สรุปสาระสำคัญจากเสวนาวิชาการ “ระหว่างรอ “สมรสเท่าเทียม” กฎหมายไทยให้อะไรกับ LGBTQ+ บ้าง?” จัดโดยศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่ม GIRLxGIRL Thailand วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม 2564 เวลา 20.00-22.00 น. ผ่านระบบ Facebook Live ทาง Facebook Page : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ GIRLxGIRL Thailand
ผู้กล่าวเปิดการเสวนา
- รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ อดีตอาจารย์ประจำ / ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะครอบครัว และกฎหมายลักษณะมรดก
- รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวและกฎหมายลักษณะมรดก
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา และกฎหมายลักษณะมรดก
ผู้ดำเนินรายการ
- คุณแภทริเซีย ดวงฉ่ำ กลุ่ม GIRLxGIRL Thailand
- คุณภาพพิมพ์ บัวทอง กลุ่ม GIRLxGIRL Thailand
- คุณเนาวรัตน์ ศรีชวาลา กลุ่ม GIRLxGIRL Thailand
ผู้สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียง
- นายวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้สรุปสาระสำคัญ)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ผู้เรียบเรียง)
รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กล่าวเปิดการเสวนา) :
กล่าวสวัสดีผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน กล่าวแนะนำวิทยากร และกล่าวถึงที่มาของงานเสวนาในวันนี้ ว่าเนื่องจากกฎหมายที่เราคาดหวังหลาย ๆ เรื่อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิตที่ยังไม่ถูกตราเป็นกฎหมายเสียที หรือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมากรณีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เป็นต้น ทำให้บุคคลหลากหลายทางเพศยังต้องรอกฎหมายเหล่านี้ต่อไป ในระหว่างที่ต้องรอนี้ จึงพิจารณากฎหมายไทยที่มีในปัจจุบันว่าจะให้สิทธิอะไรแก่บุคคลหลากหลายทางเพศบ้าง
คุณแภทริเซีย ดวงฉ่ำ คุณภาพพิมพ์ บัวทอง คุณเนาวรัตน์ ศรีชวาลา กลุ่ม GIRLxGIRL Thailand (ผู้ดำเนินรายการ) :
กล่าวแนะนำตัวในฐานะที่มาเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยอธิบายถึงกลุ่ม GIRLxGIRL Thailand ว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นหญิงรักหญิง และสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ กล่าวขอบคุณวิทยากรและคณะนิติศาสตร์ที่ให้เกียรติมาร่วมเสวนาในวันนี้ เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลหลากหลายทางเพศเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมาย ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นมากขึ้น และได้ถามคำถามวิทยากร ดังต่อไปนี้
- ภาพรวมของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมที่ผ่านมาล่าสุด ให้ความหวังแก่บุคคลหลากหลายทางเพศมากน้อยเพียงใด
- พินัยกรรมมีประโยชน์อย่างไร สามารถช่วยบุคคลหลากหลายทางเพศระหว่างรอกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้อย่างไรบ้าง สามารถกำหนดให้พินัยกรรมมีผลระหว่างมีชีวิตได้หรือไม่ เช่น กำหนดให้เป็นผู้ให้ความยินยอมแทนในกรณีฉุกเฉิน
- คู่ชีวิตหลายคู่เมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแล้วประสงค์การมีบุตร ในประเทศไทย คู่ชีวิตสามารถให้บุคคลอื่นอุ้มบุญให้ได้หรือไม่
- คู่ชีวิตชาวไทยไปทำวิธีการมีบุตรในประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ เมื่อกลับมาไทย เด็กที่เกิดจะเป็นสิทธิของใคร (เช่น คู่รักหญิงกับหญิง หญิงฝ่ายหนึ่งใช้ไข่ของตนผสมกับสเปิร์มจากธนาคารสเปิร์ม ผู้หญิงอีกฝ่ายที่ไม่ใช่เจ้าของไข่จะมีสิทธิในตัวเด็กหรือไม่)
- คู่รักเพศเดียวกันหรือคู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรม และทั้งสองเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมร่วมกันในเด็กตนนั้นได้หรือไม่ (คำถามตั้งต้นคือ คู่ชีวิต เช่น หญิงกับหญิงรับบุตรบุญธรรม ทั้งสองคนสามารถเป็นแม่ของเด็กได้หรือไม่)
- บุคคลที่เป็นเพศกำกวม (intersex) ตอนเกิดครอบครัวกับแพทย์เลือกเพศให้เขา เมื่อเขาโตมา เขารู้สึกว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศที่ถูกเลือกมา สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้หรือไม่
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ อดีตอาจารย์ประจำ / ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะครอบครัว และกฎหมายลักษณะมรดก (วิทยากร) :
ศ.ดร.ไพโรจน์กล่าวในประเด็นความหวังจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมล่าสุดว่า อย่างที่ทราบกันว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีผู้วิพากษ์วิจารณ์ไปหลายคนแล้ว และเท่าที่ตนฟังก็มีประมาณ 3 เวที ดังนั้น ในวันนี้ตนจึงไม่ได้กล่าวซ้ำถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว แต่จะมาพูดถึงความหวังจากคำวินิจฉัยดังกล่าว
ในคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ในหน้า 9 แสดงให้เห็นถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่เขียนในทำนองว่า หลักความเสมอภาคของการจัดตั้งครอบครัวของผู้หลากหลายทางเพศสามารถดำเนินการได้ โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงหลักกฎหมายที่ได้วางรากฐานความเป็นสถาบันครอบครัวมาแต่อดีตกาล เมื่อตนอ่านแล้ว เห็นว่า เป็นจุดชี้ทางที่สนับสนุนเรื่องนี้ หรือในหน้า 10 ที่กล่าวในทำนองว่า หากจะมีข้อยกเว้นบ้างก็ควรแยกออกเป็นกฎหมายเฉพาะโดยการปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามเพศสภาพ และในหน้าสุดท้าย ที่กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (กฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต) ปัญหาการสมรสบุคคลหลากหลายทางเพศ สามารถแก้ไขได้โดยกฎหมายเฉพาะดังเช่นการยกร่างกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต และที่กล่าวปิดท้ายว่ารัฐควรมีมาตรการที่เหมาะสม สนับสนุนให้บุคคลหากหลายทางเพศได้ใช้ชีวิตร่วมกันโดยการตรากฎหมายเฉพาะ
ในความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละคน โดยเริ่มจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีส่วนที่สะท้อนถึงการสนับสนุน กล่าวคือ ในหน้า 3 ได้พูดถึงหลักการยอกยาการ์ตา ข้อ 24 สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวมนุษย์โดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ จากนั้นในหน้าที่ 4 กล่าวถึงวิธีการที่กฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศของทั่วโลกที่มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นแบบกฎหมายคู่ชีวิตก่อนแล้วค่อยเป็นกฎหมายสมรส กลุ่มที่สองที่เป็นการสมรสโดยตราเป็นกฎหมายเฉพาะ และกลุ่มสามคือสิทธิที่มาจากคำวินิจฉัยของศาล แล้วรัฐก็จะตรากฎหมายออกมารับรองสิทธิตามคำวินิจฉัยของศาล และในหน้าสุดท้ายที่ได้กล่าวถึง การเสนอร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับระบบกฎหมาย
ในคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการคนที่สอง ก็ได้กล่าวถึงหลักการยอกยาการ์ตา และมีกล่าวถึงการยกร่างกฎหมายคู่ชีวิตโดยยกมาอธิบายประกอบความเห็น และเห็นว่าให้บัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ นอกจากนี้ ในหน้าสุดท้าย ก็ยังมีความเห็นว่าฝ่ายบริหารต้องเร่งรัดการเสนอกฎหมายคู่ชีวิตที่มีความล่าช้าอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชน ที่ ตนเห็นว่าแสดงถึงการสนับสนุนการตรากฎหมายคู่ชีวิต
โดยยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันของร่างกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตด้วยว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและมีการรับทราบสรุปผลจากคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นจากประชาชน ยังไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่อย่างใด ส่วนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ที่ผ่านการรับฟังความเห็นประชาชนแล้วนั้นยังไม่เข้าสู่การพิจารณาวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการคนอื่น ๆ ก็มีส่วนที่กล่าวถึงการสนับสนุนเช่นเดียวกัน เช่น สนับสนุนการตรากฎหมายเฉพาะดังเช่นการร่างกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต รัฐควรมีมาตรการที่เหมาะสมและบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิต รัฐอาจมีกฎหมายที่รับรองการแปลงเพศแล้วอย่างสมบูรณ์เพื่อให้ปฏิบัติต่อเขาอย่างถูกต้องตามสภาพ เป็นต้น
ในประเด็นเงื่อนเวลา ศ.ดร.ไพโรจน์ เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยในคำวินิจฉัยครั้งนี้ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้รัฐออกกฎหมายรับรองสิทธิบุคคลหลากหลายทางเพศ ทำให้ดูเวิ้งว้าง
เรื่องเงื่อนเวลานี้ ในปี 2546 ศาลรัฐธรรมนูญไทยตัดสินคดีกฎหมายว่าด้วยชื่อสกุลของหญิงมีสามีว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้กฎหมายนั้นสิ้นผลทันที ทำให้หญิงมีสามีสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ชื่อสกุลของตนหรือสามีก็ได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้รีบตรากฎหมายใหม่ว่าด้วยชื่อสกุลออกมาในปี 2548 หรือในกรณีของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 ที่มีมาตรากำหนดให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน และมีบทเฉพาะกาลที่บังคับรัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่ยังคงกำหนดให้หญิงมีสิทธิด้อยกว่าชายภายในเวลา 2 ปี จึงนำมาซึ่งของการชำระสะสางกฎหมายครอบครัวในปี 2519
เมื่อพิจารณาจากกรณีของต่างประเทศที่เรื่องเงื่อนเวลามีความชัดเจนคือ ในปี 2560 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินว่ากฎหมายครอบครัวที่ให้เฉพาะหญิงชายสมรสกันขัดรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้รัฐออกกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียมภายใน 2 ปี ซึ่งรัฐบาลไต้หวันก็ตรากฎหมายนี้ออกมาภายในเวลาที่กำหนด
ศ.ดร.ไพโรจน์ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เราคงจะไม่ได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจากรัฐบาลชุดนี้ เพราะว่าหลังจากที่มีคำวินิจฉัย รองนายกฯฝ่ายกฎหมายก็ได้สัมภาษณ์ว่าให้เร่งทำร่างกฎหมายคู่ชีวิตเพื่อให้เข้าสภาสมัยนี้ให้ทันและยืนยันว่าไม่แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น โอกาสของการสมรสเท่าเทียมกันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ จึงได้แต่หวังคือกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตที่เป็นร่างของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ ตนคิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ หากพรรคเดิมกลับมาเป็นรัฐบาลอีก โอกาสเดียวที่จะได้กฎหมายสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศก็คือกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา และกฎหมายลักษณะมรดก (วิทยากร) :
ผศ.ดร.กรศุทธิ์กล่าวในประเด็นของพินัยกรรมว่า โดยจริง ๆ แล้วกฎหมายเกี่ยวกับพินัยกรรมนั้นมีเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายใช้กับบุคคลทั่วไปทุกคน ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะบุคคลใดเป็นพิเศษ จึงอาจจะกล่าได้ว่าไม่ใช่กฎหมายเฉพาะเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ แต่กฎหมายนี้ก็เป็นช่องทางหนึ่งในการจัดการปัญหาระหว่างที่บุคคลหลากหลายทางเพศยังไม่มีกฎหมายเฉพาะออกมารองรับสิทธิต่าง ๆ
ในกรณีที่ว่าสามารถกำหนดให้พินัยกรรมมีผลระหว่างมีชีวิตได้หรือไม่ เช่น กำหนดให้เป็นผู้ให้ความยินยอมแทนในกรณีฉุกเฉินนั้น กฎหมายเกี่ยวกับพินัยกรรมแทบจะช่วยไม่ได้เลย กล่าวคือ แนวคิดเรื่องพินัยกรรมเป็นเรื่องการแสดงเจตนาของบุคคลเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือการจัดการอื่น ๆ เช่น การจัดการศพ ผู้จัดการมรดก เป็นต้น เป็นเรื่องที่เกิดผลหลังจากที่ผู้แสดงเจตนาตายแล้ว ดังนั้น หากคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งทำพินัยกรรมแล้วกำหนดไว้ว่าให้คู่ชีวิตของตนมีสิทธิจัดการเรื่องต่าง ๆ ในระหว่างที่ตนยังมีชีวิตอยู่ การกำหนดแบนนี้จะไม่มีผลเป็นพินัยกรรม พินัยกรรมจะมาช่วยจัดการก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตไปแล้ว
อย่างไรก็ดี กฎหมายเกี่ยวกับพินัยกรรมก็สามารถช่วยได้ในหลายเรื่อง เช่น ในกรณีที่คู่รักเพศเดียวกันอยู่กินกัน ก็จะไม่ได้มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายมรดก ทรัพย์สินส่วนตัวแต่ละคนจึงไม่สามารถตกทอดไปยังคู่รักอีกคนได้ เพราะว่าไม่ใช่ทายาทโดยธรรมแบบคู่สมรสชายหญิงตามกฎหมาย ดังนั้น พินัยกรรมจะสามารถมาช่วยในจุดนี้ได้
พินัยกรรมในทางกฎหมายจะเรียกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ ในการทำจึงไม่ต้องไปตกลงกับผู้ใดเลย ซึ่งกฎหมายไทยค่อนข้างเคารพเจตนามาก ๆ เพราะเมื่อพิจารณาจากกฎหมายของกลุ่มประเทศแถบยุโรปส่วนใหญ่ จะมีหลักมรดกภาคบังคับ ที่ผู้ทำพินัยกรรมจะไม่สามารถยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดให้คนที่ไม่ใช่ญาติตนได้ จะต้องมีการกันส่วนไว้สำหรับทายาทโดยธรรม แต่กฎหมายไทยสามารถทำได้ค่อนข้างอิสระ กล่าวคือ หากผู้ทำพินัยกรรมมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับญาติใกล้ชิดหรือทายาทโดยธรรมของตนเอง เขาก็สามารถทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้อื่นได้ทั้งหมด ไม่ต้องกันส่วนไว้ให้แก่ทายาทโดยธรรมเหมือนกับกฎหมายส่วนใหญ่ของกลุ่มประเทศแถบยุโรป ผู้ทำพินัยกรรมตามกฎหมายไทยอยากจะยกทรัพย์สินให้กับใคร หรือให้คู่ชีวิต ให้ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือสัดส่วนเท่าไรก็ได้ และการทำพินัยกรรม ผู้ทำสามารถเปลี่ยนใจทำพินัยกรรมฉบับใหม่หรือแก้ไขฉบับเดิมได้เสมอก่อนที่ตนจะเสียชีวิต แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วคือ พินัยกรรมจะเป็นผลเมื่อผู้ทำตาย
เมื่อพินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิดีกว่าทายาทโดยธรรม กล่าวคือ หากคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่ง นางสาว ก ทำพินัยกรรมว่าหากข้าพเจ้าตาย ทรัพย์สินทั้งหมดของข้าพเจ้าขอยกให้แก่นางสาว ข เพียงผู้เดียว ในกรณีนี้เมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต บิดามารดา พี่น้อง หรือลูกของผู้ทำพินัยกรรมย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลย นางสาว ข ผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดกของนางสาว ก ผู้ตาย
การทำพินัยกรรมสามารถทำได้โดยง่าย สามารถเขียนในลักษณะที่สื่อได้ว่า ผู้ทำต้องการให้ทรัพย์สินของตนให้แก่ใครหลังจากที่ตนเสียชีวิตแล้ว แต่ว่าอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เมื่อทำแล้วจึงอาจจะไม่ใช่พินัยกรรม หรือไม่มีผลสมบูรณ์ตามที่ผู้ทำต้องการ หรือกรณีที่ผู้ตายประสงค์ทำพินัยกรรมแต่ไม่ได้เขียนอย่างชัดเจนว่าทำพินัยกรรมหรือยกให้หลังจากที่ตนตาย จึงทำให้ไม่เข้าลักษณะพินัยกรรมตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ที่มีชื่อในเอกสารดังกล่าวจึงไม่สามารถรับทรัพย์สินของผู้ตายได้
วิธีทำพินัยกรรมตามกฎหมายมีหลายรูปแบบ รูปแบบที่ทำได้ง่ายสุด คือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ สามารถเขียนได้ด้วยตนเอง มีข้อความที่เข้าลักษณะพินัยกรรม และไม่ต้องมีพยาน ส่วนรูปแบบอื่น ๆ เช่น พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ไปทำกับเจ้าพนักงานที่อำเภอก็สามารถทำได้ ข้อสังเกตคือ การทำพินัยกรรมแบบฝ่ายเมือง ในทางปฏิบัติ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าแบบเขียนเองทั้งฉบับ กล่าวคือ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิต อาจจะมีปัญหาเรื่องการรับมรดก เช่น ญาติคนที่ไม่ได้รับมรดกจะอ้างว่าพินัยกรรมนั้นปลอม เพื่อทำให้ตนมีสิทธิรับมรดก หากเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับก็อาจจะมีโอกาสถูกโต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมปลอมได้ง่ายกว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ในการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้จึงมีความรัดกุมและน่าเชื่อถือมากกว่า (ในกรณีที่ต้องการทำความเข้าใจเรื่องพินัยกรรมและมรดกเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากเพจศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้)
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ได้กล่าวถึงกรณีตัวอย่างที่เป็นละคร ในช่วงก่อนที่ผู้ตายจะเสียชีวิต ผู้ตายได้บันทึกวิดีโอเพื่อประสงค์ท้เป็นพินัยกรรม การทำพินัยกรรมแบบวิดีโอตามละครนี้หรือการบันทึกคลิปแบบพูดคุยกันออนไลน์ ไม่สามารถทำได้เพราะว่าไม่ใช่รูปแบบของการทำพินัยกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรมโดยหลักจึงต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่กฎหมายกำหนด (มีข้อยกเว้นเป็นกรณีทำพินัยกรรมด้วยวาจา แต่มีเงื่อนไขเยอะมาก ไม่ใช่กรณีที่จะทำได้โดยง่ายแบบพินัยกรรมรูปแบบอื่น ๆ)
กล่าวต่อมาในประเด็นเรื่องการทำธุรกรรมระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลหลากหลายทางเพศว่า ในเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องของพินัยกรรม แต่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงกับเรื่องพินัยกรรมอยู่บ้าง คือ การให้โดยเสน่หา (สัญญาหรือคำมั่นว่าจะให้) ก็สามารถทำได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ปัญหาที่เกิดคือคนอาจจะไม่รู้ว่าสามารถบังคับได้หรือไม่ ในกฎหมายไทย กรณีสัญญาให้จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์สิน หากตกลงกันว่าให้แต่ยังไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สิน สัญญาจะไม่สมบูรณ์ หรือในกรณีคำมั่นว่าจะให้ ต้องไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่จึงจะบังคับได้ หากทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้ไปจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด ก็บังคับไม่ได้ ดังนั้น ในกรณีที่คู่ชีวิตประสงค์อยากจะยกทรัพย์สินให้คู่รักอีกฝ่ายของตนในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ หากอยากให้ในขณะนั้นก็สามารถทำได้ในรูปแบบของสัญญาให้โดยต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้กับอีกฝ่ายเลย หรือหากยังไม่อยากให้ในขณะนั้น แต่อยากจะให้ก่อนที่ตนเสียชีวิต ก็ทำได้ในรูปแบบคำมั่นว่าจะให้ โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ในกรณีคำมั่นว่าจะให้นี้ หากเป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียนก็ไปจดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียน อาจจะมีความไม่ชัดเจนว่าจะไปจดที่ใด เช่น คำมั่นว่าจะให้เงิน ซึ่งคนอาจจะไม่ค่อยรู้ว่าสามารถไปจดที่สำนักงานเขตได้
คดีเกี่ยวกับการให้นี้จะค่อนข้างเยอะในลักษระที่ว่ามีการทำสัญญาให้แล้ว แต่ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้กันหรือไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน แล้วฝ่ายที่ยกให้เสียชีวิต ฝ่ายผู้รับก็จะไม่มีสิทธิได้รับ
ในเรื่องธุรกรรมอื่น ๆ ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ กฎหมายไม่ได้มีข้อห้ามอะไรเลยเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เช่น การกู้ร่วม การทำประกันชีวิตที่ระบุให้คู่ชีวิตของตนเป็นผู้รับผลประโยชน์ เป็นต้น ธุรกรรมเหล่านี้เป็นสัญญา ไม่ใช่เรื่องการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวแบบพินัยกรรม กล่าวคือ เป็นสัญญาระหว่างฝ่ายเรากับผู้ประกอบธุรกิจ(ธนาคาร-กรณีกู้ หรือ บริษัทประกัน-กรณีประกันชีวิต) คู่สัญญาจึงสามารถเจรจาตกลงกันได้ว่าจะให้สัญญามีเงื่อนไขอย่างไร ซึ่งแต่ละธนาคารหรือบริษัทประกันอาจจะมีเงื่อนไขในสัญญากู้ร่วมหรือประกันชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
โดยในอดีต สมัยที่เรื่องความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้แพร่หลาย แนวปฏิบัติของธนาคารหรือบริษัทประกันก็จะกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ที่ต้องมีความใกล้ชิดกัน เช่น สามีภริยา บิดามารดากับบุตร ญาติ เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเรื่องความเสี่ยงในการชำระหนี้หรือมีการฆาตกรรมเพื่อเอาเงินตามสัญญาประกันชีวิต แต่ในปัจจุบัน กระแสที่จำกัดแค่เรื่องความใกล้ชิดแบบญาติสนิทก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะว่ารูปแบบการใช้ชีวิตร่วมกันของบุคคลหลากหลายทางเพศเริ่มเป็นที่รู้จัก ดังนั้น คู่ชีวิตก็อาจจะต้องไปคุยกับบริษัทเหล่านั้น ว่าแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันหรือเป็นญาติกัน แต่ว่าใช้ชีวิตร่วมกัน สามารถขอกู้ร่วมกันหรือทำประกันชีวิตได้หรือไม่ เท่าที่ตนได้ค้นคว้ามา ก็พบว่ามีหลายบริษัทที่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ คู่ชีวิตสามารถกู้ร่วมกันได้หรือระบุให้คู่ชีวิตของตนเป็นผู้รับผลประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิตได้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงโครงการสำหรับ “คู่เพื่อน” ที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกัน หรือบริษัทอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้บอกข้อมูลไว้อย่างชัดเจนในเว็บไซต์ว่าสามารถกู้ร่วมได้ แต่คู่ชีวิตอาจจะต้องเข้าไปติดต่อเพื่อคุยกับพนักงานโดยตรง และบริษัทประกันหลายทแห่งก็ระบุให้คู่ชีวิตของผู้ทำสัญญาเป็นผู้รับผลประโยชน์ในสัญญาประกันชีวิตได้ เป็นต้น เพียงแต่ว่าคู่ชีวิตอาจจะต้องมีหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาว่าเป็นคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันจริง ๆ ตามที่ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้ เช่น ภาพถ่ายการแต่งงาน การย้ายเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน มีการเปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน เป็นต้น
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า การทำธุรกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องสัญญา จึงสามารถไปพูดคุยเพื่อเจรจาต่อรองกันได้ ในกรณีที่ธนาคารหรือบริษัทประกันอื่น ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในเรื่องนี้อาจจะเพราะว่าเขายังไม่เคยเจอลูกค้าที่ประสงค์แบบนี้ก็ได้ หรือทางกลุ่ม GIRLxGIRL Thailand อาจจะไปผลักดันเรื่องเหล่านี้ในเชิงรุก ตนเชื่อว่า บริษัทผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งน่าจะยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศนี้อยู่แล้ว
ในประเด็นการรักษาพยาบาล ผศ.ดร.กรศุทธิ์ กล่าวโดยสังเขปว่า โดยหลักคือผู้ป่วยสามารถให้ความยินยอมในการรักษาได้ สามารถบอกแพทย์ได้ว่าจะให้รักษาอย่างไร จะให้ใครตัดสินใจ และให้แพทย์ระบุชื่อบุคคลนั้นไว้ในเอกสารผู้ป่วย เพียงแต่ว่าอาจจะเกิดปัญหาในกรณีฉุกเฉินที่เราไม่มีสติ หรือไม่ได้บอกชื่อบุคคลที่ตัดสินใจแทนกับสถานพยาบาลไว้ แนวปฏิบัติของแพทย์จึงต้องสอบถามกับญาติที่มีความใกล้ชิดหรือคู่สมรส
แต่ว่าเมื่อตนพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการแพทย์โดยเร็ว ๆ แล้ว เรื่องการขอความยินยอมไม่ได้จำกัดที่ญาติโดยสายเลือดเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่ดูแลตามความเป็นจริงด้วย ฉะนั้น หากคู่ชีวิตมีหลักฐานเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกัน กฎหมายก็เปิดช่องไว้ แต่ว่ามีความยุ่งยากมากกว่ากรณีญาติตามสายเลือดหรือคู่สมรสเพราะจะต้องไปพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงว่ามีการใช้ชีวิตร่วมกันจริงหรือไม่ เช่น กรณีมีข้อพิพาทระหว่างฝ่ายญาติสายเลือดกับฝ่ายคู่ชีวิตที่เลือกการรักษาคนละแบบ แพทย์อาจจะเชื่อฝ่ายญาติทางสายเลือดมากกว่า ในเบื้องต้น เพื่อป้องกันปัญหา ก็แสดงเจตนาให้แพทย์เขียนชื่อคู่ชีวิตไว้เลย และอีกประการที่สามารถทำได้คือ หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (Living Will) แต่ว่า ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ไม่ขอลงในรายละเอียดเพราะว่าต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ซึ่งในเบื้องต้น การแสดงเจตนา Living Will ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถทำได้ในระหว่างรอกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยในประเด็นเรื่องการรักษาพยาบาลนี้ ผศ.ดร.กรศุทธิ์แนะนำว่าผู้ดำเนินรายการว่าอาจจะจัดเป็นงานเสวนาแยกต่างหากอีกงานที่เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายทางการแพทย์มาให้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม
รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ผู้บรรยายวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวและกฎหมายลักษณะมรดก (วิทยากร) :
รศ.ดร.มาตาลักษณ์กล่าวในประเด็นเรื่องการอุ้มบุญของคู่ชีวิตในประเทศไทย ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 (กฎหมายว่าด้วยการอุ้มบุญ) ได้ระบุหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ชีวิตจึงไม่สามารถกระทำได้ตั้งแต่เงื่อนไขประการนี้ นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ที่อุ้มบุญไม่ใช่มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อป้องกันความสับสนของเด็กที่จะเกิดมา และป้องกันปัญหาทางกฎหมายอื่น ๆ เช่น การรับมรดก การใช้ชื่อสกุล เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่รับตั้งครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยการอุ้มบุญของไทยจึงไม่สามารถเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย
ในกรณีที่คู่ชีวิตชาวไทยไปอุ้มบุญ ในประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ เมื่อกลับมาไทย เด็กที่เกิดจะเป็นสิทธิของใครหรือทั้งสองคน ในกรณีนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนแรกการไปอุ้มบุญตามกฎหมายต่างประเทศกลับมา กฎหมายไทยกำหนดเฉพาะเรื่องบุตรบุญธรรม (กฎหมายแก้ไขปี 2553) หากรับบุตรบุญธรรมจากต่างประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองเด็ก ถือว่าเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายไทยด้วย แต่ว่าไม่ครอบคลุมเรื่องการอุ้มบุญ เมื่อพิจารณากฎหมายไทยว่าด้วยการอุ้มบุญก็ไม่ได้เขียนถึงกรณีนี้ไว้ และยังเขียนไว้น่ากลัวอีกในเรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์ ฉะนั้น การนำไข่ สเปิร์มกลับเข้ามาจึงมีปัญหา อาจจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ได้
ส่วนต่อมาคือ หากไปตั้งครรภ์ที่ต่างประเทศและอุ้มท้องกลับมาที่ไทย เด็กจะเป็นลูกใคร อาจจะตอบได้ว่า เด็กคนนี้อยู่ในท้องของหญิงแต่ไม่ใช่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการอุ้มบุญของไทย จึงอาจจะต้องไปพิจารณาเรื่องกฎหมายขัดกัน เช่น ในประเทศที่ไปอุ้มบุญมาอนุญาตให้ผู้ที่อุ้มบุญเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากกฎหมายประเทศนั้นอนุญาต เมื่อเข้ามาในไทยเด็กย่อมเป็นลูกของผู้ที่อุ้มบุญคนเดียว (เป็นลูกของหญิงอีกคนไม่ได้) แต่หากกฎหมายประเทศนั้นไม่อนุญาตเหมือนไทย เด็กคนนั้นก็ไม่ใช่ลูกของคนที่อุ้มบุญ
ในกรณีข้างต้น (กรณีกฎหมายรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของผู้อุ้มบุญ) จะแก้ปัญหาโดยให้เด็กคนนั้นเป็นลูกบุญธรรมของหญิงที่เป็นคู่ชีวิตอีกฝ่ายได้หรือไม่ (กรณีคู่ชีวิตเป็นหญิงกับหญิง) ในกฎหมายไทย คู่ชีวิตอีกฝ่ายสามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ แต่ว่าหากรับมาเป็นบุตรบุญธรรม มารดาที่แท้จริง (หญิงผู้ที่อุ้มบุญ) ก็จะหมดอำนาจปกครอง (อำนาจปกครองถ่ายโอนไปยังผู้รับบุตรบุญธรรมทั้งหมด)
กรณีอำนาจปกครองนี้มีปัญหามาก เช่น กรณีลูกติด แม่เลี้ยงหรือพ่อเลี้ยงก็ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้ และหากพ่อเลี้ยงหรือแม่เลี้ยงจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดาของเด็กคนนั้นก็จะหมดอำนาจปกครองไป ซึ่งร่างกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตร่างหนึ่งได้พยายามแก้ปัญหากรณีนี้ว่าหากมีลูกติดบุคคลที่เป็นคู่ชีวิต เมื่อมาจดทะเบียนคู่ชีวิต ให้เด็กเป็นบุตรของคู่ชีวิตทั้งสองคน ซึ่งกฎหมายหลายประเทศรับรองเรื่องนี้ แต่ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ไม่แน่ใจว่าร่างมาตราเรื่องอำนาจปกครองนี้ยังมีอยู่ในฉบับร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่กำลังดำเนินการเพื่อเข้าสู่สภาหรือไม่
ในกรณีคู่รักเพศเดียวกันหรือคู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรม และทั้งสองเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมร่วมกันในเด็กตนนั้นได้หรือไม่ ว่าคำถามนี้แบ่งได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ กรณีคู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรม เมื่อพิจารณาจากกฎหมายว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม ก็ไม่ได้ห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้นยังไม่เคยให้เพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจกันต่อไป
ช่วงต่อมาคือ ต่อให้มีการขยายขอบเขตว่าให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคอยู่คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งโดยหลักเด็กจะมีผู้รับบุตรบุญธรรมได้แค่คนเดียว เพื่อให้การใช้อำนาจปกครองไม่เกิดปัญหาแก่เด็ก โดยมีข้อยกเว้นคือ กรณีผู้รับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส ดังนั้น ในกรณีคู่ชีวิตจึงไม่สามารถทำได้เพราะว่ายังไม่มีกฎหมายรับรองว่าคู่ชีวิตมีสิทธิเหมือนคู่สมรส หากสามารถรับได้ ก็จะเป็นแค่ฝ่ายเดียวที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ไม่ใช่ทั้งสองคนเหมือนกับกรณีคู่สมรส
ในกรณีคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันหรือคู่สมรส แล้วพวกเขารับบุคคลอื่นมาเป็นพี่หรือน้องบุญธรรม บุคคลเหล่านั้นจะมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรบ้างนั้น ในกฎหมายไทยไม่มีเรื่องของพี่น้องบุญธรรม กฎหมายไทยมีเฉพาะเรื่องบุตรบุญธรรม ดังนั้น จึงไม่สามารถทำได้หรือหากทำไปก็ไม่มีผลทางกฎหมายแต่ประการใด รศ.ดร.มาตาลักษณ์เห็นด้วยกับสิ่งที่ ผศ.ดร.กรศุทธิ์แนะนำว่าน่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาของคู่ชีวิต เพื่อให้สามารถดูแลกันได้ในระหว่างที่รอกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้งในเรื่องทรัพย์สิน อำนาจจัดการต่าง ๆ ที่ต้องใช้การแสดงเจตนาทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งแบบนิติกรรมฝ่ายเดียว เอกเทศสัญญา ตลอดจนสัญญาที่ไม่มีชื่อ มาปรับใช้
กรณีที่บุคคลที่เป็นเพศกำกวม (intersex) ตอนเกิดครอบครัวกับแพทย์เลือกเพศให้เขา เมื่อเขาโตมา เขารู้สึกว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศที่ถูกเลือกมา แล้วประสงค์จะเปลี่ยนคำนำหน้านามนั้น ในขั้นแรก เรื่องการเลือกเพศนี้ มีนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์จบไปแล้ว ซึ่งในประเทศไทยมีปัญหานี้เกิดขึ้นจริงและ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เคยไปเจอมา กล่าวคือ เด็กที่เกิดมา พ่ออยากให้เป็นอีกเพศ ส่วนแม่อยากให้เป็นอีกเพศ สุดท้ายแพทย์เลือกให้ สุดท้ายเขาไม่ได้ปรารถนาเพศที่ถูกเลือก จึงต้องไปสหรัฐอเมริกาเพื่อไปแปลงเพศ ฉะนั้น ในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายในเรื่องการเลือกเพศนี้ที่จะให้สิทธิในการตัดสินใจเปลี่ยนเพศ
ในขั้นต่อมาคือเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม ประเทศไทยก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองเช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องพูดถึงต่อไปในอนาคต โดย รศ.ดร.มาตาลักษณ์ กับทีมได้ทำวิจัยเรื่องนี้มาบ้างแล้ว ซึ่งปัญหาของบุคคลหลากหลายทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกัน และเกี่ยวพันทั้งทรัพย์สิน การรักษาพยาบาล การจัดการแทน ดังเช่นที่พูดคุยกันวันนี้ ในงานวิจัยดังกล่าวทำการศึกษาจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศมีเทคนิคมากมายในการรับรองเพศ ซึ่งมีความหมายที่กว้างกว่าคู่ชีวิต นอกจากจะทำให้มีสถานะที่ชัดเจนตามเพศที่เลือกแล้ว ยังเกี่ยวกันไปถึงสิทธิอื่น ๆด้วย เช่น สิทธิในการสมรส บางประเทศรับรองแล้วก็ถือตามสถานะใหม่ จึงไม่ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งของเขาเลย อย่างไรก็ดี หลายประเทศก็จำกัดไว้ว่าบางอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สูติบัตร เพื่อเหตุผลด้านการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรม
ในงานวิจัยนี้ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ ก็พยายามให้ทุกคนช่วยกันพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป เพราะว่ากฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตเป็นคำตอบหนึ่งแต่อาจจะยังไม่ได้ครอบคลุมทุกกรณี หากมีกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ สิ่งที่ดีคือจะเกี่ยวพันกว้างกว่าคู่ชีวิต ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีหลากหลายวิธีในการเลือก เช่น เงื่อนไขในการขอรับรองเพศ บางประเทศเปิดกว้างจนน่าตกใจ บางประเทศก็จำกัดไว้มาก บางประเทศที่เหมือนจะให้แต่เมื่อพิจารณาเงื่อนไขแล้วไม่สามารถทำได้ เป็นต้น ฉะนั้น ในการทำกฎหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ชีวิตหรือการรับรองเพศ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ ขอเรื่องความจริงใจต่อกัน ไม่ใช่เรื่องเมื่อตรากฎหมายแล้ว ปรากฏว่ากำหนดเงื่อนไขไว้ให้ทำได้ยาก (ก็เท่ากับไม่ให้) และในประเด็นนี้อาจจะก่อให้เกิดข้อกังวลหลายประการ เช่น เป็นการคุ้มครองมากเกินไปหรือเปล่า กระทบกับกลุ่มอื่นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งหากความกังวลถูกสะท้อนออกไปอย่างตรงไปตรงมา ก็สามารถคุยกันเพื่อหากระบวนการป้องกันที่ในหลายประเทศที่มีการรับรองเพศก็มีมาตรการในการตรวจสอบไว้
และในเรื่องนี้ก็ยังเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็ก ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก มีหลากหลายมิติ นอกจากมิติทางกฎหมายแล้ว ยังมีศาสตร์อื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา เป็นต้น หากไม่ทำกฎหมายสอดคล้องกับพัฒนาการของโลกปัจจุบัน แล้วเด็กจะใช้เติบโตอย่างไร ะมีเวลามาพัฒนาส่วนรวมได้อย่างไร กฎหมายจึงต้องให้การรับรองเขาเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่ตนต้องย้ำว่ากรณีนี้ไม่ใช่การตามใจเด็ก และทางเลือกในเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่กฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิต หรือกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ อาจจะมีเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องช่วยกันต่อไป
คำถามจากผู้เข้าร่วมการเสวนา
คำถาม (1) : ประเด็นการรับบุตรบุญธรรม มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุอย่างไรบ้าง
รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล : ในเรื่องอายุ กฎหมายระบุไว้ชัดเจน คือ ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุ 25 ปีขึ้นไป และต้องมีระยะห่างอายุของผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมคือ 15 ปี
คำถาม (2) : เราสามารถกดดันธนาคารหรือบริษัทประกันให้ระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกันอย่างชัดเจนได้หรือไม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง : อาจจะใช้ในรูปแบบการขอความร่วมมือน่าจะมีผลดีกว่า หากกลุ่มที่หลากหลายทางเพศหลายกลุ่มร่วมมือกันเพื่อทำข้อเรียกร้องไปยังผู้ประกอบธุรกิจ และอย่างที่ตนได้กล่าวไป หลายหน่วยงานก็ตระหนักในเรื่องที่คุยกันวันนี้แล้ว
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ยังได้ยกตัวอย่างที่ปรากฏในงานวิจัยที่ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ กล่าวถึงที่ตนเป็นหนึ่งในทีมวิจัย คือ กรณีของสหราชอาณาจักรที่ภาคเอกชนเป็นผู้ตระหนักหรือเริ่มปฏิบัติก่อนมีกฎหมาย เช่น ในกรณีการกรอกข้อมูลในเอกสาร หน่วยงานเอกชนก็มีตัวเลือกแบบไม่ต้องระบุเพศให้ หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักรที่เห็นว่าคำนำหน้านามไม่ได้มีความสำคัญ ไม่ได้บ่งบอกอะไร จึงไม่ต้องระบุคำนำหน้าในฐานข้อมูลนักศึกษาของเขา ดังนั้น ในเรื่องเหล่านี้ที่เกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาจึงเริ่มจากภาคเอกชนได้ โดยอาจจะใช้วิธีการเรียกร้อง เจรจา พูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล : การใช้กลไกตลาดมีความเป็นไปได้กว่าการกดดัน หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดประกาศชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ย่อมมีลูกค้าเข้าหา เมื่อผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่ไม่ปฏิบัติตามย่อมขาดรายได้จากส่วนนี้ไป สุดท้ายเขาก็จะเปิดรับเงื่อนไขเหล่านี้ในที่สุดเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการรวมพลังของกลุ่มหลากหลายทางเพศเพื่อทำให้เกิดอำนาจต่อรองตามหลักกลไกตลาด
คำถาม (3) : คำมั่นมีเงื่อนไขบังคับก่อนหรือเงื่อนไขบังคับหลังได้หรือไม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง : สามารถมีได้ตามหลักนิติกรรมทั่วไป แต่สิ่งสำคัญคือการฟ้องร้องบังคับคดีที่จะต้องทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด
วิทยากรกล่าวสรุปทิ้งท้ายการเสวนา
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ :
ในประการแรก ศ.ดร.ไพโรจน์ กล่าวเสริม ผศ.ดร.กรศุทธิ์ เรื่องการแสดงเจตนาแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (Living Will) ที่เป็นเรื่องของการรักษาระยะสุดท้าย กล่าวคือ หากคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งป่วยในระยะสุดท้าย ก็สามารถทำหนังสือแสดงเจตนานี้ได้ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดยระบุชื่อคู่ชีวิตของตนเองในปัจจุบันว่าเป็นผู้อธิบายความประสงค์นี้ที่เป็นความต้องการว่าเมื่อป่วยระยะสุดท้าย ก็ไม่ต้องทำการรักษาในรูปแบบที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
ประการที่สอง หากต้องการทำพินัยกรรม ตนขอให้ทำแบบเอกสารฝ่ายเมือง เพราะยากต่อการปลอมแปลง
ประการที่สาม ระหว่างที่เป็นคู่ชีวิต หากทำมาหากินร่วมกัน แม้ในแนวศาลก็จะมองว่าเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม แต่ตนแนะนำว่า หากมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันประเภททรัพย์สินอันมีทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของ ก็ให้ระบุชื่อทั้งสองฝ่ายไว้
ประการที่สี่ ในเรื่องเพศกำกวม เคยมีคำพิพากษาของศาลเมื่อนานมาแล้วที่ผู้ฟ้องได้ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ ศาลตัดสินว่าเพศถือตามเพศกำเนิด ผู้ฟ้องจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าได้
ประการที่ห้า เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีคำพิพากษาฎีกา 2887/2563 เป็นกรณีหญิงไทยกับหญิงไทยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายอังกฤษ มีเรื่องฟ้องร้องกันในศาลไทย (คดียักยอกทรัพย์) ศาลตัดสินว่าไม่ใช่สามีภริยาตามกฎหมายไทย เพราะว่าผู้ที่สมรสตามกฎหมายต่างประเทศต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการสมรสของกฎหมายไทย ตามหลัก พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย มาตรา 19 ดังนั้น จำเลยจึงไม่ได้รับผลประโยชน์ในเหตุยกเว้นโทษกรณีสามีภริยายักยอกทรัพย์กันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71
ประการสุดท้าย มีบทความของคุณฉัตรชัย เอมราช ที่แสดงความเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญล่าสุดจะเป็นคุณต่อการเรียกร้องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ เพราะเปิดช่องทางในการตรากฎหมายเกี่ยวกับคู่ชีวิต จากเดิมที่เป็นการเรียกร้องสิทธิทางเพศเปลี่ยนเป็นการกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สูญเสียไปจากคำวินิจฉัยนี้ นำไปสู่แรงผลักดันในการเรียกร้องสิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ
และ ศ.ดร.ไพโรจน์กล่าวปิดท้ายว่า ในตอนนี้ที่กำลังเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่เป็นเทศกาลแห่งความหวังและความสุข ตนก็หวังว่าภายในสองปีน่าจะมีกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตออกมาบังคับใช้ และขออวยพรให้ทุกคนโชคดี มีความสุข มีความสำเร็จในอาชีพการงาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์: อย่างที่ตนได้กล่าวไปบ้างแล้ว หากท่านใดมีข้อสงสัยประเด็นทางกฎหมาย สามารถสอบถามเข้ามาที่เพจศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ นอกจากนี้หากประสงค์ความช่วยเหลือทางการฟ้องร้องคดี หากเข้าเงื่อนไขที่ศูนย์นิติศาสตร์กำหนด ศูนย์นิติศาสตร์ก็อาจให้ความช่วยเหลือทางคดีด้วยเช่นกัน
ผู้ดำเนินรายการ : กล่าวขอบคุณคณะนิติศาสตร์ ผู้กล่าวเปิดงาน วิทยากร และผู้เข้าร่วมทุกท่าน และหากผู้ใดต้องการสนับสนุนในสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของทุกคน ก็สามารถลงชื่อสนับสนุนได้ใน www.support1448.org