“ความรับผิดของรัฐต่อความเสียหายในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน”
ผู้เขียน รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นับแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วประเทศ โดยอาศัยอำนาจจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ เพราะเหตุแห่งการระบาดของโรคโควิด ๑๙ รัฐบาลได้ออกข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งหลายฉบับ รวมทั้งใช้อำนาจหลายประการในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในบางครั้ง เกิดประเด็นปัญหาว่า รัฐบาลได้ดำเนินการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือได้ละเลยหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการกระทำที่เป็นปัญหาดังกล่าวข้างต้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน จะมีผู้ใดรับผิดต่อปัญหาข้างต้นหรือไม่เพียงใด
ต่อประเด็นที่กล่าวมา มักมีผู้เข้าใจว่า การใช้อำนาจของรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการใช้อำนาจในสถานการณ์เฉพาะหรือสภาวะยกเว้นที่รัฐจะไม่ถูกตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ความเข้าใจข้างต้นนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายยังคงให้รัฐรับผิดต่อความเสียหายจากการใช้อำนาจในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายตามลำดับ ดังนี้
๑. รัฐต้องรับผิดจากกฎหมายใด
มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ไม่ได้บัญญัติห้ามนำพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาใช้บังคับ ทั้งยังบัญญัติชัดว่าผู้ได้รับความเสียหายยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ได้ เพราะฉะนั้น รัฐซึ่งหน่วยงานที่ดำเนินการในนามของรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ปัจจุบัน ก็คือ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด – ๑๙) หรือที่มักเรียกว่า ศบค. จึงอยู่ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งถูกนำไปพิจารณาเรื่องความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจในสถานการณ์ดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ศบค. ณ ขณะนี้ ได้ย้ายมาจากสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็นหน่วยงานพิเศษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่มีสถานะซึ่งไม่ได้สังกัดกระทรวงหรือกรมใดโดยตรง ดังนั้น หน่วยงานที่จะต้องรับผิดต่อความเสียหายอันสืบเนื่องจากการดำเนินการของ ศบค. คือ กระทรวงการคลัง ตามมาตรา ๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
ทั้งนี้ การพิจารณาความรับผิดของหน่วยงานข้างต้นต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนย่อมเป็นไปตามหลักความรับผิดเรื่องละเมิด ซึ่งมีหลักเกณฑ์ทั่วไปที่สำคัญอยู่ในมาตรา ๔๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะต้องเริ่มต้นจากการปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ในกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่จนมีผู้ได้รับความเสียหาย เช่น ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังการแพร่กระจายของโรค (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ. ๑๕๑๗๑/๒๕๕๖) ประมาทเลินเล่อในการดูแลความปลอดภัยหรือสถานที่จนทำให้มีผู้ติดเชื้อ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๓๘๓/๒๕๕๘) ขาดความระมัดระวังในการเฝ้าระวังผู้มีความเสี่ยง (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๔๒๗/๒๕๕๕)
๒. เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการต้องรับผิดต่อผู้เสียหายด้วยหรือไม่
ผู้เสียหายไม่อาจฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับคำสั่งหรือมีหน้าที่บังคับอยู่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ นอกจากนั้น มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ยังกำหนดบทคุ้มครองสำทับให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งอีกด้วย
๓. ผู้เสียหายต้องฟ้องใครให้รับผิด
แม้ผู้เสียหายจะไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่อย่างไรก็ดี หน่วยงานผู้รับผิดชอบต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ใน ศบค. คือ กระทรวงการคลัง ที่จะต้องเข้ามารับผิดโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนแทนเจ้าหน้าที่ โดยผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีต่อกระทรวงการคลังในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อให้เยียวยาหรือชดใช้ต่อความเสียหายที่ได้เกิดขึ้น
๔. ศาลใดมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีสถานการณ์ฉุกเฉิน
แม้คดีฟ้องร้องให้หน่วยงานรับผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจะมีสภาพเป็นคดีปกครองที่โดยหลักย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่เนื่องจากมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไม่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เพราะฉะนั้น จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองไม่ได้ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปหากไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายอันเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน
๕. อายุความที่รัฐต้องรับผิดกี่ปี
ความรับผิดของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นความรับผิดต่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นความรับผิดที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนับอายุความตั้งแต่เกิดเหตุ ไม่ใช้หลักเรื่องอายุความ ๑ ปี ตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๘๑๓/๒๕๕๘ (ประชุมใหญ่), ๗๐๗๗/๒๕๖๐)
จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมดข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเขียนนี้จะทำให้ประชาชนหรือผู้ได้รับความเสียหายจากการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถเข้าใจได้โดยง่ายและได้รับประโยชน์พอสมควร