[คำอธิบายหลักกฎหมาย] สถานะความเป็นทายาทของชาวไทยซึ่งจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกับชาวอังกฤษตามกฎหมายอังกฤษ
จากที่ศูนย์นิติศาสตร์ฯ ได้จัดรายการ Law To U by TU Law Centre Special Live EP: กฎหมายลักษณะมรดก เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมรดก และมีคำถามจากผู้เข้าร่วมฟังรายการว่า กรณีชาวไทยจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกับชาวอังกฤษตามกฎหมายอังกฤษ จะถือว่าชาวไทยเป็นทายาทขอคู่ชีวิตชาวอังกฤษหรือไม่ ศูนย์นิติศาสตร์จึงได้จัดทำคำอธิบายในประเด็นดังกล่าว
…………………
หากพิจารณาเฉพาะในกฎหมายไทย อาจจะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายขัดกัน[1] ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ภาค 6 มรดก ได้วางหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ไว้
มาตรา 37 มรดกเท่าที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่
มาตรา 38 ในส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ มรดกโดยสิทธิโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
สองมาตรานี้มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า หากเป็นกรณีที่มีคดีมรดกตามกฎหมายขัดกันเกิดขึ้นในศาลไทย เช่น เจ้ามรดกเป็นคนต่างด้าว มีทรัพย์สินอยู่ทั้งในต่างประเทศและในไทย ศาลจะพิจารณาว่าทรัพย์ใดเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ใดเป็นสังหาริมทรัพย์ เพราะกฎหมายของประเทศที่จะยกมาปรับใช้แก่กรณีอาจแตกต่างกัน เนื่องจากว่าหากเป็นกรณีอสังหาริมทรัพย์จะพิจารณาตามกฎหมายของประเทศที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ หากเป็นกรณีสังหาริมทรัพย์จะพิจารณาตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะถึงแก่ความตาย[2]
เคยมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ปรากฏในปี 2561 กล่าวคือ ผู้ตายเป็นชายสัญชาติอังกฤษ มีภูมิลำเนาอยู่สหราชอาณาจักร ผู้ร้องเป็นชายสัญชาติไทย ทั้งสองคนจดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิตตามกฎหมายอังกฤษ ผู้ร้องขอตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกในเงินฝากธนาคารที่อยู่ในไทย ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามหลักกฎหมายขัดกันแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียเพราะกฎหมายอังกฤษให้มีสิทธิในทรัพย์มรดก จึงร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแดงที่ 18776/2561[3] ผู้ร้อง (ชายสัญชาติไทย) อยู่กินกับผู้ตาย (ชายสัญชาติอังกฤษ) ทั้งสองได้จดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิต (Civil Partnership) ตามกฎหมายอังกฤษที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ต่อมาผู้ตายเสียชีวิตที่ประเทศเม็กซิโก โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ผู้ตายมีเงินสดฝากธนาคารในประเทศไทยอยู่จำนวนหนึ่ง ผู้ร้องจึงมาร้องเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาล ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจึงอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิตถูกต้องตามเงื่อนไขของ Civil Partnership Act 2004 กล่าวคือ เป็นบุคคลเพศเดียวกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่มีหุ้นส่วนชีวิตตามกฎหมายอยู่แล้ว หรือแต่งงานตามกฎหมายแล้ว และทั้งสองฝ่ายไม่อยู่ในลำดับชั้นญาติที่จะสมรสกันไม่ได้ ดังนั้น การจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิตเป็น “สัญญาชนิดหนึ่ง” ซึ่งมีผลบังคับใช้และสมบูรณ์ตามกฎหมายอังกฤษ
การให้หุ้นส่วนชีวิต “มีสิทธิในมรดกของอีกฝ่าย” ตาม Administration of Estates Act 1925 ของประเทศสหราชอาณาจักร จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 5 เพราะเป็นการให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่บุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศกำเนิด ตามหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”
เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 ภาค 6 มรดก มาตรา 38 บัญญัติว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ มรดกโดยสิทธิโดยธรรมหรือโดยพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย” เห็นได้ว่ามาตรานี้บัญญัติให้กฎหมายภูมิลำเนาของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตายเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้บังคับกับการจัดการมรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะมีพินัยกรรมหรือไม่ ดังนั้น ศาลจึงต้องนำกฎหมายอังกฤษมาใช้เพราะสหราชอาณาจักรเป็นภูมิลำเนาของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตาย แม้ว่าจะไปเสียชีวิตที่เม็กซิโกก็ตาม ทั้งนี้ ตามเอกสารรับรองภูมิลำเนาที่ปรากฏต่อศาล
เมื่อพิจารณาโดยอาศัยมาตรา 38 ประกอบกับศาลไต่สวนว่าตาม Administration of Estates Act 1925 ของประเทศสหราชอาณาจักร อันเป็นกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตาย ข้อ 46 (1) บัญญัติให้หุ้นส่วนชีวิตมีสิทธิในทรัพย์มรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายโดยไม่มีเงื่อนไข ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น พิพากษากลับให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
สรุป
ในกรณีนี้ หากคดีเกี่ยวกับกฎหมายขัดกันในศาลไทยถูกพิจารณาตามกฎหมายอังกฤษ คนไทยที่เป็นคู่ชีวิตอาจจะเป็นทายาทของคู่ชีวิตของตนได้ตามที่กฎหมายอังกฤษกำหนดไว้ (ต้องไปพิจารณาว่าตามกฎหมายอังกฤษที่เกี่ยวข้องนั้นว่ากำหนดให้สิทธิกับคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเพศเดียวกันเป็นทายาทหรือไม่ และให้สิทธิมากน้อยเพียงใดอีกที) นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่าเรื่องที่คู่ชีวิตของผู้ตายร้องขอมีประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายประเด็นอื่น ๆ หรือไม่ เช่น อำนาจปกครองบุตร สวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลแตกต่างไปจากคดีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแดงที่ 18776/2561 ก็ได้
อนึ่ง ผู้อ่านสามารถอ่านบทความเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้จาก นิติ จันจิระสกุล, ‘คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 18776/2561 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563 (การขัดกันแห่งกฎหมายกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศ)’ (2565) 1 วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 182-193. เข้าถึงได้จาก
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/tulawjournal/article/view/257173/173903
[1] หากผู้อ่านต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายขัดกัน สามารถอ่านได้จากคำอธิบาย เช่น คนึง ฤาไชย, คำอธิบายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย (พิมพ์ครั้งที่ 8 วิญญูชน 2563); กิตติวัฒน์ จันทร์แจ่มใส, คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล: การขัดกันแห่งกฎหมาย (เล่ม 1) (โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2564)
[2] คนึง ฤาไชย 127-129.
[3] เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงต้นฉบับคำพิพากษาฉบับเต็ม จึงสืบค้นจากแหล่งข้อมูลลำดับรอง ดังนี้
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1515990; https://www.isranews.org/content-page/item/74329-law-74329.html ; รัชนีกร ลาภวณิชชา พรหมศักดิ์ “การรับรองการสรมของเพศเดียวกันที่กระทำในต่างประเทศ” วารสารนิติศาสตร์ 48: 2 (มิถุนายน 2562) 324-325.