด้วย
.
#TULAW สรุปประเด็นน่าสนใจจากสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “บทเรียนคดีผู้บริโภค : อุปสรรคและความท้าทาย” อ่านรายละเอียดได้ที่: https://www.law.tu.ac.th/tulawinfographic89/
.
งานชิ้นนี้เป็นการหยิบยกประเด็นส่วนหนึ่งมานำเสนอ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติม: https://bit.ly/4cXWj6q
.
ข้อพิพาทและคดีของผู้บริโภคมีจำนวนมาก และพบว่าแม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เช่น พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค การฟ้องคดีแบบกลุ่ม การฟ้องคดีแทนผู้บริโภคโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ พบว่าผู้บริโภคยังคงเผชิญปัญหาในการฟ้องคคี เช่น ปัญหาคดีมีความซับซ้อนพบว่าผู้บริโภคยังคังต้องพึ่งทนายความในการต่อสู้คดี โดยเฉพาะคดีที่ผู้บริโภคเป็นฝ่ายจำเลย ระยะเวลาในการฟ้องคดีอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน และการบังคับคดียังคงต้องดำเนินการแบบคดีสามัญทั่วไปซึ่งในหลายครั้ง แม้ผู้บริโภคชนะคดีก็ไม่อาจได้รับการชดใช้เยียวยาความเสียหาย
.
5 ความท้าทาย
โดยความท้าทายในคดีผู้บริโภคสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อ คือ
.
- ภาระในการฟ้องคดีของผู้บริโภค แม้กฎหมายปัจจุบัน มี พรบ วิธีพิจารณาคดีของผู้บริโภค และกฎหมายพิเศษอื่น ผู้บริโภคยังคงประสบปัญหาในการฟ้องคดี ไม่ว่าจะเป็น กรณีที่ผู้บริโภคยังคงต้องพึ่งทนายความในคดีที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก หรือผู้บริโภคถูกฟ้องเป็นจำเลย การฟ้องคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจใช้หลักเกณฑ์ในกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคได้ ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้มีความเชี่ยวชาญมากกว่าและมีต้นทุนในการสู้คดีและการปรับตัวหาช่องทางในการใช้กฎหมายให้เป็นคุณกับฝ่ายตนได้มากกว่า ในคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเรื่องสินค้าไม่ปลอดภัย พบว่าโดยภาระในการพิสูจน์ค่าเสียหายเหล่านี้ตกอยู่แก่ผู้บริโภคทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนมากจนเกินไป และควรจะเป็นของภาระหน้าที่ของฝั่งผู้ประกอบการเสียมากกว่า
.
นอกจากนี้หลังจากชนะคดีภาระในการสืบทรัพย์กลับตกอยู่ที่ทนายอาสาหรือผู้บริโภค ทั้ง ๆ ที่ธนาคารหรือหน่วยงานต่าง ๆ อาจมีข้อมูลที่จำเป็นในการสืบทรัพย์อยู่แล้ว แต่กลับไม่ให้ความช่วยเหลือในการให้ข้อมูลส่วนดังกล่าว ทำให้ฝ่ายทนายหรือผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการสืบทรัพย์เสียเอง
.
- ขาดตัวกลางในการประสานงานกับผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายคนอื่นๆ
บางครั้งในคดีผู้บริโภค ผู้เสียหายอาจมีเป็นกลุ่มหรือมีจำนวนมาก ซึ่งบางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาตกเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าว ทำให้ในบางคดีมีผู้มายื่นขอรับชำระหนี้ที่เป็นผู้เสียหายเพียงแค่หลักร้อยจากผู้เสียหายกว่าหมื่นคน ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับบทลงโทษที่มากพอจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการที่ทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งยังอาจทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายของประเทศ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับที่ยั่งยืนกว่าได้อีกด้วย
.
- ขาดทนายความเฉพาะ
ทนายความที่เข้ามาช่วยในคดีผู้บริโภคของประเทศไทย ไม่ได้รับค่าตอบแทนสูงมากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับตัวอย่างในต่างประเทศ โดยถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์สังคมมากกว่า ทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า คดีผู้บริโภคนั้นมีทุนทรัพย์ที่สูงมาก แถมหากเป็นการทำคดีในผู้บริโภคแบบกลุ่มนั้นยังมีความลำบากมากกว่าการทำคดีแบบรายบุคคลหรือคดีแบบกลุ่มในกฎหมายด้านอื่น ๆ อีกด้วย ทำให้ทนายขาดแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานตรงนี้ และทำให้ขาดทรัพยากรด้านบุคคลไปนั่นเอง
.
- ความซับซ้อนในการดำเนินคดี
ในอนาคตอาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องต่อความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในคดีผู้บริโภค อาทิ ในคดีระหว่างผู้บริโภคที่ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้น ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อต่อบริษัทโดยตรงแต่อาจซื้อกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น ๆ หรืออาจเป็นการซื้อผ่านไฟแนนซ์ ซึ่งรูปแบบสัญญาก็จะเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อแทน ซึ่งก็จะทำให้เกิดความซับซ้อนในคดีมากกว่าคดีผู้บริโภคแบบปกติอีกด้วย
.
- การฟ้องปิดปากโดยผู้ประกอบการ
ในคดีผู้บริโภค บางครั้งผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะฟ้องผู้บริโภคที่เป็นแกนนำหลักกลับทั้งในทางแพ่งและทางอาญาเพื่อเสมือนเป็นการตัดกำลังของฝั่งผู้บริโภค ซึ่งในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นยังขาดกฎหมายหรือมาตรการในการเข้ามาควบคุมจัดการตรงนี้โดยเฉพาะ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในการต่อสู้คดีระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งเดิมทีผู้บริโภคเองก็เสียเปรียบอยู่ก่อนแล้ว
.
การฟ้องคดีแบบกลุ่ม?
ในคดีผู้บริโภคนั้น ผู้เสียหายอาจรวมตัวกันเพื่อฟ้องคดีในรูปแบบกลุ่มได้ เพราะผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าหรือจากการบริการของผู้ประกอบการนั้นอาจมีได้หลายคนเพราะเป็นการผลิตสินค้าหรือการบริการให้แก่คนจำนวนมาก รวมทั้งบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นรายบุคคลนั้นเมื่อคิดออกมาเป็นจำนวนเงินนั้นอาจไม่คุ้มที่จะฟ้อง แต่เมื่อมารวมกันหลายรายก็ทำให้เกิดมูลค่าที่มากขึ้น
.
โดยต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ก็มีบางคดีเช่นกันที่ศาลไม่อนุญาตให้ฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มเนื่องจากมองว่าการแยกฟ้องเป็นรายบุคคลอาจได้ผลมากกว่าหรือนำมาซึ่งภาระที่น้อยกว่า
.
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มประจำในแต่ละศาลอีกด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะกฎหมายมองว่า คดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากนั้นมักเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมหรือต่อสังคม ดังนั้นจึงจะต้องมีเจ้าพนักงานคดีที่เหมือนกับเจ้าพนักงานคดีปกครอง ดำเนินการในลักษณะของระบบไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเพื่อรวบรวมและสรุปประเด็นต่าง ๆ มาให้ศาลใช้ประโยชน์ในการตัดสินคดีซึ่งจะกระทบต่อสังคมต่อไป แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการจัดให้มีเจ้าพนักงานทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ จึงเป็นเรื่องท้าทายต่อไปในอนาคตว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร
.
ที่มา: สัมมนาทางวิชาการเรื่อง “บทเรียนคดีผู้บริโภค : อุปสรรคและความท้าทาย”