สรุปสาระสำคัญจากเสวนาสาธารณะ “บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30-16.00 น.
ผู้กล่าวเปิดงาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ปาฐกถานำ
- ปาฐกถานำ “How to Save Thailand’s Constitutional Democracy” โดย Professor Tom Ginsburg, Leo Spitz Professor of International Law, Ludwig and Hilde Wolf Research Scholar, Professor of Political Science, University of Chicago Law School ผู้แต่งหนังสือ “How to Save a Constitutional Democracy” (อ่านสรุปสาระสำคัญได้ที่โพสต์ “สรุปสาระสำคัญจากปาฐกถานำ “How to Save Thailand’s Constitutional Democracy” by Professor Tom Ginsburg”)
วิทยากร
- ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา/อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายหัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา (ผู้เรียบเรียง)
รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน (ผู้กล่าวเปิดงาน) :
กล่าวทักทายผู้ร่วมงานเสวนาในนามของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มกล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวคำพิพากษาของศาลที่จะไม่ได้มีผลเฉพาะคู่ความในคดี แต่ในหลายวาระโอกาส โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น คำพิพากษาของศาลอาจมีส่วนช่วยทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ในบางกรณีก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ ภายหลังจากนั้นก็กล่าวถึงประเด็น และแนะนำผู้ที่มีส่วนร่วมในการปาฐกถานำ และการเสวนา แล้วจบด้วยการแสดงความคาดหวังว่าผู้ร่วมงานจะได้รับประโยชน์ และนำไปสู่การช่วยคิดต่อไปว่าตุลาการจะมีบทบาทในการธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยื่นได้อย่างไร
รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของงานเสวนาซึ่งจะเป็นการนำความสัมพันธ์ระหว่างของสองคำที่มีความสำคัญในเสวนาครั้งนี้ คือ บทบาทตุลาการกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนนำเสนอหลักการ หรือวิธีการที่จะทำให้ตุลาการธำรงระบอบการปกครองให้ยั่งยืน โดยงานเสวนานี้เกิดขึ้นจากข้อสังเกตว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และตุลาการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสถาบันการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศ ภายหลังจากนั้นก็ได้แนะนำผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้
…………………………………..
การเสวนาช่วงที่ 1
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ :
กล่าวถึงที่มาที่ไปของการพิจารณาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยที่มาจากการขยายตัวของสังคมที่ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทด้วยตนเองอีกต่อไป และมีแนวโน้มให้บุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวมากขึ้น
ผู้พิพากษาในแรกเริ่มจึงมีลักษณะเป็นผู้ช่วยของพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้ที่ช่วยตัดสินคดีจะมีตำแหน่งที่เรียกว่า “มหาราชครู” และประกาศพระบรมราชโองการให้บุคคลสามารถเสนอชื่อคนที่สมควรจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นต้น ด้วยเหตุที่เป็นเพียงผู้ช่วยทำหน้าที่อำนาจตุลาการจึงยังไม่แยกออกจากอำนาจบริหาร แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจะมีระบบการศึกษากฎหมายใหม่ โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเป็นฝ่ายธุรการให้ศาล การก่อตัวของกลุ่มอำนาจตุลาการก็ปรากฏขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบกฎหมายจะถูกพัฒนาให้มีความสมัยใหม่ แต้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีอยู่ อันจะเกิดขึ้นในคดีที่มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น คดีที่เกิดในปี พ.ศ. 2466 ถึง พ.ศ. 2467 หรือปลายรัชกาลที่ 6 ซึ่งปรากฏว่าโจทก์เป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์กรุงเทพ อันทำให้จำเลยรู้สึกถึงความกังวลเกี่ยวกับความลำเอียง พระเจ้าอยู่หัวจึงมีคำสั่งให้ตั้งศาลรับสั่งพิเศษ และเมื่อได้อ่านถึงรายงานการพิจารณาคดีซึ่งเน้นย้ำถึงเรื่องความปราศจากอคติ หรืออินทภาษ พระองค์ก็ได้มีคำสั่งให้ศาลรับสั่งพิพากษาคดีไปตามที่ได้พิจารณาไว้
ต่อมาก็กล่าวถึงความเข้าใจใหม่ที่จะต้องเกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาเกี่ยวกับการตัดสินในพระปรมาภิไธยในภายหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์จะมีพระบรมราชวินิจฉัยสุดท้ายอีกต่อไป แต่ศาลทั้งหลายมีหน้าที่ต้องตัดสินคดีไปตามบทกฎหมายตามที่เห็นว่าเป็นความยุติธรรม โดยปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตา 188 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง โดยปรากฏถึงคำว่า ความปราศจากอคติ เช่นเดียวกัน ภายหลังจากนั้นจึงได้กล่าวถึงคำอภิปรายในปี พ.ศ. 2554 ของอรรถนิติ ดิษฐอํานาจ ซึ่งเป็นองคมนตรีในปัจจุบัน และเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งก็ได้เชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เพื่อยืนยันให้เห็นว่าการตัดสินภายในพระปรมาภิไธยได้เป็นไปตามที่กำหนดในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว กล่าวคือ เมื่อผู้พิพากษาได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ และถูกจับตามองจากคนทั้งหลายว่าเป็นการทำงานภายใต้พระปรมาภิไธย การตัดสินจึงต้องกอปรด้วยเหตุ กับผล อยู่บนกฎหมาย และปราศจากอคติ หากไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ระบบความศรัทธาของประชาชน และความยุติธรรมที่มีอยู่ในประเทศนี้จะสูญหายไป อันจะทำให้ความรู้สึกที่ไม่ศรัทธาเกิดขึ้นแก่สถาบันตุลาการ และเป็นธรรมดาที่จะส่งผลไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ท้ายที่สุด ระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ย่อมสั่นคลอนตามมา
ในช่วงช้ายของการเสวนารอบแรก ศาสตราจารย์พิเศษธงทองได้กล่าวถึงความสนใจที่มีต่อบทบาทของผู้พิพากษา หรือตุลาการในการตัดสินคดีสำคัญทั้งหลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคดีที่มีเรื่องราว หรือความขัดแย้งทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น คดีที่ตัดสินคดีบกพร่องโดยสุจริตในเมื่อหลายปีก่อน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 6/2564 ดุลพินิจในการตัดสินคดีอาญา หรือดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับคนที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี เป็นต้น ซึ่งต่างอยู่ในความสนใจของสาธารณะ
อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล :
กล่าวเปรียบเทียบปฏิกิริยาของสังคมในอดีตที่เป็นไปในทางบวกต่อศาลยุติธรรม ขณะที่ปัจจุบันกลับเสื่อมถอยลง แล้วค่อยกล่าวถึงชีวิตของผู้พิพากษา โดยเจาะจงในช่วงที่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาที่จะต้องผ่านการอบรมภาควิทยาการ และภาคปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนมีความไว้วางใจได้ว่าผู้พิพากษาจะตัดสินคดีอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม และปราศจากอคติ โดยจะประกอบด้วยสองเรื่อง คือ ความประพฤติ ยกตัวอย่างเช่น การเดินขึ้นบัลลังก์ หรือการแสดงสีหน้าระหว่างนั่งบนบัลลังก์ เป็นต้น และทิศทางการใช้การตีความกฎหมาย โดยความไว้วางใจก็มีความสำคัญอย่างที่ศาลจะต้องรักษา มิฉะนั้นคำพิพากษาของศาลที่ให้คุณ หรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถถูกตั้งข้อกังขาได้ตลอดเวลา
ในเรื่องทิศทางการใช้การตีความกฎหมายของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาจะต้องเขียนคำพิพากษาอย่างละเอียด และครบทุกประเด็น เพื่อให้คู่ความสามารถได้คุณ หรือรับโทษในข้อที่ควรได้รับ และสามารถยอมรับถึงผลแห่งคดีได้อย่างปราศจากข้อกังขาในท้ายที่สุด นอกจากนั้น ผู้พิพากษาควรจะต้องสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าอาจจะมีความผิดพลาดเกิดในการตัดสินคดีของตน ในกรณีที่คำพิพากษานั้นถูกแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากจากสังคม และยังปรากฏความคิดเห็นเชิงวิชาการอยู่ด้วย อีกทั้งไม่ควรมีปฏิกิริยาในทางลบแก่ประชาชนที่วิจารณ์ โดยเฉพาะการอาศัยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ไม่ได้มีขึ้นเพื่อผดุงเกียรติของผู้พิพากษา แต่เป็นไปเพื่อสังคม ความรวดเร็วในการพิจารณาคดี และความเรียบร้อยของผู้ที่มาศาล โดยตนก็เคยใช้ความผิดฐานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวจากการที่ตำรวจนำบุคคลภายนอกมาแทนจำเลยที่หลบหนี
ในตอนท้ายของรอบแรก อาจารย์สมลักษณ์ได้กล่าวทิ้งท้ายสิ่งที่จะต้องยืนยันว่า ผู้พิพากษาจะต้องไม่ยึดถือว่าตนเป็นเป็นความบริสุทธ์ยุติธรรมในตัวเอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล :
กล่าวถึงสิ่งที่ Prof. Dr. Tom Ginsburg กล่าวในช่วงปาฐกถานำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ ระบอบการปกครอง และเรื่องรูปแบบของประมุข แล้วจึงค่อยกล่าวถึงที่มาที่ไปของการนำสองคุณค่ามารวมกันซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ รธน. พุทธศักราช 2492 โดยการนำสองคุณค่ามารวมกันไว้เช่นนี้ได้ทำให้เกิดคำถามว่ามันเป็นสองเรื่องเหมือนเดิม หรือเป็นเรื่องเดียวกัน โดยช่วงที่มีการรัฐประหารหลายครั้งก็ได้ทำให้ประโยคหลังมีอิทธิพลเหนือประโยคแรกจนทำให้เกิดความสับสน และเข้าใจว่าอาจจะเป็นระบอบราชาธิปไตย แต่คำปรารภ และมาตรา 1 ใน พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในฐานะรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ก็จะทำให้เห็นว่าระอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ พระมหากษัตริย์ได้สละอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชน และทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง เพราะฉะนั้นแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะยังคงเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมาย หรือมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี กับผู้พิพากษา หรือตุลาการเฉกเช่นอดีต แต่พระมหากษัตริย์เป็นเพียงผู้ใช้อำนาจเชิงรับ หรือทรงโปรดเกล้าสิ่งที่ผ่านกระบวนการดำเนินการจนเสร็จสิ้นจากองค์กรต่างๆ มาก่อนแล้วเท่านั้น อันเป็นไปตามหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The king can do no wrong) ใน รธน. มาตรา 182
ด้วยเหตุนี้ การอาศัยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตาม รธน. มาตรา 5 เพื่อขอถวายฎีกาเพื่อให้ทรงเลือกนายกรัฐมนตรีพระราชทาน จึงไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นการกระทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ด้วยกันกับความขัดแย้งทางการเมืองเฉกเช่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยรัชกาลที่ 9 ก็ทรงตอบผ่านผู้พิพากษา และตุลาการที่ไปเข้าเฝ้าว่ามันไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
ส่วนบทบาทของศาลในการปกป้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นว่าศาลจะต้องเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการถูกใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายบริหาร แต่ศาลกลับใช้อำนาจหลายครั้งที่ไม่เป็นไปตามบทบาทดังกล่าว ตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่องการประกันตัวชั่วคราว เนื่องจากศาลยุติธรรมเป็นฝ่ายตุลาการที่แยกออกต่างหากจากตำรวจ และอัยการที่อยู่ในฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะตำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 6 พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ศาลจึงควรมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาภายหลังจากมีกระบวนการรับฟังข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย แต่ในหลายครั้ง ศาลยุติธรรมกลับมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั่วคราว โดยอ้างถึง “ความร้ายแรง หรือความหนักในโทษของคดีที่จำเลยถูกกล่าวหา” ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในการควบคุมของตำรวจ และอัยการที่อยู่ในฝ่ายบริหารทั้งสิ้น การมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นนั้นจึงเท่ากับศาลใม่ปฏิบัติตามหลักความเป็นอิสระของตุลาการ และยอมอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหารเสียเอง
เรื่องนี้ยังมีประเด็นต่อไปว่า เหตุเหล่านั้นล้วนไม่ได้อยู่ในเหตุที่จะสามารถใช้ในการปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เฉกเช่นเดียวกับการให้เหตุผลว่า “จำเลยเป็นผู้กระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลาย” หรือ “จำเลยอาจจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน” ซึ่งก็ควรเป็นเรื่องเงื่อนไขในการถอนประกันตัว อีกทั้งศาลก็เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว โดยระบุลงในใบคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวอันไม่ใช่หนังสือตามมาตรา 108/1 วรรคสอง นอกจากนั้น ยังมีข้องสังเกตว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 อาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะบทบัญญัตินั้นกำหนดเหตุที่ไม่ให้ประกันตัวถึง 5 เหตุ โดยมีเฉพาะเหตุเดียวที่เป็นไปตาม รธน. มาตรา 29 วรรคสาม ที่จะให้การควบคุม หรือคุมขังจะต้องเป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนีเท่านั้น ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เห็นว่าศาลไม่ได้ปฏิบัติตามหลักที่สำคัญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 188 อย่างสิ้นเชิง
ท้ายที่สุด การมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลในหลายครั้งจึงทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตของประชาชนว่าศาลได้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของบุคคลหนึ่ง และมีโปสเตอร์ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องดังกล่าว ตลอดจนการยืนประท้วงหน้าศาลฎีกาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยโปสเตอร์หนึ่งก็เขียนไว้อย่างเด่นชัดว่า “ราชอยุติธรรม” ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นเลยว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของศาลล้วนส่งผลถึงพระมหากษัตริย์ และการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แก่ผู้ตั้งข้อสังเกต ก็จะยิ่งตอกย้ำถึงข้อสังเกตนั้น
…………………………………..
การเสวนาช่วงที่ 2
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ :
กล่าวถึงหลักอินทภาษ หรือการปราศจากอคติ 4 ประการ ได้แก่ ฉันทะ โมหะ พยาคติ และโมหาคติ โดยเห็นว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเองที่จะต้องคอยสังเกต และพิสูจน์ตัวเอง โดยสิ่งที่จะทำให้คนเชื่อมั่นได้ว่าผู้พิพากษาและตุลาการปราศจากอคติจะประกอบด้วย 3 เรื่อง ดังนี้
1) การแสดงเหตุผลที่ละเอียด กระจ่างชัด และไม่คลุมเครือ ทั้งในทางบทกฎหมาย และข้อเท็จจริงในคำพิพากษา กับคำสั่ง โดยคดีเกี่ยวกับการเมืองหลายคดีในอดีตต่างก็ได้รับคำตัดสินที่มีรายละเอียดชัดเจน และไม่มีข้อถกเถียงกันในทางกฎหมาย ส่วนผลทางการเมืองก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่เรื่องการให้เหตุผลของศาลมักจะเป็นปัญหาที่เห็นได้ว่าคำพิพากษาของไทยมีบทบาทในฐานะสิ่งที่ผู้สอนให้นักศึกษาหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามมากกว่า
2) การวางตน ถึงแม้ว่าผู้พิพากษา หรือตุลาการจะมีสิทธิเสรีภาพในฐานะประชาชน แต่ผู้ตัดสินคดีไม่สามารถรักษาความประพฤติของตนไว้เพียงแค่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป เพราะสังคมได้มีสื่อที่คอยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงปฏิกิริยาที่ไม่เหมาะสมอยู่โดยไม่เลือกเวลา ประชาชนสามารถพบเห็นเป็นวงกว้าง และเก็บไว้ให้สามารถค้นพบได้ยาวนาน นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังเรียกร้องให้มีการเหลียวแล และเตือนสติในการวางตนของผู้พิพากษา หรือตุลาการคนอื่นด้วย เพราะการกระทำของแต่ละคนล้วนส่งผลต่อสถาบันตุลาการ
3) ความโปร่งใส่ของระบบ เรื่องนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อกลไกการทำงานของศาลอยู่ในความรับรู้ของประชาชน และเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล แต่ในระยะเวลานี้ แนวทางการทำงานของศาลหลายเรื่องไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของประชาชน และยังเคยปรากฏคดีที่สร้างข้อกังขาถึงเรื่องดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการจ่ายสำนวนคดี ซึ่งก็เคยเกิดเหตุที่แนวการตัดสินขององค์คณะในศาลชั้นต้นไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้พิพากษาในศาลที่อยู่สูงกว่า จึงเกิดการเรียกสำนวนคดีคืนจากองค์คณะดังกล่าว การที่คดีประเภทหนึ่งมักจะถูกจ่ายไปให้ผู้พิพากษาคนเดิมเสมอ หรือการที่คดีในบางข้อหาจะมีการพิจารณาคดีโดยลับ เป็นต้น
ในตอนท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา ได้กล่าวถึงสิ่งที่อยากฝากฝังไว้ 3 เรื่อง ดังนี้
1) การตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยของศาลย่อมทำให้ประชาชนเชื่อมโยงความผิดปรกติในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นธรรมดา โดยเฉพาะคดีที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
2) ถึงแม้ว่าตามกฎหมาย สิ่งเหล่านั้นจะผูกพันเฉพาะคู่ความเป็นหลัก แต่คำพิพากษา หรือคำสั่งในคดีในสายตาของสังคมย่อมสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยจะเห็นได้จากการประท้วงหน้าศาลฎีกาในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมา
3) ศาลควรวางบทบาทให้คอยตรวจสอบบทกฎหมาย กับการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารอยู่เสมอ มิฉะนั้นเรื่องราวจะเป็นไปตามที่ Prof. Dr. Tom Ginsburg กล่าวว่าหากศาลไม่สามารถเป็นที่พึ่ง ประชาชนก็จะไปพึ่งสิ่งที่อยู่นอกเหนือระบบกฎหมาย
อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล :
ได้ชี้แจงเกี่ยวกับระบบการจ่ายสำนวนในศาลที่จะกระทำผ่านการแบ่งผู้พิพากษาเป็นองค์คณะ และจะมีการมอบหมายบุคคลตามความชำนาญ และความสามารถ ผู้ที่อยู่ในองค์คณะเดียวกันกับผู้ได้รับมอบหมายก็จะเข้าร่วมพิจารณา และตัดสิน ในขณะที่เรื่องการเรียกคืนสำนวนก็ไม่สามารถกระทำโดยง่าย เพราะเรื่องดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 32 หรือมาตรา 33 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ คือจะต้องมีรองประธานศาล หรือรองอธิบดีศาลเสนอขึ้นมาว่าคดีดังกล่าวสมควรเปลี่ยนองค์คณะ พร้อมต้องให้เหตุผลที่เกี่ยวกับความยุติธรรมของคดี และแม้กระทั่งประธานศาลฎีกาเองก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเหล่านี้ได้ นอกจากนั้น พระธรรมนูญศาลยุติธรรมยังกำหนดอีกกระบวนการหนึ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการพิจารณาขององค์คณะ คือ การนำสำนวนเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ โดยจะมีเฉพาะศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อให้เกิดการถกเถียง และปรึกษา
ต่อมาได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าในสมัยที่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา ผู้พิพากษาต่างก็เคยมีความคิดว่าผู้ที่ถูกพิจารณาว่ามีความผิด จะต้องได้รับโทษสถานหนักทุกรณี ขณะที่ผู้พิพากษาในรุ่นปัจจุบันก็จะค่อนข้างไม่ทราบถึงเหตุที่มีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าว ในเบื้องต้น ผู้พิพากษาทั้งหลายจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวความคิดที่จะลงโทษอย่างหนักแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวในทุกกรณี โดยขอให้นึกถึงคดีของคุณอากงซึ่งเคยถูกศาลไม่ให้ประกันตัวชั่วคราวจนกระทั่งเสียชีวิตในเรือนจำ และขอให้ตระหนักถึงบริบทของสังคมในปัจจุบันที่คนพร้อมจะใช้มาตรา 112 เพื่อกำจัดผู้มีความเห็นต่างตลอดเวลา อันจะทำให้การบังคับใช้มาตรา 112 เป็นการดึงพระมหากษัตริย์ให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง
จากนั้นอาจารย์สมลักษณ์ได้กล่าวถึงบทบาทของศาลในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อศาลได้เปลี่ยนแนวทางการพิจารณามาตรา 113 ที่ถูกวางมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ไว้ว่าผู้กระทำรัฐประหารสำเร็จ ผู้นั้นย่อมมีอำนาจในการปกครอง ซึ่งก็ไม่ปรากฏบทกฎหมายใด ๆ รับรอง และทำให้เข้าใจว่าศาลอาศัยหลักรัฐศาสตร์ในการวินิจฉัยคดี ทั้ง ๆ ที่ ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทย์ เคยกล่าวเตือนอยู่เสมอว่าอย่านำเทศกาลบ้านเมืองมาวินิจฉัย เพราะไม่มีความแน่นอน โดยมีตัวอย่างของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง เช่น คำวินิจฉัยส่วนตนของนายกีรติ กาญจนรินทร์ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552 ซึ่งได้ปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือความพยายามในสมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาลฎีกาผ่านที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นต้น
เรื่องหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากความปราศจากอคติ คือ ความกล้าหาญ โดยควรคิดว่านอกจากการตัดสินตามกฎหมายอย่างกล้าหาญจะเป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว สังคมก็จะคอยเป็นกำแพงให้พิงแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญไม่ให้พบภัย ส่วนอำนาจที่สั่งการใดๆ ต่างก็ไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดไป ท้ายที่สุด ก็จะหมดไปในที่สุด และได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยสารของนายปัญญา ถนอมรอด อดีตประธานศาลฎีกา ในวันที่เปิดศาลแห่งใหม่ ซึ่งมีใจความว่า ศาลใหม่ที่มีขึ้นได้มาจากความดีที่บรรพตุลาการได้ทำไว้ อันทำให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากคนภายนอก จากนี้เป็นหน้าที่ของข้าราชการตุลาการ ศาลยุติธรรม ทั้งหลาย ที่จะทำให้อาคาร และสถานที่แห่งนี้ทรงคุณค่าสูงสง่างาม อันหมายถึงเป็นที่พึ่งที่ยอมรับนับถือของปวงชนชาวไทย และนานาชาติ โดยดำรงอยู่ในกรอบจริยธรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความอิสระ รวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงอย่างแท้จริง และเป็นรูปธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล :
กล่าวถึงความหมายของการพิจารณาตัดสินคดีในพระปรมาภิไธย โดยไม่ได้มีความหมายว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการเป็นผู้กระทำการแทนพระมหากษัตริย์เฉกเช่นในอดีต แต่เป็นสิ่งที่ดัดแปลงจากการให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยในทุกคดีที่มีข้อเสียในทางปฏิบัติเพื่อให้สามารถถือได้ว่าพระมหากษัตริย์ได้ใช้อำนาจผ่านองค์กรตุลาการเฉกเช่นเดียวกับที่พระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยในการตรากฎหมาย หรือในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี การตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยของผู้พิพากษา และตุลาการจึงไม่ทำให้ผู้นั้นได้รับการคุ้มครองจากหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The king can do no wrong) อย่างที่มีผู้พิพากษา หรือตุลาการจำนวนหนึ่งเข้าใจแต่อย่างใด เพราะตามหลักดังกล่าวได้ทำให้ทุกการกระทำของพระองค์เป็นเพียงการโปรดเกล้าในสิ่งที่ถูกเตรียมการมาก่อนแล้ว และทำให้ความผิดพลาด หรือความผิดใดที่เกิดขึ้นจะต้องพิจารณาที่ผู้เตรียมการ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์
ภารกิจของศาลที่่จะต้องทำเพื่อให้หลัก หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The king can do no wrong) เกิดขึ้น คือ ทั้งสามอำนาจต้องรับผิดชอบการใช้อำนาจด้วยตนเอง โดยการใช้อำนาจของศาลที่จะต้องรับผิดชอบด้วยตนเองก็เป็นการตัดสินคดีตามหลักใน รธน. มาตรา 188 วรรคสอง ซึ่งจะประกอบด้วย 5 หลักสำคัญ ได้แก่ ความเป็นอิสระ การตัดสินคดีอย่างอิสระโดยอยู่ภายใตรัฐธรรมนูญกับกฎหมาย ความรวดเร็ว ความเป็นธรรม และความปราศจากอคติทั้งปวง
ต่อมาผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญาได้กล่าวถึงข้อกังวลที่มีต่ออีกศาลหนึ่ง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่บทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญที่อยู่ไม่ได้อยู่ในหมวดศาล และไม่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 188 กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ จะมีเพียงบทบัญญัติที่ให้นำมาตรา 188 มาบังคับใช้โดยอนุโลมซึ่งก็มีปัญหา และในแง่การตัดสินคดีที่ปรากฏการให้เหตุผลที่สร้างผลกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าง
เรื่องพิจารณาที่ ต.37/2562 ซึ่งยกคำร้องเกี่ยวกับการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตาม รธน. มาตรา 161 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเหตุผลที่เรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ หรือการเขียนคำวินิจฉัยในลักษณะที่เหมือนจะเรียบเรียงเพื่อไปสู่ธงของคดีที่ตั้งไว้แล้วเสียมากกว่าดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ซึ่งเป็นเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่เพียงเพราะเรื่องการกู้ยืมเงินเท่านั้น
ภายหลังจากนั้น ก็ชวนตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงเกิดความเข้าใจว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกำลังถอยหลังกลับไปยังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่เห็นได้จากข้อความของผู้ประท้วงที่ระบุว่า “We don’t want absolute monarchy ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยเห็นว่ามีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่
1) การหยิบยกพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอ้างของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มีหลายครั้ง
2) สภาพอำนาจตุลาการที่ปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบซึ่งแตกต่างจากอำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจบริหาร โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ
3) การพิจารณาตัดสินคดีของศาลที่เหมือนจะให้ความสำคัญเฉพาะคุณค่าว่าด้วยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังที่ปรากฏในการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญ มาตรา 112 อย่างเคร่งครัด ในขณะที่คุณค่าว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยกลับถูกเพิกเฉยในหลายคำพิพากษาซึ่งจะไม่มีการหยิบยกมาตรา 113 ขึ้นมาพิจารณาเลย ทั้ง ๆ ที่มีอัตราโทษสูงกว่า นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่าอัตราโทษของมาตรา 112 ในแรกเริ่มจะมีเพียงการกำหนดอัตราโทษขั้นสูง คือจำคุก 7 ปีเท่านั้นนับตั้งแต่กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญาเดิม แต่ภายหลังเกิดการแก้ไขจากคณะปฏิวัติให้มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำอยู่ที่ 3 ปี และขั้นสูงสุดที่ 15 ปี และต้นเหตุที่นำมาสู่การแก้ไขก็เป็นข่าวลวง (Fake News) ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
สำหรับข้อสาม มีแนวทางการตีความเพื่อบรรเทาปัญหา คือ ในเมื่อสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความผิดตามมาตรา 112 ก็มีโทษที่ไม่มีขั้นต่ำ และมีเพียงขั้นสูง ในสมัยประชาธิปไตย จึงไม่ควรมีการลงโทษที่รุนแรงไปกว่านั้น และศาลจะต้องกลับมาปกป้องการปกครองโดยกฎหมายด้วยการปกป้องกฎหมายสูงสุด หรือรัฐธรรมนูญ
ในตอนท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญาได้เสนอทางแก้ไข 2 ประการ
1) เนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมาอาญา อย่างมาตรา 157 หรือความผิดในหมวดกระบวนการยุติธรรมไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถเอาผิดแก่ผู้พิพากษา หรือตุลาการที่ใช้กฎหมายผิดเท่านั้นได้ จึงควรพิจารณาแนวทางการรับมือของต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีที่มีความผิดการบิดเบือน หรืองอกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339
2) ศาลต้องปกป้องทั้งสองคุณค่าอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยสามารถกระทำได้ผ่านการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีตาม รธน. มาตรา 188 โดยวิธีการปกป้องที่สำคัญ คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกกักขังระหว่างการพิจารณาคดีจากคำกล่าวหาของฝ่ายบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ภายใต้อำนาจบริหาร ศาลต้องคำนึงถึงสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่า
บริสุทธิ์ตาม รธน. มาตรา 29 วรรคสอง และจะควบคุม หรือคุมขังก็ต้องเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนีตามมาตรา 29 วรรคสาม โดยสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดแก่ทุกคน และในทุกคดี เพราะทุกคนย่อมเสมอกันในกฎหมาย การมีสิทธิเสรีภาพ และการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจึงต้องได้รับอย่างเท่าเทียมตาม รธน. มาตรา 27
หากศาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเช่นนี้ ก็มีความเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะได้รับการคุ้มครอง และจะยั่งยืนแน่นอน
รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวสรุปเนื้อหาที่ปรากฏตลอดงานเสวนา นับตั้งแต่ปาฐกถานำโดย Prof. Dr. Tom Ginsburgs ซึ่งสนับสนุนการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่สามารถเข้ากันได้กับประชาธิปไตย โดยสถาบันพระมหากษัตริย์มีจุดเด่นที่สามารถนำมาใช้ได้ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในประเทศชาติ และการกำหนดสถานะของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญจะมีผลดีในแง่ที่พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่งานเสวนาโดยวิทยากรทั้งหมดก็ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของตุลาการในการรักษาระบอบนี้ โดยข้อสำคัญที่สุด คือ บทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง แล้วยังให้ข้อคิดหลายเรื่อง โดยเฉพาะสามข้อสำคัญ ได้แก่ คำพิพากษาต้องมีเหตุผล การวางตนของศาล และความโปร่งใส่ของกระบวนการยุติธรรม นอกจากนั้น วิทยากรต่างก็ได้กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาตัดสิน ยกตัวอย่างเช่น การยกเลิกการรับรองอำนาจการรัฐประหาร การพิจารณาคดีในการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น ในท้ายที่สุด วิทยากรต่างได้ชี้ว่า สังคมต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม ศาลเป็นองค์กรที่ประชาชนฝากความหวังที่จะให้ยุติความขัดแย้งของบ้านเมือง แต่สังคมก็ไม่อยากให้ตุลาการเป็นส่วนหนึ่ง หรือฉนวนของความขัดแย้ง จากนั้นรองศาสตราจารย์อานนท์ได้กล่าวถึงคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความเชื่อว่างานเสวนาในครั้งนี้จะจุดประกายความคิด หรือให้ข้อสังเกต หรือแง่มุมของข้อถกเถียงแก่ผู้ที่สนใจ และได้กล่าวขอบคุณวิทยากรที่ให้ความรู้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้จัดทำ reading list และผู้ร่วมฟังการเสวนา