สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการหัวข้อ “สถานการณ์กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ทาง Facebook Page: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ อดีตอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ดำเนินรายการ
- รองศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขากฎหมายเอกชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า (ผู้ดำเนินรายการ)
รศ.อานนท์ กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่ทางคณะนิติศาสตร์ได้จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อสถานการณ์กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เป็นหัวข้อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะจัดงานในเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นไป ความเป็นจริง ในประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBT กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการจับสัญญาณว่า วันนี้ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และปัญหาที่เกี่ยวข้องในทางกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT นั้นมีอะไรบ้าง นอกจากนั้น วันนี้ วิทยากรทั้งสามท่านที่ให้เกียรติมาร่วมการเสวนา ท่านจะได้พูดถึงความเป็นมาในอดีต คือ การย้อนกลับไปมองภาพในอดีตเกี่ยวกับพัฒนาการ ความเป็นมาของประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT และจะได้มองไปยังข้างหน้า พูดถึงอนาคตหรือทางที่ควรจะเป็นสำหรับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT ด้วย ซึ่งวิทยาการทั้งสามท่านเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงกฎหมาย แวดวงสังคมที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด
?️?ช่วงที่ 1
คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
คุณธัญวัจน์กล่าวถึงสถานการณ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในตอนนี้ มีสิ่งที่ประชาชนกำลังพูดถึงเป็นจำนวนมาก คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว คุณธัญวัจน์ก็ได้ยื่นเรื่องนี้เข้าสู่สภา เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีคนเข้าไปให้ความเห็นประมาณ 54,445 คนซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย ซึ่งในกฎหมายเรื่องอื่น ๆ จะมีประชาชนเข้าไปให้ความเห็นเป็นจำนวนหลักร้อยเท่านั้น ยอดการเข้าชม (view) ของเว็บไซต์รัฐสภาจากเดิมเป็นหลักพันก็เพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านเลย แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ของสังคมว่านี่คือสิ่งหนึ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ LGBT ยังไม่ได้รับ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่วันนี้มีคนพูดถึงว่าเป็นการกีดกันหรือเปล่า
ในอีกด้านหนึ่งที่ตนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศที่ผ่านมา มีในเรื่องของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งมีทั้งร่างที่สมบูรณ์ที่สุด ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างของภาคประชาชน ที่เป็นก้าวแรกที่นักวิชาการกับนักกฎหมายได้เริ่มเอาไว้ คุณธัญวัจน์ได้ศึกษาร่างของภาคประชาชนและมาทำให้เป็นร่างของพรรคก้าวไกล โดยได้ค้นพบถึงข้อกังวลประการหนึ่งคือ ในสังคมที่มองว่าคนที่บอกว่าเป็นคู่ชีวิตเพราะไม่ต้องการให้กระทบสิทธิผู้ชายผู้หญิงเดิมที่มีอยู่ ในขณะที่อีกฝ่ายก็กล่าวว่าสมรสเท่าเทียมจะเป็นกฎหมายที่เสมอภาค ไม่ต้องแบ่งกฎหมายกัน ซึ่งในร่างของพรรคก้าวไกล สาระสำคัญที่เปลี่ยนจากชาย-หญิงเป็นบุคคล-บุคคล เปลี่ยนสามี-ภรรยา เป็นคู่สมรส เพิ่มหมวดการหมั้นเป็นผู้หมั้น-ผู้รับหมั้น เปลี่ยนอายุจาก 17 ปีเป็น 18 ปี แต่สาระสำคัญประการหนึ่งที่จากที่ทำงานร่วมกับสำนักงานกฎหมายรัฐสภาพบว่า การเปลี่ยนบิดา-มารดาเป็นบุพการี เป็นเรื่องที่มีผลกระทบและเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้ผู้ชายผู้หญิงทั่วไปจะไม่รับกฎหมายสมรสเท่าเทียม คุณธัญวัจน์จึงชั่งน้ำหนักว่าเหตุใดถึงตัดสินใจที่จะไม่เปลี่ยนคำว่าบิดา-มารดาเป็นบุพการี เพราะว่ากฎหมายผู้หญิงในประเทศไทยเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็ก การรับรองบุตร สิทธิแรงงานหญิง ดังนั้น ความเป็นเพศจึงไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนเพราะจะมีผลกระทบหลายอย่าง รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้กำเนิดโดยสายเลือด เมื่อคุณธัญวัจน์มาพิจารณาจุดเหล่านี้แล้ว จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะว่าสามารถเสมอภาคกันได้ ซึ่งกลุ่ม LGBT สามารถรับบุตรไปเลี้ยงได้ก็หมายความว่าเขาก็จะมีสิทธิหน้าที่แบบสามี-สามี ภรรยา-ภรรยา ก็ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกับสามี-ภรรยาของเพศชายเพศหญิงทั่วไปและก็เสมอภาคกันแล้ว
คุณธัญวัจน์พบว่า ท่ามกลางความขัดแย้งของการพูดคุยเรื่องเพศในสังคม จริง ๆ แล้วเราต้องเคารพกันทุกฝ่าย คือ เราให้พื้นที่ในความหลากหลายทางเพศจริง ๆ ในทุก ๆ เพศมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันได้และมีบางอย่างที่แตกต่างกัน แต่ก็นำพาไปสู่ความเสมอภาคกันได้ จึงเกิดมาเป็นร่างที่เราพัฒนากันขึ้นมา โดยคุณธัญวัจน์เห็นว่าร่างฉบับนี้จะเป็นร่างที่เคารพทุกเพศ เคารพในความหลากหลายทางเพศ และจะแก้ปัญหาข้อกังวลของทุกฝ่ายที่กลัวว่าจะกระทบสิทธิของตน
เมื่อร่างเข้าสู่สภา ที่คุณธัญวัจน์เป็นฝ่ายค้านและช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองก็ร้อนแรงในประเด็นอื่น ๆ ด้วย ประธานรัฐสภาก็บรรจุร่างเข้าวาระการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งตนคาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาในปีนี้หรือต้นปีหน้า สิ่งที่ตนทำในตอนนี้ก็คือการเข้าพบทุกพรรคการเมืองเพื่ออธิบายถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมาย เพราะเชื่อว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องของทุกพรรค เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน และไม่อยากให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องของการเมือง และพยายามชี้ให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ LGBT ต้องการไม่ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหน ไม่กังวลว่าจะมีพรรคอื่นยื่นร่างกฎหมายประกบด้วย และยินดีมาก ๆ ที่จะได้ร่วมกันทำงานในคณะกรรมาธิการในเรื่องนี้ สิ่งนี้คือสิ่งแรกที่เรากำลังขับเคลื่อน
ประเด็นต่อมา เรื่องของการรับรองเพศ เป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งกันมาก (controversial) โดยเฉพาะในสังคมไทยว่าการรับรองเพศจะนำไปสู่อะไร ตอนนี้เราได้มีการพูดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศบ้าง (gender identity) ที่มาจากแนวคิด identity politic แบบหนึ่งที่พยายามจะนิยามตัวตนหรือกลุ่มของตัวเองว่ามีอัตลักษณ์แบบไหน โดยคุณธัญวัจน์พูดที่นี้ที่แรก มองว่า เราควรทำกฎหมายที่จะไม่มองแค่เพศกำเนิด เราจะมองอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ แล้วก็เพศกำเนิดกับเพศวิถี โดยโมเดลต่างประเทศจะมองเพศที่ไม่ใช่แค่เพศกำเนิด (biological sex) และจากการที่ได้ศึกษาเรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองนโยบายเกี่ยวกับเพศ (Gender Responsive Budgeting) ก็พบว่าเพศสภาพมีความเหลื่อมล้ำ เพศวิถีมีความเหลื่อมล้ำ และเพศกำเนิดมีความเหลื่อมล้ำ และยังไม่เคยเห็นคนพูดเรื่องนี้กับ LGBT เลย
เวลาที่เรากล่าวถึง Gender Responsive Budgeting เราจะมองอยู่ 2 ประเด็น คือ gender role กับ biological sex ที่เป็นต้นทุนเพศที่เหลื่อมล้ำ เช่น บทบาทเมียและแม่สร้างความเหลื่อมล้ำเพราะว่ารัฐไม่ได้ให้บทบาทความเหลื่อมล้ำของเมียและแม่รวมอยู่ใน GDP หมายความว่า ผู้หญิงต้องออกจากงานที่รายได้เดือนละ 30,000 บาท มาทำงานที่ไม่ได้เงินคือ การตั้งครรภ์ เลี้ยงลูกและทำงานบ้านให้สามี เป็นหนึ่งในสาเหตุของอัตราการเกิดที่ลดลง 38% ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ในเร็ววัน (ถ้าเรายังไม่แก้ไข) หรือในแง่ biological sex ที่ผู้หญิงมีความเหลื่อมล้ำของผ้าอนามัยที่จะต้องจ่ายเงินซื้อ คำถามคือรัฐจะจัดสรรงบประมาณใน gender role และ biological sex อย่างไร เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่ทำให้ทรัพยากรมนุษย์เป็นไปตามปกติ เช่น อาจจะจัดสรรงบประมาณจ้างพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการมีบุตร ผู้หญิงสามารถกลับไปทำงานได้อย่างเดียวกับผู้ชาย และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของการจ้างงาน การกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเกิดทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น (ปัจจัยการผลิต)
ในความเหลื่อมล้ำของเพศสภาพ (หมายเหตุ : วิทยากรไม่ได้พูดถึง transgender ทุกคน) เช่น ท่านมีเงินเดือน 15,000 บาท และอยู่ในภาวะความทุกข์ใจในเพศสภาพ (gender dysphoria) จึงต้องการ transition อาจจะเป็นการศัลยกรรม การผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และสังคมเลือกปฏิบัติกับท่านในการเติบโตในหน้าที่การงานเท่ากับผู้หญิงผู้ชาย ท่านจะต้องทำงานอะไรจึงจะ transition ได้ ตัวอย่างนี้เป็นวงจรของความเหลื่อมล้ำ เพื่อประกอบสร้างความเป็นตัวตนของตัวเองให้สำเร็จ จึงต้องบินไปทำงานต่างประเทศ บินกลับมาเพื่อ transition บินกลับไปต่างประเทศหาเงินและบินกลับมาเป็นวงจรความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ ซึ่งรัฐมองข้าม ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณที่ให้สวัสดิการ ช่วยเหลือทางนโยบายการเงิน กองทุนที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้โอกาสกลุ่มคนที่มีเพศสภาพที่ต่างจากเพศกำเนิดสามารถเข้าถึงและได้แสดงศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องทำ
ในความเหลื่อมล้ำของเพศวิถี เช่น คนที่เป็นเกย์เล่นกล้ามกับคนที่เป็นผู้ชายเล่นกล้าม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่างกัน ดาราผู้ชายที่มีกล้ามค่าจ้างก็จะราคาหนึ่ง แต่ถ้าดาราที่เล่นกล้ามแต่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ก็จะมีค่าจ้างอีกแบบหนึ่ง มูลค่าทางเศรษฐกิจของกล้ามเนื้อของผู้ชายกับเกย์ก็แตกต่างกัน
คุณธัญวัจน์มองว่า การรับรองเพศจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการยอมรับ (recognize) แต่เป็นการรับรองเพศที่มาพร้อมกับการส่งเสริมความเสมอภาคนำไปสู่สวัสดิการที่ส่งเสริมความเสมอภาค เราควรจะมี LGBT clinic ทั่วประเทศและมีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดไว้ เพราะฉะนั้น การที่เรารับรองเพศว่าเป็น gender X แต่จะใช้คำนำหน้าว่านางสาวหรือนายก็ได้ ตามเพศสภาพหรือเพศวิถีของคุณ ซึ่งการที่รัฐมีข้อมูล gender X ทำให้รู้ว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณเท่าไร และนำไปสู่สวัสดิการที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ โอกาส กองทุนและสุขภาพ ที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่และต้องขอคำปรึกษาจากวิทยากรอีกสองท่านเพื่อพูดคุยในประเด็นเหล่านี้อย่างละเอียด
โดยเรื่องเพศ แต่ละเพศมีความเหลื่อมล้ำที่ต่างกัน และเราต้องตอบสนองผ่านนโยบาย ผ่านงบประมาณ เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เช่น ผู้ชายผู้หญิงมีเงิน 300,000 บาทแรก เขาก็ดาวน์รถดาวน์บ้าน แต่คนข้ามเพศ (transgender) มีเงิน 300,000 บาทแรก เขายังไม่สามารถมีรถมีบ้านได้ เราจะทำอย่างไรให้เขาได้เท่าเทียมกับผู้ชายผู้หญิง เป็นต้น
ที่กล่าวมานี้คือสถานการณ์ของเรื่องการสมรสเท่าเทียม และสถานการณ์ของการประกอบสร้างนโยบายเรื่องเพศและขับเคลื่อนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวถึงประเด็นที่คุณธัญวัจน์ได้พูดถึงว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจ ทำให้ตนกลับไปนึกถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในปี 2477 ที่ก่อนหน้านั้น กฎหมายไทยยอมรับระบบผัวเดียวหลายเมีย กล่าวคือ ผู้ชายสามารถมีเมียได้หลายคนในเวลาเดียวกัน แต่เมียไม่สามารถมีสามีหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน โดยได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.กฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวเข้าสู่สภา เพื่อที่จะเปลี่ยนระบบผัวเดียวหลายเมียของกฎหมายตราสามดวงเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว ในสภาตอนนั้นบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปอย่างดุเดือด เผ็ดร้อน ซึ่งรายงานการประชุมสภาแสดงให้เห็นถึงชนชั้นในประเทศไทยว่าผัวเดียวหลายเมียมีการปฏิบัติกันในชนชั้นไหน แล้วประชาชนทั่วไปมีวิถีในครอบครัวอย่างไร ถ้าไม่ใช่เพราะมีการปฏิวัติก่อนหน้านั้น ตนคิดว่าเสียงในสภาไม่สามารถผ่านมาตราหนึ่งที่เป็นการสถาปนาระบบผัวเดียวเมียเดียวในไทยได้และผ่านมาเป็นกฎหมายครอบครัวของเราในวันที่ 1 ตุลาคม 2478 แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แบบเปิดเผยของชนชั้นที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนมาเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว
ประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องที่สองคือ กรณีรัฐบาลไทยมีความประนีประนอมกับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามใน 4 จังหวัดภาคใต้ โดยยกเว้นการใช้ ป.พ.พ. ว่าด้วยครอบครัวและมรดกในจังหวัดเหล่านั้น ในสภาตอนนั้นที่มีการเสนอกฎหมายเพื่อยกเว้น มี สส ฝ่ายค้านได้ถามว่า 4 จังหวัดดังกล่าวไม่ใช่แผ่นดินไทยหรือ เมื่อเราปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกลับคืนมา ทำไมจึงต้องยกเว้นกฎหมายที่ปรับปรุงให้ รัฐบาลก็ตอบว่า พี่น้องชาวไทยใน 4 จังหวัดส่วนใหญ่นับถืออิสลาม วิถีชีวิตในเรื่องครอบครัวและมรดกเป็นเรื่องที่พระเจ้ากำหนดมา และเราไม่ควรไปบังคับให้เขาปฏิบัติกับส่งที่ขัดกับวิถีศาสนาของเขา ในที่สุดสภาของผ่านกฎหมายยกเว้นนี้ให้ ซึ่งแต่เดิมเคยมีกฎหมายยกเว้นให้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถูกยกเลิกในปี 2486 เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวมุสลิมไม่ใช้บริการศาลไทยใน 4 จังหวัดนั้น และข้ามไปใช้บริการศาลอิสลามในมาเลเซียแทน จนปี 2489 รัฐบาลไทยจึงกลับมายกเว้นการใช้กฎหมายครอบครัวและมรดกใน 4 จังหวัดดังกล่าว
ประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องที่สามนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่ทำให้ตนคิดว่า บางครั้งเราต้องใช้เวลาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ บางครั้งอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ในกรณีของหญิงมีสามีในประเทศไทย ก่อนปี 2519 เหตุฟ้องหย่ามีเรื่องหนึ่งที่กำหนดว่า “ถ้าภรรยามีชู้ สามีฟ้องหย่าได้” กลุ่มสนับสนุนสิทธิสตรีจึงเรียกร้องว่าต้องให้สิทธิฟ้องหย่าแก่ภรรยาในกรณีสามีมีชู้ด้วย ซึ่งนับตั้งแต่ที่ตนเรียนมาคือกฎหมายครอบครัวฉบับ 2478 ที่เหตุฟ้องหย่าก็มีแค่เรื่องประเวณี จากปี 2478-2519 ก็มีความสำเร็จนิดเดียวคือ ถ้าสามีไปมีเมียน้อย ก็ให้สิทธิฟ้องหย่า จากนั้นก็มาถึงกฎหมายครอบครัวฉบับปัจจุบัน ที่ให้เหตุฟ้องหย่าเท่าเทียมกันระหว่างสามีภรรยา นับเป็นวิวัฒนาการที่สำคัญในกฎหมายครอบครัวของไทย
พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือร่างสมรสเท่าเทียม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เริ่มต้นจริง ๆ ในปี 2555 ที่มีคู่รักชายรักชายได้ไปขอจดทะเบียนสมรสที่เชียงใหม่ แล้วเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ จึงมีการร้องเรียน รัฐบาลในสมัยนั้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา และมีคุณวิรัตน์ กัลป์ยาศิริ เป็นประธานคณะกรรมาธิการได้รับเรื่องไว้และร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต มี 15 มาตรา และนำไปทำประชาพิจารณ์ใน 4 จังหวัดใหญ่ (สงขลา กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น) ซึ่งแน่นอนว่า 15 มาตรานี้ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งตนก็ได้วิจารณ์ในตอนนั้นว่ารีบร่างมากเกินไป แต่ก็ก่อให้เกิดคุนูปการแก่มหาวิทยาลัย กล่าวคือ มีการทำวิทยานิพนธ์หลายเล่ม หลายมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับร่างฉบับดังกล่าวเพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะ โดยมีวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งที่ทำขึ้นในปี 2559 โดยคุณชวินโรจน์ ธีรพัชรพร (มสธ.) ที่เป็นผู้เสนอคนแรกให้แก้ไข ป.พ.พ. เลย ซึ่งวิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่ทำเกี่ยวกับประเด็นนี้ตนล้วนเข้าไปเป็นกรรมการสอบทั้งหมด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
ผศ.ดร.เอมผกา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสถานการณ์ทางกฎหมายและเรื่องของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN) ทำให้นึกถึงกฎหมายหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่คุณธัญวัจน์พูดไปก็คือกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสที่เป็นการสร้างครอบครัวอย่างหนึ่ง หรืออีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าคู่ชีวิต โดยในไทยมีออกมาเป็น 2 ร่าง คือ ร่างคู่ชีวิตกับร่างสมรสเท่าเทียม ผศ.ดร.เอมผกาเห็นว่า กฎหมายทั้งสองฉบับมีเป้าหมายเดียวกัน เป็นการรับรองสิทธิของกลุ่ม LGBTIQN ให้เขาสามารถสร้างครอบครัวและถูกยอมรับ (recognize) ว่าเขาเป็นครอบครัวกัน นำมาซึ่งการมีบุตรหรือทายาทกันต่อไป โดยกฎหมายจะไปถึงจุดนั้นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการออกแบบกฎหมายของแต่ละประเทศ
ในหลายประเทศเราเห็นพัฒนาการมาอย่างยาวนาน บางประเทศต้องใช้เวลา 20 ปีที่พัฒนาจากคู่ชีวิตไปเป็นการสมรส อย่างฝรั่งเศสก็ใช้เวลาเป็น 10 กว่าปี บางประเทศก็รวดเร็วคือให้ประชาชนโหวตเลยว่าจะเอารูปแบบไหน บางประเทศก็ให้เลือกได้ว่าจะตกลงเป็นคู่ชีวิตหรือคู่สมรส บางประเทศที่เร็วมากเรื่องการสมรส อาจจะให้สิทธิในการมีบุตรน้อยก็ได้ บางประเทศยอมรับคู่ชีวิตแต่ไม่ยอมรับการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันเลย จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
ในประเทศไทยก็ไม่ได้มีสถิติที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวน LGBTIQN ซึ่งผศ.ดร.เอมผกาเองก็ต้องอ้างอิงหนังสือเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์ในปีนี้ว่าอยู่ที่ประมาณ 3.6-5% ของจำนวนประชากร ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจำนวนที่ถูกต้องหรือไม่ ตนก็หวังว่ากฎหมายที่อยู่ในการประชุมของสภาจะไปต่อได้
ในประเด็นการรับรองเพศ การให้เปลี่ยนคำนำหน้านาม ซึ่งเรื่องนี้จะไปคล้องกับบางประเทศที่พูดร่วมกับเรื่อง intersex ที่เพศกำกวมโดยกำเนิดและไม่สามารถแบ่งแยกเพศได้ โดยจะมีการระบุในกฎหมายอีกฉบับ ซึ่งวิวัฒนาการของกฎหมายเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านามหรือเปลี่ยนเพศในแต่ละประเทศก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในไทยเราทำสองเรื่องไปพร้อม ๆ กัน เวลาพูดอาจจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าพูดในเรื่องสมรส หรือพูดในเรื่องการรับรองเพศ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน
โดยตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงเพศนั้น ในฝรั่งเศส กว่าจะถึงจุดที่ยอมรับให้เปลี่ยนเพศได้ จนเปลี่ยนได้และลดความยุ่งยากของขั้นตอนการเปลี่ยนเพศลง แต่เดิมต้องขึ้นศาล (หลายประเทศก็ขึ้นศาล) จนศาลตัดสินและนำไปสู่การเขียนกฎหมาย ซึ่งจะมีประเด็นเรื่องขัดรัฐธรรมนูญอีก (เยอรมนีจะเกิดขึ้นบ่อย) ต้องแก้ไขกันต่ออีก แต่ละประเทศใส่เงื่อนไขซึ่งแต่เดิมในยุคประมาณ 20 ปีที่แล้วให้มันยาก จนปัจจุบันง่ายขึ้น ในอาร์เจนตินาที่ง่ายมาก บางประเทศอาจจะมีขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบเล็กน้อย ซึ่งกฎหมายไทยจะไปถึงขั้นไหนนั้น ผศ.ดร.เอมผกามองว่าเป็นสิ่งที่มีคนเรียกร้องเยอะ และตนก็สนับสนุนเต็มที่
ประเด็นที่สาม การเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ที่ไม่ใช่แค่จะถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องของเชื้อชาติ ศาสนา หรือปัจจัยอื่น ๆ แต่ในเรื่องของการเลือกปฏิบัติทางเพศ ไทยมีกฎหมายเฉพาะคือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่ให้คนที่มองว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติเข้าไปร้องต่อกรรมการในประเด็นที่ถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การแต่งกาย การรับสมัครเข้าทำงานหรือเข้าเรียน เป็นต้น โดยกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นในปี 2558 โดยเท่าที่ตนอ่านส่วนใหญ่ผู้ที่มาร้องเรียนจะเป็นกลุ่ม LGBTIQN โดยอาจจะมีคำถามว่า มีคนทราบถึงเครื่องมือนี้หรือเครื่องมือนี้แก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศได้มากน้อยแค่ไหน ผู้ร่างคาดว่าจะมีคนใช้เครื่องมือนี้เยอะ มีเรื่องร้องเรียนเยอะและเป็นเรื่องที่ทันสมัยแค่ไหน แต่คำตอบคือมันยังไม่ไปเยอะขนาดนั้น ซึ่งเครื่องมือนี้เป็นกฎหมายที่ทันสมัย แต่ว่าเราอาจจะต้องเรียนรู้กฎหมายตัวนี้ต่อไป จริง ๆ ตนเพิ่งเห็นรายงานการศึกษาทบทวนความก้าวหน้าของกฎหมายฉบับนี้ (โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ UNDP) และพบว่าทั้งสองหน่วยก็มีข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายนี้ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อด้อย และต้องแก้ไขอย่างไร โดยส่วนหนึ่งของรายงานได้กล่าวถึงกลุ่ม LGBTIQN เป็นผู้ที่จะใช้ช่องทางนี้ในการร้องเรียนเรื่องเลือกปฏิบัติมากกว่าผู้หญิง ส่วนผู้ชายไม่มีเลย จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในมิติที่เกี่ยวกับกลุ่ม LGBTIQN จะมีกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่มีนี้อาจจะมีข้อด้อย เช่น อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ในการร้องเรียนที่กำหนดให้ผู้เสียหายเป็นผู้ร้องเรียน ในบางครั้งผู้เสียหายอาจจะอยากให้องค์กรไปร้องเรียนแทนเพราะเหตุผลต่าง ๆ ความเอาจริงเอาจังที่จะเชื่อมโยงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) กับคณะกรรมการความเท่าเทียมระหว่างเพศ
สิ่งนี้คือกฎหมายกลุ่มที่เกี่ยวข้องเวลาพูดถึงกลุ่ม LGBTIQN ที่ใช้ป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้ในหลายๆสถานการณ์ เช่น การเข้าทำงาน การสมัครเรียน ความก้าวหน้าในอาชีพ การใช้บริการสาธารณะ การใช้บริการสถานพยาบาล ผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิติหรือเบี้ยประกันภัย เป็นต้น เรารู้ว่ามีคนใช้เครื่องมือนี้ในการเรียกร้องและประสบความสำเร็จ เช่น กรณีการแต่งกายของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งกลไกของกฎหมายฉบับนี้ก็ผลักดันประเด็นของกลุ่ม LGBTIQN ไปในระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าผลักดันได้ตามอย่างเท่าเราต้องการแค่ไหน ก็น่าจะต้องมาคุยกัน
ประเด็นที่สี่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTIQN คือ กฎหมายเกี่ยวกับความความเกลียดชัง (hate speech/ hate crime) ซึ่งจะเกิดกับเรื่องผิวสี ศาสนา หรือเชื้อชาติ แต่กลุ่มที่จะโดนตลอดหรือประจำคือกลุ่ม LGBTIQN ซึ่งเกิดจากความเกลียดชังด้วยเหตุผลทางเพศ ที่ในหลาย ๆ ประเทศก็มีการออกกฎหมายหรือรณรงค์ต่อต้านการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง ซึ่งไทยในตอนนี้ ยังไม่มีสถิติเรื่องนี้ เราจึงไม่รู้ว่าเวลามีคนตายเกิดขึ้น เกิดจากเหตุผลความเกลียดชังทางเพศหรือเหตุผลอื่น ๆ แต่ในแง่ของคำพูดที่สังคมไทยแต่เดิมอาจจะไม่ได้ตระหนักมากนัก แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีการตระหนักมากขึ้นในเรื่องการใช้คำพูดที่ไม่สร้างความเกลียดชังเรื่องเพศ แต่จากการค้นหาคร่าว ๆ ตนก็ยังไม่พบว่ามีคำพิพากษาตัวอย่างที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความเกลียดชังทางเพศโดยตรง
ประเด็นที่ห้าคือ เด็กกับ LGBTIQN ด้วยความที่ LGBTIQN เป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว แต่พอเป็นเด็กก็จะมีความทับซ้อนของความเปราะบางเพิ่มไปอีก เช่น เด็กอยู่ภายใต้การปกครองของบิดามารดา เด็กก็จะถูกกดทับง่ายขึ้นไปอีก ถ้าเจอพ่อแม่ที่ไม่ยอมรับหรือเจอโรงเรียนที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบ LGBTIQN เป็นต้น เขาก็ไม่สามารถเรียกร้องหรือป้องกันตัวเองได้ ก็จะกลายเป็นเหยื่อในระบบปัจจุบัน ซึ่งเด็กเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก ๆ และมีคนพูดให้น้อย เพราะเวลาที่เราพูดถึงเด็กเราจะพูดในภาพรวม การพูดถึงเด็กที่เป็น LGBTIQN ในสังคมไทย เด็กกลุ่มนี้จะบอกว่าพวกเขาถูกกลั่นแกล้งหนักมาก ทั้งจากเพื่อน ครู บิดามารดา และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การหนีออกจากบ้าน การค้าประเวณี ขบวนการยาเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เด็กอยู่กับครอบครัวที่เป็น LGBTIQN (เด็กไม่ได้เป็น LGBTIQN) ที่จะให้ความคุ้มครองเด็กอย่างไร ไม่ให้ถูกผู้อื่นในสังคมกลั่นแกล้งในประเด็นที่เขาอยู่กับครอบครัว LGBTIQN และให้เด็กอยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุข
จากที่กล่าวมา กฎหมายไทยที่ชัดเจนมีอยู่ประมาณ 3-4 เรื่อง แต่เรื่องเด็กก็ถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่หยิบยกมาชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกัน
?️?ช่วงที่ 2
คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ในการทำงานช่วงที่ผ่านมาพบว่า คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมด้วยสันติภาพก็คือการเคารพทุกเพศ ฉะนั้น ในแต่ละเพศที่ความหลากหลาย เป้าหมายของทุกกฎหมายจะต้องนำไปสู่ความเสมอภาค ซึ่งในเรื่องของสิทธินั้น หากเราไม่คำนึงถึงความเสมอภาค จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือถูกฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าจะเข้ามาแทน แต่เราจะกล่าวถึงสิทธิแบบ 100% โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ เช่น คนตาบอดขอสิทธิในการขับรถ จะให้สิทธิแก่เขาโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมไม่ได้ คำถามอยู่ที่ว่าเราควรคำนึงถึงสิทธิแค่ไหน จึงนำมาถึงประเด็นเรื่องการรับรองเพศที่ตนจะพูดถึง กล่าวคือ มีความขัดแย้งกันในแต่ละเรื่องและหลายเรื่องมาก เช่น ชายข้ามมาเป็นเพศหญิง (transwoman) แข่งกีฬากับผู้หญิงได้ไหม จะสร้างความได้เปรียบไหม หรือจะมีวิธีอื่นที่จะให้เกิดความเสมอภาคกัน หรือหญิงที่ข้ามมาเป็นเพศชาย (transmen) หากต้องจำคุก เขาจะต้องอยู่ร่วมกับชายหรือไม่ เพราะการทำอวัยวะเพศชายเป็นเรื่องที่ยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง transmen ส่วนใหญ่จึงยังมีอวัยวะเพศที่เป็นเพศกำเนิด การคิดแบบเถรตรงว่าให้คนที่เป็นเพศชายไปอยู่ในคุกชายมีความปลอดภัยหรือไม่ และหากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา จะจัดการอย่างไร เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในการออกกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงความเสมอภาคและโอกาสของทุก ๆ เพศที่มีความหลากหลาย เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องเราจะต้องพูดคุยกันอย่างละเอียด เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งใดนำไปสู่ความเสมอภาคจริง ๆ สิ่งใดจะเป็นอันตรายต่อบุคคลนั้น ๆ
สถานการณ์กฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในไทย เราต้องพูดถึงกลุ่มคนข้ามเพศในกฎหมายแรงงานจะต้องพูดถึงเรื่องใดบ้าง เช่น การที่เข้าต้องการ transition จะถูกกำหนดว่าเป็นลากิจหรือลาป่วย หรือจริง ๆ แล้วเขาควรได้วันลาต่างหาก เพราะว่าการ transition เขาไม่ได้เป็นคนป่วย จะลากิจก็ไม่ใช่เพราะว่าเป็นสิ่งที่เขาต้องประกอบสร้างให้เสร็จ แม้จะดูว่าเยอะกว่าผู้ชายหรือผู้หญิงแต่จะนำมาสู่ความเสมอภาค เป็นต้น
นโยบายเกี่ยวกับการผลิตสื่อสู่สาธารณะ หากเป็นสื่อที่เกี่ยวกับ LGBT สามารถลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตสื่อได้ ก็จะทำให้ความคิดในเชิงสื่อของผู้ผลิตมีภาพของ LGBT ที่สร้างความตระหนักรู้มากขึ้น และเป็นการพัฒนาในเรื่องของสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศก็จะเข้าสู่งานได้มากขึ้น
ควรจะมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมต้นทุนเพศให้กับทุกเพศ เช่น ในพื้นที่หนึ่ง มีผู้หญิงเรียนจบน้อยกว่าผู้ชายเพราะว่ามีวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมผู้หญิงให้มีการศึกษาสูง พื้นที่นั้นก็ควรมี KPI วัดและจัดสรรงบประมาณให้ อาจจะกำหนดในรูปแบบค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าผู้ชาย เพื่อให้ผู้หญิงได้เติบโตและมีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชาย หรือต้นทุนเพศของผู้หญิงในเรื่องผ้าอนามัย ต้นทุนเพศของกลุ่มคนข้ามเพศในเรื่องของฮอร์โมนและ transition ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้
นอกจากกฎหมายนี้แล้ว อาจจะมีการจัดสรรกองทุนให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ทุกเพศที่อยู่ร่วมกันในสังคมมีความเป็นกันและกัน ในขณะที่ผู้ชายผู้หญิงกำลังสร้างทรัพยากรมนุษย์และขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราศึกษาให้ดี พฤติกรรมในการใช้ชีวิตของ LGBTQ+ ส่งผลบวกต่อครอบครัวชายหญิงและเศรษฐกิจเพราะว่าภาระไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อเราพูดถึงสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคก็จะนำมาสู่เรื่องเศรษฐกิจที่ดี เช่น ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง แต่พอพูดถึงเรื่องฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ อาจจะมีคนพูดว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาเลือกเอง เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ก็ต้องจ่ายเองสิ รัฐจะมาจ่ายให้ทำไม ถ้าเราต่อสู้เพื่อให้สังคมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเขา ก็จะยกระดับความไม่จำเป็นในแง่มุมทางเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องจำเป็น และทำให้ผลของเศรษฐกิจโดยรวมค่อย ๆ ขยับดีขึ้น
อาจจะพูดถึงกรณีที่ไทยเป็น hub ต้นทุนเพศให้ทั้งโลกก็ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สิทธิและความเสมอภาคต้องถูกออกแบบอย่างปราณีต เพื่อจะนำพามาสู่ความเสมอภาคของคนในสังคม และเมื่อมีความเสมอภาคก็จะนำมาสู่โอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐไทยไม่ควรละเลยในการคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ
กล่าวแสดงความขอบคุณ ผศ.ดร.เอมผกาที่ยกกรณีความสัมพันธ์ของเด็กกับ LGBT น่าสนใจมากและสามารถนำไปศึกษาเป็นวิทยานิพนธ์ได้ ซึ่งตนก็คิดไม่ถึงมาก่อนในประเด็นนี้และจะต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง
ใน 6 ปีที่แล้ว ได้มีการพูดถึงกรณีที่สนับสนุนบุคคลหลากหลายทางเพศให้รับบุตรบุญธรรม เป็นกรณีที่ให้สิทธิแก่ LGBT โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของเด็กหรือเปล่า ในตอนนั้นก็มีการคัดค้านอย่างมาก เช่น จะไม่ถามเด็กก่อนหรือว่าอยากมีครอบครัวแบบมีพ่อสองคนหรือแม่สองคน ประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นแบบไหน หรือมีการพูดกันไปถึงประเด็นที่ว่าครอบครัวเป็น LGBT จะเลี้ยงเด็กได้ไม่ดี ซึ่งผลการวิจัยก็ตอบมาว่าไม่เป็นความจริง เพราะสามารถเลี้ยงได้ดีและบางครั้งก็เลี้ยงได้ดีกว่าด้วย จุดนี้จึงเป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในชั้นสุดท้ายที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษยอมให้สิทธิคู่ชีวิตสามารถจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมโดยจดรับบุตรบุญธรรมของอีกฝ่ายเป็นของตนเองได้
ประเด็นที่วิทยากรท่านแรกกล่าวมาก็น่าสนใจ เรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันตามตัวอย่างที่คนตาบอดขอสิทธิในการขับรถ สิ่งสำคัญอยู่ที่คำตอบสุดท้ายซึ่งเมื่อเราพูดแล้วโดยสภาพจะให้คนตาบอดขับรถไม่ได้ แต่ว่ารัฐจะต้องมีการจัดการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกแก่พวกเขาในการเดินทาง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผ่านการศึกษาพูดคุยและจะให้คำตอบสุดท้ายเหมือนกับเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองที่กล่าวไปช่วงแรกที่จะต้องใช้เวลาอยู่บ้างเหมือนกัน
ในรอบนี้ จะพูดถึงประเด็นกฎหมายหลากหลายทางเพศของฝรั่งเศสที่มีอยู่ 3 แบบ คือ แบบอยู่กินกันเฉย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันซึ่งมีอยู่มาตราเดียวในกฎหมายครอบครัวฝรั่งเศสที่เขียนรับรอง แต่ไม่ได้มีสิทธิหน้าที่เหมือนสามีภรรยา แบบจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ใช้ในปี 2542 และแบบสมรสกัน ในปี 2556 ที่เห็นถึงวิวัฒนาการว่ามาตราเดียวที่ระบุถึงการอยู่กินกันแบบอิสระและการจดทะเบียนคู่ชีวิตที่ประกาศใช้ในปีเดียวกัน และต่อสู้เรียกร้องกันมาอีก 14 ปี จึงมีกฎหมายสมรสของเพศเดียวกัน และเห็นถึงการเรียกร้องในต่างประเทศที่จะมีการเรียกร้องเพิ่มเติม ซึ่งเป้าหมายของวิทยากรทั้งหมดคือการรับรองบุคคลหลากหลายทางเพศ
สถานการณ์ในทางกฎหมายในตอนนี้คือรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น ป.พ.พ. มาตรา 1448 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากศาลมีคำวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเหมือนกรณีของการให้หญิงที่มีสามีใช้ชื่อสกุลสามีขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงต้องไปร่างกฎหมายว่าด้วยชื่อสกุล ปี 2548 ตนคิดว่า หากเรามองในแง่บวกที่ศาลจะวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ กลไกก็จะเป็นแบบกฎหมายว่าด้วยชื่อสกุลนั่นเอง แต่ถ้าศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะมีนักวิชาการและสังคมให้ความสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเหตุผลของคำวินิจฉัย
ผศ. ดร.ไพโรจน์ได้ไปอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายคู่ชีวิต คือ คุณชมพูนุช นาครทรรพ ที่เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) ที่ได้ให้สัมภาษณ์วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าประธานวิปของรัฐบาลให้ไปทบทวน พ.ร.บ.คู่ชีวิต แล้วทางพรรคได้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่จะต้องมีร่างกฎหมายนี้ และต้องไปฟังความเห็นขององค์กรทางศาสนา และอาจจะต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีก็ได้
(รศ.อานนท์ ผู้ดำเนินรายการ ถาม ศ. ดร.ไพโรจน์ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องถามองค์กรศาสนาด้วยหรือไม่ จะเกิดปรากฏการณ์แบบที่ปารีสหรือไม่)
ศ. ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ (วิทยากร) : เรามีรัฐบาลที่กำลังยุ่งอยู่สถานการณ์โควิด-19 กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เราอย่าไปหวังอะไรมาก เมื่อดูจากข่าวการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวประกอบที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตนได้เขียนบทความตอนปี 2556 และคิดว่าอย่างช้าที่สุดก็ 6 ปีที่เราจะได้เห็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็คือปี 2562 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายนี้ ตรงนี้ตนจึงอยากให้ทุกคนได้รู้ที่มาเรื่องหนึ่งของการทำงานของรัฐบาล คือ กฎหมายว่าด้วยการอุ้มบุญ ที่ตราออกมาในปี 2558 ต้นร่างของกฎหมายอุ้มบุญนี้มีมาสมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะมีชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งมาจ้างหญิงไทยอุ้มบุญโดยใช้สเปิร์มของเขาเองและมีลูก 12 คน และเกิดปัญหาเรื่องบุตรขึ้นมา หากไม่มีปัญหานี้ รัฐบาลจะไม่รีบออกกฎหมายอุ้มบุญนี้เด็ดขาด นี่คือประสบการณ์ที่ตนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทำงานตามความจำเป็นทางด้านสังคม แต่ทำงานเพราะถูกกดดันจากข่าวที่เกิดขึ้น ฉะนั้น ร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุเข้าวาระการประชุมและจะมีการพิจารณาในช่วงสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้าตามที่วิทยากรท่านแรกกล่าว เราก็ต้องหวังให้เป็นไปอย่างราบรื่น แต่เราก็ต้องทำใจไว้เผื่อกรณีมีเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่ อนาคตของร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นร่างฉบับไหนอาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นต่อมาคือคำพิพากษาศาลฎีกา 2887/2563 เกี่ยวกับหญิงจดทะเบียนสมรสกับหญิงที่ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าฝ่ายหญิงอีกฝ่ายหนึ่งไปลักทรัพย์ของหญิงอีกฝ่ายในไทย ผู้เสียหายจึงฟ้องคดีอาญาที่ศาลไทย ศาลเห็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้เป็นคู่สมรสตามกฎหมายไทย จำเลยจึงไม่สามารถอ้างความเป็นคู่สมรสเพื่อยกเว้นโทษลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 71
ในช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศหลายข่าว เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษาตามเพศกำเนิดหรือเพศสภาพได้ ในต่างประเทศที่มีการเดินขบวนฉลองในเดือน Pride Month สำนักวาติกันที่ออกแถลงการณ์ว่าการสมรสของเพศเดียวกันเป็นบาป บาทหลวงจึงไม่สามารถทำพิธีสมรสในโบสถ์ให้กับคู่สมรสเพศเดียวกันได้ รัฐบาลฮังการีออกกฎหมายต่อต้านความหลากหลายทางเพศ ในเยอรมนีก็มีการคว่ำร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดเพศของตนเอง
ในประเด็นสุดท้ายคือเหตุผลที่ ศ. ดร.ไพโรจน์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ จากที่ได้ศึกษาติดตามเรื่องนี้มาตลอดและเห็นถึงวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละประเทศผ่านกฎหมายคู่ชีวิตของเขา เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เห็นถึงการต่อสู้เรียกร้องในทางการเมืองของไทยไม่ว่าจะในเรื่องของสิทธิสตรี การใช้กฎหมายอิสลาม ระบบผัวเดียวเมียเดียว และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ตนก็อยากจะเห็นกฎหมายนี้ผ่านไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือร่างของพรรคก้าวไกลก็ตาม และในกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันที่ ผศ. ดร.เอมผกากล่าวมา ตนเห็นว่าเนื้อหาบทบัญญัติดีมาก เพียงแต่ว่ามีประสิทธิภาพดีแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งมีข่าวการตั้งกรรมการเพื่อแก้ไขปรับปรุง แต่ว่าติดสถานการณ์โควิด-19 จึงยังไม่มีความคืบหน้า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
กล่าวต่อมาในประเด็นเรื่องเด็กกับครอบครัว LGBT ในไทยก็มีคดีน้องคาร์เมนที่ศาลได้ตัดสินให้อำนาจปกครองแก่ฝ่ายชายที่เป็นบิดาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก เป็นตัวอย่างคดีของไทยที่แสดงให้เห็นว่าการที่เด็กอยู่กับพ่อที่เป็น LGBT ก็ไม่ได้ทำลายประโยชน์สูงสุดของเด็ก หรือคดีในต่างประเทศที่เพิ่งตัดสินไป (ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) เด็กกับแม่หนีจากรัสเซียที่มีกฎหมายต่อต้านความหลากหลายทางเพศมาอยู่ในฟินแลนด์ ได้ทำเรื่องขอลี้ภัยแต่ไม่สำเร็จ เด็กจึงจะถูกส่งกลับไปรัสเซีย คณะกรรมการสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (CRC) วินิจฉัยว่าฟินแลนด์ละเมิดหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก นับเป็นคดีแรกของ CRC ที่มองเรื่องหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กกับครอบครัวที่เป็น LGBT (แม่ของเด็กมาอยู่ที่ฟินแลนด์กับคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกัน) ดังนั้น ฟินแลนด์จึงต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองต่อไป
ตัวอย่างคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีปัญหาเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็กกับการอยู่กับครอบครัวที่เป็น LGBT เสมอไป จะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดเป็นรายกรณีไป ไม่ใช่จะอ้างเรื่องการเป็นครอบครัว LGBT มาตัดสิทธิของเด็กในการอยู่ร่วมกับครอบครัว LGBT ดังนั้น ในเรื่องกฎหมายอุ้มบุญของไทยที่ไม่ให้ใช้สิทธิที่จะอุ้มบุญได้ อาจจะดูไม่สอดคล้องกับแนวคิดศาลหรือแนวคิดของโลกในปัจจุบัน หรือในฝรั่งเศสที่มีการห้ามอุ้มบุญ ตอนนี้ก็เริ่มมีการร่างกฎหมายที่จะให้คู่รักเพศเดียวกัน (ยังจำกัดแค่ lesbian) ที่จะอุ้มบุญได้ ในกฎหมายไทยจึงต้องฝากความหวังไว้ที่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือสมรสเท่าเทียม
ในประเด็นเรื่องเลือกปฏิบัติ ที่มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ เป็นเครื่องมือ ซึ่งมีคนทำการสำรวจแล้วพบว่ากฎหมายนี้เป็นที่รู้จักน้อยมาก กลุ่มที่รู้จักก็รู้มาจากการไปปรึกษาองค์กรและได้คำแนะนำมา ซึ่งเราก็หวังให้คนรู้จักมากขึ้น และในขณะนี้ก็มีการทำร่างกฎหมายอีกฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทั้งหมดเลย ไม่จำกัดแค่เรื่องเพศ ซึ่งมีหลายร่างมาก แต่ก็มีร่างที่มีความหวังมากคือ ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่มี อ.ณรงค์ ใจหาญ เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง รับผิดชอบโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติทุกเรื่อง โดยแนวคิดเรื่องนี้ถูกเสนอจากภาคประชาสังคมก่อน คือ กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ป่วย HIV พอร่างขึ้นจึงมีการใส่เรื่องอื่น เช่น เพศ อายุ ความเห็นทางการเมือง เพิ่มเติมเข้าไปด้วย มีระบบคณะกรรมการคล้ายกับ วลพ. ซึ่งในประเด็นไหนที่อาจจะทับซ้อนกัน กฎหมายก็จะกำหนดให้ใช้กลไกเฉพาะที่มีอยู่ ร่างกฎหมายนี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรติดตาม และน่าจะเป็นกฎหมายอีกฉบับที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติได้
ในร่างขจัดการเลือกปฏิบัตินี้ ผู้ร่างบางกลุ่มก็ได้มีการสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติของกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีความทับซ้อนกัน เช่น เป็นเด็กและเป็น LGBT ด้วย หรือเป็นคนพิการและเป็น LGBT ด้วย LGBT ที่เป็น HIV ด้วย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะถูกบันทึกหรือเก็บข้อมูลและมีการตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาสังคมว่าพวกเขาอาจจะถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าทำงานหรือศึกษาต่อ กฎหมายฉบับนี้จึงถูกตั้งความหวังว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา
เรื่องสุดท้ายที่เป็นข้อสังเกตคือ มีครั้งหนึ่งที่ตนต้องไปทำหลักสูตรอบรมตำรวจว่าจะทำอย่างไรให้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ และเคารพสิทธิของผู้อื่น จึงได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง บทบาทของนักกฎหมายที่สำคัญนอกจากการที่กฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนา นักกฎหมายก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย เพราะอาชีพนักกฎหมายจะดูเป็นอนุรักษ์นิยมมาก ที่จะมีแนวคิดหรือวิธีการบางอย่างที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมอยู่เหมือนกัน ดังนั้น ในนักกฎหมายเองจึงต้องมีสิ่งที่เราต้องคุยกัน นอกจากเรื่องเนื้อหาของกฎหมาย เราเองก็ต้องเปิดกว้างและเรียนรู้ทำความเข้าใจ เช่น อาจจะไม่รู้ว่ามีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติทางเพศ มี วลพ. เพื่อที่สามารถแนะนำให้กับสังคมได้ บทบาทของนักกฎหมายที่ช่วยเหลือผู้ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเรื่องเพศมากขึ้น เมื่อนักกฎหมายเข้าไปทำมากขึ้น ภาคสังคมก็จะเปิดรับมากขึ้นและเข้าใจถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน
และเรื่องสุดท้ายที่เป็นข้อเสนอคือ การมีส่วนร่วมของคนที่หลากหลายในการทำงานเชิงนโยบาย การแสดงความคิดเห็น การเพิ่มพื้นที่ให้กับคนที่เปราะบาง คนที่หลากหลายให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะสังคมไทยค่อนข้างเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่มาก ๆ ทำให้นโยบายหลาย ๆ อย่างไม่สะท้อนการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนอื่น ๆ
?️?คำถามจากการเสวนา
คำถาม (1) : นอกจากการเคลื่อนไหวทางกฎหมายแล้ว วิทยากรทุกท่านคิดว่าการเคลื่อนไหวขององค์กรใดหรือในมิติใดที่สำคัญ จะนำมาซึ่งความเท่าเทียมทางเพศได้เร็วที่สุด
ศ. ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ : คิดว่ามีประมาณ 4 กลุ่ม คือ การเคลื่อนไหวขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ตอนมีการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ในปี 2556 ซึ่งมีกลุ่มอัญจารีเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาหาตนและเชิญไปพูดคุยกัน จากนั้นก็มีกลุ่มอื่น ๆ ตามมาที่มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในแง่ต่าง ๆ เป็นต้น กลุ่มนักวิชาการที่ทำงานและพูดคุยกัน กลุ่มนักการเมือง และกลุ่มสุดท้ายก็คือตัวบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเองที่ต้องแสดงตัวตนและศักยภาพออกมา
คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ : คิดว่า สิ่งที่เราจะขับเคลื่อนได้ตอนนี้ก็คือเราทุกคนต้องสร้างความเข้าใจอันดีกับคนทุกเพศ เพื่อให้สังคมตระหนักรู้ ต้องสร้างพันธมิตรกับคนทุกคนในสังคม และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน และจะต้องไม่มองแค่ว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องทำให้คนทุกเพศ
ผศ. ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ: เห็นว่า ต้องพยายามทำความเข้าใจระหว่างคนที่อยู่ต่างรุ่นกัน เพราะยังไม่ค่อยจะมีสื่อที่จะพยายามส่งถึงคนทุก ๆ กลุ่มหรือเข้าไปทำความเข้าใจกับคนรุ่นก่อนที่ไม่ค่อยจะยอมรับในเรื่องนี้ ในเวลาที่ตนไปอบรมให้ตำรวจต้องคิดเสมอว่ากำลังคุยกับพ่อตัวเอง ซึ่งในเวลาที่คุยกับคนรุ่นพ่อต้องพยายามที่จะพูดเพื่อให้เข้าใจและยอมรับเรื่องแบบนี้ได้ ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีการที่จะถ่ายทอดให้คนกลุ่มนั้นยอมรับได้กับเรื่องนี้
และข้อควรระวังอีกประการหนึ่งคือ สื่อต้องเน้นการทำความเข้าใจระหว่างกัน โดยไม่ผลักอคติไปให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ควรผลิตสื่อที่ตอบสนองคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยใส่อคติต่อคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ความเข้าใจระหว่างกันมีความยากลำบากขึ้น
คำถาม (2) : อยากทราบความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว
คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ : ในตอนนี้ที่วิทยากรทำอยู่มีอยู่ 3 ประเด็น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่อาจจะเพิ่มเติมคำว่าเพศสภาพ เพศวิถีเข้าไป ส่วนการรับรองเพศนั้น วิทยากรได้ร่างบทบัญญัติเสร็จแล้ว แต่ว่ากำลังทำวิจัยเกี่ยวกับข้อกังวลของสังคมในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะทำเสร็จประมาณสัปดาห์หน้า ส่วนร่างภาคประชาชนของเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย สมาคมฟ้าสีรุ้งและคุณนก ยลดา จะมีการนัดพบกันในวันที่ 19 กรกฎาคม เพื่อพูดคุยถึงหลักการของร่างแต่ละฉบับ ซึ่งวิทยากรจะแจ้งข่าวให้ทราบอีกที อย่างไรก็ตาม วิทยากรมีข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ก่อน เรื่องนี้จึงต้องพ้นจากวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการแก้ไขเรื่องการรับรองเพศ และการแก้ไขคำนำหน้านามตามมาได้เลย