สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ เรื่อง “Climate Change ภาวะโลกรวน ปัญหาที่ถูกลืม..?” จัดโดย ศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาวิชาการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา วิชาปัญหาการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม
ผู้กล่าวเปิดการเสวนา
- ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
- ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครื่อข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
- อาจารย์ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
- คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่
ผู้ดำเนินรายการ
- ผู้แทนนักศึกษาวิชาปัญหาการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายชญานนท์ แสงอ่วม นิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
ผู้ดำเนินรายการ
กล่าวต้อนรับเข้าสู่งานเสวนา “Climate Change ภาวะโลกรวน ปัญหาที่ถูกลืม..?” ซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ มี 3 ประการ ประการแรกเพื่อกระตุ้น เตือน และสร้างกระแสให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประการที่สองเพื่อเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูล สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามกฎหมาย และประการสุดท้ายเพื่อเสนอแนวทาง หรือมาตรการทางกฎหมายที่ควรมีการบังคับใช้ในอนาคต
โดยในการเสวนาจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ในช่วงแรกจะกล่าวถึงภาพรวมในเรื่องของการดำเนินการเกี่ยวกับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในเรื่องมุมมองและการจัดการของภาคเอกชนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ในเรื่องผลกระทบกับมุมมองของภาคสิทธิมนุษยชนและประเทศไทยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่วนในช่วงที่สองจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของวิทยากร และช่วงสุดท้ายจะเป็นการตอบคำถาม
ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้กล่าวเปิดงานเสวนา)
ศ.ดร.อำนาจ กล่าวเปิดงานเสวนาว่า ทุกท่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในทางสังคมระหว่างประเทศก็ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานาน ในสังคมระหว่างประเทศก็ให้ความสนใจในประเด็นนี้มาประมาณ 30 กว่าปี โดยยุคแรก ๆ จะมีโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ผลักดันเรื่องดังกล่าว ต่อมามีการตั้งกรรมการระหว่างรัฐบาลขึ้นมาเพื่อศึกษาในทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาแนวทางการแก้ไข และมีการตั้งกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจาเพื่อร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นความตระหนักร่วมกันของทุกชาติ
อย่างไรก็ดี UNFCCC ก็ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ จึงต้องมาประชุมกันเพื่อกำหนดแนวทางที่มีรายละเอียดมากขึ้น เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว หรือต่อมาที่เป็นความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ให้แต่ละประเทศสมัครใจในการลดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด แต่ว่าเมื่อประกาศแล้วจะต้องทำตามคำมั่นสัญญาที่ได้ประกาศ มีกลไกวิธีการตรวจสอบที่โปร่งใส ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าเป็นเป็นภาคีและประกาศว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อไทยไปประกาศแล้วจะผูกพันในการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฉะนั้น ในการดำเนินการของหน่วยงานทุกภาคส่วนตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตของบุคคลทั่วไปจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เช่น การสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การลดหรือเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล การผลิตสินค้าที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดเพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นต้น ประเด็นการเสวนาในวันนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและตนดีใจที่มีการจัดเสวนาในเรื่องนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนในสังคมได้ตระหนักรู้และปรับตัว ซึ่งวิทยากรทุกท่านในวันนี้จะมีความเห็นตลอดจนข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับตัวในเรื่องนี้ให้แก่สังคมอย่างแน่นอน
การเสวนาช่วงที่ 1
ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (วิทยากร) :
ดร.ณัฐริกา กล่าวว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนนี้เป็นผลจากปรากฏการณ์ของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการที่แสงอาทิตย์ส่องลงมายังโลกแล้วก็กระจายออกไปเพียงบางส่วน แต่บางส่วนถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่กิจกรรมของมนุษย์ต่างหากที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากจนเกินสมดุล อาทิ กิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ การใช้พลังงานไฟฟ้าในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ชั้นบรรยากาศถูกปกคลุมไปด้วยก๊าซเรือนกระจกมากจนเกินสมดุล
แม้บางกรณีก๊าซเรือนกระจกจะเกิดจากธรรมชาติ แต่การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่มากกว่า อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการใช้รถยนต์ในการเดินทาง การเปิดไฟ หรือการเปิดเครื่องปรับอากาศ ล้วนแต่เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงในภาคของพลังงาน หรือแม้กระทั่งภาคการเกษตรก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน อาทิ การปลูกข้าวในนาข้าวที่มีน้ำขัง, การปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มสุกร รวมทั้งการฝังกลบขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ประกอบกับการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นท่อดูดก๊าซเรือนกระจก กรณีเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจนเกินสมดุล
กล่าวต่อไปว่า อย่างที่ ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ได้กล่าวไว้ว่าภาวะโลกรวนนั้นไม่ได้ถูกลืมแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการจัดทำอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) นี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 และมีผลบังคับใช้เมื่อ ค.ศ. 1994 หลังจากนั้นจึงเกิดพิธีสารเกียวโตขึ้น (Kyoto Protocol) ซึ่งมีการบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2005 โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่ 1 จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ 2 จะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งในทางสังคมระหว่างประเทศนั้นก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนท้ายที่สุดก็เกิด The Paris Agreement ขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งภายใต้ The Paris Agreement นี้ก็จะกำหนดวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อาทิ การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก, การกระตุ้นเกี่ยวกับกลไกทางการเงิน เทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือแต่ละประเทศที่เป็นสมาชิกจะต้องแสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยก็ได้มีการแสดงเจตจำนงไปแล้ว 3 ครั้ง
และ ดร.ณัฐริกา กล่าวถึงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ว่า มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส การเรียกร้องให้ทุกประเทศปรับปรุง NDCs ของตนเองให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น การเชิญชวนประเทศต่าง ๆ ในการพิจารณาการดำเนินการเพื่อลด non-CO2 GHG emissions และ methane ภายในปี ค.ศ 2030 การเร่งความพยายามในการลดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้มีระบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดีพอ และยกเลิกการให้เงินอุดหนุนแก่เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ การกระตุ้นให้ประเทศที่พัฒนาแล้วรีบเคลื่อนย้ายเงินทุน 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนาโดยด่วนจนถึงปี ค.ศ. 2025 ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของอนุสัญญาที่ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องช่วยสนับสนุนในด้านการเงิน เทคโนโลยี และการพัฒนาทางด้านศักยภาพให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ให้การสนับสนุนที่เพิ่มเติมมากขึ้นสำหรับกิจกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครื่อข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (วิทยากร) :
ดร.ธันยพร กล่าวว่า อดีตเป็นสิ่งที่ย้อนกลับไปไม่ได้ กรณีนี้ก็เหมือนกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ณ ปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เกิดมามนุษย์ล้วนใช้ทรัพยากรกันตามอำเภอใจ แต่พอถึงช่วงเวลาที่อากาศเกิดความเปลี่ยนแปลง หรืออากาศเป็นพิษ มนุษย์กลับโหยหาอากาศที่สดชื่น กรณีนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ต้องการความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นไม่สามารถแก้ไขที่ตัวอากาศได้ แต่จะต้องแก้ไขปัญหาจากที่มาที่ไป หรือต้นตอของปัญหา
ดังนั้น สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (สมาคมฯ) จึงรวมตัวกันแบบ Cross Sector ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลาย ๆ ศาสตร์ ทั้งนี้ เนื่องจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หรือความรู้ด้านนิติศาสตร์อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น สมาคมฯจึงมุ่งมั่นและร่วมมือกันในการหาวิธีการเพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหา อาทิ การเปลี่ยนแปลงให้การขนส่งหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงให้ภาคเกษตรหันมาให้ความสำคัญกับอาหารที่ไม่ได้ปล่อยก๊าซมีเทน กรณีนี้สมาคมฯจึงรวบรวมผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ในระหว่างการเสวนารอบแรก ดร.ธันยพร ได้นำเสนอวิดีโอเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมฯ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดีโอได้ที่ https://youtu.be/Na4ZSRXLNi4
ดร.ธันยพร กล่าวต่อมาว่า ภาคธุรกิจจะร่วมมือกับภาคของประชาชนในการค้นหาต้นตอของปัญหาเสียก่อน ทั้งนี้ เพื่อจะค้นหาวิธีการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป ซึ่งถ้าปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้ก็จะมีการแบ่งสัดส่วนในดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยจะมีการทำกราฟเชื่อมโยงกันตามหลักของวิทยาศาสตร์จากการวัดจำนวนปริมาณของ co2 และ non-co2 เพื่อวิเคราะห์ต่อไปว่า ท้ายที่สุดจะกักเก็บ หรือดูดซับกลับในปริมาณที่เท่าใดเพื่อทำให้เกิดความสมดุล
ตามที่สมาคมฯมีมุมมองดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งสามารถรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ได้ สอดคล้องกับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่มุ่งให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องระดมเงินทุนถึง 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ อาทิ บริษัทบางบริษัทที่ทำงานร่วมกับสมาคมฯโดยประกาศว่าจะสามารถทำ Carbon Neutrality ภายในปีค.ศ. 2025 หรือในมิติของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งถ้าหากประเทศไทยสามารถดำเนินการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการกักเก็บก๊าซมีเทนและคาร์บอนได้ดี กรณีนี้ก็อาจจะส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศเลือกที่จะมาลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน รัฐบาลยังให้ความสนใจกับเรื่องของนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีอีกด้วย
ดร.ธันยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า วิทยากรท่านอื่นจะมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการรักษาสมดุลระหว่างต้นทุนทางภาคธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจยั่งยืนต่อไปได้ ซึ่งทางสมาคมฯก็จะค้นหาสมดุลตรงนี้ไปด้วยกัน โดยจะต้องคำนึงถึงมิติของประชาชนควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่สามารถพิจารณาจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ได้แต่เพียงด้านเดียว ซึ่งกรณีนี้ก็จะสอดคล้องกับภาคธุรกิจที่มองว่าต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อาทิ บริษัทที่ทำงานร่วมกับสมาคมฯที่ประกาศว่า จะเปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์เดิมให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี ค.ศ. 2025 หรือกรณีของแม็คโครที่ประกาศว่า จะเปลี่ยนแปลงสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการของ Green Economy และ Circular Economy ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ดร.ธันยพร ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ภายใน 2-3 ปีนี้จะมีการทบทวนเรื่องดังกล่าวจากภาคธุรกิจอย่างแน่นอน
อาจารย์ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (วิทยากร) :
อ.ร่มฉัตร กล่าวเริ่มต้นว่า ตามที่วิทยากรสองคนก่อนหน้าได้กล่าวถึงมุมมองของเรื่อง Climate Change ในระดับโลกที่จะมีพันธกรณีต่าง ๆ ประกอบกับการที่ ศ.ดร.อำนาจ ได้กล่าวตอนเปิดงานเสวนาเอาไว้ว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้จะเริ่มจากโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ หรือโครงการขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กรณีนี้จึงทำให้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน เพราะฉะนั้น ตนจึงจะกล่าวถึงมุมมองของภาคสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่า มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของ Climate Change อย่างไร
อ.ร่มฉัตร กล่าวในประเด็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสิทธิมนุษยชน และในทางระหว่างประเทศมีการดำเนินการรับมือในทางระหว่างประเทศในเรื่องนี้ว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลทั่วโลก รวมทั้งทำงานร่วมกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงองค์การสหประชาชาติ ในการเน้นย้ำถึงพันธกรณีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่าง ๆ กรณีนี้จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า Climate Change นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างไร เนื่องจากในประเทศไทยมักจะคุ้นเคยกับสิทธิพลเมืองและการเมือง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของสิทธิมนุษยชน หรือพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนนี้จะครอบคลุมในทุกมิติของชีวิตมนุษย์เลย
อ.ร่มฉัตร กล่าวต่อมาว่า ในระดับระหว่างประเทศนี้ความสนใจในเรื่องของ Climate Change กับสิทธิมนุษยชนนั้นจะเริ่มต้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 2005 ตอนที่ชนเผ่าอินูอิตได้ยื่นคำร้องต่อ Inter-American Commission on Human Rights เพื่อฟ้องประเทศสหรัฐอเมริกาให้รับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศจนส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าอินูอิต ซึ่งในปี ค.ศ. 2005 นี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของพันธกรณีระหว่างประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ กรณีนี้จึงส่งผลให้ Inter-American Commission on Human Rights ไม่รับคำร้องดังกล่าว แต่ก็ได้มีการเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ มาให้ข้อมูล เพราะฉะนั้น กรณีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้รับการพูดถึงในระดับระหว่างประเทศ
ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 ในระดับระหว่างประเทศมีการพูดถึง The Male’ Declaration อันเป็นการรวมตัวกันเป็นครั้งแรกจากประเทศที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่อง Climate Change ซึ่งประเทศที่รับรู้ถึงผลกระทบดังกล่าวเป็นลำดับต้น ๆ ก็คือประเทศที่เป็นหมู่เกาะต่าง ๆ เนื่องจากโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งประเทศที่เป็นหมู่เกาะทั้งหลาย อาทิ ตูวาลู มัลดีฟส์ ที่อยู่สูงเกินน้ำทะเลเพียงไม่กี่เมตรต่างก็มองว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของสิทธิมนุษยชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของประเทศชาติ เพราะฉะนั้น ในปี ค.ศ. 2007 กลุ่มประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นหมู่เกาะทั้งหลาย จึงรวมตัวกันและประชุมกันที่มัลดีฟส์ ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเข้ามาจัดการเกี่ยวกับเรื่อง Climate Change ในฐานะที่เป็นเรื่องเร่งด่วน
จากนั้นในปี ค.ศ. 2008 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงได้มีการรับรองข้อมติ ซึ่งเป็นการรับรองครั้งแรกว่า Climate Change นั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลทั่วโลก และได้ให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทำรายงานฉบับสมบูรณ์ว่า Climate Change นั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง ซึ่งท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 2009 รายงานฉบับดังกล่าวก็ได้ปรากฏออกมา และให้การรับรองว่า Climate Change นั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในมิติใดบ้าง
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2014-2015 ในทางกฎหมายระหว่างประเทศก็ได้มีการตระหนักว่า ไม่เพียงแต่ Climate Change เท่านั้นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน แต่ความเสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อม (Environmental Degradation) ก็ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่มีการร่างอนุสัญญาพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนฉบับหลักทั้ง 9 ฉบับนั้น ยังคงไร้ซึ่งพัฒนาการทางด้าน Climate Change หรือสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงได้แต่งตั้งผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวทำการรายงานว่า ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีทางด้านพันธกรณีสิทธิมนุษยชน หรือสนธิสัญญาต่าง ๆ นี้มีหน้าที่อย่างไรบ้างในเรื่องของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะ และออกรายงานวิเคราะห์ผลกระทบอย่างที่หลาย ๆ ประเทศดำเนินการอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 2014-2015 จะเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการจัดทำ The Paris Agreement ฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งในช่วงปลายปี ค.ศ. 2014 ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้ทำการออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กรของสหประชาชาติต่าง ๆ ให้คำนึงถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2015 ก็ได้มีการออก The Paris Agreement ซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนในบทอารัมภบท โดยในบทอารัมภบทภายใต้ The Paris Agreement จะให้การรับรองว่า Climate Change เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษยชาติทุกคน
เพราะฉะนั้น รัฐสมาชิกของ United Nations Framework Convention on Climate Change หากจะดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ Climate Change จะต้องเคารพ ส่งเสริม และพิจารณาถึงพันธกรณีระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ตนเป็นภาคี อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงสิทธิในสุขภาพ สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้อพยพย้ายถิ่น สิทธิของเด็ก สิทธิของผู้พิการ สิทธิของบุคคลทั้งหลายที่อยู่ในสถานการณ์อันเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยง สิทธิในการพัฒนา รวมถึงความเสมอภาคทางเพศ การเสริมพลังให้ผู้หญิง และความยุติธรรมของบุคคลระหว่างรุ่น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีความเกี่ยวข้องกับ Climate Justice เนื่องจาก Climate Change เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายปี โดยมีที่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กิจกรรมของมนุษย์ หรือผลลัพธ์ของประเทศที่พัฒนาแล้วในเชิงอุตสาหกรรม แต่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับเป็นกลุ่มบุคคลที่แทบจะไม่เคยมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหา Climate Change เลย อาทิ ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ชนเผ่าพื้นเมือง เด็ก หรือแม้กระทั่งคนที่ยังไม่เกิด ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นมิติที่สิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Climate Change
โดยผลกระทบของ Climate Change ต่อสิทธิมนุษยชน มีดังนี้
- สิทธิในชีวิตร่างกาย (Right to life) เนื่องจากการเกิดขึ้นของมหันตภัยธรรมชาติ อาทิ พายุ คลื่นความร้อน น้ำท่วม ไฟป่า โรคที่เกิดจากน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ซึ่งถ้าเป็นกรณีร้ายแรงย่อมก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์
- สิทธิในสุขภาพ (Right to health) อาทิ การตายก่อนวัยอันควร โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ภาวะการขาดแคลนอาหาร มลภาวะต่าง ๆ และโรคที่มีสัตว์เป็นพาหะ (Vector-borne diseases) อย่างกรณีของโรคระบาด Covid-19 ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ออกรายงานเตือนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ว่า Climate Change เป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดสภาวะที่ไวรัสจากสัตว์ป่าสามารถเข้ามาสู่มนุษย์ได้ทันที (Zoonotic Diseases) เนื่องจากเกิดการสูญเสียเกราะป้องกันของธรรมชาติที่กั้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
- สิทธิในอาหาร (Right to food) เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและการเกษตร
- สิทธิในน้ำและสาธารณูปโภค (Right to water and sanitation) เนื่องจาก Climate Change ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติและแหล่งน้ำบริสุทธิ์เกิดความขาดแคลน ซึ่งในหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแอฟริกาที่การขาดแคลนน้ำนำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร จนท้ายที่สุดก็เกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น
- สิทธิในการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to a healthy environment) กรณีนี้ก็เป็นอย่างที่ ดร.ณัฐริกา ได้กล่าวถึง หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือถึงขนาด 2 องศาเซลเซียส ย่อมส่งผลให้ระบบนิเวศของโลก ณ ปัจจุบันล่มสลาย และไม่สามารถกลับคืนสู่สถานะเดิมได้อีก
- กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเปราะบางต่าง ๆ (Vulnerable populations) ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 ผู้รายงานพิเศษด้านความยากจนและสิทธิมนุษยชนได้ออกรายงานว่าด้วยเรื่อง Climate Change กับความยากจน โดยระบุว่า เฉพาะคนรวยเท่านั้นที่จะรอดพ้นจาก Climate Change ส่วนคนที่อยู่ในภาวะยากจนก็จะยิ่งจนขึ้นไปอีก และกลุ่มคนที่มีโอกาสเสียชีวิตก่อนก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะยากจน
ประโยชน์ของการนำเอาพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Climate Change มี 3 ประการคือ ประการแรก การนำเอา Climate Change มาพิจารณาในมิติของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ กรณีนี้จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักว่า ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ประการที่สอง พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนจะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐจะต้องแก้ปัญหาเรื่อง Climate Change อย่างไร และประการที่สาม กลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนจะสามารถสนับสนุนรัฐสมาชิกเกี่ยวกับนโยบายทางด้าน Climate Change ได้ และยังเป็นสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนว่า Climate Change กับสิทธิมนุษยชนนั้นมีประเด็นใดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่
อ.ร่มฉัตร กล่าวทิ้งท้ายในการเสนาช่วงแรกว่า นอกจากพันธกรณีที่อยู่ภายใต้ The Paris Agreement แล้ว หากนำเอาหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาพิจารณาจะเห็นว่า รัฐมีหน้าที่หลายประการตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนที่ได้ลงนาม หรือให้สัตยาบันไว้ ได้แก่
1. สิทธิเชิงกระบวนการ (Procedural obligations) ซึ่งจะมีพันธกรณี 3 ข้อ ได้แก่
พันธกรณีข้อแรก รัฐควรจะต้องทำการประเมิน วิเคราะห์ และให้ข้อมูลกับประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี กรณีที่ 1. รัฐจะต้องมีการศึกษา หรือจัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน กรณีที่ 2. รัฐจะต้องวิเคราะห์ผลกระทบของ Climate Change และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ อาทิ คนกลุ่มใดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือคนกลุ่มใดที่ถูกละเลย เนื่องจากการจำแนกข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงจะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า รัฐละเลยต่อคนกลุ่มใดหรือไม่ และกรณีที่ 3. รัฐจะต้องประเมินและวิเคราะห์ว่า Climate Change มีที่มาจากกิจกรรมใดเป็นหลัก
พันธกรณีข้อที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวคือ ในกระบวนการการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเรื่อง Climate Change ต่าง ๆ ควรจะให้ภาคประชาชน หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบนี้เข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงเสรีภาพในการรวมตัวของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ จะต้องได้รับการรับประกัน โดยเฉพาะบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน
และพันธกรณีข้อที่สาม การจัดให้มีการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐจะต้องให้การรับรองว่า ระบบกฎหมายภายในของรัฐนั้นมีช่องทางรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change
2. สิทธิเชิงเนื้อหา (Substantive obligations) ซึ่งในระดับระหว่างประเทศ รัฐสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามหลักการของ The Paris Agreement โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนในระดับภายในประเทศ รัฐจะต้องตรากฎหมาย หรือสร้างข้อตกลงร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการของ The Paris Agreement อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเตรียมแผนรองรับกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น การจัดตั้งหน่วยงาน หรือโครงการที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ และการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็คือการปรับตัวให้อยู่กับสภาวะแบบนี้ให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงบริบทภายในประเทศ ผลกระทบของ Climate Change ที่เกิดขึ้นกับผู้ชายและผู้หญิงไม่เหมือนกัน การมีส่วนร่วมของประชาชน และกระบวนการต่าง ๆ จะต้องมีความโปร่งใส
3. พันธกรณีที่มีต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง (Obligations in relation to vulnerable groups) จะต้องมองให้เห็นว่า กลุ่มบุคคลใดที่ถูกละเลย หรือกลุ่มบุคคลใดที่เปราะบางต่อเรื่อง Climate Change มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนชรา เด็ก ผู้หญิง คนพิการว่าเขาจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตนเองได้อย่างไร
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ (วิทยากร) :
คุณวีระศักดิ์ กล่าวว่า ระบบราชการของประเทศไทยมีปัญหาเป็นอย่างมาก อาทิ การทำทางลาดที่ชันจนเกินไปซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อคนพิการ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้มีความเข้าใจต่อเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง กรณีนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่เรื่องที่เป็นสามัญสำนึกของคนทั่วไปยังปราศจากซึ่งความเข้าใจอันแท้จริง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่อง Climate Change จึงยังคงเป็นปัญหาในระบบราชการของประเทศไทย
หากพิจารณาจากภาคเอกชนจะเห็นได้ว่า ความสามารถในการสื่อสาร การผลักดัน หรือการเปลี่ยนแปลงระบบความคิดของภาคเอกชนนั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ซึ่งรับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว กรณีนี้จึงทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมโยงกับระบบของสากลมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมีที่มาจากความเชื่อมโยงกับกิจการของภาคเอกชน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก แตกต่างจากรัฐที่แม้จะรับรู้ว่า การอยู่ร่วมกันภายในสังคมระหว่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่รัฐก็รับรู้ว่าเรื่องดังกล่าวมีสภาพบังคับไม่มากนัก ดังนั้น รัฐจึงมีความตื่นตัวต่อเรื่อง Climate Change น้อยมาก
โดยวิธีการทำให้รัฐตื่นตัวต่อปัญหา Climate Change มี 3 ข้อ (3 เครื่องมือ)
1. การบัญญัติกฎหมายกำหนดให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา Climate Change แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่บรรลุวัตถุประสงค์แต่อย่างใด ซึ่งคุณวีระศักดิ์ให้ความเห็นว่า Climate Change เป็นเรื่องที่สำคัญ และรัฐควรจะแต่งตั้งโฆษกเกี่ยวกับเรื่อง Climate Change ซึ่งจะต้องไม่ใช่การแต่งตั้งบุคคลจากตำแหน่ง แต่จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความเข้าใจต่อเรื่อง Climate Change อย่างแท้จริง
2. การสื่อสารกับสังคม ซึ่ง ณ ปัจจุบันประชาชนจะให้ความสนใจกับการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ และเรียกร้องให้ผู้นำกระทำการให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียก่อนก่อนที่จะเรียกร้องให้ประชาชนต้องปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น บทบาทของบุคคลที่อยู่ในอำนาจจะต้องรับรู้ เข้าใจ และสนใจในการรับมือกับปัญหา Climate Change
3. การทำงานร่วมกัน ซึ่งการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอาจจะไม่ได้มีปัญหามากนัก เนื่องจากเป็นการดำเนินการภายใต้ระบบที่เอกชนสร้างขึ้น แต่การทำงานร่วมกับภาคประชาชนจะมีความซับซ้อนมากกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากความหลากหลายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่ไม่เข้าร่วมชุมชน หรือประชาชนที่อยู่กับชุมชน ประกอบกับภายในหนึ่งชุมชนยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอีก
คุณวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนคาดหวังก็คือเรื่องของการปฏิรูปกฎหมายและระบบราชการ ทั้งนี้ เพื่อให้ทั้ง 3 เครื่องมือดังกล่าวข้างต้นมีผลใช้บังคับได้จริง ซึ่งจะต้องมีการบัญญัติกฎหมายให้สามารถใช้บังคับได้จริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดความสับสนแก่บุคลากรที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการหาตัวแบบ อาทิ โฆษกของรัฐบาลควรจะต้องตอบปัญหาได้ทันทีทันใด และสามารถสื่อสารในทางระหว่างประเทศได้ ซึ่งจะต้องเป็นโฆษกที่อยู่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพราะถ้าทำงานให้กับภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นกลาง และโฆษกของรัฐบาลควรจะต้องดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ดำรงตำแหน่งเฉพาะรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เนื่องจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะต้องไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก
สถานการณ์ของโลก ณ ปัจจุบันกำลังเผชิญกับ 3 ปัญหาใหญ่ คือ เรื่อง Covid-19 เรื่องเศรษฐกิจของโลก และเรื่อง Climate Change ซึ่งในฐานะที่คุณวีระศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่งอยู่ในทีมเจรจาระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การเจรจาระหว่างประเทศ อาทิ การค้า การลงทุน การเมือง สิ่งเหล่านี้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในมิติของ Climate Change จะเป็นโอกาสของประเทศที่กำลังพัฒนาในการกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เนื่องจากตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็คือประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ทุกประเทศในโลกกลับได้รับผลกระทบดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่อาจจะไม่ได้มีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหา Climate Change เลย
กลับมาพิจารณาต่อในมุมมองของภาครัฐ สิ่งที่ตนอยากให้รัฐเร่งดำเนินการก็คือ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) กล่าวคือ การที่รัฐใช้เงินจากภาษีของประชาชนเพื่อซื้อสินค้า หรือบริการต่าง ๆ จะต้องดำเนินการในรูปแบบของ Green Procurement และจะต้องประยุกต์ใช้เรื่องดังกล่าวกับการจ้างบุคลากร การจ้างข้าราชการ หรือการจ้างบุคคลอื่น ๆ อีกด้วย กรณีนี้จึงจะส่งผลให้รัฐอยู่ในบทบาทของผู้ร่วมทำงาน (เครื่องมือที่ 3) ซึ่งถ้าดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพก็จะส่งผลให้รัฐอยู่ในบทบาทของผู้นำ (เครื่องมือที่ 2) และทำให้กฎหมายที่ตราขึ้นมีผลใช้บังคับได้จริง (เครื่องมือที่ 1)
คุณวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนาช่วงแรกว่า คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ไม่มีอำนาจในการเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ทำได้แต่เพียงรับฟังข้อกฎหมายที่มีการยื่นเข้ามา ซึ่งก็ได้มีการมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมจัดทำข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการต้องเสนอต่อวุฒิสภา ทั้งนี้ เพื่อทำการเสนอต่อรัฐบาลว่า ในเรื่อง Climate Change นั้นรัฐควรดำเนินการอย่างไร
การเสวนาช่วงที่ 2
ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (วิทยากร) :
ดร.ณัฐริกา กล่าวในประเด็นการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกว่า ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีหน่วยงานหลักคือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยนโยบายและ National focal points (จุดเด่นแห่งชาติ) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศไทย เพราะฉะนั้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายจึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ส่วนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ที่เป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง (Certification Body) เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกรณีที่รัฐได้มีการแสดงเจตจำนงเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจะสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว อาทิ การทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า มาตรการด้านพลังงาน หรือมาตรการด้านอื่น ๆ สามารถนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกยังมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิต อันเป็นการดำเนินงานในการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การปลูกป่า หรือการดูแลรักษาต้นไม้ ซึ่งจะมีการตรวจสอบและรับรอง จนนำไปสู่ผลของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถพิสูจน์ได้
ดร.ณัฐริกา กล่าวต่อไปว่า Climate Change ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติของสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ Climate Change เป็นเรื่องที่ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งตนมองว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือภาควิชาการ
และในประเด็นที่ประเทศไทยควรจะมีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกหรือไม่นั้น ดร.ณัฐริกา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนดำรงตำแหน่งเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ซึ่งการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เวลานั้นก็เพียงพอแล้ว แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับ Climate Change ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็น โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การมีส่วนร่วม การจัดระบบข้อมูล และการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ นอกจากนี้ ตนเห็นว่า ควรจะต้องมีการจัดระบบของการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ เพื่อความมีประสิทธิภาพของการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก
ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครื่อข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (วิทยากร) :
ในประเด็นที่ว่าภาครัฐควรจะมีวิธีการอย่างไรในการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น และมาตรการที่จะนำมาใช้บังคับกับภาคเอกชนควรจะมีบทลงโทษหรือไม่ อย่างไร
ดร.ธันยพร เห็นว่า ก่อนที่จะมีการกล่าวถึงบทลงโทษ จะต้องพิจารณาถึงระบบการจัดการของตัวเองเสียก่อนว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละหน่วยเท่าใด (Greenhouse Gas Inventory) ซึ่งภาคเอกชนควรจะดำเนินการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกโดยที่ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากการละเลยต่อปัญหาดังกล่าว หรือรอให้มีสภาพบังคับทางกฎหมายเสียก่อนนั้นอาจจะสายเกินไป เพราะฉะนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับนโยบายการส่งเสริมพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานจากโซล่าเซลล์ พลังงานลม หรือการทำให้ของเสียกลายมาเป็นพลังงาน
ดร.ธันยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทขนาดใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัญหา Climate Change แต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ภายในประเทศไทยจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่ง ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ มีความเห็นว่า ควรจะต้องมีการดำเนินการภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)
นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ประเทศไทยยังมีนโยบายการขับเคลื่อนแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้แล้วตอนต้นว่าไม่ควรละเลยต่อปัญหา Climate Change หรือรอให้มีการเรียกร้องจากภาครัฐเสียก่อน เพราะฉะนั้น สมาคมฯจึงมีช่องทางสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในการออกแบบการดำเนินงานธุรกิจของตนเอง
อาจารย์ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (วิทยากร) :
อ.ร่มฉัตร กล่าวในประเด็นปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของไทยว่า ในมุมมองขององค์การสหประชาชาตินั้นไม่ใช่แต่เพียง Climate Change แต่เป็น Climate Crisis เนื่องจากเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมากคือเวียดนามกับฟิลิปปินส์ โดยมีประเทศบังคลาเทศที่เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ต้องมีการออกข้อมติเพื่อรับรอง และแต่งตั้งผู้รายงานพิเศษใหม่ ซึ่งหากพิจารณาถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังจะเห็นได้ว่า เวียดนามและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างทันทีทันใด ส่วนอีกประเทศหนึ่งที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นก็คือญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศที่ประสบกับมหันตภัยร้ายแรงเป็นจำนวนมาก แตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่ได้รับผลกระทบร้ายแรงอย่างประเทศอื่น ๆ กรณีนี้จึงส่งผลให้ประเทศไทยตระหนักถึงวิกฤตดังกล่าวน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ
โดยมีรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเป็นจำนวนมาก กรณีดังกล่าวจึงสุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำ ซึ่งจะมีปัญหาตามมาในกรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายบุคคลจำนวนมากออกจากพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังแบ่งได้ 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด อาทิ ไฟป่า พายุ น้ำท่วม และกรณีที่เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป อาทิ ภัยแล้ง ซึ่งประเทศไทยก็ประสบกับปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
อ.ร่มฉัตร กล่าวในประเด็นที่ประเทศไทยควรจะดำเนินการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) จะทำงานร่วมกับรัฐสมาชิก และภาคส่วนต่าง ๆ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความประสงค์ให้การกำหนดแผน หรือนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนี้ผู้ที่มีหน้าที่ (Duty bearers) จะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักความได้สัดส่วน หลักความเสมอภาค รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากกรณีดังกล่าวมีตัวอย่างให้เห็นจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol 1997) ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการกล่าวถึงในปัญหา Climate Change เลย ส่งผลให้การดำเนินงานของประเทศต่าง ๆ ไร้ซึ่งมิติของสิทธิมนุษยชน อาทิ การสร้างเขื่อนโดยไม่ได้คำนึงถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น หรือกรณีของการปลูกป่าตามโครงการเรดด์พลัส (REDD+) อันเป็นการรุกล้ำถิ่นที่อยู่ของบุคคลในพื้นที่ดังกล่าว
ประเด็นที่ว่าประเทศไทยควรจะมีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติมหรือไม่ อ.ร่มฉัตร เห็นว่าอาจจะมีกรณีที่ต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติม แต่การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นส่วนสำคัญ
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่สี่ (วิทยากร) :
กล่าวว่า ในเรื่องของมาตรการจูงใจต่าง ๆ ในการทำให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ตนเห็นว่าสามารถดำเนินการได้และควรดำเนินการมาตั้งนานแล้ว โดยการนำเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ประกอบเข้ากับเครื่องมือทางกฎหมาย
คำถามจากการเสวนา
คำถาม (1) : การนำเอาหลักค่าเสียหายเชิงลงโทษมาปรับใช้กับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำ รวมถึงเป็นตัวอย่างสำหรับผู้ที่จะกระทำความผิด กรณีดังกล่าวสามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle: PPP) เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่เมื่อปรับใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกลับไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักการดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถป้องปรามผู้กระทำความผิดได้ อาทิ การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีหรือไม่มีกฎหมาย แต่เป็นข้อจำกัดเกี่ยวกับการมีกลไกรองรับหลักการดังกล่าว อาทิ กรมควบคุมมลพิษที่ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นกรมวิชาการมากกว่าที่จะเป็นกรมปฏิบัติการ เพราะฉะนั้น การดำเนินงานต่าง ๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่อยู่ตามภูมิภาคในต่างจังหวัด ซึ่งบางกรณีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายก็ปราศจากความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง
คำถาม (2) : การจัดการกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ณ ปัจจุบัน สิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : สิ่งที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือการสร้างศรัทธา เนื่องจากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันส่งผลให้ประชาชนเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “ไม่รู้จะศรัทธาใคร”