คณะนิติศาสตร์ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันโต้วาทีคณะนิติศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2563 ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/tulaw_debate_2563/) โดยทีมชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีม “นางฟ้า” ประกอบด้วย นันทสวัสดิ์ วงศ์เหรียญนิยม (เจเจ) ธัญชนก หิญชีระนันทน์ (มะลิ) และปิยวิทย์ หวังชูธรรม (พี) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันนี้เราจะไปพูดคุยกับทั้งสามคน ถึงความรู้สึกและประสบการณ์ในการแข่งขันโต้วาทีดังกล่าว
(จากซ้ายไปขวาในภาพ) นันทสวัสดิ์ วงศ์เหรียญนิยม (เจเจ) ปิยวิทย์ หวังชูธรรม (พี) และธัญชนก หิญชีระนันทน์ (มะลิ)
คำถาม (1) : เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน
นันทสวัสดิ์ (เจเจ) : “สำหรับเหตุผลที่สมัครเข้าแข่งขันก็เพราะตัวผมเองเป็นคนที่ชื่นชอบการพูด การโต้วาทีมาตั้งแต่มัธยมแล้ว จึงคิดว่าการโต้วาทีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ถ้าเราสามารถเป็นแชมป์ได้ ก็จะเป็นเกียรติกับตัวเองมาก เลยตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ครับ”
ปิยวิทย์ (พี) : “เหตุผลที่เข้าสมัคร คือ ส่วนตัวเป็นคนที่รักการสื่อสารตั้งต้นอยู่แล้ว ตอนมัธยมมีโอกาสได้ลองโต้วาทีอยู่บ้างจึงอยากจะลองมาโต้ในระดับมหาลัย ซึ่งการเริ่มต้นที่คณะก่อนก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีครับ เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นทีมโต้ในระดับ ธรรมศาสตร์ ในอนาคตครับ”
ธัญชนก (มะลิ) : “ในตอนแรกไม่ได้มีความตั้งใจหรือสนใจที่จะสมัครเข้าแข่งขันโต้วาทีเลยค่ะ เพราะคิดว่าตนเองมีความคิดว่าไม่มีความสามารถด้าน Public Speaking แต่เพราะเล่ห์เหลี่ยมและลูกตื้อจากเพื่อนร่วมทีมที่มาพูดว่า “แกทำได้เว้ย ๆ ๆ ๆ ถ้าทำไม่ได้เดี๋ยวก็มีเพื่อนช่วย” ก็เลยหลวมตัวมาสมัครเข้าแข่งขันในที่สุดค่ะ”
คำถาม (2) : การเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน
ปิยวิทย์ (พี) : “การเตรียมตัว เนื่องด้วยแต่ละคนในทีมนั้นมีภาระหน้าที่เยอะมาก ทั้งการเรียนรวมถึงทุกคนเป็นเด็กกิจกรรมที่งานแน่นมาก (หัวเราะ) ทำให้การใช้แพลตฟอร์ม Online เป็นส่วนสำคัญของทีมเรา รวมถึงก่อนแข่งเราจะหาเวลาเจอกันอย่างน้อย 3 ชม. เพื่อมาถกเถียงสิ่งที่ตัวเองเตรียมมา รวมถึงเดาใจฝ่ายตรงข้าม เพื่อเตรียมโต้แย้ง”
ธัญชนก (มะลิ) : “การเตรียมตัวในการแข่งขันโต้วาทีต้องยกความดีความชอบให้เพื่อนร่วมทีมทั้งสองคนเลยค่ะ เพราะดิฉันไม่มีประสบการณ์ในการโต้วาทีมาก่อน ในขณะที่เพื่อนร่วมทีมผ่านประสบการณ์การแข่งขันโต้วาทีมาอย่างโชกโชน เพื่อน ๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ดิฉันโต้วาทีเป็น เรียกได้ว่าสอนดิฉันตั้งแต่การตั้งประเด็น การเขียนบท การพูดเสนอ และการพูดค้านเลยค่ะ”
นันทสวัสดิ์ (เจเจ) : “สำหรับการเตรียมตัว ทีมเรามีเวลาเตรียมตัวน้อยมากในแต่ละครั้ง เนื่องจากแต่ละคนก็มีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเข้าร่วม จึงทำให้เวลาว่างไม่ค่อยตรงกันและทำให้มีเวลาเตรียมตัวน้อย แต่เนื่องจากสมาชิกในทีมส่วนใหญ่มีทักษะการพูดที่ดีอยู่แล้ว จึงทำให้ง่ายต่อการเตรียมตัว และถึงแม้จะมีเวลาในการมาเจอกันเพื่อเตรียมตัวน้อย แต่เราก็ยังใช้วิธีการคุยกันทางออนไลน์ และทุกครั้งที่มีการคุยกันก็จะจริงจังและตั้งใจทำให้ดีที่สุด เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่างมาคุยกัน”
คำถาม (3) : ปัญหาหรืออุปสรรคที่เจอระหว่างการแข่งขัน
นันทสวัสดิ์ (เจเจ) : “ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ คือ มีเวลาว่างไม่ตรงกัน และไม่ค่อยมีเวลาเตรียมตัวแข่งขัน เนื่องจากสมาชิกในทีมมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเข้าร่วม”
ธัญชนก (มะลิ) : “อุปสรรคแรกที่ดิฉันเจอคือความกลัวการพูดในที่สาธารณะค่ะ ความทรงจำที่ดิฉันจำได้คือการขึ้นโต้วาทีครั้งแรกของดิฉัน ดิฉันได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้นดังมาก ๆ ได้ยินทั้ง ๆ ที่ดิฉันกำลังพูดใส่ไมค์โครโฟนอยู่ และอุปสรรคที่สองในการแข่งขันคือเวลาค่ะ ในการตระเตรียมเนื้อหาสำหรับโต้วาทีในแต่ละรอบมีระยะเวลาให้เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ประกอบกับเวลาที่มักจะไม่ตรงกันของเพื่อนร่วมทีม จึงทำให้พวกเราแทบจะไม่มีเวลาได้เตรียมตัวด้วยกันค่ะ”
ปิยวิทย์ (พี) : “ปัญหาและอุปสรรค หลัก ๆ แล้วคือช่วงเวลาในการซ้อม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีเวลาเจอกันของเราแทบไม่มี สวนทางกับการโต้วาทีที่ต้องใช้การเตรียมตัวหนักมาก เวลาจึงเป็นอุปสรรคสำคัญครับ”
ปิยวิทย์ หวังชูธรรม (พี)
คำถาม (4) : ความรู้สึกเกี่ยวกับญัตติที่ได้รับในการแข่งขัน
ปิยวิทย์ (พี) : “สำหรับญัตติในแต่ละรอบ เป็นญัตติที่ดีครับ เป็นประเด็นที่น่าพูดถึงทั้งสิ้น อาจจะมีบ้างที่มันเป็นญัตติในแง่มุมเดิมๆ เช่น เล่นเรื่องสิ่งไหน มากกว่า ดีกว่า แต่ทุกญัตติก็ถือว่ามีแง่มุมที่น่าสนใจให้คิดให้หยิบมาโต้ได้ดีครับ”
ธัญชนก หิญชีระนันทน์ (มะลิ)
ธัญชนก (มะลิ) : “ถ้าให้พูดตามตรง ก็รู้สึกว่าญัตติยากค่ะ โดยเฉพาะญัตติในรอบชิงชนะเลิศที่ยากและเหมาะสมกับการโต้วาทีในคณะนิติศาสตร์ค่ะ เพราะญัตติมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และเป็นเนื้อหาของกฎหมายในส่วนที่นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ซึ่งในตอนนั้น ยังไม่ได้ศึกษาในชั้นเรียนค่ะ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายในการทำความเข้าใจและหาข้อมูลมากเลยค่ะ”
นันทสวัสดิ์ วงศ์เหรียญนิยม (เจเจ)
นันทสวัสดิ์ (เจเจ) : “รู้สึกว่าญัตติเป็นญัตติที่ท้าทาย เนื่องจากบางญัตติเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งเราเป็นนักศึกษาปีที่1 เพิ่งเคยจะเรียนกฎหมาย เลยอาจมีความรู้ที่ยังไม่มากพอ ทำให้ต้องศึกษาคว้าเพิ่มเติมในญัตติที่ได้รับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน
นันทสวัสดิ์ (เจเจ) : “สำหรับสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันคือ ได้รับความรู้และมุมมองใหม่ ๆ จากญัตติในแต่ละรอบ เพราะในแต่ละญัตติทำให้เราต้องสืบค้นข้อมูลอย่างละเอียดในเรื่องเหล่านั้น ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองและได้รับความรู้ใหม่ ๆ ที่สำคัญคือได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการโต้วาทีกับเพื่อน ๆ ในทีมครั้งนี้”
ปิยวิทย์ (พี) : “สิ่งที่ได้รับ คือ ประสบการณ์ครับ บรรยากาศที่ทำให้รู้ว่า การโต้วาที ในระดับอุดมศึกษานั้นต่างออกไปมาก เป็นการลองสนามในระดับอุดมศึกษาที่ดีมากเลยครับ มันตื่นเต้นก็จริงแต่มันก็ยังอยู่ภายใน คณะ ที่เรารู้สึกอบอุ่นไม่กดดันมากมาย มีเพื่อน ๆมาเชียร์ หรือแม้กระทั่งมีเพื่อน ๆ เป็นคู่แข่ง นั้นก็นำมาสู่สิ่งที่ได้ถัดไป คือได้เพื่อน ๆ ได้มิตรภาพทั้งกับเพื่อน ๆ และพี่ ๆ รวมถึงทำให้เราได้รู้จัก ชุมนุม ปาถกฐาและการโต้วาทีของมหาลัย ที่นำพาทีมของเราไปสู่ ระดับมหาวิทยาลัย ในการโต้วาที เฟรชชี่ ครับ เรียกได้ว่าถ้าไม่ได้การโต้วาที นิติศาสตร์ ในครั้งนั้นทีมของเราก็อาจจะไม่ได้มาไกลขนาดนี้ครับ”
ธัญชนก (มะลิ) : “สิ่งแรกที่ได้รับจากการแข่งขันโต้วาทีคือการก้าวออกจาก Comfort Zone ค่ะ จากที่ตอนแรกดิฉันกลัวการพูดในที่สาธารณะ เมื่อได้แข่งขันโต้วาทีแล้ว ดิฉันก็ค้นพบว่าดิฉันพูดในที่สาธารณะได้และยังมีความสามารถในการพูดมากกว่าที่คาดไว้ด้วยค่ะ และสิ่งถัดมาที่ดิฉันได้รับจากการแข่งขันโต้วาทีคือมิตรภาพค่ะ กิจกรรมโต้วาทีคณะนิติศาสตร์เป็นกิจกรรมแรก ๆ ที่นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งสามารถร่วมได้ จึงเป็นโอกาสที่ดิฉันและเพื่อน ๆ ที่เพิ่งรู้จักกันในช่วงเปิดเทอมจะได้ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความเห็น และสนิทสนมกันมากขึ้นค่ะ และสิ่งสุดท้ายที่จะไม่ได้รับจากกิจกรรมโต้วาทีไม่ได้เลย คือความสามารถในการคิดและการพูดค่ะ กิจกรรมโต้วาทีเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ประกอบกับวาทศิลป์ในการพูด การได้ร่วมกิจกรรมโต้วาทีจึงเป็นการได้ฝึกความสามารถทั้งสองประการค่ะ”
ถ่ายภาพ Film
เรียบเรียง KK