สรุปสาระสำคัญการจัดอบรม Workshop on “Interview Skills for Professionals” (ทักษะการสัมภาษณ์อย่างมืออาชีพ) จัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ทางระบบ Facebook Live Facebook Page : ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวเปิดการอบรมโดย ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
วิทยากรโดย
- คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
- คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
ดำเนินรายการโดย อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สรุปความโดย นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียบเรียงโดย นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวเปิดงานและแนะนำวิทยากร :
กล่าวสวัสดีและชี้แจงความสำคัญของการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องทักษะที่นักศึกษาควรจะมีก่อนเข้าสู่วิชาชีพการทำงาน ในครั้งนี้จะมาพูดคุยเรื่องทักษะซึ่งเป็นเรื่องเล็กที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่จะขาดไปไม่ได้ในการสมัครงานตามหน่วยงานหรือการเข้าสู่การทำงาน และขั้นตอนการสัมภาษณ์งานอันเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพมากที่สุดเข้าทำงาน
โดยวันนี้ได้เชิญวิทยากรในหน่วยงานต่าง ๆ มาแนะแนวการสัมภาษณ์งานเพื่อเข้าสู่วิชาชีพ ๆ ไม่ว่าจะด้านกฎหมายโดยตรงหรือไม่ จากนั้นก็ได้กล่าวแนะนำวิทยากร
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวเปิดการฝึกอบรม :
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวชี้แจงในเบื้องต้นถึงการจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า เป็นความตั้งใจของคณาอาจารย์ที่เป็นกรรมการศูนย์นิติศาสตร์ถึงความประสงค์ที่ต้องการจัดกิจกรรมให้นักศึกษาซึ่งได้ดำเนินการมามาตลอด โดยโครงการ Legal Practice Workshop on “Interview Skills for Professionals” ได้จัดมากว่า 5 ครั้งแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2562
แต่ในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องมีการจัดกิจกรรมในทุกวันจันทร์ตอนเย็น โดยจะมีหัวข้อกฎหมายภาคปฏิบัติและ/หรือหัวข้อ soft skill ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในปีนี้ จึงได้มีการพูดคุยกันและเห็นสมควรจัดเป็นรูปแบบออนไลน์
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ณ เวลานี้เป็นช่วงใกล้สอบ ในหัวข้อการฝึกอบรมจึงเป็นหัวข้อที่ไม่ได้มีความเป็นวิชาการมากนัก ไม่ถึงกับเป็นเรื่องกฎหมายภาคปฏิบัติ แต่เป็นเรื่อง soft skills ที่สำคัญ แรงบันดาลใจในการจัดอบรมหัวข้อนี้มาจากตอนที่สัมภาษณ์นักศึกษาพบว่า นักศึกษาบางคนคุณสมบัติดีมาก แต่ในการสัมภาษณ์พบว่านักศึกษาไม่ได้แสดงให้เห็นศักยภาพเท่าที่ควร ซึ่งอาจเกิดจากบุคลิกภาพ บางคนอาจโลกส่วนตัวสูง เป็นคนนิ่ง ๆ ไม่ค่อยพูด ซึ่งก็ส่งผลต่อผู้สัมภาษณ์ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการนี้ เป็นเหมือนการแบ่งปันประสบการณ์จากมุมมองของวิทยากรแต่ละคน โดยวิทยากรในวันนี้มาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน และมีวิทยากรที่เป็นอาจารย์ 2 ท่านซึ่งก็อยู่แวดวงสัมภาษณ์และแวดวงกิจกรรมนักศึกษา ได้แก่ กิจกรรมผู้ช่วยอาจารย์หรือ TA การสัมภาษณ์ทุน การสัมภาษณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ ดังนั้น การจัด workshop ในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา
ประเด็นแรก : คุณสมบัติสำคัญซึ่งทำให้ผู้สมัครมีความโดดเด่น
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ในเบื้องต้น คุณเบญจญาณีได้กล่าวถึงประเด็นการสร้างความประทับใจแรกพบ (first impression) ว่า ปกติเวลาสัมภาษณ์ทางผู้สัมภาษณ์จะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแนะนำตัวเองในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ว่าตนเองมีที่มาอย่างไร เรียนอะไรมา จุดนี้เป็นความประทับใจแรกพบว่าการที่ผู้สมัคร มีการเล่าเรื่อง (Story Telling) ที่ดี เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความสนใจขึ้นมาได้ โดยตนมีข้อแนะนำว่า ไม่ควรเล่านานมากเกินไป ควรเล่าประมาณ 1-2 นาที เพราะหากมีระยะเวลาที่นานมากจะทำให้หลุดประเด็น (focus)
ในประเด็นเรื่องบุคลิกภาพ การเล่าถึงตนเองจะเป็นตัวบ่งบอกได้ถึงบุคลิกภาพ การพูดจาควรสุภาพอ่อนน้อม มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ตัวอย่างการพูดคุย เช่น องค์กรที่ตนทำงานอยู่ (สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เป็นองค์กรของรัฐ จึงต้องมีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นต้องพูดจาสุภาพ จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่อยากเห็นจากผู้สมัคร
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้กล่าวถึงการพิจารณาใบสมัครในระดับในระดับมหาวิทยาลัยว่า ถ้าเป็น อ.ศุภวิชที่เป็นผู้พิจารณา ตนจะเริ่มพิจารณาจากประวัติกับเกรดก่อน และก็จะพิจารณาใบสมัคร เช่น นักศึกษา มาสมัครแข่ง moot court หรือโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อน ก็จะพิจารณาว่าได้เกรดเท่าไร มีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง สอดคล้องกับสิ่งที่นักศึกษาต้องการเข้าไปฝึกงานหรือไม่
โดย อ.ศุภวิช เห็นว่า จริง ๆ แล้วตัวเกรดไม่ได้วัดได้ทั้งหมด เช่น เกรดใกล้เคียงกัน ก็ไม่มีความแตกต่างอะไรกันมาก ทำให้ต้องมาดูตอนสัมภาษณ์ว่านักศึกษาพูดเป็นอย่างไร โดยตนย้ำว่าจริง ๆ นักศึกษาอาจพูดไปตามธรรมชาติ แต่ก็ควรต้องรู้จักกาลเทศะในบางโอกาส ถ้าอยู่ที่อื่นก็คุยเล่นกันได้ แต่ถ้าอาจารย์เป็นคณะกรรมการอาจจะต้องทำตัวเรียบร้อยสักหน่อย
ในเรื่องความตื่นเต้น อ.ศุภวิชได้เน้นว่าต้องระมัดระวัง เพราะถ้าตื่นเต้นเข้าไปสัมภาษณ์อาจทำให้เกิดความเสียหายได้เลย
สุดท้าย อ.ศุภวิชเห็นว่า ถ้าสามารถสร้างความประทับใจตรงนี้ได้ คนที่มีผลการเรียนดีกว่านักศึกษาผู้สมัครคนอื่น ๆ อาจจะตกไปก็ได้เพราะจริง ๆ เป็นช่วงคะแนนที่ห่าง 1-2 % นักศึกษาผู้สมัคร อาจจะเหมาะสมกับกิจกรรมหรือองค์กรกว่าคนที่มีผลการเรียนที่ดีกว่าก็ได้
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
สำหรับงานที่ปรึกษาประจำบริษัท ที่เป็นหน่วยงานเอกชน ทักษะหรือคุณสมบัติที่หน่วยงานมองหาจะแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายนอก เช่น เกรดหรือคะแนนของนักศึกษา ถ้าคนที่คะแนนดี องค์กรไหน ๆ ก็อยากได้ แต่ถ้านอกเหนือจากคะแนนแล้ว ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่อาจช่วยนักศึกษาได้ เช่น นักศึกษามีคะแนนเข้าลักษณะที่ดีหรือมีความสามารถด้านภาษา
ปัจจัยภายใน เช่น ประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นว่านักศึกษามีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นทักษะภายในที่ตนเห็นว่ามีความสำคัญมาก ถ้าหากมีคนหลายคนที่มีคะแนนเท่า ๆ กัน แต่คนใดคนหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่ามีความกระตือรือร้น พร้อมที่จะเรียนรู้ เข้ากับคนอื่นได้ ตนก็จะเลือกคนนั้น
แต่ถ้าคะแนนต่างกันมาก สิ่งที่จะช่วยนักศึกษาได้คือบุคลิกภาพและการตอบคำถาม นักศึกษาสามารถฝึกซ้อมโดยจัดทำรายการ (list) คำถามได้ โดยคิดว่าในการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะถามเกี่ยวกับอะไรบ้าง นักศึกษาก็ตอบเผื่อเอาไว้ เมื่อนักศึกษาไปเจอกับสถานการณ์ในการสัมภาษณ์จริงจะได้ไม่ตื่นเต้นเกินไปและสามารถให้คำตอบได้
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
ในส่วนประเด็นคำถามนี้ คุณชานนจะพูดในมุมมองของวิชาชีพที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งจริง ๆ ในมุมมองของที่ปรึกษาหลัก ๆ คือ ความดูเป็นมืออาชีพ และความน่าเชื่อถือเรียกว่า “professional” โดยตนเห็นว่า เป็นความประทับใจ (impression) แรกที่ถ้านักศึกษาเข้ามาสัมภาษณ์ใน law firm ถ้านักศึกษาสามารถแสดงให้เห็นถึงจุด ๆ นี้ จะเป็นความประทับใจสิ่งแรกเลย และจะแสดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพของนักศึกษา ไปอีกทาง (way) หนึ่ง ทำให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความรู้จัก เชื่อถือ และมั่นใจว่านักศึกษามีศักยภาพพร้อม
กล่าวต่อไปในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมืออาชีพ (professional) ประเด็นที่ค่อนข้างเห็นบ่อย คือ “เราในฐานะนักศึกษาใหม่มีความกังวลว่าไม่มีประสบการณ์จะทำอย่างไรให้ตัวเองมีความน่าเชื่อถือ” ตนเรียนว่าเป็นสิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนวิธีการพูด ทักษะ การมาตรงต่อเวลา การเข้ามาติดต่อ วิธีการตอบคำถาม รวมถึงการแต่งกาย
ในส่วนของ Linklaters ด้วยขนาดขององค์กรที่ไม่ได้ใหญ่เหมือนที่อื่นๆ ถ้าเลือกใครเข้ามาสัมภาษณ์จะผ่านการคัดกรองเข้ามาพอสมควรแล้ว การที่นักศึกษาได้รับเลือกเข้ามาสัมภาษณ์ที่ไหนก็ตาม แสดงว่านักศึกษาได้รับความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์เล่าถึงประสบการณ์ของตน คือ ตนเป็นอาจารย์ และมีประสบการณ์เรื่องการสัมภาษณ์อีกแนวหนึ่งในเรื่องการสัมภาษณ์กิจกรรมนักศึกษาเกี่ยวกับโครงการรับสมัครนักศึกษาเพื่อเป็นผู้ช่วยอาจารย์ (Teacher Assistant -TA) ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าคนอื่น ในการมาสมัครเป็น TA คือ
ในประการแรก เป็นเรื่องแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วย กล่าวคือ อ.ดิศรณ์เคยประสบกับคำตอบของผู้สมัครว่า “ไม่มีอะไรทำ” หรือ “อยากได้เงิน” ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่แน่นอนว่าตนหรือองค์กรอยากทำงานกับคนที่มีใจทำงานร่วมกัน คนที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานกับอาจารย์ คนที่อยากเข้าไปเรียนรู้การทำงานของอาจารย์
ในประการต่อมา เป็นเรื่องของผลการเรียน ตอนเปิดรับสมัคร TA ก็มีการยื่นผลการเรียนเหมือนกัน โดยส่วนตัวตนให้ความสำคัญเรื่องเกรดเป็นเรื่องท้าย ๆ เพราะฉะนั้นอาจเกิดข้อสงสัยได้ว่า เหตุใดคนคะแนนเฉลี่ยที่ 70 กลาง ๆ อาจารย์จึงเลือกเข้ามาเป็น TA ตนเห็นว่าเรื่องการเรียนสามารถพัฒนาได้ คะแนนเฉลี่ยที่ 60 ก็เหมือนกัน แต่คะแนนก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่อาจจะดูได้ว่านักศึกษามีความรับผิดชอบขนาดไหน แน่นอนว่าคะแนนไม่ได้วัดเรื่องของความเก่งกาจ แต่สามารถแสดงให้เห็นมากที่สุด คือ ความรับผิดชอบ
และในประการสุดท้าย อ.ดิศรณ์ เน้นย้ำในเรื่องการแสดงให้เห็นแรงผลักดัน (passion) ในการเข้ามาทำงานร่วมกับอาจารย์ ซึ่งตนให้น้ำหนักมาก และแน่นอนว่าสามารถจูงใจได้ทุก ๆ คน เพราะทุกคนอยากได้คนที่เข้ามาด้วยใจ
ประเด็น : สิ่งที่ไม่ควรพูดหรือปฏิบัติระหว่างการสัมภาษณ์
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณี กล่าวว่า ถ้าเกิดมีการถามเนื้องานเชิงลึก เช่น ตัวเนื้องานบางอย่างที่ต้องใช้เทคนิคเฉพาะด้าน เช่น นักศึกษาจบปริญญาตรีไม่ได้รู้เนื้อหาตรงนี้ลึกซึ้งมาก ผู้สัมภาษณ์อาจจะทดลองความรู้นักศึกษาตรงนี้ แต่สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ไม่อยากได้ยิน คือ การที่นักศึกษาไม่รู้แต่พยายามแสดงว่าตนรู้ ซึ่งผู้สัมภาษณ์จะรู้ได้เลยว่านักศึกษาพยายามฝืนตอบไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้
โดยคุณเบญจญาณีแนะนำว่า ควรบอกว่าเราไม่รู้ โดยมีวิธีการตอบ อย่างเช่น “เราศึกษาเรื่องนี้มาประมาณ อาจจะขออภัยด้วยในเนื้อหาเชิงลึกตรงนี้จริง ๆ แต่จะขอกลับไปเรียนรู้เพิ่มเติมและก็ไปค้นหาคำตอบตรงนี้มา” ก็คือบอกกับผู้สัมภาษณ์ไปตามตรง
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิช กล่าวว่า เป็นเรื่องของการตั้งคำถามกลับ จริง ๆ ก็ควรตอบคำถามผู้สัมภาษณ์ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างไร หากเขายังไม่เปิดโอกาสให้ถามก็ยังไม่ควรถาม โดยเฉพาะปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับที่ทำงาน นักศึกษาหรือผู้สมัคร ไม่ควรถาม แต่ควรหาความรู้ไปก่อน เช่น ในโครงการฝึกงานระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็จะต้องค้นหาดูก่อนว่าหน่วยงานที่นักศึกษาต้องการไปฝึก มีลักษณะเป็นอย่างไร
หรือถ้านักศึกษา คุยกับผู้สัมภาษณ์ไปเรื่อย ๆ แล้วไปตั้งคำถาม อาจจะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกไม่ดีว่า “เอ้า คุณมาสัมภาษณ์นะ” แต่ถ้าเป็นการคุยกันปกติก็อาจจะทำได้ แต่ต้องรู้จักกาลเทศะ
ประเด็นเรื่อง การตอบคำถาม ต้องมีหางเสียงสักหน่อย (คำลงท้าย ครับ/ค่ะ) และในเรื่องที่คุณเบญจญาณีได้กล่าวไปแล้ว คือ ถ้านักศึกษาตอบไม่ได้ก็ควรบอกผู้สัมภาษณ์ตามตรงไปเลย ผู้สัมภาษณ์เขาต้องรู้อยู่แล้ว ว่าการที่จะเข้ามาทำงานก็ต้องเข้ามาเริ่มเรียนรู้ อาจจะใช้เวลา 6 เดือนหรือ 1 ปี นักศึกษาต้องเข้าใจว่าการไม่รู้ไม่ได้มีปัญหาอะไรไม่ใช่ว่าจะต้องดูดี ดูเก่งตลอดเวลา อะไรที่นักศึกษาไม่รู้ก็ต้องบอกว่าไม่รู้ แต่ถ้าเจอคำถามที่รู้ก็ควรจะพูดเพราะเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง แต่ตรงนี้ต้องมั่นใจว่านักศึกษารู้จริง ๆ หรือบางทีคำถามค่อนข้างเป็นประเด็น การที่นักศึกษา ไปตอบห้วน ๆ ซ้ำ ผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกแล้วว่ามันแย่
ถ้าทำได้เบื้องต้นตามนี้ ตามความเห็นตนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่กลับเป็นการสร้างความประทับใจเสียอีก
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรา กล่าวว่า บุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ไปถึงแล้วไม่สวัสดี ไม่ยิ้ม ไปถึงแล้วนั่งก่อนทั้งที่เขาไม่ได้เชิญนั่ง และที่ไม่รับเข้าทำงานแน่นอน คือ คนที่พูดจาหยาบคาย ไม่มีหางเสียง โอ้อวด ดูถูกคนอื่น หรือว่าบุคลิกภาพอย่างอื่น เช่น นั่งไปสั่นขา แทะเล็บ หรือในขณะที่สัมภาษณ์อยู่ ผู้สมัครไม่สบตาผู้สัมภาษณ์ แต่กลับมองเพดาน ฝ้า เพราะผู้สมัครไม่น่าจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้และไม่มีมารยาทพื้นฐาน
ส่วนเรื่องอื่น ๆ สำหรับนักศึกษาจบใหม่ ในคุณสมบัติเรื่องความรู้ในการทำงาน ผู้สัมภาษณ์รู้อยู่แล้วว่าเป็นนักศึกษาจบใหม่ เขาก็ไม่คาดหวัง แค่อยากรู้ว่านักศึกษาจะตอบอย่างไร นักศึกษามีความรู้พิเศษไหม สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้คือ นักศึกษามีความพยายามตอบมากน้อยแค่ไหน หรือความพยายามนั้นเป็นการตอบในสิ่งนักศึกษาไม่ได้มีความรู้จริง ๆ
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานนได้กล่าวว่า คำพูดหรือการแสดงออกที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า ตัวนักศึกษาไม่มีความมุ่งมั่น (commitment) ไม่มีความตั้งใจที่จะอยากเข้าทำงาน ทุกองค์กรเข้าใจว่านักศึกษาสมัครงานหลายที่เพื่อโอกาสของตัวเองซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อยากให้เข้าใจว่าเมื่อนักศึกษาได้เลือกมาสัมภาษณ์แล้ว เขาก็อยากเห็นว่านักศึกษามีความตั้งใจจริงในการเข้ามาทำงานที่นี้
แต่สิ่งที่ตนประสบคือ การพยายามที่จะสื่อให้ได้รับทราบว่าจริง ๆ นักศึกษาไม่ได้อยากจะมาทำงานที่นี้เสียทีเดียว นักศึกษาเลือกที่นี้ไว้เผื่อเลือก ไม่มีอะไรทำจึงอยากจะมาทำงานที่นี้ ทั้งหมดทั้งมวลแสดงให้เขาเห็นว่าคุณไม่ได้มีความตั้งใจหรือไม่ได้มีความประสงค์จริง ๆ อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและจะทำให้คนสัมภาษณ์ไม่รับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
อีกประการหนึ่ง ในช่วงของการสัมภาษณ์ซึ่งต้องมีการตอบคำถาม มีการแสดงความเห็น สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากได้ยินจากนักศึกษาที่จบใหม่ที่เข้ามาสัมภาษณ์เลยคือ การสร้างเงื่อนไขของตัวเองในการทำงาน เช่น ไม่อยากทำงานหนัก ไม่ทำงานแบบนี้แบบนั้น ไม่อยากทำงานกับคนประเภทนี้ แต่ถ้ามันเป็นงานที่ไม่ตรงกับงานที่สัมภาษณ์เลยก็เข้าใจได้ว่านักศึกษาเลือกมาแล้วว่าจะทำงานประเภทนี้ แต่ถ้าสัมภาษณ์ในองค์กรที่ทำงานในลักษณะแบบนั้น แต่พยายามสร้างเงื่อนไขว่าเราทำงานแบบนั้นไม่ได้ แบบนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่สร้างความประทับใจแน่นอนและยังเป็นการจำกัด (limit) ความสามารถของตัวเอง
คุณชานนยังได้เตือนในสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ลักษณะการตอบคำถามที่คล้าย ๆ เป็นข้อแก้ตัวและที่ได้ยินบ่อยมากเวลานักศึกษาไม่สามารถตอบได้ คือ “เรื่องนี้ไม่เคยเรียน ครับ/ค่ะ” “เรื่องนี้ไม่ได้สนใจ” “ในมหาวิทยาลัยไม่ได้สอน” คำตอบเหล่านี้ที่นักศึกษาตอบมาแสดงถึงความไม่เตรียมตัว ตนจึงอยากให้นักศึกษาคิดดี ๆ เวลาจะพูดอะไรออกไป โดยเฉพาะในลักษณะที่เป็นการแก้ตัวและใช้เหตุผลถ้าไม่ใช่เหตุผลที่เป็นมืออาชีพพอ จะทำให้นักศึกษาขาดความน่าเชื่อถือ
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์ กล่าวว่า ในการทำงานเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษา เรื่อง TA ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับวิทยากรทั้ง 3 ท่าน คือ
หนึ่ง การสมัคร TA เรื่องที่นักศึกษาตอบคำถามว่าอยากมาลองเฉย ๆ ซึ่งบางองค์กรหรือบางหน่วยงานอยากได้คนที่มีใจอยากได้คนที่มาร่วมทำงานจริง ๆ ไม่ได้อยากได้คนที่หาอะไรทำว่าง ๆ เช่น การที่อาจารย์จะให้นักศึกษามาเป็น TA เหมือนนักศึกษามาเป็นเพื่อนร่วมงานกับอาจารย์ แน่นอนว่าอาจารย์อยากได้เพื่อนร่วมงานไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชา
สอง เรื่องความพร้อม การเตรียมตัว ความเป็นมืออาชีพที่จะแสดงให้เห็นว่านักศึกษาใส่ใจและอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอยากเข้ามาทำงาน เช่น ในตอนสัมภาษณ์ TA จะรู้เลยว่านักศึกษาหลาย ๆ ท่านไม่ได้เตรียมตัวมา คือ ก่อนจะสัมภาษณ์ TA จะมีการแจ้งนักศึกษาว่าสามารถใช้ประมวลกฎหมายในการตอบได้ แต่บางคนก็จะมามือเปล่า ซึ่งการมามือเปล่าไม่ได้ผิดอะไร แต่ผู้สัมภาษณ์คาดหวังว่านักศึกษาจะจำได้ เอาเข้าจริงคือไม่ได้เตรียมตัวมา ไม่ได้ต้องการทำงานจริง ๆ สะท้อนให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วนักศึกษาอยากมาลองเฉย ๆ
ประเด็น : คำถามสร้างความลำบากใจแก่ผู้สมัคร
คำถาม (1) : ผู้สมัครจะมาทำงานกับหน่วยงานนานแค่ไหน
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณีเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองครั้งตอนไปสัมภาษณ์ที่ กลต. ว่า ตนเคยเจอคำถามประเภทนี้ ซึ่งตอนนั้นพึ่งเรียนจบปริญญาตรี และมีจุดมุ่งหมายคือเรียนต่อปริญญาโท โดยตนอยากจะบอกว่า เวลาผู้สัมภาษณ์ถามคำถามอย่างนี้มา เขาไม่ได้ปิดกั้นเรื่องเรียนต่อปริญญาโทใด ๆ แต่ก็มีวิธีการตอบซึ่งเราอาจจะพูดความจริง ๆ เลยก็ได้ว่าเราต้องเรียนอีกกี่ปี แน่นอนว่าถ้าอีก 6 เดือน เราจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ผู้สัมภาษณ์อาจไม่ค่อยอยากรับเข้าทำงานเพราะว่าเข้ามาสักพักเดี๋ยวก็ไปแล้ว จึงต้องพยายามทำให้เขาเห็นว่าเราตั้งใจจะทำงานในองค์กรนี้ ไม่ได้จะอยู่ในระยะสั้น คือ ทำให้เขาเห็นและในขณะเดียวกันเราก็จะเรียนปริญญาโทไปด้วยโดยบริหารจัดการเวลาที่จะไม่ทำให้เสียงานกับองค์กรด้วย
ถ้าให้ดีก็คือ อย่างน้อยทำงานสัก 1 ปี แล้วค่อยไปเรียนต่อ อันนี้ก็บอกเขาไปเลยตรง ๆ จะทำให้เขาเชื่อมั่นได้ว่าเราตั้งใจเข้ามาทำงานกับองค์กรและแผนที่จะเรียนต่อก็ไม่กระทบงาน
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิช กล่าวว่า โดยส่วนตัวหากมีแผนการเรียนต่ออยู่แล้ว ถ้าเกิดเจอคำถามในลักษณะดังกล่าวนี้ ตนก็จะตอบในลักษณะว่าที่เลือกที่นี้ มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานตรงนี้มากอยู่แล้ว เพราะหากเราไปให้คำมั่นว่าจะอยู่ตลอดไปอาจจะดูไม่ค่อยดี ถ้าเราพูดแล้วไม่ทำจริง
ในเบื้องต้นก็จะบอกไปตามตรงไปว่า “ผมมีแผนอย่างนั้น” “อยากทำตรงนี้และอยากไปเรียนต่อ” “ถ้าผมทำงานตรงนี้ดีสามารถลาไปเรียนต่อได้ไหม” “ถ้าหากว่าไม่ได้ ถ้าเกิดผมทำงานแล้วดี แล้วที่ทำงานโอเค ผมจะมีโอกาสไหม”
แต่ถ้าหากไม่มีแผนจะเรียนต่อแต่ผู้สมัคร มีความตั้งใจจะไปทำงานที่อื่นอยู่แล้วก็บอกไปตรง ๆ ว่า “ผมศึกษาตรงนี้มาแล้ว แต่อาจจะไม่รู้ทั้งหมด” สร้างความเชื่อมั่นประการหนึ่ง และถ้าสามารถแสดงความสามารถออกมาได้ดีก็ยิ่งดี
โดยส่วนตัวแล้วถ้าเกิดมีคำถามนี้มาแล้วจริง ๆ ก็แสดงว่าเขาเล็งคุณมาแล้ว ก็ต้องบอกตามตรง ทำให้เขามั่นใจว่าเราเข้าไปแล้วทำประโยชน์ได้
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรา กล่าวว่า ส่วนใหญ่ถ้ามีคำถามนี้ออกมาคือ ผู้สัมภาษณ์เขาน่าจะอยากได้เราเข้าทำงานด้วย เลยถามว่าจะทำงานที่นี้นานขนาดไหน ให้ตอบตามความจริงไปเลยว่ามีแผนการที่จะทำอะไรต่อไป แต่ก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่าเราไม่ใช่คนที่อยู่เพื่อจะไต่ไปทำงานที่อื่น ไม่ได้อยู่ในระยะสั้น ๆ เพราะจะไม่ดีกับทั้ง 2 ฝ่าย
ถ้าเป็นตนตอบคำถามนี้ ก็จะเลือกตอบตามความเป็นจริง โดยคุณเจนจิราได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนได้พบเจอและลักษณะการตอบคำถามของตนว่า “เขาก็สัมภาษณ์ว่าจะทำงานที่นี้นานขนาดไหน ตอนนั้นก็เป็นเด็กจบใหม่เหมือนกัน และตอนนั้นมีแผนเรียนปริญญาโท ก็ตอบไปว่าตั้งใจจะทำงานอยู่ที่นี้สัก 1 ปี และก็มีแผนจะไปเรียนปริญญาโท ถ้าที่นี้ให้โอกาสที่จะเรียนรู้ด้วยทำงานไปด้วยก็จะยินดีด้วยมาก”
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานนเห็นว่า คำถามประเภทนี้ สิ่งที่คนถามอยากได้ยินมากที่สุดคืออยากอยู่ที่นี้ไปเรื่อย ๆ เพราะเขาคาดหวังว่า เมื่อมีการสอนงานแล้ว นักศึกษาผู้สมัครจะอยู่สนับสนุน (contribute) ให้กับองค์กรเรื่อย ๆ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้ว่าจะอยู่ที่นี้ไปได้ตลอดไหม ลูกจ้างเองก็มีสิทธิที่จะลาออกได้ตามกฎหมาย เป็นเรื่องปกติที่ถ้าวันหนึ่งนักศึกษาเจอโอกาสในอนาคตที่จะดีกว่าก็เป็นทางเลือกของนักศึกษาเอง
สำหรับวิธีการตอบคำถาม คุณชานนแนะนำว่า การที่ผู้สมัครบอกว่ามีแผนอะไรไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่จะพูดอย่างไรให้คนที่ถามเห็นว่าบริษัทองค์กรไม่ใช่ทางผ่าน เพื่อให้เห็นว่าการรับผู้สมัครเข้ามาทำงานแล้วจะคุ้มค่า สิ่งที่อยากให้ตอบ คือ อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง คำถามแบบนี้ทำให้ผู้สมัครได้กลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่าชอบงานแบบนี้จริงหรือไม่ โดยตนเห็นด้วยกับวิทยากรทุกท่านที่อธิบายมา คือ อธิบายให้เห็นแผนของเราตามความเป็นจริงและอธิบายให้เห็นความสนใจที่เรามีต่อองค์กรที่เข้าไปสัมภาษณ์
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่ตนจะมาเป็นอาจารย์ว่า ตนเคยทำงานอยู่ที่กฤษฎีกา ในการสัมภาษณ์งานก็มีการถามคำถามในลักษณะเช่นนี้เหมือนกันว่า “น้องจะมาทำงานอยู่ที่นี่กี่ปี” คำถามในลักษณะดังกล่าวตนเห็นว่าเป็นการวัดใจ ซึ่งหากตอบน้อยไป เขาก็อาจมองว่าเข้ามาทำงานนิดเดียวเอง มองว่าหน่วยงานเป็นทางผ่านหรือเปล่า หรือถ้าคำตอบมากเกินไปไม่เป็นจริงก็กลายเป็นว่าโกหก เช่น อยู่กันไปตลอดกาล จนเกษียณซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช่อย่างนี้ เกิดเป็นทางสองแพร่ง
สำหรับตนในตอนนั้นตอบว่า “ผมไม่ทราบ ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะทำงานถึงเท่าไร แต่ผมรับรองว่าตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่นี้ผมจะสร้างประโยชน์ให้ที่นี้เท่าที่ผมจะทำได้” อาจจะดูเหมือนตอบไม่ตรงคำถาม คือ ผมไม่รู้ละ แต่เวลาที่ผมอยู่องค์กรของคุณ คุณจะได้ประโยชน์จากผมเต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน ตรงนี้แหละเป็นการตอบที่อยู่กึ่งกลาง และเอาตัวรอดให้ตนเข้าไปได้
คำถาม (2) : ผู้สมัครงานคิดว่าตัวเองมีข้อดี และข้อเสียอย่างไร
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณีเห็นว่า เป็นพื้นฐาน (basic) ของทุกหน่วยงานที่จะนำมาถามผู้สมัคร เพราะอยากจะเห็นว่าแต่ละคนรู้จุดอ่อนของตนเองหรือไม่ จะเป็นคำถามลักษณะเปิด ซึ่งไม่จำเป็นต้องกังวล (serious) มาก อะไรที่เป็นข้อดีก็บอกไปได้เต็มที่ ส่วนข้อเสีย หลาย ๆ คนก็กังวลว่าเขาจะรับเข้าทำงานหรือไม่ เทคนิคของคุณเบญจญาณี คือ ตอบไปด้วยความมั่นใจแต่ก็ต้องตอบเผื่อแนวทางที่ผู้สมัครจะแก้ไขข้อเสียนั้นของตัวเองได้ด้วย จะบ่งบอกได้ว่า ผู้สมัครคนนี้รู้ว่าตนเองมีจุดบอดอะไร และจะแก้ไขปัญหาข้อเสียนี้อย่างไร เป็นการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น อันนี้เป็นสองสิ่งที่เขาอยากจะเห็นว่าผู้สมัครรู้ตัวหรือเปล่าว่า ตนเองมีจุดด้อยอะไร และจุดด้อยตรงนี้จะแก้ไขได้อย่างไร
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิชเห็นด้วยกับคำตอบของคุณเบญจญาณี และตนยังเห็นอีกว่าคำถามนี้ส่วนมากจะไม่เห็นอยู่ในใบสมัครอยู่ก่อน เพราะใบสมัครทั่วไปก็จะมีข้อมูลส่วนบุคคล อาจจะประกอบด้วยคะแนน ที่อยู่ ฯลฯ
คำถามนี้สำหรับตนเป็นการทดสอบว่า มีไหวพริบหรือไม่ สำหรับคำตอบของตน จะเริ่มพูดจากข้อดีก่อนว่ามีข้อดีอย่างไรเสร็จแล้วด้วยบอกข้อเสียของเรา คือ บอกข้อเสียว่าเราเป็นอย่างไรและเราจะปรับปรุงอะไร และต้องพูดให้สอดคล้องกับตัวประวัติ ตัวข้อมูลที่ให้เขาไปก่อน เพราะถ้าหากเราไปเตรียมมาก่อนและมันไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เขามีเลยก็อาจจะดูพิรุธ เช่น อาจจะพูดว่าเราเป็นคนไม่ตรงต่อเวลาแต่เราก็เลือกดูเรื่องการเดินทางไว้แล้วเพราะฉะนั้นเรื่องการทำงานก็คงไม่มีปัญหาอะไร หรือเรื่องมนุษย์สัมพันธ์อาจจะพูดว่าผมเป็นคนไมค่อยกล้าพูดในที่สาธารณะก็บอกว่าในการทำงานก็จะพยายามฝึก ตนมองว่าอันนี้ก็อาจจะแก้ปัญหาได้ ผู้สัมภาษณ์เขาสามารถชั่งน้ำหนักได้ แต่เขาแค่อยากทดสอบผู้สมัครว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ตรงนี้ถ้ามีไหวพริบก็แก้ได้ พูดออกมา ตนคิดว่าตรงนี้ไม่น่าจะทำให้เกิดคะแนนอะไร เพราะคำถามมันเป็นสื่ออยู่แล้วว่ามันต้องมีเรื่องลบไม่ได้มีแต่เรื่องบวก
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรามองว่า ผู้สัมภาษณ์เขาอยากรู้แค่ว่าคุณได้สำรวจตัวเองมาก่อนสัมภาษณ์หรือไม่ คุณรู้จักตัวเองหรือไม่ รู้จักข้อดีของตัวเองคืออะไร และเขาให้โอกาสในการนำเสนอ (present) ว่าข้อดีจะช่วยเราทำงานอย่างไร
ถ้ามีข้อเสียก็ต้องบอกทางแก้ว่า เราจะแก้ข้อเสียนี้อย่างไร หรือว่าข้อเสียนี้มันไม่กระทบกับการทำงานอย่างไร คือต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ดีของเราจะไม่มีผลกระทบ และถ้าหากมีผลกระทบเราก็แก้ได้ สร้างความมั่นใจให้กับเขา
จุดประสงค์ของคำถามก็มีประมาณนี้ คือ นักศึกษารู้จักตัวเองหรือไม่ จะแก้ปัญหาอย่างไร จะพัฒนาตัวเองอย่างไร
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานนเห็นว่า คำถามในลักษณะนี้จะไม่ได้มีคำถามเดียว แต่จะมาเป็นชุด คือ ถามว่ามีข้อเสียอะไร คิดว่าข้อเสียกระทบการทำงานหรือไม่ และถ้าเวลาทำงานมีปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากข้อเสีย จะป้องกันแล้วแก้ไขอย่างไร ตนเห็นว่า คะแนนคำถามนี้อยู่ที่ว่าผู้สมัครมีวิธีการป้องกันอย่างไรมากกว่า
ประเด็นที่ผู้สัมภาษณ์อยากฟัง คือ ผู้สมัครได้สำรวจตัวเองแล้วคิดว่าสามารถป้องกันไม่ให้เป็นเป็นปัญหาในการทำงานได้หรือไม่ บางอย่างมันอาจจะขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัครเอง เช่น เป็นคนบุคลิกใจร้อน ขี้โมโห ใจเร็ว ก็ต้องพยายามทำให้ผู้สัมภาษณ์เขาเชื่อมั่นได้ว่าหากเราเข้าไปทำงานแล้วข้อเสียเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาทั้งต่อตัวผู้สมัครต่อเพื่อนร่วมงาน เพราะฉะนั้นการพูดถึงวิธีแก้ไขปัญหา (solution) ประกอบเป็นสิ่งที่สามารถเตรียมตัวได้
คำถามในลักษณะนี้สามารถเตรียมตัวได้ อยากให้นักศึกษาที่เตรียมตัวไปสัมภาษณ์ใช้เวลากับคำถามนี้และพยายามคิดคำตอบที่อธิบายความเป็นตัวนักศึกษาและทำให้ผู้สมัภาษณ์เขารู้ว่าข้อเสียหรือปัญหาต่าง ๆ ไม่กระทบกับงาน
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์ได้กล่าวถึงวิธีการของตนว่า ถ้าเจอคำถามนี้จะทำอย่างไร ในส่วนของข้อดีก็ต้องพูด แต่ต้องระวังไม่ให้เหมือนกับว่าเป็นการอวยตัวเองจนเกินไป เหมือนเป็นการอวดดี สิ่งที่ต้องทำในการอธิบายข้อดีของตัวเอง คือ ต้องอธิบายข้อดีของเราจะมีผลต่อหน่วยงาน จะทำให้หน่วยงานนั้นเจริญก้าวหน้าไปได้อย่างไร แต่ต้องระวังไม่ให้เรามีข้อดีและเป็นน้ำเต็มแก้ว ถึงแม้ว่าเราจะมีส่วนดีที่นำพาองค์กรนั้นไปได้ไกลมากขึ้น แต่เราก็ยังเปิดรับข้อดีของคนอื่น ๆ มาเรียนรู้ด้วย
ในส่วนของข้อเสียนั้น เป็นคำถามที่ทางองค์กรอยากให้ผู้สมัครสำรวจตัวเองดูว่ามีข้อเสียอะไรที่ต้องระวังไม่ให้ไปกระทบเพื่อนร่วมงานและกระทบคนอื่นด้วย ตรงนี้แหละถ้าผู้สมัครรู้เท่าทันตัวเองแล้วก็เหมือนแบบเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทในการทำงานระหว่างคน ระหว่างงานได้มากยิ่งขึ้น
คำถาม(3) : ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือน เช่น ผู้สัมภาษณ์ถามว่า หากให้เงินเดือนในอัตราเท่านี้ จะรับหรือไม่
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณีเน้นว่า ผู้ที่ไปสัมภาษณ์ต้องรู้ก่อนว่าองค์กรที่ไปสัมภาษณ์นี้เงินเดือนประมาณไหน เช่น กลต. อาจจะต่างจากเอกชน กลต. จะมีโครงสร้างเงินเดือนขององค์กรและจะต่อรองอะไรไม่ค่อยได้มากเหมือนเอกชน ก็จะมีอัตราเริ่มต้น (starting rate) ว่าคนจบปริญญาตรีไม่มีประสบการณ์ก็จะเริ่ม (start) ที่เท่านี้ จริง ๆ ตรงนี้สามารถที่จะบอกได้ว่าเราอยากได้เท่าไรแต่มันก็ต้องอยู่ในระดับที่พอประมาณที่องค์กรของเขาให้ได้ด้วย ซึ่งตรงนี้หากผู้เข้าสัมภาษณ์หรือผู้สมัครแสดงเหมือนกับว่าต้องการเงินเดือนที่สูง ก็จะถามให้รู้ว่าที่ผู้สมัครเขาคาดหวัง (expect) มาก ๆ นี้ เพราะสาเหตุใด อาจเพราะมีภาระค่าใช้จ่าย เช่น เป็นเสาหลักให้กับที่บ้าน ผู้สมัครอาจมีความจำเป็นด้านการเงินจริง ๆ ต้องมีเงินเท่านั้นเท่านี้ถึงจะพอเลี้ยงครอบครัว อันนี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง แต่สำหรับบางคนเขาอาจมีใจรักที่จะทำงานในองค์กรที่ชอบ (incentive) มากกว่าจดจ่อ (focus) ที่เงินเดือน
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิช กล่าวว่า ถ้าตนเป็นผู้เข้ารับการสัมภาษณ์จริง ๆ ก็อยากจะเรียนว่า มหาวิทยาลัยก็เป็นหน่วยงานรัฐเหมือนกัน ถ้าเกิดคุณเป็น TA เป็นอะไรก็จะมีอัตรา (rate) ค่าตอบแทนตามระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เปิดเผย ถ้าหากเป็นหน่วยงานรัฐ อาจต้องทำใจมีแค่นี้ตามอัตรา เว้นแต่คุณจะทำงานอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วจะมีการจ่ายค่าตอบแทน คุณอาจจะต้องชั่งน้ำหนักเงินเดือนกับสวัสดิการ ถ้าเกิดเงินเดือนน้อยแต่สวัสดิการให้อะไรบ้าง ก็อาจต้องคิดประกอบกัน
ถ้าผู้สัมภาษณ์เขาเปิดโอกาสให้ถาม ตนเห็นว่าสามารถถามได้ เช่น ด้วยวุฒิการศึกษาเท่านี้และสวัสดิการมีอะไรบ้าง แต่ถ้าเขาไม่เปิดโอกาส ผู้สมัครก็ต้องพิจารณาว่าถ้ารับไม่ได้จริง ๆ ก็ไม่รับ ถ้าเป็นตน สมมติ เห็นเงินเดือนแล้วไม่โอเค ก็เงียบ ๆไว้ดีกว่า เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่ตัวเราว่าเราจะเซ็นสัญญาเพื่อเข้าทำงานหรือไม่ ถ้าเราไม่ทำก็ไม่เป็นไร ก็หาที่ใหม่ ถ้าใช่ พอรับได้ก็ไม่เป็นไรเราก็ต้องชั่งน้ำหนักดูเรื่องค่าใช้จ่ายประกอบด้วย แต่ถ้าเรามีค่าใช้จ่ายที่สูงมากอยู่แล้ว หรืองานนี้ก็ไม่เหมาะสมกับเรา แต่ถ้าเขาถามคุณประมาณนี้โดยทั่วไปตนเข้าใจว่าเขาจะรับคุณอยู่แล้วเพราะเรื่องพวกนี้อยู่ในสัญญาจริง ถ้ารับได้ก็โอเค ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่ควรถาม
อ.ศุภวิช เข้าใจว่าปัจจุบันหน่วยงานรัฐ บัญชีเงินเดือนก็ค่อนข้างเปิดเผยอยู่แล้ว ผู้สมัครจะทราบว่าเงินเดือนเท่าไร แต่ของเอกชนอาจจะต้องหาข้อมูล โดยตนค่อนข้างมั่นใจว่าจะกะเกณฑ์ไม่ได้เพราะหากไม่มีประสบการณ์อะไรเลยก็จะยากหน่อย เว้นแต่ผู้สมัครจะมีคุณสมบัติพิเศษ หรือ
บางทีระยะเริ่มต้น ผู้สมัครอาจจะไม่พอใจ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ถ้าเกิดมีความก้าวหน้า มีโอกาสเติบโตตรงนั้นตรงนี้ ผู้สมัครก็ชั่งน้ำหนักได้ว่าเหมาะสมกับตนเองหรือไม่ แต่ก็ไม่ควรถามเงินเดือนตรง ๆ ถามเป็นช่วงจะดีกว่า แล้วดูว่าโอเคไหม เทียบกับความก้าวหน้าความมั่นคง
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
สำหรับหน่วยงานของคุณเจนจิราเป็นลักษณะที่ปรึกษาประจำบริษัท (ถ้าหากมีคำถามเกี่ยวกับเงินเดือนต้องตอบอย่างไรนั้นตนอยากบอกว่า เรื่องนี้ควรศึกษามาก่อนว่าระดับเอกชนประมาณนี้ ประมาณเท่าไร ควรจะรู้ราคาตลาดก่อน
คุณเจนจิราให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องเงินเดือนว่าเป็นเรื่องต่างตอบแทน ผู้สมัครอยากได้องค์กรที่จ่ายให้เขาได้ ดังนั้น คนที่จะตอบได้ก็ต้องดูความต้องการด้วยว่าความต้องการตรงกันหรือเปล่า ถ้าหากรู้ราคาตลาดว่าเท่านี้ 100 บาท แต่ผู้สมัครอยากได้ 120 ก็ต้องมีเหตุผลว่าเหตุใดถึงสมควรต้องได้เพิ่มมากกว่าคนอื่น ไม่ว่าตอบอย่างไรก็ตาม ผู้สมัครต้องมีเหตุผลว่าทำไมสมควรจะได้รับตรงนั้น มีความสามารถอะไรพิเศษหรือมีอะไรที่จะได้ตอบแทนเงินส่วนตรงนั้นมา
อีกเรื่องที่คุณเจนจิราให้ข้อสังเกตไว้คือ เป้าหมายของการถามบางทีผู้สัมภาษณ์ไม่อยากรู้ว่าเท่าไร แต่อยากรู้ว่าผู้สมัครประเมินตัวเองเท่าไรมากกว่า เหมาะสมกับสิ่งที่เห็นหรือไม่ อยากรู้ว่าประเมินตัวเองแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เท่ากับที่ผู้สัมภาษณ์คิดหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่มีคำตอบตายตัว ก็ต้องตอบไปตามความเป็นจริงแต่ก็ต้องอิงจากราคาตลาดไม่ให้มันสูงเกินไปนัก
สำหรับตนเห็นว่า ถ้าเป็นเอกชน ตนไม่อยากให้ตอบต่ำกว่าที่เราอยากได้ เพราะแสดงให้เห็นว่าเราประเมินตัวเองต่ำกว่าราคาตลาด อีกทั้งอาจจะมีผลต่อการต่อรองในอนาคต ตนเห็นว่าควรตอบในสิ่งที่เราอยากได้จะดีกว่า แต่ก็ต้องให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงสมควรที่จะได้รับ
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานน เห็นว่า คนที่จะไปสมัครงานใน law firm พอจะมีความคิด (idea) อยู่แล้วว่าควรจะได้เงินเดือนประมาณเท่าไร ตนต้องบอกก่อนว่าสำหรับ law firm อัตรา (rate) ของการที่จะรับนักศึกษาจบใหม่เข้ามาทำงานในระดับ (tier) เดียวกันไม่แตกต่างกันมาก แต่ละที่จะมีอัตราที่เป็นพื้นฐานของตนเองสำหรับนักศึกษาจบใหม่อยู่แล้ว และเป็นอัตราที่ปรับใช้บคนที่รับเข้ามาได้ทุกคน
ในแง่ของธุรกิจที่ปรึกษากฎหมาย ตนต้องเรียนว่าเรื่องเงินเดือนเป็นสิ่งที่แต่ละที่ให้ความสำคัญอยู่แล้วเพราะว่าทรัพยากรที่ปรึกษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และแต่ละที่ก็พยายามใช้อัตราแข่งขัน (competition rate) เรียกว่า ต้องเป็นอัตราที่สามารถดึงดูดทรัพยากรบุคคลเข้ามาทำงานได้ ทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่แต่ละที่อยากได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงคงไม่มีที่ไหนที่จะเสนอให้ต่ำและให้ไปต่อรองขอเพิ่ม
อีกประการหนึ่ง คือ ถ้ามีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าจะให้ตอบหรืออยากจะฟังความเห็นของผู้สมัครว่าเงินเดือนที่เรียกมันอาจจะสูงกว่าอัตราขององค์กรเขาหรือเปล่า ตนเห็นว่า หากมีความแตกต่างกันก็ไม่มีความแตกต่างกันมาก และแทบทุกที่ต้องมีโอกาสในการปรับขึ้นเงินเดือน มีโอกาสในส่วนของเงินโบนัส (bonus) อยู่แล้ว
ในเรื่องการสอบถามกลับ ถ้ามีบทสนทนา (conversation) นี้เกิดขึ้น ตนเห็นว่ามีโอกาสสอบถามกับคนที่สัมภาษณ์อยู่ เช่น เงินเดือนที่เสนอมาอาจจะไม่ได้สูงเท่าที่เรียกไป แต่ถ้าผ่านช่วงของการทดลองงานแล้วจะพิจารณาเพิ่มหรือไม่ หรือพิจารณาปรับเงินเดือนของที่นี้เป็นอย่างไร มี bonus อะไร อย่างไร
ในด้านของการต่อรอง (negotiate) เงินเดือนในมุมมองของการเป็นนักศึกษาจบใหม่ต้องเรียนตรง ๆ ว่าอาจจะไม่มีโอกาสมากขนาดนั้น อย่างที่เรียนว่าอัตรา ในตลาด (market) ค่อนข้างมาตรฐาน หมายความว่า law firm เองก็รู้ของ law firm อื่น หรือของเอกชนภาคอื่นว่าเป็นอย่างไร และเขาควรกำหนดอัตรา (rate) ตนเองอย่างไรที่ดึงดูดทรัพยากรบุคคลได้ เพราะฉะนั้นอยากให้จดจ่อ (focus) ในแง่การตอบคำถามและผลตอบรับ (feedback) ของเขามากกว่า
สำหรับคุณชานนแล้วเห็นว่า เรื่องเงินหากอยู่ใน law firm แล้วไม่น่าจะมีกรณีที่คาดหวังเงินเดือนไว้สูงมากและไม่ได้ตามหวัง ตนคิดว่ามันสะท้อนจากผลงานของผู้สมัคร และก็ในมุมมองของการเป็นน้องใหม่ ในมุมของคนเข้าไปฝึกงาน เข้าไปเรียนรู้งาน ตนอยากให้มองว่า ส่วนหนึ่งผู้สมัครทำงานได้รับค่าตอบแทนอีกส่วนหนึ่งผู้สมัครก็ได้เรียนรู้งานเช่นกัน
ประเด็น : การรับมือกับความตื่นเต้น
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณี กล่าวว่า วิธีการแก้ไขปัญหาความตื่นเต้น สิ่งแรกที่พอจะทำได้ คือ สวัสดีกรรมการก่อนเพื่อให้เรารู้สึกผ่อนคลายตัวเองและรอให้เขาเชิญนั่ง โดยปกติแผนกบุคคล (HR) ก็จะชวนคุยเรื่องทั่วไป เป็นเทคนิคทั่วไปที่เขาเข้าใจผู้สมัครว่าจะต้องมีความตื่นเต้นแน่นอน เขาก็จะพยายามชวนคุยให้เราผ่อนคลาย ตอนแรก ๆ เราอาจจะสั่นพูดจาแล้วเสียงสั่น พอเราเริ่มรู้สึกคุ้นกับกรรมการแล้วก็จะช่วยให้เราคลายความตื่นเต้นได้ สำหรับตนแนะนำว่า พยายามนึกให้เราเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เหมือนคุยกับพี่ พยายามคิดว่าเหมือนตอบคำถามคนที่เรารู้จัก และพยายามทำให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เรื่องการสบตา (eye contract) ต้องพยายามมองหน้ากรรมการทุกท่าน
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิชได้เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเรียนจบใหม่ ๆ โดยตนก็เป็นคนหนึ่งที่สั่นตลอดตอนสัมภาษณ์ วิธีการแก้ของตนในตอนนั้น คือตอนนั้นมันมีความกลัวว่าจะได้งานหรือไม่ หรือว่าคนที่มาสัมภาษณ์เราก็เป็นคนที่มีอายุมากกว่าเป็นรุ่นพี่ ดังนั้น ในเบื้องต้นเป็นเรื่องทั่วไป ถ้าเป็นเขาเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ก็ต้องมีความสั่นความกลัวอยู่เป็นธรรมดา ก็อยากให้พยายามคิดว่าทุกคนมันก็ผ่านจุดนี้มาเหมือนกันและคิดในใจว่า “โอเค เราก็มีจุดขายมีเรื่องนั้นเรื่องนี้ อาจจะเป็นผลการเรียน มีความรู้ หรือเราก็มั่นใจว่าเรามนุษย์สัมพันธ์ดี พยายามเป็นตัวของตัวเอง คิดว่าเขาเป็นคนแปลกหน้าแต่ก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายทั้งชีวิตก็ต้องเจอคนแปลกหน้าก็เหมือนเจอเพื่อน คนที่ถามคำถามส่วนใหญ่ก็พยายามสร้างบรรยากาศก่อน คิดในใจก็เหมือนคุยกับเพื่อนแต่ต้องสุภาพ” ตนคิดว่าประมาณนี้คงรู้สึกดีขึ้น พอคำถามที่ 2-3 ก็ไปได้สวย
อีกเทคนิค ถ้าเกิดบางทีการที่เราไปจ้องหน้าคนใดคนหนึ่งตลอดบางทีเขาอาจจะรู้สึกไม่ดี เราอาจจะกดดันด้วย ก็พยายามมองหลาย ๆ คนเปลี่ยนไปเรื่อง ๆ มองไปทางเขาแต่มองกำแพง แต่ตนแนะนำว่าการสบตาจะดีกว่า
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรากล่าวว่า ความตื่นเต้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ต้องสำรวจตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน เพราะเราไม่คุ้นชินกับสถานการณ์แบบนี้ หรือเราไม่มั่นใจในตัวเองเลย ก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ส่วนหนึ่งต้องแก้ไขก่อนหน้าที่จะไปสัมภาษณ์อาจจะซ้อมตอบคำถาม ซ้อมแนะนำตัวก็จะทำให้เราชินกับการตอบคำถาม พอเกิดสถานการณ์จริงก็จะช่วยลดความตื่นเต้นหรือประหม่า เพราะเราเตรียมตัวไปแล้ว อย่ากดดันตัวเองและพยายามหายใจเข้าออกช้า ๆ จะช่วยได้ สมมติ เราตื่นเต้นกับคำถามที่เราตอบไม่ได้เลยก็หายใจช้า ๆ และระหว่างนั้นประมวลผลก่อนค่อยตอบก็จะลดความตื่นเต้นลง
อีกเรื่องหนึ่ง ก่อนจะไปก็สำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจะช่วยลดความตื่นเต้น ความประหม่าลง เพราะถ้าหากเกิดไปไหนและรีบทำ จะทำให้เกิดความตื่นเต้น ก็ต้องมีสมาธิกับตัวเอง ดังนั้น วิธีการแก้คือหายใจเข้าออกเยอะ ๆ และให้กำลังใจตัวเอง อย่าไปกดดันตัวเอง พยายามคิดว่าคนสัมภาษณ์เหมือนรุ่นพี่ที่เรารู้จัก
แต่หากไม่กล้าสบตาก็มีเทคนิค คือ นักศึกษาก็มองที่จมูกก็ได้ แต่มองไม่ต้องมองนาน ก็อาจจะมองไล่ไปแต่ละท่าน
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานนได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบพบเจอในเรื่องของความประหม่าหรือความตื่นเต้น คือ เวลาสัมภาษณ์นักศึกษาฝึกงานช่วงหนึ่งเลยที่คิดว่านักศึกษาน่าจะกลัวหรือรู้สึกไม่อยากให้มาถึง คือ ส่วนของการตอบคำถามกฎหมาย เวลาที่ตื่นเต้นมากที่สุดก็คือตอบคำถามไม่ได้หรือไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรอีกที ดังนั้น ตนจึงอยากแนะนำให้นักศึกษาเตรียมตัวล่วงหน้าและสิ่งที่จะช่วยได้มากที่สุดเลยคือการเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นในลักษณะการหาข้อมูลการทบทวนเนื้อหาการพยายามทำให้เราชินกับบรรยากาศ บางคำถามอาจตอบไม่ได้ทันที ก็อาจจะขอเวลาลองทบทวน บางคำถามด้วยบรรยากาศของการสนทนา อาจจะตอบไปโดนถามกลับมาทันที โดยแย้งกลับมาอาจทำให้เรารู้สึกตกใจ
ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มจากกการทำใจไม่ตื่นเต้นค่อย ๆ คิดค่อย ๆ พูด แล้วก็เรื่องของเวลาทำความเข้าใจคำถามไม่ทำจะเป็นปัญหาก็ชวนก็อยากให้เราชวนสนทนา ชวนผู้สัมภาษณ์เขาคุยแลกเปลี่ยน
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์ กล่าวว่า ในเรื่องของความประหม่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน ทางแก้ที่ดีคือแก้ในตอนที่เรียนในมหาวิทยาลัย คือ นักศึกษาลองตอบคำถามในห้องเรียน อาจารย์ถามคำถามในห้องเรียน นักศึกษาลองเรียบเรียงคำตอบของตัวเองและตอบคำถามอาจารย์ นี่คือหนึ่งในการฝึกว่านักศึกษาจะสามารถถ่ายทอดคำตอบให้เพื่อนเข้าใจได้หรือไม่ โดยที่เป็นการตอบต่อหน้าคนเป็นจำนวนมากแน่นอนว่าไม่มีใครเริ่มได้ดีตั้งแต่ครั้งแรก แน่นอนคำตอบเราอาจจะถูกหรือผิด แต่การตอบจะทำให้นักศึกษาพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ได้มีการเรียบเรียง ได้คิดได้มีการฝึกทักษะที่จะถ่ายทอดไปยังทุกคนในห้องนั้นว่านักศึกษาสื่อสารได้ดีหรือไม่ ใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ปล่อยไปเป็นปัญหาของเขา แต่สิ่งที่ได้คือนักศึกษาได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น
นอกจากนี้การเข้ากิจกรรมทั้งหลายแม้จะไม่เกี่ยวกับวิชาการ แต่ก็มีสาระในตัวมันเอง เช่น กิจกรรมศาลจำลอง (Moot Court) กิจกรรม TU Chorus สามารถเสริมสร้างบุคลิกภาพโดยที่นักศึกษาอาจจะไม่รู้ตัว สามารถช่วยลดความประหม่าได้
ประเด็น : การเขียนอีเมลและเอกสารแนะนำตัว
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณี กล่าวว่า สำหรับการส่ง CV หรือใบสมัคร ในการสรรหาบุคคล (recruit) จะดึงใบสมัครขึ้นมาตรวจดู โดยจะดูตัว CV ก่อนว่ามีความดึงดูดอยากเรียกมาสัมภาษณ์หรือไม่ ความน่าดึงดูดจะเริ่มจากรูปถ่าย ในเรื่องรูปถ่าย หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกฎหมายต้องการความเป็นมืออาชีพ (professional) รูปถ่ายควรเป็นรูปที่เรียบร้อย อย่างน้อย ๆ ก็สามารถเอารูปนักศึกษาได้เลย แต่ตนที่ไม่แนะนำคือ ผมมี 2 สี จะดูไม่เรียบร้อย หรือถ้ารูปที่ผมไม่เรียบร้อยก็ไม่ควรเอามาใช้
ส่วนรูปแบบ (template) CV ก็มีให้ดาวน์โหลดในอินเทอร์เน็ตได้เลย ส่วนในเรื่องภาษาจริง ๆ องค์กรของตน ไม่ว่าไทยหรืออังกฤษก็ได้หมด แต่ว่าส่วนใหญ่ที่เห็นจะส่งเป็นภาษาอังกฤษ และก็ใน CV สิ่งสำคัญ คือ ช่องทางการติดต่อ ชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์
เรื่องอีเมล ถ้าชื่อแปลกไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก (mind) แต่ก็ควรสุภาพสักนิด ส่วนประสบการณ์ทำงาน ถ้านักศึกษาจบใหม่ก็จะไม่มีประสบการณ์ทำงาน ตนแนะนำให้ใช้ประสบการณ์ฝึกงาน กิจกรรมหรือโครงการ (project) ต่าง ๆ ที่เคยทำในมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ใน CV ก็จะระบุเรื่องงานอดิเรก มีความสนใจอะไรก็จะบ่งบอกว่านักศึกษาทำกิจกรรมหรือมีความสนใจด้านไหน นอกจากนี้ในการเขียนอีเมล ขอให้ใช้ภาษาสุภาพและเขียนให้ชัดเจนว่าผู้เขียนมีเป้าหมายและจุดประสงค์อะไร
และตัว CV ต้องเขียนให้น่าดึงดูดว่า ตัวผู้เขียนเองมีความเหมาะสมกับองค์กรที่สมัครอย่างไร และ CV เวลาส่งไปแต่ละที่ต้องให้ปรับให้เข้ากับแต่ละองค์กร
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรา กล่าวว่า เรื่องใบสมัครแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องรูปแบบกับเรื่องเนื้อหา
1. เรื่องรูปแบบ ธีม (theme) สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ (website) แต่ก็ต้องดูธีม (theme) ของงานที่สมัครด้วย ถ้าในธีม (theme) กฎหมายก็เลือกสีที่เป็นทางการ สบายตา ให้เห็นหัวข้อทางการชัด ประสบการณ์ วุฒิการศึกษา รายละเอียดส่วนตัว เห็นแล้วอ่านง่าย และต้องตรวจสอบ (check) คำผิดด้วย เพราะเป็นเรื่องที่มีเวลาเตรียมตัว มีเวลาตรวจสอบก่อนที่จะส่งมา เพราะฉะนั้นควรถูกต้อง ไม่พิมพ์ผิด
2. เรื่องเนื้อหาจะต้องมีเนื้อหาที่สำคัญครบถ้วน แต่ที่สำคัญที่ต้องมีคือ ชื่อ การติดต่อ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ ถ้าเป็นนักศึกษาก็กิจกรรมในมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่าง แต่ใส่ในสิ่งที่นักศึกษาคิดว่าเหมาะสมกับงานนี้ และกระชับด้วย
ในส่วนของรูปถ่าย สำหรับตนจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีจะโดดเด่นเพราะมีรูป
ในส่วนของเนื้อหา อาจจะบอกขอบเขตงานที่สนใจให้เหมาะสมกับบริษัทนั้น ๆ ถ้าหากนักศึกษารู้ว่าตำแหน่งที่เขาต้องการคือให้เข้าไปทำงานส่วนนี้ ก็คือนักศึกษาสนใจงานประเภทนี้
เรื่องการเขียนอีเมล (email) อาจจะต้องฝึกฝน สำหรับที่อยู่อีเมลที่ใช้ส่งควรแยกเลยว่าเป็นอีเมลสมัครงาน คือ เป็นอีเมลที่เหมาะสม เป็นชื่อใครเป็นคนส่ง บางที่อาจไม่เคร่งครัดมาก (serious) ส่วนหัวเรื่องอีเมลต้องใส่ทุกครั้ง เนื้อหาอีเมลต้องเขียน ไม่ใช่ส่งไฟล์มาอย่างเดียว และตั้งชื่อไฟล์ให้ชัดเจนว่าไฟล์ไหนคือไฟล์อะไร ต้องมีคำลงท้าย มีชื่อระบุว่าเป็นใคร มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ไฟล์ที่แนบต้องเช็คก่อนส่งทุกครั้งว่าเนื้อหาครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดเป็นอย่างไร
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานน กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ตนเน้นย้ำว่าไม่ว่าจะเป็น CV หรือเอกสารอะไรก็แล้วแต่ ที่จะส่งให้บริษัทหรือเอกสารที่สมัครงานอันเป็นด่านแรกที่ทำให้รู้จักเรา และจะสร้างความประทับใจหรือไม่ ตัวเนื้อหา รูปลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏทั้งหมดเป็นส่วนที่แสดงความเป็นตัวเรา มีส่วนพอสมควรไม่มากก็น้อย ดังนั้น ตนจึงอยากให้สนใจและใส่ใจในรายละเอียดสักหน่อย
สิ่งหนึ่งจากประสบการณ์ที่เห็นคือ บางคนพยายามจะยึดเนื้อหาให้เยอะที่สุด ทำอะไรมาบ้างก็ใส่เข้าไปทั้งหมด ดังนั้น ในเรื่องสมัครงานตนอยากจะให้กรอง CV ที่คิดว่าเหมาะสมไม่ควรเกิน 2 หน้า สิ่งใดที่คิดว่าเป็นข้อดีข้อเสียก็นำเสนอให้ชัดเจน
อีกประการคิดว่าทุกที่คาดว่าจะเห็นใน CV คือ ความเป็นมืออาชีพ ความเป็นผู้ใหญ่ อะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในเอกสาร ไปจนถึงรูปแบบตัวอักษร (font) จนกระทั่งวิธีเรียงเอกสารทั้งหมดที่พอเห็นแล้วได้สร้างความประทับใจและทำให้เห็นว่าผู้สมัครใส่ใจรายละเอียดสะท้อนไปถึงบุคลิกในการทำงาน
คุณชานนแนะนำว่า CV ที่โดดเด่นจะต้องไม่มีความยาวมากเกินไป และ Art work ชวนให้คนอ่านอยากอ่านของคนนี้ก่อน (สบายตา หน้ากระดาษเรียบร้อย) ซึ่งการทำให้โดดเด่นมีหลายวิธี แต่ไม่ใช่อะไรที่ดูแล้วแปลกประหลาด
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ตนก็อยากให้ดูเรื่องคำถูก คำผิด เนื้อหาถูกต้อง อีเมลส่งถูกคน ทั้งหมดถ้าผิดพลาดไม่ได้ถึงขนาดให้เขาไม่สนใจเรา แต่ถ้ามีขึ้นมาแล้วแสดงให้เห็นข้อเสียของเราระดับหนึ่ง
ประเด็น : ความแตกต่างระหว่างเอกสารแนะนำตัวในการสมัครงานและการสมัครศึกษาต่อ
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิชแนะนำว่า เนื้อหาควรเป็นผลการเรียนกลุ่มวิชาที่ดี เพราะในปัจจุบันการเรียนต่อปริญญาโทก็จะเน้นวิชาที่ดีให้มันสอดคล้อง เช่น จะไปเรียนกฎหมายพาณิชย์ ถ้าคะแนนกฎหมายหุ้นส่วน เอกเทศสัญญา ดูไม่ดีก็จะขัดกันเอง แต่ก็ไม่เสมอไป จะต้องประกอบกับเอกสารอื่น ๆ เช่น SOP (Standard Operation Procedures) เราอาจไม่ดีแต่อยากพัฒนา แต่น้ำหนักไม่ค่อยดี เพราะต่างประเทศจะดูระยะยาวว่าสอดคล้องด้วยหรือไม่ การทำงาน ที่ทำงาน ประสบการณ์ แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดทุกอย่าง
โดยหลัก ๆ จะเป็น SOP มากกว่า คือ นำเสนอตัวเองอย่างไร ดีอย่างไร สอดคล้องกับผลการศึกษาหรือไม่ แต่สุดท้ายต้องมองว่า ผู้สมัครมีจุดขายอะไร ประกอบกับสถานที่ที่อยากได้ ประมาณไหน เช่น ไม่ได้มีการแข่งขันสูงมาก ถ้ามีการแข่งขันสูงก็ต้องมีจุดขายที่เพิ่มขึ้น บางทีคะแนนเราอาจจะไม่ดีก็ต้องไปวิชาที่ดี หรือเคยทำกิจกรรมอะไร และกิจกรรมมีผลกระทบ (impact) อย่างไร ภาษา แล้วแต่ที่ที่จะสมัคร เพราะเขาจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานอะไร จริง ๆ ต่างประเทศเขากำหนดไว้สูงอยู่แล้ว จริง ๆ แค่ผ่านเกณฑ์ไม่ต้องสูงขึ้นไปอีกแล้ว
สิ่งที่ อ.ศุภวิช แนะนำอีกอย่าง คือ ถ้าจะเรียนต่อทุกมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรือต่อปริญญาโทในประเทศไทย ทุกที่จะให้อาจารย์ที่เป็นบุคคลแนะนำ (recommend) เขียนว่าผู้สมัครดีอย่างไร นำมาเทียบกับ resume หรือ CV ว่ามันตรงกันหรือไม่ แน่นอนว่าต้องมีความสัมพันธ์ระดับหนึ่งกับอาจารย์บางท่าน อาจจะเพราะว่าตั้งใจเรียน ตอบคำถามในห้องเรียนบ่อย
ส่วนอีกคน คือ คุณทำงานมาหลายปี มีที่ทำงานก็อาจจะให้หัวหน้างานอีกคนเซ็นต์ด้วยก็ได้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์ กล่าวว่า ประเด็น CV เอกสารต่าง ๆ ในการส่งอีเมล จดหมายแนะนำ (letter of recommend) แน่นอนเลยว่าบางหน่วยงานไม่รู้จักเรามาก่อนก็อยากได้ผลตอบรับ (feedback) จากคนที่ไม่ใช่ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง เพราะอาจมีการเข้าข้างกัน ฉะนั้นจึงอยากได้จดหมายแนะนำ (letter of recommend) จากคนที่เป็นอาจารย์ แต่อาจารย์ที่จะเขียนให้นักศึกษาก็ต้องรู้จักกับนักศึกษาด้วย
อ.ดิศรณ์ กล่าวต่อไปว่า ข้อที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ในการเรียนออนไลน์จะมีแถบว่าใครมาเรียนบ้าง แต่หลายคนไม่อยากเปิดเผยตัวเองก็ตั้งชื่อเป็นจุดบ้าง เป็นภาษาเกาหลีบ้าง กลัวอาจารย์จะรู้ว่าเป็นใคร ตนอยากฝากนักศึกษาทุกคนว่ามันเป็นการไม่ค่อยให้เกียรติอาจารย์ที่เตรียมเนื้อหามาถ่ายทอดในห้องเรียน แต่ว่านักศึกษาเหมือนกับว่าไม่ให้เกียรติในการจะมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับอาจารย์ เป็นการสร้างบุคลิกภาพที่ไม่ดีและควรแก้ไขตัวเอง
และถ้าหากคนชื่อจุดมาเขียนจดหมายแนะนำให้ อาจารย์ก็ไม่รู้ว่าจะเขียนให้ได้อย่างไร เพราะว่าอาจารย์ไม่ได้รู้จักนักศึกษาเลย ก็ไม่มีข้อมูลในการเขียนคำแนะนำให้ แน่นอนว่าอาจารย์ไม่ได้คาดหวังให้นักศึกษามาสนิทกับอาจารย์มาก แต่การที่นักศึกษาได้พูดคุยกับอาจารย์เป็นการพัฒนาบุคลิกด้วยว่าการคุยกับผู้ใหญ่ต้องวางตัวแบบไหน
ประเด็น : การรับมือกับคำถามซึ่งกดดัน
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณี กล่าวว่า สำหรับคำถามที่สร้างแรงกดดันในห้อง โดยส่วนตนไม่เคยเจอคำถามแบบนั้น แต่ที่เคยฟังมาแม้แต่ในองค์กรเองเวลาสัมภาษณ์ เคยได้ยินเหมือนกันที่ทดสอบความกดดันที่ทำให้ผู้สมัครร้องไห้ในห้องได้เลย ดังนั้น ก่อนสัมภาษณ์ให้ผู้สมัครคิดว่ามีคำถามที่กดดันตัวเองแบบนี้ได้เสมอ
สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน บางทีอาจจะประเมินไม่ถูกว่าการทำงานต้องเจอกับอะไรบ้าง ดังนั้น ตัวคำถามหรือความกดดันในห้องเป็นหนึ่งสิ่งที่ดูว่านักศึกษาผู้สมัครสามารถทำงานจริงได้หรือไม่ ก็ให้คิดอยู่เสมอว่าคำถามนี้เป็นการทดสอบ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือพยายามควบคุมอารมณ์ให้ได้ อย่าไปมีความรู้สึกร่วมกับคำถามพวกนี้ พยายามตั้งสติให้ได้ พยายามตอบอะไรที่ใช้สติมาก ๆ อย่าไปตอบโต้อะไรมาก ๆ
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิช กล่าวว่า คำถามพวกนี้ผู้สมัครอาจจะไม่ตอบก็ได้ แต่ก็ต้องพูดอย่างสุภาพว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ทราบหรือไม่มีข้อมูลหรืออื่น ๆ แต่ว่าคำถามนี้ไม่ได้วัดอะไรมากในเรื่องความรู้ ความสามารถ จริง ๆ แค่วัดว่า ผู้สมัครทนได้หรือไม่เท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคำตอบ คือ ผู้สมัครต้องควบคุมตัวเองให้ได้ ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้อันนี้จบเลย แต่ท้ายที่สุดคือการทำงาน ไม่มีใครมาทำร้ายได้เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่ดีที่สุด คือ ควบคุมตัวเองให้ได้ ให้คิดว่าเหมือนคุยกับเพื่อน อีกหนึ่งเรื่อง คือ อย่าร้องไห้ อย่าแสดงกริยาที่ไม่ดี
ในทางกลับกัน ถ้าคำตอบนี้ได้คะแนนก็จะบวกไปเยอะเลย ถ้าผู้สมัครเป็นคนควบคุมตัวเองเป็น เพราะในการทำงานเราก็ต้องแยกมุมมองเรื่องส่วนตัวออกจากการทำงาน อาจต้องทำงานกับคนที่ไม่ชอบ ก็ต้องควบคุมตัวเองให้ได้
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรา กล่าวว่า คำถามที่ทำสอบความกดดัน นักศึกษาต้องระลึกเสมอว่า ผู้สัมภาษณ์ต้องการทดสอบความกดดันจริง ๆ ไม่ต้องการที่จะดูคำตอบว่าผิดหรือถูก เขาดูปฏิกิริยาของผู้สมัครต่อสิ่งนั้น ตนแนะนำว่านักศึกษาต้องเตรียมตัว เตรียมใจก่อนสัมภาษณ์ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แน่นอนและอาจจะมีคำถามแบบนี้เกิดขึ้น ถ้ามี อย่าไปความรู้สึกร่วม เพราะเขาต้องการทดสอบความกดดันและจัดการกับอารมณ์ ถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์นี้ เราก็จะตอบได้โดยที่ไม่แสดงอารมณ์หรือสิ่งที่ไม่ควรจะแสดงออกไป ไม่ว่าวาจา ท่าทาง กริยาที่ไม่เหมาะสม
คุณเจนจิราเล่าถึงสถานการณ์ที่กดดันมาก ๆ เช่น คำถามที่ไม่สามารถตอบได้และจำกัดเวลาตอบ เช่น 30 วินาที และผู้สัมภาษณ์นั่ง 10 คนในห้อง อีกทั้งยังกล่าวว่าถ้าเป็นนักกฎหมายต้องตอบได้ ก็ต้องเข้าใจเป้าหมายเขาว่าต้องการอะไร ถ้าผู้สมัครรู้เป้าหมายของผู้สัมภาษณ์ เขาก็ทำอะไรไม่ได้
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานน กล่าวว่า ในเรื่องของการสร้างความขัดแย้ง (conflict) ในการสัมภาษณ์อีกมุมหนึ่งเป็นการทดสอบ คือ ผู้สัมภาษณ์ต้องการมองหาวิธีการแก้ปัญหาของผู้สมัคร คือ อยากเห็นปฏิกริยา (reaction) ว่ามีการตอบสนองเป็นอย่างไรต่อความกดดัน อีกเรื่อง คือ ผู้สัมภาษณ์มีความเป็นมืออาชีพพอที่จะรับมือกับแรงกดดันและสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่
ตัวอย่าง คุยกันไปคุยกันมาก็มีคำพูดที่รุนแรง เช่น ดูถูกความสามารถหรืออะไรก็แล้วแต่ วิธีการที่ดีที่สุด คือ การตอบโต้ด้วยเหตุผลอย่างมีสติ เป็นการแสดงให้เห็นความเป็นมืออาชีพและความเป็นผู้ใหญ่
ตนต้องเรียนว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะการทำงานจริง ๆ โดยเฉพาะงานที่ปรึกษากฎหมายมีความกดดัน (pressure) เรื่องต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ (emotion) ด้วย เป็นเรื่องปกติ จึงต้องรู้จักจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และผ่านไปให้ได้ ไม่กลายเป็นว่าเอาตัวเองเข้าไปเป็นความขัดแย้ง (conflict) เสียเอง อันดับแรกคือ พยายามตั้งสติและพยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้น พยายามแก้ไขปัญหาตัวนั้นให้ได้
ประเด็น : สิ่งที่วิทยากรอยากฝากถึงนักศึกษา
คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คุณเบญจญาณี กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากถึงนักศึกษา คือ หนึ่ง ตอนนี้ที่กำลังเรียนอยู่ก็ให้ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ ทำคะแนนให้ดี ๆ เพราะใบเกรดติดตัวเราไปตลอดชีวิต เหมือนคำพูดที่ว่า “profile ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”
เรื่องการเข้าทำกิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เพราะทุกองค์กรจะสอบถามถึงการเข้าทำกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา นักศึกษาเข้าร่วมหรือทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมบ้าง โดยเฉพาะวิชาชีพนักกฎหมายที่ต้องมุ่งประโยชน์สังคมที่ดีสำคัญ การเข้าร่วมโครงการหรือฝึกงานทั้งหมดมีประโยชน์ทั้งหมด นักศึกษาจึงต้องเก็บไว้
ในเรื่องการเตรียมตัว นักศึกษาต้องทุ่มเวลาให้เต็มที่ นักศึกษาต้องคิดเสมอว่าในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง นักศึกษามีโอกาสเพียง 1 ครั้ง ในแต่ละครั้งจึงต้องทำเต็มที่ให้ได้มากที่สุด แสดงให้เห็นความมุ่งมั่น (passion) การปรับตัวหรือพร้อมเรียนรู้งานสิ่งใหม่ ๆ เสมอ
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ศุภวิช กล่าวถึงในช่วงมหาวิทยาลัย เรื่องเกรดก็ทำให้ดีที่สุด พลาดบ้างอะไรบ้างก็ไม่ต้องเสียใจ ก็ทำให้เต็มที่ดีกว่า เรื่องการเข้าห้องเรียน เรื่องอื่นๆก็ไม่ได้บังคับเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น แต่ในความเป็นจริงการเข้าห้องเรียนก็ทำให้รู้จักอาจารย์ เรื่องการตอบคำถามก็เป็นการฝึกฝนตัวเองแบบหนึ่ง
ถามว่านักศึกษาอยู่เฉย ๆ ไปสอบอย่างเดียวได้หรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่นักศึกษาทำได้ แต่นักศึกษาก็อาจจะพลาดโอกาสบางอย่างในชีวิตการเรียน
ในอดีตนักศึกษาอาจจะพลาดไปหรือไม่ดีตรงไหน นักศึกษารู้ตัวก็จะไปแก้ไขได้ เพราะหลังจากที่นักศึกษาเรียนจบไป ก็ไม่มีใครมาสอนแล้วเพราะที่ทำงานเขาก็คาดหวังว่านักศึกษาจะมาทำอะไรให้กับเขา
เวลา 4 ปี พอผ่านไปก็ไม่มีอะไรแล้ว ถ้าเกิดเหลือเวลาอยู่ก็ไปทำกิจกรรม กิจกรรมจะสร้าง profile ให้นักศึกษา และทุกกิจจกรมมีประโยชน์หมด แม้กิจกรรมนั้นไม่ได้บอกว่านักศึกษาเชี่ยวชาญเรื่องนั้นเรื่องนี้
เมื่อจบการศึกษาไป ก็สามารถพูดได้ว่านักศึกษาอยากทำงานอะไร และนักศึกษาผ่านกิจกรรมตรงนั้นตรงนี้ แต่ก็เอาเรื่องการเรียนก่อน ส่วนเรื่องบุคลิกภาพฝึกได้เสมอ นักศึกษาจะได้ประโยชน์จากการเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้เต็มที่
คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
คุณเจนจิรา กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากให้ทำ คือ นักศึกษาลองเขียน resume ไปเลยว่าเขียนได้หรือไม่ และนักศึกษามีข้อมูลที่จะนำเสนอใน resume มากน้อยแค่ไหน ถ้านักศึกษาขาดอะไรก็ไปเก็บเกี่ยวมันมา ถ้านักศึกษาขาดกิจกรรมก็ไปทำ ถ้าเกรดไม่ดีก็พยายามเรียนให้ดีขึ้น
ให้นักศึกษาพยายามมองภาพว่าอยากให้ผู้สัมภาษณ์เห็นอะไรในตัวเราที่อยู่ใน resume ส่วนเรื่องของการทำกิจกรรมนอกจากเป็นการเสริมทักษะอื่น ๆ แล้วยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น (connection) ด้วยว่านักศึกษาเป็นคนที่รู้จักคนในคณะ บางทีทำกิจกรรมมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการก็จะได้รู้จักกับอาจารย์มากขึ้น
นักศึกษาที่อยู่ปี 3 และปี 4 ก็พยายามสอบภาษาหรือการสอบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ก็ลองสอบดูไว้เพื่อยื่นตอนสมัครงาน บางทีถ้าคะแนนยังไม่ดี ก็จะได้พยายามสอบเพิ่มเผื่อจะต้องใช้ยื่นในอนาคต
กล่าวโดยสรุป คือ ให้นักศึกษาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกอย่าง สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น (connection) และการฝึกภาษา
คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
คุณชานน กล่าวว่า อยากให้กำลังใจนักศึกษาทุกคนที่กำลังจบออกมาและกำลังเตรียมตัวหางานหรือฝึกงาน
ตนอยากให้คิดว่าเป็นประสบการณ์ของนักศึกษาและอย่าไปคิดว่านักศึกษาไม่มีความสามารถ ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับความสนใจ ถ้านักศึกษาเตรียมตัวมาดีทำมาพร้อม ก็มีโอกาสสำหรับนักศึกษาแล้ว ถ้านักศึกษาเตรียมตัวมาดีก็อย่าไปตัดโอกาสตัวเอง มีโอกาสให้ลองก็อยากให้เข้าไปลองเข้าไปทำงาน อยากให้มีความมั่นใจ คว้าโอกาสทุกอย่างที่เข้ามา อย่าตัดโอกาสตัวเอง อย่าดูถูกตัวเอง บางทีผู้อื่นเขาอาจจะมองเห็นคุณสมบัติของตัวนักศึกษาซึ่งบางทีตัวนักศึกษาอาจจะมองไม่เห็น
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ดิศรณ์ กล่าวถึงเรื่องการสัมภาษณ์งานว่า วิทยากรทุกท่านพูดได้คลอบคลุมแล้ว สิ่งที่ตนอยากจะฝาก คือ เรื่องการพัฒนาตัวนักศึกษาเองในขณะเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาต้องไม่กลัวที่จะผิดพลาด นักศึกษาผิดพลาดได้เยอะเพื่อที่จะเรียนรู้ได้มากที่สุด นักศึกษาผิดพลาดในเรื่องการเรียนอย่างมาก นักศึกษาก็สอบตก นักศึกษาก็จะรู้ว่าตัวเองมีข้อผิดพลาดตรงไหนเพื่อที่จะได้แก้ไขให้ได้เต็มที่
การที่นักศึกษาไม่กลัวและเรียนรู้จากความผิดพลาดจะทำให้นักศึกษาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา และนักศึกษาก็จะเป็นตัวของตัวเองในรูปแบบ (version) ที่ดีขึ้น
สรุปสาระสำคัญการจัดอบรม Workshop on “Interview Skills for Professionals” (ทักษะการสัมภาษณ์อย่างมืออาชีพ) ซึ่งจัดโดยศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ทางระบบ Facebook Live Facebook Page : ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้กล่าวเปิดการอบรม
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
วิทยากร
- คุณเบญจญาณี คณากรเจริญสุข เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณเจนจิรา เชี่ยวชาญวิศวกิจ International Contract Division Manager, Charoen Pokphand Co., Ltd.
- คุณชานน อมรธาตรี Managing Associate, Linklaters Thailand
ผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กล่าวเปิดงานและแนะนำวิทยากร :
กล่าวสวัสดีและชี้แจงความสำคัญของการฝึกอบรมในครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องทักษะที่นักศึกษาควรจะมีก่อนเข้าสู่วิชาชีพการทำงาน ในครั้งนี้จะมาพูดคุยเรื่องทักษะซึ่งเป็นเรื่องเล็กที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่จะขาดไปไม่ได้ในการสมัครงานตามหน่วยงานหรือการเข้าสู่การทำงาน และขั้นตอนการสัมภาษณ์งานอันเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพมากที่สุดเข้าทำงาน
โดยวันนี้ได้เชิญวิทยากรในหน่วยงานต่าง ๆ มาแนะแนวการสัมภาษณ์งานเพื่อเข้าสู่วิชาชีพ ๆ ไม่ว่าจะด้านกฎหมายโดยตรงหรือไม่ จากนั้นก็ได้กล่าวแนะนำวิทยากร