สรุปสาระสำคัญจาก “สนทนาปัญหากฎหมายกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน เรื่อง อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไข” ซึ่งจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2564 เวลา 14.00-15.00 น. ทางระบบ Facebook Page : LeTec.LawTU
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- รองศาสตราจารย์ ดร.นิลุบล เลิศนุวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมกฎหมายและให้คำปรึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายศุภสิน เจียรพาณิชย์พงศ์ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รศ. ดร.นิลุบล เลิศนุวัฒน์ (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวเปิดงาน และชี้แจ้งการจัดกิจกรรมสนทนาปัญหากฎหมายในครั้งนี้ว่า เป็นการพูดคุยกันในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นเรื่องที่ใหม่และค่อนข้างสำคัญ ลำดับต่อไปจึงได้แนะนำวิทยากรในวันนี้
??????????
รศ. ดร.มุนินทร์ พงศาปาน :
รศ. ดร.มุนินทร์ ได้ทำการชี้แจ้งเบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่ในครั้งนี้ว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทันต่อเหตุการณ์ โดยเป็นการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยของหนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประเด็น : กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีการแก้ไขอะไรบ้าง
ในประเด็นนี้รศ. ดร.มุนินทร์ ได้แยกเป็น 2 ประเด็นย่อย ดังนี้
(1) อัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่มีการตกลงให้เสียดอกเบี้ยหรือในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้คิดดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ (มาตรา 7)
กรณีแรก ตัวอย่างเช่น เราตกลงทำสัญญากู้ยืมกันและมีการตกลงกันให้เสียดอกเบี้ยแต่ว่าในสัญญากู้ยืมเงินไม่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยกันไว้ มาตรา 7 (เดิม) ได้มีการระบุว่าต้องมีการเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนั้นในกรณีที่สัญญากู้ยืมเงินไม่มีการเขียนว่าจะคิดดอกเบี้ยกันเท่าไร ก็ต้องกลับไปใช้มาตรา 7 ซึ่งเป็นบททั่วไปในบรรพหนึ่ง
หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ มีกฎหมายกำหนดให้เสียดอกเบี้ยกันเอาไว้ หรือสามารถคิดดอกเบี้ยกันได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการเลิกสัญญากันซึ่งกฎหมายกำหนดให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม มาตรา 391 วรรคสอง วางหลักว่า ถ้าเกิดคู่กรณีได้รับเงินกันไว้ตามสัญญาก่อนจะมีการเลิกสัญญาก็ต้องมีการคืนเงินให้แก่กันพร้อมดอกเบี้ย แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าต้องคิดกันเท่าไร ดังนั้นต้องกลับไปใช้บทบัญญัติทั่วไป คือ มาตรา 7
อีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีตามกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท มาตรา 1112 กรณีความรับผิดกรรมการซึ่งไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วมีเงินค้างอยู่ มาตรานี้ วางหลักว่า กรรมการต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในจำนวนที่ค้างอยู่ด้วย แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ว่าต้องเสียเป็นจำนวนร้อยละเท่าไร ดังนั้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 7
จากที่ รศ. ดร.มุนินทร์ ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นกรณีของ มาตรา 7 ที่กฎหมายกำหนดอัตราดอกเบี้ยทั่ว ๆ ไปให้ ถ้าเกิดมีการทำสัญญากันกำหนดให้เสียดอกเบี้ยแต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ หรือเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เสียดอกเบี้ยแต่ไม่ได้บอกอัตราดอกเบี้ยไว้ ก็ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นี้คือกฎหมายเก่า
(2) อัตราดอกเบี้ยผิดนัด (มาตรา 224)
กล่าวคือ หนี้เงิน หากมีกรณีไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาหรือกฎหมาย ต้องมีการเสียดอกเบี้ยผิดนัด
หลักของดอกเบี้ยผิดนัดมีต้นกำเนิดจากหลักการที่ว่า “ถ้าเกิดมีการผิดสัญญา ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ถ้าเกิดเป็นความเสียหายอื่น ๆ เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกหนี้ทำผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายกับตนเองอย่างไรและเสียหายเท่าไร แต่กรณีของหนี้เงินกฎหมายสันนิษฐานไว้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่เอาเงินจำนวนดังกล่าวนี้ไป เจ้าหนี้สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์และทำให้เกิดสิทธิได้รับดอกเบี้ย ดังนั้นกฎหมายจึงสันนิษฐานว่าจำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวที่เจ้าหนี้ควรจะได้เป็นความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับ” ในเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดก่อให้เกิดความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้เป็นอันมาก โดยเจ้าหนี้ไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลยนอกจากพิสูจน์ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา ส่วนที่เหลือเป็นสิ่งที่ มาตรา 224 (เดิม) กำหนดให้ในทันที และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นผลประโยชน์อย่างมากต่อเจ้าหนี้
อีกกรณีหนึ่งที่ รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันที่เจ้าหนี้เพียงแต่พิสูจน์ว่าลูกหนี้ผิดนัด คือ เรื่องเบี้ยปรับ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดหรือเรื่องเบี้ยปรับ จะมีแนวคิด (concept) คล้าย ๆ กัน คือ เป็นเรื่องที่กำหนดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหนี้
ตอนที่มีการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วและมีการประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2468 ผู้ร่างพยายามพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยจำนวนเท่าไรเป็นอัตราที่กลาง ๆ ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป ผู้ร่างพิจารณาแล้วเห็นว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้นมีความเหมาะสมจึงได้กำหนดไว้ ปัจจุบันผ่านมาแล้วเกือบ 100 ปี เห็นได้ชัดว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง
ภาพรวมในเรื่องดอกเบี้ยผิดนัด เป็นกรณีที่จะใช้ในกรณีที่ที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน, สัญญาซื้อขาย เช่น ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้กับผู้ขาย ซึ่งหากผู้ซื้อไม่ได้ชำระราคาภายในกำหนดจะต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัด หรือแม้กระทั่งสัญญาจ้างทำของ, สัญญาเช่า หรือสัญญาอื่น ๆ ที่เป็นหนี้เงิน มาตรา 224 ก็อาจใช้บังคับได้ หรือ แม้กระทั่งมูลหนี้อื่น ๆ ที่เป็นหนี้เงิน เช่น หนี้ละเมิด มาตรา 206 วางหลักไว้ว่า ลูกหนี้ผิดนัดทันทีเมื่อมีการทำละเมิด เพราะฉะนั้นแล้วตัวลูกหนี้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินจะต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้นด้วย หรือแม้กระทั้งเรื่องลาภมิควรได้ในกรณีที่ต้องคืนเงินก็ต้องมีการคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้นด้วย, จัดการงานนอกสั่ง, กรณีต้องกลับคืนสู่สถานะเดิมเพราะมีการบอกล้างโมฆียกรรม หรือแม้แต่หนี้ตามคำพิพากษา
สิ่งที่ รศ. ดร.มุนินทร์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้คือ กฎหมายไม่ได้หมายความว่าต้องใช้มาตรา 224 ในทุกกรณีที่มีหนี้เงิน โดยอาจมีการตกลงกันได้ว่าเมื่อมีการผิดนัดแล้วต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเท่าใด
นอกจากปรับมาตรา 224 แล้ว การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ยังมีการเพิ่ม มาตรา 224/1 เข้ามา เป็นกรณีที่มีการตกลงชำระหนี้เป็นงวด ๆ แล้วผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทุกงวดต้องมีการเสียดอกเบี้ยของต้นเงินทุกงวดเลย
??????????
ประเด็น : เหตุผลของการแก้ไข
ในประเด็นเหตุผลในการแก้ไขกฎหมาย รศ. ดร.มุนินทร์ ได้แบ่งเหตุผลออกเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
(1) กฎหมายเก่า กล่าวคือ ตัวบทกฎหมายบรรพ 2 ตั้งแต่มาตรา 194 เป็นต้นไป มีการบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 เกือบ 100 ปี แล้ว แทบทุกมาตราไม่เคยได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะมาตรา 7 และมาตรา 224 ดังนั้นเมื่อผ่านมา 100 ปี แล้วสิ่งต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ดังนั้นต้องมีการทบทวน (review) กันใหม่
(2) ความเป็นธรรม กล่าวคือ ตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ หากย้อนไป 20 – 30 ปีที่แล้วอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเคยสูงถึงร้อยละ 10 ร้อยละ 15 ร้อยละ 16 ดังนั้นแล้ว อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงเป็นอัตราที่กลาง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่าถ้านำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคารพาณิชย์ก็จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ขั้นไป แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำลงไปมาเหลือเพียงแค่อัตราดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ 1 หรือ 1 กว่า ๆ ดังนั้นเมื่อมาตรา 7 เป็นการสันนิษฐานว่าเจ้าหนี้เสียโอกาสหรือเสียหายที่ไม่ได้นำเงินไปฝากธนาคารจึงไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงที่หากเจ้าหนี้นำเงินดังกล่าวไปฝากธนาคารโดยทั่วไปจะได้รับดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ผิดนัดต่อไป
ในประเด็นข้อครหาว่าถ้านำเงินจำนวนดังกล่าวไปหาประโยชน์อย่างอื่น อาจได้รับผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด เช่น ซื้อหุ้น ลงทุน รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่า โอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนถึงร้อยละ 7.5 ต่อปีมีไม่มาก สามารถสังเกตได้ว่าความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับจริง ๆ มีน้อยกว่าที่กฎหมายให้มาก โดยหลักของการชดเชยค่าเสียหายมีหลักการที่เป็นสากล คือ “เจ้าหนี้ไม่ควรได้รับการชดใช้เกินกว่าจำนวนความเสียหายที่แท้จริง” ดังนั้นกฎหมายเก่าจึงเป็นการทำให้เจ้าหนี้รวยขึ้น (enrich) ได้รับมากกว่าส่วนที่เขาควรจะได้รับ
(3) ไม่สอดคล้องกับกฎหมายต่างประเทศ กล่าวคือ ถ้าหากพิจารณากฎหมายของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นต้นแบบของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ประเทศญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ) จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยไม่มีความสอดคล้องกับประเทศนั้น ๆ เลย เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีการแก้ไขกฎหมายเมื่อประมาณ 4 – 5 ปีก่อน มีการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดลดลงมาเหลือร้อยละ 3 ต่อปี โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้มีการทบทวนได้ทุก ๆ 3 ปี ดังนั้นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ประเทศญี่ปุ่นมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง อีกกรณีที่ประเทศไทยกำลังเดินตามประเทศญี่ปุ่นอยู่ คือ การกำหนดให้หน่วยงานสามารถทบทวยอัตราดอกเบี้ยได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลด ให้ง่ายขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม โดย รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่ไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในพระราชบัญญัติ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้เปิดช่องให้หน่วยงานสามารถทบทวนอัตราดอกเบี้ยได้ในรูปกฎหมายลำดับรอง เช่น พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงได้ การที่จะแก้ไขดอกเบี้ยต้องออกกฎหมายแก้ไขในรูปของพระราชบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนและเสียเวลามาก เพราะฉะนั้นหลักที่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งของรัฐที่มีข้อมูลเป็นคนประกาศหรือทบทวนอัตราดอกเบี้ย เป็นเรื่องตนเห็นว่าถูกต้องแล้ว
ในประเทศเยอรมนี ก็เช่นเดียวกัน คือ อัตราดอกเบี้ยกรณีปกติมีการกำหนดไว้ที่ร้อยละ 4 – 5 ขึ้นอยู่กับตัวนิติกรรม ส่วนอัตราดอกเบี้ยผิดนัด บวกเพิ่มไปจากอัตราดอกเบี้ยปกติได้ไม่เกินร้อยละ 5 – 9 และอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้สามารถให้มีการทบทวนได้
ดังนั้น หลักการที่ให้มีการทบทวนหรือกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ทุกช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว
สรุป ภาพรวมความเห็นของ รศ. ดร.มุนินทร์ นั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เพราะมีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเกือบ 100 ปี แล้ว อีกทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ยยังเป็นเรื่องที่สำคัญและพอเข้าใจได้ว่าทำไมต้องมีการแก้ไข
ในประเด็นเรื่องรูปแบบของการแก้ไขว่าจำเป็นต้องทำเป็นกระราชกำหนดหรือไม่ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยโดยจัดเป็นงานเสวนาอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเชิญนักกฎหมายมหาชนมาพูดคุยกันว่ามันจำเป็นต้องตราเป็นพระรากำหนดไหมหรือว่าสามารถทำเป็นพระราชบัญญัติได้อยู่แล้ว
??????????
ประเด็น : กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน
มาตรา 7 (เดิม) อัตราดอกเบี้ยคือร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่ตามกฎหมายใหม่มีการลดลงจากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งเข้าใจว่าคณะทำงานได้มีการพูดคุยกันรอบด้านแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยเท่าไรจึงจะมีความเหมาะสม โดยส่วนตัว รศ. ดร.มุนินทร์ ไม่ได้ขัดข้องอะไรกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำกว่าเดิม อีกทั้งยังเห็นด้วยโดยเฉพาะการแก้ไขใน วรรคสอง คือ หลักการที่ว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราที่สามารถมีการทบทวนได้โดยกระทรวงการคลังด้วยการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอาจจะมีการลดหรือเพิ่มได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาอันเป็นการง่ายกว่าการออกเป็น พระราชบัญญัติ
รศ. ดร.มุนินทร์ ยังได้ย้ำว่า มาตรา 7 ไม่ได้หมายความว่าสัญญาที่ทำกันอยู่หรืออัตราดอกเบี้ยที่มีการคิดกันไว้ เช่น สัญญากู้ยืมเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในสัญญาคือร้อยละ 5 หรือ 10 ต่อปี จะได้รับผลกระทบต้องลดลงมาเหลือร้อยละ 3 ต่อปี อย่างที่ตนบอกไปว่า มาตรา 7 จะใช้กับกรณีที่สัญญากำหนดให้มีการเสียดอกเบี้ย แต่ลืมกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ว่าต้องเสียเท่าไร แต่หากคู่สัญญาตกลงไว้ชัดเจนว่าเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ร้อยละ 15 ต่อปี ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา เพราะฉะนั้นก็ยังสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันได้ตามกหลักเสรีภาพการทำสัญญาตามปกติ หรือในกรณีที่จะได้รับผลกระทบคือ ตามมาตรา 391 ในเรื่องการเลิกสัญญาที่ความในวรรคสองได้กำหนดให้มีการเสียดอกเบี้ยอันเอาไว้ด้วย แต่ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันเอาไว้ก็จะมีการใช้มาตรา 7
โดยรวมถ้ามีการตกลงกำนดอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจน ข้อตกลงนั้นก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากมาตรา 7 ใหม่อันนี้
สิ่งที่ รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่าเป็นการแก้ไขที่มีปัญหาและมีความซับซ้อนมากกว่าอยู่ที่มาตรา 224 ซึ่งตามกฎหมายเก่า อัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามที่กฎหมายเก่ากำหนดไว้คือร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ตามกฎหมายใหม่บอกกว่าให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 (กฎหมายใหม่) คือร้อยละ 5 ต่อปี บวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี ตรงนี้ต้องบอกว่าสอดคล้องกับการแก้ไขมาตรา 7 ก็คือกฎหมายต้องการที่จะจำกัดไม่ให้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดมันสูงเกินไป แต่มันมีปัญหาอยู่ มาตรา 224 มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ส่วนเรื่องอื่นยังคงเดิม
ส่วนเรื่องที่ตนเห็นว่าเป็นปัญหา คือ มาตรา 224 ส่วนที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่ ยังเป็นของเดิมอยู่ คือ ส่วนที่บอกว่า “ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” ข้อความนี้เป็นข้อความที่มีปัญหา เป็นข้อความที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายเก่า เป็นข้อความที่กฎหมายใหม่ไม่ได้มีการทบทวน เปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ ซึ่งตนจะชี้ให้เห็นว่ามันมีปัญหาอย่างไรต่อไป
ในส่วนของ วรรคสอง ห้ามคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยนั้นในระหว่างผิดนัดก็ยังคงเดิม
ในส่วนของ วรรคสาม เรื่องของค่าเสียหายอย่างอื่นนอกจากนั้นก็ให้พิสูจน์ได้ปกติ รศ. ดร.มุนินทร์ มีข้อสังเกตว่าการพิสูจน์ความเสียหายอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่าหนี้เงินการที่กฎหมายกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดก็เป็นการชดใช้ความเสียหายของเจ้าหนี้ไปเกือบทั้งหมดแล้ว โอกาสยากมากที่เจ้าหนี้จะพิสูจน์ว่าตัวเองจะเสียหายอย่างไรนอกเหนือจากตัวเองเสียโอกาสที่จะได้รับดอกผลงอกเงยจากต้นเงินนั้น เช่น ตัวเจ้าหนี้ตั้งใจที่จะเอาเงินไปลงทุนหรือนำเงินไปหาผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าตัวดอกเบี้ยผิดนัดหรือว่าจะเอาไปซื้อของเพื่อนำมาทำธุรกิจ พวกนี้ต้องพิสูจน์ว่าเป็นความเสียหายในพฤติการณ์ปกติหรือพฤติการณ์พิเศษในเรื่องของความคาดเห็นได้
อีกมาตราที่มีการเพิ่มเข้ามาในเรื่องใหม่คือ มาตรา 224/1 ซึ่งบัญญัติว่า
“ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น
ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”
รศ. ดร.มุนินทร์ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรา 224/1 ว่าเป็นหลักการใหม่ที่เพิ่มเข้าไป เป็นความพยายามที่ดี ตนเห็นด้วยกับการมีมาตรานี้ ตนคิดว่ามันเป็นความพยายามที่ดีของรัฐในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบจนเกินไป ช่วงหลังตนมักจะเห็นในแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะสัญญาทางธุรกิจที่มีการกำหนดสัญญาที่ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้เจ้าหนี้เป็นงวด ๆ อย่างเช่น ยืมเงินไป 1 ล้านบาท แบ่งผ่อนชำระ 10 งวด งวดละ 1 แสนบาท เป็นต้น หรือ แม้กระทั่งสัญญาเช่า เช่ากันเป็นปี ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นรายงวด ไม่ว่าจะเป็นสัญญาอะไรต่าง ๆ ที่ต้องมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้เป็นรายงวด มีข้อตกลงว่าถ้าเกิดลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เงินแม้เพียงงวดเดียวให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดในทุกงวดด้วย จะมีลักษณะอย่างนี้ ผิดนัดงวดเดียวให้ถือว่าผิดนัดสำหรับทุกงวดด้วย มาตรานี้ไม่ได้ใช้กับเรื่องอื่นด้วย เป็นการพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างเช่น มีการยืมเงินกัน 1 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 1 แสนบาท รศ. ดร.มุนินทร์ต้องผ่อนตอนสิ้นเดือน แล้วปรากฏว่าตนไม่ได้ส่งเงิน 1 แสน ตามกำหนดการที่ตกลงกันไว้ แล้วต้องถือว่าตนผิดนัดสำหรับงวดนี้ ถ้าหากมีข้อตกลงว่า “การผิดนัดในงวดเดือนมีนาคม ให้ถือว่าผิดนัดในงวดเดือนเมษายน พฤษภาคม ทั้งหมด และตนต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดทุกงวดที่ตนผิดนัดไม่ใช่เฉพาะดอกเบี้ยผิดนัดในงวดเดือนมีนาคม แต่ต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่เหลือด้วยไม่ว่าจะเป็นเดือนเมษายน และพฤษภาคม” กล่าวคือเป็นการผิดนัดทั้งหมดเลยสำหรับ 1 ล้านบาทที่มีการกู้ยืมกัน กฎหมายมองว่ามันไม่เป็นธรรามสำหรับลูกหนี้ เพราะการที่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นการผิดนัดเพียงแค่งวดเดียวคือ เดือนมีนาคม เพราะฉะนั้นการที่จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับลูกหนี้เจ้าหนี้ก็ควรมีสิทธิคิดได้งวดเดียว คือ งวดเดือนมีนาคม ไม่ควรจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในเดือนเมษายนตั้งแต่นั้นไป
หลักการนี้เป็นหลักการที่ถูกต้องและจะมีการตกลงยกเว้นต่าง ๆ ไม่ได้เลย ดังนั้นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดได้เท่านั้น สำหรับงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ หลักการนี้ใช้กับการชำระหนี้เงินเป็นงวด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาประเภทใด
??????????
ประเด็น : ขอบเขตการบังคับใช้
ในเรื่องผลบังคับใช้ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ รศ. ดร.มุนินทร์ กล่าวว่าจริง ๆ กฎหมายนี้ไม่ได้มีผลใช้บังคับย้อนหลัง โดยหลักการไม่ว่าจะเป็น มาตรา 7 มาตรา 224 มาตรา 224/1 ที่แก้ไขใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับสำหรับหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
ตัวอย่างเช่น ถ้าสัญญาเช่าบ้านกำหนดจ่ายค่าเช่าทุกวันสุดท้ายของเดือน ค้างชำระค่าเช่าเดือนมีนาคม ซึ่งตามสัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกันไว้ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามมาตรา 224 ของเดิม คือ ร้อยละ 7.5 ต่อปี สมมติ ตนต้องชำระค่าเช่าในทุกวันสุดท้ายของเดือนตนไม่ชำระค่าเช่าในวันที่ 31 มีนาคม และตกเป็นผู้ผิดนัดในวันที่ 1 เมษายน เป็นการผิดนัดก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ (11 เมษายน 2564) ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ คือ อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายเดิม คือ ร้อยละ 7.5 ต่อปี
สมมติ ค่าเช่าเดือนเมษายน ตนต้องชำระค่าเช่าเดือนเมษายน ตนอยู่ไปจนถึง 30 เมษายน ปรากฏตนผิดนัดชำระค่าเช่างวดนี้อีก ตนจะผิดนัดในวันที่ 1 พฤษภาคม ตนก็ต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 224 (ใหม่) คือ ร้อยละ 5 ต่อปี (อัตราตามมาตรา 7 คือ ร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี) ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าสัญญาเดียวกันบางงวดบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่บางงวดบังคับใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ มาตรา 224 ใช้บังคับในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกันไว้เท่านั้น ถ้ามีการกำหนดเอาไว้กฎหมายใหม่ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรเลย
??????????
ประเด็น : ปัญหาของกฎหมายใหม่
สำหรับปัญหาของกฎหมายใหม่ รศ. ดร.มุนินทร์ ได้แบ่งปัญหาออกเป็น 2 ปัญหาที่สำคัญ ๆ ดังนี้
(1) ปัญหาเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งเป็นปัญหาตามกฎหมายเดิม ซึ่งยังคงดำรงต่อมาอยู่ในมาตรา 224 ข้อความไม่ได้มีการแก้ไขใด ๆ เลย คือ “ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” เป็นประเด็นว่าเหตุอื่นอันชอบด้วยกฎหมายคือเหตุอะไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ในเรื่องนี้มีคำพิพากษายืนยันและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติปกติของการตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกันเอาไว้คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 2489/2536 อันเป็นการยืนยันตามแนวปฏิบัติว่า “ถ้าในสัญญามีการกำหนดให้ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ให้เสียในอัตราที่ตกลงกันตามสัญญา”
รศ. ดร.มุนินทร์ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นว่า ถ้ารศ. ดร.นิลุบลกับรศ. ดร.มุนินทร์ตกลงกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ กรณีรศ. ดร.มุนินทร์ซื้อของจากรศ. ดร.นิลุบลและตกลงจะชำระค่าของในเดือนมีนาคม และตามสัญญากำหนดไว้ว่าถ้ารศ. ดร.นินทร์ไม่ชำระราคาในวันสุดท้ายของเดือนมีนาคม รศ. ดร.มุนินทร์จะเสียดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ดังนั้นข้อตกลงนี้มีผลใช้บังคับได้และจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ เพราะ กฎหมายยอมให้ตกลงดอกเบี้ยกันได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญากับอิสระทางแพ่ง” ปัญหาคือ มันมีเพดานไหมว่าสามารถตกลงกันได้สูงถึงไหน โดย รศ. ดร.มุนินทร์ ได้ยกกรณีเปรียบเทียบกับกรณีดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินตามมาตรา 654 กฎหมายจะไม่ยอมให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กรณีที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเกินร้อยละ 15 ต่อปี แต่ก็ยังมีคำถามว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยปกติ หากเป็นกรณีของดอกเบี้ยผิดนัดสามารถกำหนดได้สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้หรือไม่ เช่น เมื่อใดก็ตามที่รศ. ดร.มุนินทร์ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี กรณีนี้ตกอยู่ภายใต้มาตรา 654 ด้วยหรือไม่
ถ้าเกิดตีความว่ามาตรา 654 ใช้บังคับทุกกรณีจากการกู้ยืมเงินไม่ว่าจะผิดนัดหรือไม่ผิดนัด ก็ทำให้ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 654
ในกรณีสัญญากู้ยืมเงินมีมาตรา 654 กำกับอยู่ แต่หากเป็นหนี้เงินประเภทอื่น เช่น สัญญาซื้อขายหรือสัญญาเช่า ซึ่งไม่มีมาตราอย่างเช่นมาตรา 564 กำกับไว้ คำถามคือ ถ้ารศ. ดร.มุนินทร์ตกลงกับรศ. ดร.นิลุบลว่าถ้ารศ. ดร.มุนินทร์ไม่ชำระราคาภายในเดือนมีนาคม ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องกลับมาใช้มาตรา 224 ดังนั้น กฎหมายบอกว่าคุณตกลงกันไว้แล้วก็ต้องใช้ตามที่ตกลงกัน ในเรื่องนี้ รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่า ตนคิดว่านักกฎหมายคงคิดคล้าย ๆ กันว่าอัตราร้อยละ 20 ต่อปีดูมากเกินไป เพราะขนาดตามสัญญากู้ยืมเงินยังกำหนดให้คิดได้เพียงแค่ร้อยละ 15 ต่อปี กฎหมายจะยอมให้เรียกดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 20 ต่อปีในสัญญาซื้อขายได้หรือ ซึ่งเมื่อได้ทำการศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาจะพบว่าศาลฎีกาเคยวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวนี้เอาไว้ โดย รศ. ดร.มุนินทร์ ได้จัดเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดอันสามารถแบ่งได้ 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่หนึ่ง ตีความในลักษณะที่อนุญาตให้เอกชนสามารถกำหนดดอกเบี้ยได้เท่าไรก็ได้ เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา ซึ่งตนเห็นว่านักกฎหมายส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วย
แนวทางที่สอง ตีความให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วนเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลสามารถปรับลดได้ตามมาตรา 383 เป็นแนวทางที่ศาลฎีกาได้เคยวางหลักไว้ในหลายคดีด้วยกัน ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2551 ศาลมองว่าคดีนี้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยปกติไว้แล้ว และยังมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ พิจารณาแล้วเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นสูงเกินสมควรข้อตกลงเข้าลักษณะเบี้ยปรับ เป็นข้อตกลงในเรื่องการลงโทษลูกหนี้ ซึ่งศาลไม่รู้จะทำอย่างไรนอกเหนือจากจับยัดมันเข้าอยู่ในกรอบของเบี้ยปรับเพื่อใช้อำนาจตามมาตรา 383 ในการปรับลดลงได้ตามที่เห็นสมควร และยังมีอีกหลายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนยันความเห็นนี้ซึ่งตนเห็นด้วย โดยตนเห็นว่ากฎหมายเก่าหรือกฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ไม่มีช่องทางอื่นเลยที่เปิดโอกาสให้ศาลเข้าไปแทรกแซงและปรับลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งโดยลักษณะมันคือการชดเชยหรือชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ ถ้ามีการตกลงกันไว้สูงเกินไปและทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชดใช้สูงเกินส่วนจะทำให้เป็นการทำให้เจ้าหนี้รวยขึ้น (enrich) ศาลต้องเข้าไปแทรกแซงหรือระบบกฎหมายต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้มันสูงเกินไป และเบี้ยปรับก็เป็นช่องทางหนึ่งในการปรับลดลงมา
แนวทางที่สาม ตีความให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินส่วนตกเป็นโมฆะเพราะเข้าลักษณะวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 150 และให้ใช้บังคับได้เฉพาะส่วนที่ไม่สูงเกินส่วน ตามมาตรา 173
ในทางผลที่เกิดขึ้นแนวทางที่ 2 กับแนวทางที่ 3 ก่อให้เกิดผลอย่างเดียวกัน แต่ปัญหาที่จะเกิดขั้นจากการใช้แนวทางทั้งสอง คือ ศาลแต่ละศาลจะใช้ดุลพินิจในการปรับลดที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ เพราะในแต่ละคดีอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่สมควรเป็นไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ว่าแต่ละคดีข้อเท็จจริงมันไม่เหมือนกัน แต่ว่าเรื่องหนี้เงิน เป็นเรื่องที่สามารถกำหนดให้เกิดความชัดเจนแน่นอนได้โดยการกำหนดกรอบได้ว่าไม่ให้เกินเท่าไร รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เป็นการพลาดโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม เป็นเรื่องที่ต้องกลับไปดูว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่มากกว่าการให้ศาลเข้าไปแทรกแซงได้อย่างไร แต่ว่าในระหว่างนี้ ตนคิดว่าไม่มีทางอื่นนอกจากที่จะใช้แนวทางที่สองและที่สาม ที่ศาลทำอยู่ตอนนี้ตนเห็นว่าถูกต้องแล้ว
(2) ปัญหาความเป็นโมฆะของข้อตกลงที่ผิดนัดงวดเดียวแล้วให้ผิดนัดทุกงวด มาตรา 224/1 เป็นหลักการใหม่ที่กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ เป็นส่วนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น เช่น เงิน 1 ล้านบาท แบ่งผ่อนชำระ 10 งวด งวดละ 1 แสนบาท และมีข้อตกลงว่าหากลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ส่วนที่เป็นโมฆะ คือ ส่วนที่เป็นดอกเบี้ย คือ ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ทั้ง 10 งวด คำถามคือข้อตกลงที่ให้ลูกหนี้ผิดนัดทั้ง 10 งวดยังอยู่ไหม เห็นได้ชัดว่ามาตรา 224/1 ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลย ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เนื่องจากมาตรา 224 เป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยความเห็นของ รศ. ดร.มุนินทร์ ในเรื่องนี้ ตนเห็นว่ามาตรา 224/1 ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าข้อตกลงแบบนี้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ควรที่จะตกเป็นโมฆะทั้งหมดเลยไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว เพียงแต่เรื่องดอกเบี้ยมีมาตรา 224/1 อยู่แล้ว แต่ข้อตกลงส่วนอื่นทั้งหมดต้องไปอ้างมาตรา 150 และ 173 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ไปพรางก่อน
โดยสรุป รศ. ดร.มุนินทร์ เห็นว่าโดยหลักการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยเป็นการแก้ไขที่ถูกต้องแล้วและสอดคล้องกับนานาประเทศ แต่ว่ามันก็ยังมีเรื่องที่ต้องกลับมาคิด พิจารณากันต่อว่าการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกับข้อตกลงให้ถือว่าผิดนัดทุกงวดในกรณีที่ผิดนัดเพียงงวดเดียว
ช่วงคำถาม-คำตอบ
คำถาม (1) : ถ้าหากว่าสัญญานั้นเกิดไปแล้วและผิดนัดไปแล้ว ฟ้องคดีไปแล้ว ในคำขอท้ายฟ้องก็ขอดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลจะตัดสินให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ถึงแค่ 11 เมษายน 2564 ใช่หรือไม่
คำตอบ : ไม่ใช่ ต้องใช้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี งวดไหนที่ผิดนัดไปแล้วก่อนที่กฎหมายใหม่จะใช้บังคับก็ต้องใช้อัตราเดิมตลอดเวลา อย่างที่ตนบอกว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่ในสัญญาเดียวกันแต่ละงวดอาจใช้ดอกเบี้ยในอัตราที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นต้องเอาวันที่กฎหมายใช้ยังคับเป็นตัวบอกว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยเก่าหรืออัตราดอกเบี้ยใหม่และใช้ตลอดไปสำหรับงวดนั้นเท่านั้น
คำถาม (2) : หากเป็นเรื่องของละเมิดก็มีผลเช่นเดียวกันใช่หรือไม่
คำตอบ : ใช่ ในเรื่องละเมิดทันทีที่มีการทำละเมิดก็ถือว่าผิดนัดทันทีตามมาตรา 206 เพราะฉะนั้นต้องดูก่อนว่าวันที่ทำละเมิดหรือวันที่ผิดนัดมันเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ คือ 11 เมษายน 2564 เป็นตัวตั้ง ถ้าเกิดเหตุรถชนกันทำละเมิดกันในวันที่ 9 เมษายน 2564 ก็ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมคือร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่หากทำละเมิดกันวันที่ 13 เมษายน 2564 ก็ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยใหม่
คำถาม (3) : ถ้าจะระบุในสัญญาว่าจะคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ยังระบุได้อยู่หรือไม่
คำตอบ : ได้ รศ. ดร.มุนินทร์ยืนยันว่า มาตรา 224 ไม่ใช้บังคับ แต่ต้องรอศาลฎีกายืนยันอีกที แต่มาตรา 224 แตะเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย ส่วนข้อความอื่นยังคงเดิมทุกประการ คำพิพากษาปี 36 (ฎ.2489/2536) ก็ยังใช้บังคับได้ ถ้าข้อตกลงมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเอาไว้ มาตรา 224 ก็จะไม่มีผลบังคับใช้ ยกเว้นกรณีที่ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่หากมีการกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลก็จะเข้ามาแทรกแซงซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจแต่ละศาลโดยอาจจะมองว่าเป็นเบี้ยปรับ
คำถาม (4) : การที่มีกำหนดชำระหนี้เป็นหลาย ๆ งวด สมมติ เป็น 10 งวด และกำหนดในสัญญาว่าถ้าผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าเป็นการผิดนัดทุกงวด คราวนี้ก็จ่ายมาแล้ว 4 งวด งวดที่ 5 ผิดนัด คราวนี้เวลาคิดดอกเบี้ยจะคิดเฉพาะงวดที่ 5 หรือต้นเงินทั้งก้อน
คำตอบ : ถึงไม่มีกฎหมายใหม่ ข้อตกลงแบบนี้ควรตกเป็นโมฆะ คือจริง ๆ ศาลจะสามารถใช้มาตรา 150 จัดการกับข้อตกลงแบบนี้ได้อยู่แล้ว คือไม่ให้ลูกหนี้ผิดนัดทุกงวด รศ. ดร.มุนินทร์มองว่า มาตรา 224/1 นี้เป็นตัวบ่งบอกให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง สำคัญมาก ต่อให้สัญญานี้จะทำกันมาก่อนหรือผิดนัดกันมาก่อน ถามว่ามันไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 224/1 ใช่หรือไม่ แล้วมันจะเป็นโมฆะหรือไม่ ความเห็นรศ. ดร.มุนินทร์ก็ยังเป็นโมฆะอยู่ แม้สัญญาจะไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายใหม่ ข้อตกลงแบบนี้ก็ใช้บังคับไม่ได้ ถ้าเกิดลูกหนี้ผิดนัดงวดไหนก็ต้องผิดนัดงวดนั้น ผิดนัดงวดที่ 4 ก็ต้องผิดนัดงวดที่ 4 เท่านั้นไม่ถือว่าผิดนัดงวดที่เหลือด้วย เวลาปรับใช้ก็ปรับใช้มาตรา 150 เอา สำหรับสัญญาที่ไม่อยู่ใต้บังคับมาตรา 224/1
คำถาม (5) : ถ้ามองจากมุมฝั่งเจ้าหนี้ จะรู้สึกไหมว่าการที่กฎหมายกำหนดลดลงมาจากร้อยละ 7.5 ต่อปีเหลือร้อยละ 5 ต่อปี จะไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้
คำตอบ : จริง ๆ สามารถคิดอย่างนั้นได้ เพราะว่า มันทำอย่างนี้กันมาตั้งแต่ปี 2468 ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจึงกลายเป็นบรรทัดฐาน (Norm) เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่ว่าในความคิดเห็นของรศ. ดร.มุนินทร์ ถ้าไปดูอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น, เยอรมนี, ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ อัตราดอกเบี้ยผิดนัดจะไม่สูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือต่ำกว่านี้ รศ. ดร.มุนินทร์คิดว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 1 แต่ให้ดอกเบี้ยเจ้าหนี้ร้อยละ 7.5 ถือว่าสูง แต่ถ้าคุณตกลงกับเขาอยู่ที่ร้อยละ 10 – 15 ก็สามารถตกลงกันได้ คำถามคือโอกาสที่จะเอาเงินไปลงทุนได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงถึงร้อยละ 10 – 15 ต่อปี มันสูงแค่ไหน รศ. ดร.มุนินทร์คิดว่าเป็นไปได้น้อยมาก แม้ว่าจะได้ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 5 ต่อปี โอกาสที่จะเอาเงินไปลงทุนได้ผลประโยชน์ร้อยละ 5 ก็ยังน้อยมาก ในปัจจุบันนี้รศ. ดร.มุนินทร์คิดว่าเราจะต้องปรับกันใหม่ ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบมาหลาย 10 ปีแล้ว อาจต้องมาคิดกันใหม่ ให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้ด้วย